สำคัญอะไรที่ชื่อ

“Bee to the blossom, moth to the flamet
Each to his passion; what’s in a name ?”

“Helen Hunt”

ผึ้งสู่บุบผา เม่าหาเปลวไฟ
ราคไฉนไปฉะนั้น ชื่อมันช่างปะไร

อนึ่ง เช็คสเปียร์เขียนใส่ปากแฮมเล็ตไว้ว่า “มีอะไรอยู่ในชื่อ ? สิ่งที่เราเรียกดอกกุหลาบ ถึงจะเรียกชื่ออย่างอื่นก็หอมเสมอกัน”

ตามคติข้างบนนี้จะเรียกการศึกว่าสงคราม หรือจะเรียกว่ากระไร พิษสงของมันก็คงไม่แปลกไปเลย

ถ้าคน ๒ คนคาดหมัดชกกัน เราเรียกว่ามวย ถ้าชกกันข้างละหลายคน เราเรียกว่ามวยหมู่

ถ้าคน ๒ พวกอยู่ใต้กฎหมายเดียวกันทำร้ายกัน เราก็ว่าผิดกฎหมายทั้ง ๒ พวก เว้นแต่ฝ่ายหนึ่งจะแสดงพยานหลักฐานว่าต่อสู้ป้องกันตัว โทษจึงจะไปตกอยู่แก่ฝ่ายเดียว

ถ้าหมู่คน ๒ หมู่ในประเทศเดียวกัน ต่อสู้กันเป็นการใหญ่ ฝ่ายหนึ่งต่อสู้ในร่มกฎหมาย อีกฝ่ายหนึ่งละเมิดกฎหมาย เราก็มักเรียกพวกหลังว่าขบถ ในกรณีเช่นนี้ การต่อสู้ของฝ่ายที่อยู่ในร่มกฎหมาย เป็นการต่อสู้เพื่อปราบขบถ หรือเพื่อรักษากฎหมาย

แต่ถ้า ๒ พวกที่ต่อสู้กัน มิได้อยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน และการต่อสู้กันนั้นเป็นการใหญ่ ก็มักเรียกว่ารบกัน

ถ้ารัฐบาลประเทศหนึ่ง สั่งกองทหารออกรบกับกองทหารของรัฐบาลอีกประเทศหนึ่ง ถ้าการรบนั้นมิใช่การรบประปราย ก็เคยเรียกกันว่าสงคราม

ตามคติเก่า ถ้าประเทศต่อประเทศทำศึกกัน ก็มักประกาศสงครามเสียก่อน จึงลงมือรบ ก่อนประกาศสงคราม รัฐบาลอาจส่งกองทัพไปตั้งคอยอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ในดินแดนของตนเอง เพื่อจะเอาเปรียบทางยุทธศาสตร์ ระหว่างนั้น ก็สั่งระดมพลไปพลาง เมื่อเตรียมสงครามพร้อมแล้วจึงประกาศ แต่ฝ่ายปฏิปักษ์อาจเตรียมพร้อมเร็วกว่า จึงชิงประกาศสงครามแล้วส่งพลเข้ารบเสียแต่เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งยังเตรียมไม่พร้อม ถ้าเป็นเช่นนี้ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องรีบประกาศ และรีบต่อสู้ตามกำลังที่จะเตรียมทำได้ ถ้าเดาทางเดินขบวนศึกของศัตรูได้ก็ค่อยยังชั่ว ถ้าเดาไม่ได้ก็เสียเปรียบ การเป็นเช่นนี้ ผู้ทำสงครามจึงพยายามประกาศสงคราม แลลงมือให้ฝ่ายโน้นไม่ทันรู้ตัว หรือถ้ารู้ตัวก็ไม่ให้เตรียมต่อโต้ได้ทัน

มาในตอนหลัง การประกาศสงครามเสียก่อนจึงลงมือทำศึก กลับเป็นทางกระเดียดข้างโง่ จึงมีสงครามใหญ่ ๆ บางรายซึ่งลงมือทำร้ายกันเสียก่อน จึงประกาศสงครามทีหลัง หรือมิฉะนั้นก็ประกาศอย่างกระซิบ ๆ ฝ่ายโน้นมัวประมาท ชิงไหวชิงพริบไม่ทันก็เสียเปรียบ

