…ิสม์

ผู้อ่านหนังสือพิมพ์สมัยนี้ ถ้าใส่ใจอ่านข่าวการเมืองในประเทศอื่น ๆ ก็จะได้พบคำฝรั่งหลายคำซึ่งลงท้ายว่า …ิสม์เช่น คอมมูนิสต์ ฟาสซิสม์ นาซิสม์ โซเชียลลิสม์ คอลเล็กติวิสม์ แลโตตะลิตาเรียนิสม์ เป็นต้น

คำที่ยกมาเป็นตัวอย่างเหล่านี้ บางคำไม่มีในดิกชันนารีหรือถ้ามีในดิกชันนารีใหม่ที่สุด ก็อธิบายสั้นๆ จนไม่ค่อยจะเข้าใจว่ากระไรแน่นัก ผู้เขียนทราบว่า ไทยเรามีอย่างน้อย ๒-๓ คนไม่รู้ความหมายของศัพท์เหล่านี้ นอกจากจะนึกว่านาซิสม์ คือ ฮิตเลอร์ ฟาสซิสม์ คือ มุสโซลินี คอมมูนิสต์ คือ สตาลิน เป็นต้น

ที่ผู้เขียนทราบว่ามีผู้ไม่รู้อย่างน้อย ๒-๓ คนนั้น ก็เพราะได้มี ๒-๓ คนถามผู้เขียน แลขอให้ชี้แจงลงในหนังสือพิมพ์ ครูคนหนึ่งบอกว่าได้เคยถูกศิษย์ถาม แลจนมาแล้ว

ถ้าจะให้ชี้แจงให้เลอียด ผู้เขียนก็จนเหมือนกัน อีกทั้งจะทำให้หน้ากระดาษเต็มไปด้วยคำอธิบาย …ิสม์ ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้หนังสือพิมพ์ขายตก แต่ถ้าจะให้ชี้แจงแต่ย่อ ๆ ก็ได้เคยชี้แจงแล้วในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของสำนักงานนี้ จะเป็นประมวญมารค ประมวญสาร หรือประมวญวันก็จำไม่ได้ แลถ้อยคำที่ใช้ในการชี้แจงก็จำไม่ได้เหมือนกัน จำได้แต่ว่าได้กล่าวย่อ ๆ ถึงความหมายแห่งคำว่าคอมมูนิสต์ ฟาสซิสต์ แลนาซิสม์ ตามที่นิยมกันในรัซเซีย อิตาลี แลประเทศเยอรมัน แลได้ชี้แจงว่าผิดกันเป็นสารสำคัญอย่างไร

หนังสือพิมพ์เป็นของที่อ่านแล้วก็ทิ้ง ข้อความที่เขียนไว้ย่อ ๆ เพียง ๒-๓ ปีก็ลืม อย่าว่าแต่ผู้อ่าน แม้ผู้เขียนก็ลืมเหมือนกัน ที่ว่าลืมนี้ ถ้าพูดส่วนตัวผู้เขียน ก็หมายความว่า ลืมวิธีแลถ้อยคำที่อธิบาย ส่วนใจความนั้นยังจำได้ จึงคิดว่าถ้านาน ๆ กลับย้อนเอามาเขียนใหม่ แลกล่าวเพิ่มเติมให้เลอียดออกไปเล็กน้อย ก็คงจะถูกใจคนอ่านอย่างน้อย ๒-๓ คนที่เคยถาม

คำที่ลงท้ายว่า …ิสม์ ตามตัวอย่างที่นำมาแสดงข้างบนนั้น เป็นลัทธิการเมืองชนิดต่าง ๆ ในโลกนี้จะมีคนนับจำนวน ๑๐๐ ล้านคนที่เห็นผิดในเรื่อง …ิสม์ เพราะ…ิสม์ สองชนิดอาจเป็นลัทธิตรงกันข้าม ถ้า ๑๐๐ ล้านฝ่ายนี้ถูก ๑๐๐ ล้านฝ่ายโน้นก็ต้องผิด แต่ฝ่ายไหนจะถูกฝ่ายไหนจะผิดก็ตาม ฝ่ายถูกแลฝ่ายผิดไม่ถูกแลผิดอยู่นิ่ง ๆ เมื่อถูกแลผิดแล้วก็ชักจะรบกันขึ้นด้วย

ลัทธิต่าง ๆ ที่ลงท้ายว่า …ิสม์เหล่านี้ แต่ละชนิดเป็น “อิดิโอโลยี” คำนี้เป็นคำเก่า ซึ่งในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) ย้อนเอากลับมาใช้กันขึ้นใหม่ แต่มีความหมายไม่เหมือนแต่ก่อน

