ครึ่งสตางค์

คนแต่ก่อนท่านกล่าวว่า คาถาถ้าแปลก็หายขลัง ฉันใดคาถา ฉันนั้นโจ๊ก คำขบขันถ้าอธิบายก็หายขึ้นหมด สักรวา “สหัสสางค์” ที่พิมพ์วันนี้ ผู้แต่งแต่งเล่นขัน ๆ แต่มีข้อซึ่งถ้าเก็บเอาเป็นจริงเป็นจัง ถ้าใครมีใจเป็นจริงเป็นจังก็เก็บได้

ความในสักรวานั้น ถ้าใครมีใจที่จะนำมาดึงให้ยืดออกไปก็อาจกล่าวได้ว่า ตามที่คิดกันอยู่เวลานี้ว่า จะออกกฎหมายให้มีเบี้ยตราครึ่งสตางค์ เพื่อประโยชน์อะไรต่ออะไรตามที่ชี้แจงนั้น เมืองเราเดี๋ยวนี้ใช้แบ่งสิบ หรือที่เรียกทศนิยม (เดซิมัล ซีซเต็ม) แต่การแบ่งสตางค์เป็นครึ่งนั้นเป็นการแบ่งสอง หาได้แบ่งสิบเข้าระเบียบทศนิยมไม่

ถ้าจะแบ่งสตางค์ให้เข้าทศนิยม ก็จะต้องแบ่งเบี้ยตราย่อยลงไปเป็น ๑ ใน ๑๐ แห่งสตางค์ หรือ ๑ ใน ๑๐๐ แห่งบาท จะตั้งชื่อว่า “สหัสสางค์” หรือจะนึกชื่ออื่นใดดีกว่าก็ตามที

ที่ว่านี้เป็นการพูดเล่น แต่ถ้าจะพาซื่อถือเอาเป็นจริงเป็นจัง ผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าจะทำเบี้ยตราอย่างไรจึงจะสมกับราคา ๑ ใน ๑๐๐ แห่งบาทได้ ในสมัยแต่ก่อนถอยหลังไปเพียง ๑๐๐ ปี เขาใช้เบี้ยจริง ๆ คือหอยชนิดหนึ่ง ซึ่งกวาดมาจากฝั่งทเล หรือที่ไหนก็ไม่ทราบ จีนบันทุกสำเภาเข้ามา เราก็ซื้อ หรือเอาสินค้าแลกไว้ใช้เป็นกลางในการแลกเปลี่ยน กำหนดราคา ๑๐๐ เบี้ยต่ออัฐ หรือ ๖๔๐๐ เบี้ยต่อบาท การที่จะย้อนกลับไปเอาเบี้ยจริง ๆ มาใช้เป็นเบี้ยตราในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) พ้นสมัย เพราะเบี้ยตราสมัยนี้เป็นของต้องทำแลตีตราเป็นสำคัญให้ปลอมยาก แต่จะทำอย่างไรให้โสหุ้ยน้อยสมราคาอันต่ำของ “สหัสสางค์” นั้น ผู้เขียนคิดไม่ออก แม้ผู้เคยศึกษาการทำเบี้ยตรา แลเคยทำงานโรงกระษาปน์มาเก่า ก็ไม่รู้จะออกท่าไหนจึงจะตลอดปลอดโปร่งไปได้

ที่พูดเล่น ๆ ถึงความยากแห่งการทำเบี้ยตราสหัสสางค์นี้ อันที่จริงถึงความยากแห่งการทำครึ่งสตางค์ หรือแม้สตางค์ก็ทำนองเดียวกัน แต่หากส่วนความยากย่อมน้อยกว่ากันตามส่วนแห่งราคาเบี้ยตราที่สูงขึ้น

โรงกระษาปน์ของเราที่มีอยู่เวลานี้ มีไว้สำหรับทำเบี้ยตราเงิน ถ้าให้ทำเบี้ยตราทองคำจะฉิบหายใหญ่ เว้นแต่จะซื้อเครื่องมือใหม่ ไม่รู้ว่าราคาเท่าไรต่อเท่าไร แลฝึกหัดใหม่ทั้งคนงานตลอดขึ้นไปจนหัวหน้าโรงกระษาปน์ ทองคำเล่นกับมันยาก มันหนีเก่ง หนีเป็นไอไปในอากาศในเวลาหลอมก็ได้ หนีซุกซ่อนก็ได้ หนีลงดินก็ได้ หนีเข้ากองตะกรันก็ได้ หนีเข้ากระเป๋าก็ได้ หนีเข้าท้องคนก็ได้ ถ้าทำเบี้ยตราทองคำกันจริง ๆ บางทีจะต้องถ่ายรูปเอ๊กซะเรย์คนงานเสียก่อนจึงปล่อยกลับบ้าน เพื่อจะดูว่ากลืนโลหะเข้าไปซ่อนไว้ในท้องบ้างหรือไม่

