ประเทศอิราค

ประเทศซึ่งเรียกชื่อในเวลานี้มีว่า อิราค เป็นคนละประเทศกับอิหร่าน คือเปอร์เซีย (ชาวเปอร์เซียไม่ชอบให้ใครเรียกประเทศของตนว่าเปอร์เซีย ชื่อที่ถูกคืออิหร่าน) ประเทศอิราคตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งเมื่อห้าพันปีมาแล้วเป็นประเทศเบบิโลเนีย อันเป็นจักรพรรดิราชย์ ซึ่งมีพระราชามหาศาลทรงบุญหนักศักดิ์ใหญ่ครอบครองอยู่หลายพันปี ในสมัยนั้นศาสนาอิสลามยังไม่เกิด ประเทศอิราคในปัจจุบันเป็นประเทศของชนชาติอาหรับ ราษฎรโดยมากถือศาสนาอิสลามนิกายเชียร์ (พวกเจ้าเซ็น) แต่พระเจ้าแผ่นดินทรงถือนิกายสุนนี สำมะโนครัวของประเทศเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ประมาณสามล้านคน แต่ยังหลวมที่ดินอยู่มาก

เมื่อประเทศเบบิโลเนียโบราณได้หมดไปแล้ว แลตอนก่อนมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) จึงตกเป็นที่อยู่ของชนอาหรับพวกหนึ่ง นับเนื่องในราชอาณาจักรของพระราชวงศ์ออสมัน พระเจ้าแผ่นดินประเทศตุรกี ในมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ตุรกีได้เข้าฝ่ายแพ้ ทัพอังกฤษซึ่งเป็นฝ่ายปรปักษ์ของตุรกี ได้เข้าตั้งมั่นยึดอิราคไว้ ครั้นสิ้นมหาสงครามแล้ว สันนิบาตชาติประชุมกันยกอิราคขึ้นเป็นประเทศราช มอบให้อังกฤษถือ “แมนเดต” ควบคุมไปก่อน ในตอนนั้นก็ตั้งพระเจ้าแผ่นดินแล้ว แต่ประเทศยังไม่เป็นอิสระเต็มที่ ครั้นใน ค.ศ. ๑๙๓๒ (เดือนมกราคม) กรรมการสันนิบาตชาติตกลงว่าจะเลิกแมนเดต ปล่อยให้อิราคเป็นเอกราชเต็มที่ แลในเดือนตุลาคมก็เป็นอันได้ยกเลิกแมนเดตตามที่กำหนดไว้ พระเจ้าแผ่นดินอิราคได้มีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๖ เดือนนั้นว่า ประเทศได้ก้าวเข้าสู่ฐานะอย่างใหม่แล้ว แลจะรับผิดชอบการปกครองตนเองเต็มที่แต่นั้นไป เพราะฉนั้นผู้ใดซึ่งไม่ยอมมีส่วนในการจัดบ้านเมืองให้เจริญ จะแก้ตัวว่าประเทศไม่มีความรับผิดชอบเต็มที่ ก็ว่าเช่นนั้นไม่ได้อีก พระราชาตรัสต่อไปว่า ชนชาวประเทศอิราคจะต้องพร้อมกันจัดให้เกิดความจำเริญแก่ประเทศ กล่าวโดยเฉพาะก็คือต้องคิดเรื่องป้องกันศัตรูภายนอก แลจัดเรื่องคมนาคม ศึกษา แลสาธารณสุขด้วย ถ้าประเทศไม่มีอำนาจ ไม่มีสาธารณสุข ไม่มีทรัพย์ แลไม่มีศึกษาไซร้ อิสระภาพก็เป็นไปไม่ได้ พระราชาทรงขอบใจประเทศอังกฤษ แลผู้แทนของประเทศนั้นยิ่งนักที่ได้ช่วยให้พระองค์แลประเทศอิราคได้จำเริญมา ตั้งแต่ได้เป็นประเทศราช จนถึงได้เป็นเอกราชในบัดนี้

ต่อนั้นมาไม่นาน พระราชาองค์แรกของประเทศอิราคก็สวรรค์คต พระราชบุตรได้ครองราชสมบัติต่อมา