เมื่อคราวรัสเซียกับญี่ปุ่นทำสงครามกัน ทัพเรือรัสเซียประชุมกันอยู่ในอ่าวปอตอาเธอร์ คืนหนึ่งมีงานเต้นรำใหญ่ในเมืองปอตอาเธอร์ พวกนายทหารที่ประจำอยู่ในเรือรบกำลังไปรื่นเริงอยู่ในงาน มีเสียงระเบิดติด ๆ กันขึ้นในอ่าว กว่าจะเอะอะรู้กันว่าเกิดเรื่องอะไร เรือตอร์ปิโดญี่ปุ่นซึ่งลอบเข้าไปทำร้ายทัพเรือรัสเซียในเวลากลางคืนก็วิ่งหนีออกจากอ่าวไปเสียแล้ว รุ่งขึ้นเช้ากองทัพเรือญี่ปุ่นซึ่งไปลอยป๋ออยู่กลางทะเลนอกอ่าว เห็นเรือรบรัสเซียจมหรือตะแคงอยู่ในที่ตื้น ๓ ลำ

ส่วนทางบก ญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพลงเรือเดินทะเลไปขึ้นที่อ่าวตอนเหนือของเกาหลี เรือบรรทุกทหารเหล่านั้นเดินตามกันเป็นขบวนยาวเลียบฝั่งเกาหลีไป มีทัพเรือทัพเอกของญี่ปุ่นแซงคุมไปส่งถึงอ่าว

ทัพบกญี่ปุ่นได้ขึ้นบกที่เกาหลีก่อนที่ทราบกันที่นั่น ว่าญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามในโตเกียวแล้ว อันที่จริงญี่ปุ่นได้ขนทัพบกเดินทางเรือค้างคืนกลางทะเล เผอิญกองทัพเรือรัสเซียไปประชุมกันอยู่ในอ่าวปอตอาเธอร์ ในคราวจะมีงาน มิฉะนั้น ถ้าทัพเรือรัสเซียไปพบขบวนเรือบรรทุกทหารของญี่ปุ่นกลางทะเล ก็คงจะต้องรบกับทัพเรือของญี่ปุ่นที่คุมไปส่ง การรบใหญ่ทางทะเลก็คงจะเกิดก่อนประกาศสงคราม

ทัพเรือของรัสเซียที่อยู่ในตะวันออกเวลานั้น ถ้าเทียบขนาดแลจำนวนเรือก็แข็งแรงกว่าทัพเรือญี่ปุ่น แต่หากไม่รู้ไหวรู้พริบ ก็พลาดพลั้งลงไปเสียแต่ในตอนต้น อันที่จริงในสมัยนั้น ญี่ปุ่นไม่มีเรือรบใหญ่ไว้สำรอง มีเท่าไรต้องใช้หมด ถ้าเรือญี่ปุ่นอับปางลงไปบ้างในตอนเริ่มสงครามก็จะไม่มีเรือแทน ส่วนรัสเซียนั้น มีทัพเรือแข็งแรงอยู่ในตะวันออกทัพหนึ่งแล้ว ยังมีอยู่ในทะเลดำในยุโรปอีกทัพหนึ่งด้วย

ในการศึกรัสเซียกับญี่ปุ่นครั้งนั้น เป็นอันว่าได้ประกาศสงครามกันทั้ง ๒ ฝ่าย แต่ต่อนั้นมาก็ได้มีการศึกระหว่างประเทศ บางครั้งซึ่งไม่มีประกาศสงคราม หรือถ้ามีก็ประกาศทีหลัง การประกาศสงครามสำคัญอยู่ที่บอกให้ประเทศอื่น ๆ รู้ มิฉะนั้นจะเรียกเอาสิทธิแห่งผู้ทำสงคราม คือ การล้อมปิดอ่าว และการตรวจค้นเรือของประเทศที่เป็นกลางในทะเล เป็นต้น ก็ทำไม่ได้ตามกฎหมายนานาประเทศ