ถ้าทำเบี้ยตราทองแดงก็ไปคนละอย่าง ความเปลืองมีเหมือนกัน แต่คนละทาง ที่ว่าเบี้ยตราทองแดงนั้น ไม่ใช่ทองแดงแท้ เป็นทองผสมที่เรียกกันว่าบฺรอนซ์ ซึ่งแข็งกว่าทองแดงแท้ เครื่องจักรเข็ดเขี้ยวกว่ากันมาก

จะกล่าวเลอียดถึงวิธีการทำเบี้ยตราด้วยโลหะต่างๆ ก็ป่วยการ เพราะมีเต็คนิคมากนัก แต่จะกล่าวสมมติเทียบการทำบาทกับสตางค์ว่า ต่างว่า เครื่องจักรหมุนรอบหนึ่งได้เงินบาทหนึ่ง ถ้าทำสตางค์เครื่องจักรจะต้องหมุน ๑๐๐ รอบ จึงจะได้เบี้ยตราราคาเท่ากับบาทหนึ่ง ถ้าทำครึ่งสตางค์ จะต้องหมุน ๒๐๐ รอบ จึงจะได้เบี้ยตราราคาเท่ากัน

ข้อที่ว่าเครื่องจักรจะเดินเท่าเดียว หรือ ๑๐๐ เท่า หรือ ๒๐๐ เท่า ก็ได้ผลราคาบาทหนึ่งเหมือนกันนั้น โสหุ้ยค่าเดินเครื่องจักรไม่เท่ากัน ความสึกหรอไม่เท่ากัน เวลาไม่เท่ากัน ค่าแรงไม่เท่ากัน อะไรทุก ๆ อย่างผิดกันมาก ถ้าราคาของที่ทำได้นั้นเท่ากัน เครื่องจักรยิ่งหมุนมากรอบ โสหุ้ยก็ยิ่งแพง

ประมวญวันเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) เครื่องพิมพ์ต้องพิมพ์ ๒๐ ที จึงขายได้ ๕ สตางค์ ถ้าพิมพ์ ๒๐๐ ทีคงจะขาดทุนป่นปี้ พิมพ์ ๒๐๐๐ หรือ ๔๐๐๐ ทีนั้น ไม่ต้องพูดถึง

ผู้เขียนจำได้แต่ไม่มีตัวจะยืนยันในเวลานี้ว่า แต่ก่อนรัฐบาลเคยขาดทุนทำสตางค์แดง ถ้าทำเองที่โรงกระษาปน์ โสหุ้ยจะแพงกว่าสั่งซื้อจากต่างประเทศ เพราะเครื่องมือของเขามีมาก เขาทำได้ถูกกว่า เหตุดังนี้จึงไม่ได้ทำสตางค์แดงเอง ส่วนการทำสตางค์ขาวนั้น แต่ก่อนไม่เคยนึกจะพยายามเลย เพราะเครื่องจักรมีไว้สำหรับทำเงินซึ่งเป็นโลหะอ่อน ถ้าใช้ทำนิกเกิลซึ่งเป็นโลหะแข็ง เครื่องจักรจะร้องทุกข์ แลในที่สุดอาจทำกาลกิริยา

ส่วนการขาดทุนนั้น ถ้าไม่คำณวนเลอียดก็ไม่รู้ แลถ้ารัฐบาลไม่บอกใคร ก็ไม่มีใครจะรู้ได้

การใช้ครึ่งสตางค์ รัฐบาลจะซื้อจากต่างประเทศหรือจะพยายามทำเอง เพื่อให้โรงกระษาปน์มีงานทำหาความชำนาญไว้ก็ได้ทั้ง ๒ อย่าง แต่สงสัยว่าที่จะไม่ให้ขาดทุนนั้น เห็นจะไม่ได้

ทั้งหมดที่เขียนมานี้ เพื่อจะตอบสักรวาว่า ที่คิดแบ่งสองแทนแบ่งสิบ นัยหนึ่งไม่เดินตามทศนิยม หรือไม่คิดใช้ “สหัสสางค์” แทนครึ่งสตางค์นั้น จะเป็นเพราะคำนวณว่าจะขาดทุนน้อยกว่ากันเป็นอันมากก็เป็นได้ ทศนิยมแพงนัก สู้ไม่ไหว

ส่วนการพูดเล่นขัน ๆ นั้นเล่า เมื่อ “พาซื่อ” ถึงฉนี้แล้ว ความขบขันก็ลดน้อยลง จนเห็นจะไม่มีเหลือแล้วกระมัง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