ศัพท์ต่าง ๆ ที่ลงท้ายว่า …ิสม์เหล่านี้ มนุษย์ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๔๘๑) ถือเป็นจริงเป็นจัง จนรวมพวกกันสวมเสื้อเชิ๊ตดำบ้าง เสื้อเชิ๊ตสีน้ำตาลบ้าง แลบ้างก็ใช้ผ้าผูกคอสีแดง บ้างก็ประชุมงุบงิบปรึกษากันในร้านกาแฟ หรือในห้องรับแขกของเอกชน หรือในรโหฐานอื่น ๆ บ้างก็วิวาทถึงไม่ดูผีกับเพื่อนเก่าของตน ซึ่งเคยเป็นมิตรกันมาช้านาน บ้างก็สลัดทิ้งพ่อแม่ บ้างก็แห่ บ้างก็ตะโกน บ้างก็ ทำหนังสือพิมพ์ บ้างก็ใช้วิทยุ ล้วนแต่ประกาศให้คนอื่นทราบว่า สวรรค์จะเกิดใหม่บนแผ่นดิน โดยประการแห่ง …ิสม์อย่างไร

ศัพท์ลงท้ายว่า …ิสม์เหล่านี้ เป็นเหตุให้บอมบ์ตกจากฟ้า ให้กระสุนออกจากกระบอกปืน ให้รัฐบุรุษพูดกลับกันไปกลับกันมาเอาส่ำไม่ค่อยจะได้, เมื่อวานนี้อบิซซีเนีย, วันนี้จีนแลสเปญ, พรุ่งนี้จะที่ไหนก็ไม่ทราบ ทั้งนี้ทำให้มนุษย์จ่ายทรัพย์เตรียมเครื่องรบกว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์แห่งทรัพย์ทั้งหมดที่หาได้ทั้งโลกในปีหนึ่ง

ในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) อากาศในฟ้าเกะกะไปด้วยคลื่นวิทยุ ซึ่ง …ิสม์ต่าง ๆ ใช้ในโปรปะกันดา บ้างก็กล่าวเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้ผู้อื่น บ้างก็กล่าวต้านทานถ้อยคำของฝ่ายอริ บ้างก็พยายามกล่าวเฉพาะความจริง โดยหลักว่า สจฺเจนา ลิกวาทินํ คือชนะคนผู้พูดสับปรับด้วยพูดจริง แต่ที่ว่าพูดจริงนั้น จะปรากฏแน่เมื่อไรว่าคำใดจริงคำใดไม่จริง ก็รู้ไม่ได้

อิตาลีส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นภาษาอังกฤษ ไปให้ชาวประเทศอังกฤษในที่อื่น ๆ ฟัง แล้วส่งเป็นภาษาอาหรับ ไปให้ชาวเมืองขึ้นของอังกฤษฟัง

อังกฤษทำเฉยอยู่นาน แต่ในที่สุดก็ต้องต่อต้าน คือส่งกระจายเสียงวิทยุถึง ๗ ภาษา รวมทั้งภาษาเยอรมันแลอิตาเลียนด้วย

รัซเซียสร้างสถานีวิทยุใหญ่ แลใช้เครื่องมีกำลังพิเศษ เพื่อจะซอกแซกเข้าไปในบ้านเรือนชนเยอรมันให้ได้ แล้วกระจายเสียงยกย่อง…ิสม์ของรัซเซีย แลกล่าวตำหนิ…ิสม์ของเยอรมันเสร็จไปในตัว

เยอรมันออกกฎหมายห้ามไม่ให้ราษฎรฟังวิทยุรัซเซียหรือสวิตเซอแลนด์ ถ้าใครขืนฟังจับได้มีโทษ แต่สถานีวิทยุเยอรมันกระจายเสียงเป็นภาษาอังกฤษ ไปถึงประเทศอังกฤษแลอเมริกา เป็นภาษาฝรั่งเศสไปประเทศฝรั่งเศส เป็นภาษาสเปนิชไปอเมริกาใต้ (แลเราผู้อยู่ในกรุงเทพถ้าจะอดตาหลับขับตานอนคอยฟังก็ฟังได้คืนละมากๆ)

…ิสม์เหล่านี้ เป็นเหตุให้บางประเทศลดธงเก่าชักธงใหม่ ทำให้พระราชาตกราชบัลลังก์ ทำให้ยุบปาลิเม็นต์ ทำให้เกิดมีเพลงใหม่ ๆ ซึ่งร้องกันทั่ว ๆ ไปในบ้านเมือง แลทำให้มีคำเปล่งต่าง ๆ เช่น “เฮล ฮิตเลอร์” เป็นต้น

เพราะเหตุที่…ิสม์ทำให้เกิดปั่นป่วนเช่นนี้ จึงน่าจะพยายามเข้าใจว่า…ิสม์แต่ละอย่างมีความหมายประการใด ในที่นี้ จะลองนำเอาเนื้อแท้มากล่าวย่อ ๆ แต่วันนี้ (๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑) หมดหน้ากระดาษเสียแล้ว จึงต้องขอผัดต่อท่านที่สนใจจะอ่านว่าให้รอวันหน้าต่อไป