ที่พูดเป็นระเบียบเก่า ซึ่งเห็นจะปรำปราเสียแล้วกระมัง ในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่เข้าใจยาก เป็นต้นในสงครามภายในของสเปญเวลานี้ ซึ่งชาวสเปญต่อชาวสเปญรบกันเอง ก็มีการเรียกร้องจะเอาสิทธิแห่งผู้ทำสงคราม ประหนึ่งว่าคู่ศึกในสเปญเป็นประเทศ ๒ ประเทศ นอกจากนั้น ยังมีการจับและทำร้ายเรือของประเทศอื่น ๆ ในทะเลกลางนอกน่านน้ำสเปญอีกเล่า

ส่วนการรบในประเทศจีนในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) โทรเลขญี่ปุ่นมีมาดังที่แปลในประมวญวันเมื่อวันศุกร์ ว่าญี่ปุ่นมิได้เรียกการรบกับจีนครั้งนี้ว่าสงคราม เรียกแต่เพียงว่า “เหตุการ” (Incident) เท่านั้น

การเป็นดังนี้ จึงน่าจะนำคำถามในวรรณคดีฝรั่งรุ่นเก่ามาถามว่า “สำคัญอะไรที่ชื่อ ?” ถ้าจะเรียกดอกกุหลาบและดอกลำโพงกลับชื่อกัน ความหอมและความเหม็นก็จะประจำอยู่กับดอกไม้นั่นเอง หาเปลี่ยนย้ายไปกับชื่อไม่

ถ้าจะตั้งปัญหาว่า ๒ ประเทศรบกันขนาดไหน จึงจะเรียกว่าสงคราม หรือไม่เรียกว่าสงคราม ก็ไม่รู้ว่าจะตอบว่ากระไร ดูตัวอย่างประเทศปาราเกฺวย์ กับประเทศโบลิเวีย ซึ่งอยู่ในอเมริกาใต้ด้วยกัน ทำศึกกันเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๓ นี้เอง ศึกคราวนั้นก็เรียกว่าสงคราม และมีประกาศเต็มที่

ปาราเกฺวย์เป็นประเทศเกือบจะเล็กที่สุดในอเมริกาใต้ กองทัพบกในเวลาที่เริ่มทำสงคราม มีทหารประจำการเพียง ๓,๐๐๐ คนเท่านั้นเอง โบลิเวียเป็นประเทศใหญ่กว่านิดหน่อย กองทัพบกเมื่อเริ่มสงคราม มีทหารประจำการ ๕,๗๓๗ คน ทั้ง ๒ ฝ่ายอาจเรียกพลเกณฑ์เพิ่มกำลังทัพขึ้นได้บ้าง ดูตามหนังสือพิมพ์ “นิวยอร์ค เฮรัลด์” วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ปรากฏว่า โบลิเวียอาจส่งพลออกสู่สนามได้ประมาณ ๘,๐๐๐ คน ปาราเกฺวย์ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ถึง ๑๕,๐๐๐ คน ในตอนที่ประกาศสงครามนั้น ต่อมาเมื่อเลิกสงครามกัน ได้มีบัญญัติไว้ในหนังสือสัญญาว่า ทั้ง ๒ ประเทศจะมีกองทัพไว้เกินประเทศละ ๕,๐๐๐ คนไม่ได้ หนังสือสัญญานั้น ประเทศทั้งหลายในอเมริการับรู้ด้วยหมด

เราได้พลิกสอบข่าวถอยหลังไปถึงเวลาที่ ๒ ประเทศเริ่มสงครามกัน มีข่าวแห่งหนึ่งว่า ปาราเกฺวย์เอาปืนสนามยิงกองทหารโบลิเวีย ซึ่งมีกำลังมากกว่าปาราเกฺวย์ในที่นั้น ปรากฏว่ากำลังโบลิเวียที่ว่ามากกว่านั้น คือกองทหาร ๓๐๐ คนเท่านั้นเอง สงครามครั้งนั้น จำนวนทหารที่รบกันเป็นจำนวนร้อยและจำนวนพัน ไม่ใช่จำนวนหมื่นและจำนวนแสนเช่น “เหตุการ” ในประเทศจีนครั้งนี้

อนึ่ง เมื่ออิตาลีทำศึกกับอบิซซีเนีย การรบกันครั้งนั้นก็เรียกว่าสงคราม ทัพอบิซซีเนียจะมีทหารเท่าไรไม่รู้แน่ รู้แต่ว่า ถ้ามีคนมากก็มีอาวุธน้อย ฝ่ายอิตาลได้ส่งทหารไปเท่าไร ตามข่าวที่ทราบมาถึงเรา ถ้าย้อนไปค้นสอบดูก็เห็นจะพอจับตัวเลขได้ แต่เราไม่ได้ค้น เพราะนึกแน่ว่า จำนวนทหารทั้ง ๒ ฝ่ายที่รบกันในอบิซซีเนียครั้งนั้นน้อยกว่าทหารจีนและญี่ปุ่นที่รบกันในครั้งนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐)