ประเทศอิราคนี้ ปรากฏในหนังสือไทยมานานแล้ว ในเรื่องอาบูหะซันแลเรื่องอื่น ๆ ในอาหรับราตรี มีชื่อกรุงแบกดัด (หรือบาฆดาด) แลเมืองบัสราเป็นต้น ซึ่งเป็นเมืองในประเทศอิราคทั้งสองเมือง แบกดัดเป็นเมืองหลวงของประเทศอยู่ในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙)

ที่เล่าถึงประเทศอิราคตามข้อความเก่าที่มีมาในพงศาวดาร แลข้อความใหม่ใน ๒-๓ ปีนี้ ก็เพื่อจะเป็นเครื่องนำข่าวเหตุการที่เกิดใหม่ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคมปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ให้ผู้อ่านของเราเข้าใจชัดเจนขึ้น

มีนายทหารผู้ใหญ่ในกองทัพบกของอิราคคนหนึ่ง ชื่อ นายพลเบ็กร์สิคสกี้ ได้เป็นหัวหน้าคิดการจะบังคับให้เปลี่ยนรัฐบาล ในวันที่กล่าวนั้น เรือเหาะของทหารบก ได้ร่อนเหนือกรุงแบกดัด ทิ้งใบปลิวให้ทราบทั่วกันว่า ถ้ารัฐบาลไม่ลาออกทันที จะเอาบอมบ์ทิ้งลงกรุงแบกดัด ฝ่ายรัฐบาลเมื่อได้รับขู่ดังนั้น ก็ปรึกษากันว่าจะปฏิบัติอย่างใดต่อไป เข้าใจกันว่าคงจะได้ตกลงกันแล้วว่าจะลาออก แต่ยังไม่ทันจะลาก็มีบอมบ์ขนาดเล็กทิ้งลงมาสองลูก รัฐบาลก็ลาออกทันที คือยื่นใบลาถวายพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตั้งอัครเสนาบดีใหม่ ให้เลือกเสนาบดีใหม่ทั้งชุด วันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๓๑ ตุลาคม คณะเสนาบดีใหม่ได้สั่งปิดปาลิเม็นต์ แลได้ขอต่อเสนาบดีชุดเก่า ๓ นาย คืออัครเสนาบดี ๑ เสนาบดีต่างประเทศ ๑ เสนาบดีมหาดไทย ๑ ให้ไปเสียจากประเทศ แลท่านทั้ง ๓ นั้นก็ไปแล้ว

เสนาบดีต่างประเทศคนที่กล่าวนั้น ได้เป็นผู้มีส่วนเป็นอันมาก ในการจัดให้พวกอาหรับในปาเลสไตน์หยุดการสไตร๊คในคราวที่แล้วมา

ต่อมารัฐบาลในกรุงแบกดัดได้ส่งข่าวไปให้กรรมการใหญ่ของอาหรับในปาเลสไตนทราบ ว่าอิราคจะอุดหนุนพวกอาหรับในปาเลสไตน์ไปตามเดิม แลจะส่งเสนาบดีต่างประเทศคนใหม่ไปปาเลสไตน์ เพื่อจะได้ช่วยทำรูปคดีฝ่ายอาหรับ ซึ่งจะได้เสนอต่อกรรมการข้าหลวงของอังกฤษ ซึ่งไปพิจารณาสอบสวนความเป็นไปในประเทศปาเลสไตน์อยู่ในบัดนี้ (ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙)

เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน (พ.ศ. ๒๔๗๙) อัครเสนาบดีคนใหม่ของอิราคได้พูดแก่พวกหนังสือพิมพ์ว่า อัครเสนาบดีเป็นผู้เห็นชอบ ที่จะให้หนังสือพิมพ์เขียนได้ตามความเห็น แลให้บุคคลมีเสรีภาพตั้งใจจะทำทุกประการ ที่จะจัดให้เกิดหมูนพูนเขาขึ้นในประเทศ

นายพลเบ็กร์สิคสกี้ ซึ่งเป็นหัวหน้าการเปลี่ยนชุดการปกครองครั้งนี้ เข้าใจกันว่าจะเป็นหัวหน้าทหารต่อไป แลสันนิษฐานกันว่า คงจะคิดใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารด้วย

เหตุการที่กล่าวมานี้ เป็นเหตุการภายในของประเทศอิราค ยังไม่ได้ข่าวอะไรใหม่กว่าที่กล่าวมาแล้ว

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