เมื่อวานนี้ (๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑) ได้เริ่มจะชี้แจงคำต่าง ๆ ที่ลงท้ายว่า “…ิสม์” วันนี้ (๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑) จะต่อ แต่มีศัพท์อื่นอีกบ้าง ซึ่งถ้าไม่นำมากล่าวย่อ ๆ ด้วยก็จะไม่ช่วยให้เข้าใจได้สนิท

อิดิโอโลยี

ศัพทอิดิโอโลยี (Ideology) นี้ บางคนก็ออกเสียงว่า ไอดีโอโลยี เห็นจะถูกทั้งสองอย่างกระมัง คำนี้แปลว่า ความคิด หรือว่าวิชาว่าด้วยความคิด แล้วเลยแปลว่า ชุดแห่งความคิด หรือความคิดชุดหนึ่ง ๆ

ตามที่ใช้กันในคำพูด หรือในหนังสือพิมพ์ทุก ๆ วันนี้ ศัพท์นี้ก็ไปลงความว่าลัทธิฟาสซิสม์ คอมมูนิสต์ ประชาธิปัตย์ เหล่านี้เป็นอิดิโอโลยี หรือลัทธิการเมือง ซึ่งผิดแผกกันไปคนละอย่าง ๆ แลความแก่งแย่งก้าวร้าว ซึ่งประเทศต่อประเทศมีแก่กันว่าเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) บางทีก็ใช้ว่า ศึกลัทธิ

ในที่นี้เราจะพูดถึงแต่เพียงลัทธิการเมือง แลลัทธิเศรษฐกิจเท่านั้น

คอลเล็คติวิสม์

คำนี้ถ้าพูดตามธาตุก็แปลว่าเก็บ (Pick) ในที่นี้หมายความว่า เก็บรวมหรือเก็บส่ำสม แต่เป็นการส่ำสมในทางที่สมมติว่าเป็นสวัสดีของหมู่ชน หรือในทางเศรษฐกิจแลการเมือง ทรัพย์หรือสินค้าที่ทำให้เกิด แลการจำหน่ายสินค้าเป็นต้น เหล่านี้เป็นสิ่งส่ำสม แลแม้กิจการของบุคคล ก็รวมเข้าไปในความส่ำสมนี้มากบ้าง น้อยบ้าง ตามความคิดในเอกเทศ การส่ำสมทั้งนี้อ้างว่า เพื่อประโยชน์ของชนทั้งหมู่

ลัทธิชนิดนี้จะว่าเป็นความฝันเห็นสวรรค์ ซึ่งเมื่อตื่นขึ้นก็ไม่ใช่ หรือจะว่าเป็นความฟุ้งสร้านของคนอื่น ๆ หรือจะว่าเป็นของดีจริง ๆ ก็แล้วแต่ท่านจะเห็น

ในหมู่ชนซึ่งปฏิบัติตามลัทธิเช่นนี้ เอกชนไม่มีสิทธิส่วนบุคคลชนิดซึ่งใช้ศัพท์ตามรัฐธรรมนูญอเมริกันว่าเป็นสิทธิอัน “ไม่มีเวลาที่ผู้ใดจะแย่งยื้อไปได้” สิทธิเช่นว่านี้ คือสิทธิที่จะนับถือศาสนาได้ตามใจ แลเมื่อหาทรัพย์ได้ก็เก็บไว้หรือใช้จ่ายได้ตามใจ

ในรัฐซึ่งใช้ลัทธินี้ สิทธิส่วนบุคคลย่อมมีบัญญัติขีดคั่น เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ จะขีดคั่นเพียงไหน ก็แล้วแต่รัฐบาลผู้ขีดคั่น ซึ่งเปลี่ยนได้เสมอ

ผู้อ่านพึงเข้าใจว่าที่กล่าวข้างบนนี้ ไม่ใช่กล่าวตามตำราเศรษฐกิจ เป็นการกล่าวตามลัทธิการเมืองที่เป็นไปในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) แลทางการเมืองก็ย่อมรวมทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย

กล่าวโดยประการที่ส่ำสมเช่นนี้ ฟาสซิสม์ นาซิสม์ แลคอมมูนิสต์ ก็ล้วนเป็นลัทธิส่ำสมโดยทำนองคล้าย ๆ กันทั้ง ๓ อย่าง

โตตะลิตาเรียลิสม์

ศัพท์นี้ไม่มีในดิกชันนารีรุ่นเก่า เพราะเป็นศัพท์ซึ่งมีอายุประมาณ ๑๕ ปีเท่านั้น (ปีที่ทรงเรื่องนี้ พ.ศ. ๒๔๘๑) ในดิกชันนารีใหม่เล่มหนึ่ง ซึ่งออกในรัชกาลพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษเดี๋ยวนี้ มีคำแปลศัพท์ โตตะลิตาเรียนไว้ดังนี้