อนึ่ง มีข้อแปลกอีกอย่างหนึ่งว่า จีนกับญี่ปุ่นรบกันครั้งนี้ยังมิได้ถอนไมตรีทางทูต เมื่อสองสามวันนี้ ในยุโรปได้มีโปรตุเกศถอนไมตรีทางทูตจากเช็กโกสโลวัค แต่ทั้ง ๒ ประเทศในยุโรปหาได้คิดจะทำสงครามกันไม่ นี้เป็นตัวอย่างแปลกในพงศาวดารอีกอย่างหนึ่ง

แต่ถ้าจะพูดตามพงศาวดารและตามตัวหนังสือ ประเทศที่ทำสงครามกันกว่า ๘๐ ปีแล้วยังไม่เลิกจนบัดนี้ก็มี เป็นต้นว่า ในสงครามไครเมีย ซึ่งเริ่มเมื่อ ๘๓ ปีมาแล้ว อังกฤษได้ประกาศสงครามเข้าข้างตุรกีต่อสู้กับรัสเซีย เมืองๆ หนึ่งในประเทศอังกฤษชื่อเมืองเบอริก (Berwick) เป็นเมืองน้อยอยู่ระหว่างอังกฤษกับสก๊อตแลนด์สมมติว่าเป็นกรุงอิสระ จึงมีชื่อประกาศสงครามกับรัสเซียด้วย เมื่อสิ้นสงครามแล้ว ประเทศใหญ่ ๆ ก็ประกาศคืนดีแก่กัน แต่ผู้ร่างสัญญาหย่าสงครามลืมชื่อเมืองเบอริกเสีย เพราะฉะนั้น ถ้าพูดกันตามตัวหนังสือ เบอริกก็ยังทำสงครามกับรัสเซียอยู่จนบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐)

ในคราวมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) มีเรื่องเช่นกันอีกรายหนึ่ง ประเทศอิสระอยู่ในอิตาลีมีประเทศหนึ่งชื่อ ซันมาริโน เป็นประเทศรีปับลิก ตั้งอยู่ในท่ามกลางอิตาลี จะไปไหนโดยไม่ผ่านอิตาลีก็ไม่ได้ ประเทศนั้นได้เข้าชื่อประกาศสงครามกับเยอรมันพร้อมกับที่อิตาลีประกาศ แต่เมื่อประกาศเลิกสงครามนั้น เขาลืมซันมาริโนเสีย จึงต้องสมมติว่า ซันมาริโนยังทำสงครามกับเยอรมันอยู่จนเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐)

นี่แหละคำว่าสงครามก็เป็นนามศัพท์คำหนึ่งเท่านั้นเอง สงครามซันมาริโนกับเยอรมันยังไม่ได้เลิกจนบัดนี้ แต่ ๒ ประเทศนั้น ก็ไม่ได้ทำบาดเจ็บอะไรให้แก่กัน จนชั้นด่ากันก็ไม่ด่า แลบัดนี้จีนกับญี่ปุ่นสู้รบกันด้วยทหารจำนวนแสน ใช้ทั้งทัพบกทัพเรือแลทัพฟ้า เมืองหลวงเก่าของจีนคือปะกิ่งก็อยู่ในสมรภูมิ และเมืองหลวงใหม่คือนานกิงก็ถูกทิ้งบอมบ์อยู่เรื่อย แต่การศึกครั้งนี้หาเรียกว่าสงครามไม่ ทั้งนี้ ไม่ใช่แต่ญี่ปุ่นไม่เรียก อ่านหนังสือที่มาจากยุโรปแลอเมริกา หรืออ่านในโทรเลขก็ตาม คำว่าสงครามไม่ค่อยใช้ มักหาคำอื่น ๆ มาแทน จนถึงใช้ศัพท์ว่า Imbroglio ก็มี เหตุนี้ “สำคัญอะไรที่ชื่อ”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