TOTALITARIAN A. applied to a state such as nazi Germany where no representation is allowed to any polilical opinion except that of the ruling party (The King & English Dictionary P. 1108)

ศัพท์นี้เขาได้ตั้งขึ้นสำหรับใช้เรียกระบอบปกครองชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นใหม่ ๆ เป็นระบอบซึ่งรัฐเป็นผู้ตั้งระเบียบบังคับทุกสิ่งทุกอย่าง ซินญอร์ มุซโซลินี ชี้แจงระบอบนี้ว่า “ทุกสิ่ง เพื่อรัฐ ไม่มีสิ่งไรต่างหากจากรัฐ”

[ผู้เขียนเกือบจะลืมแปลว่าศัพท์ที่ว่าหน้านี้ว่ามาจากธาตุซึ่งแปลว่าทั้งหมดทั้งสิ้น]

ในรัฐรวม หรือรัฐโตตะลิตาเรียนเช่นนั้น รัฐบาลอาจบังคับหรือเรียกเอาทุกอย่างในชีวิต หรือความเป็นไปของพลเมือง แต่ก็ยกเว้นให้บางอย่าง เป็นต้นว่า ในบางประเทศยอมให้พลเมืองนับถือศาสนาตามใจได้ แต่ก็มีข้อขีดคั่นบ้าง ในบางประเทศการอนุญาตให้ถือศาสนานี้มีขีดคั่นมาก บางแห่งก็สั่งยุบหรือห้ามการสอนศาสนาบางชนิด แล้วทำลายโบถวิหาร หรือเอาไปใช้อย่างอื่นเสียทีเดียว การที่อนุญาตให้นับถือศาสนาได้บ้างนั้น เป็นการให้โดยเม็ตตา ไม่ใช่ว่าพลเมืองมีสิทธิที่จะนับถือศาสนาได้ตามใจตนเอง การอนุญาตเช่นนั้น ในบางรัฐถ้าจะถอนเสียพรุ่งนี้ก็ได้ เพราะรัฐเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิ

ในรัฐรวมเช่นนี้ ความปฏิบัติหรือความเป็นไปของบุคคลทุกคน จำต้องเข้ารอยกับวิถีของรัฐซึ่งเป็นประศาสโนบายกลาง การถือศาสนา การศึกษา การทำงาน การค้าขาย หรือแม้กิจส่วนตัวแท้ ๆ เช่น ความรักระหว่างเพศ แลการแต่งงานเป็นต้น ก็ต้องดำเนินตามร่องแห่งประศาสโนบายกลาง เป็นต้นว่าหญิงกับชายจะรักแลแต่งงานกัน ถ้ามิได้มีกำเนิดที่รัฐบาลอนุญาตให้แต่งงานกันได้ ก็ทำตามใจไม่ได้ เหมือนเช่นคนอารยกับยิวแต่งงานกันไม่ได้เป็นตัวอย่าง

การจัดกันเป็นสมาคมบุคคล เช่น สมาคมการกุศล หรือสมาคมสังสรรค์ หรือสมาคมทางเศรษฐกิจ เช่น สโมสรของสตรีสภาวิทยาศาสตร์ หรือศิลปสมาคมนายจ้าง สมาคมกรรมกร เหล่านี้ ต้องจัดให้เข้าร่องกับโครงการของรัฐ มิฉะนั้นก็ไม่อนุญาตให้ตั้ง หรือถ้าตั้งแล้วก็ให้ยุบเสีย

ในประเทศเยอรมัน สโมสรโรตารี่ต้องเลิกหมด เพราะเป็นสโมสรซึ่งคนต่างชาติจะเข้าก็เข้าได้ โรตารี่จึงตกอยู่ในลักษณะคนไทต่างด้าว ท้าวต่างแดน ไทแลท้าวเหล่านั้น อาจไม่เห็นชอบตามระบอบแลประศาสโนบายของรัฐ จึงไม่ควรปล่อยให้มีในสมาคมประเทศ สมาคมเมสันอีกชนิดหนึ่งก็เช่นเดียวกัน

ประเทศรัซเซีย อิตาลี แลเยอรมันเป็นประเทศที่เรียกว่า โตตะลิตาเรียน

คอมมูนิสต์

ลัทธิที่เรียกคอมมูนิสต์นี้ ได้มีผลุบๆ โผล่ ๆ ในโลกมาหลายร้อยปีแล้ว บางคราวก็มีชนบางหมู่บางเหล่า มากบ้าง น้อยบ้าง ร่วมใจกันจะให้ความคิดนี้เฟื่องฟูขึ้น ครั้นนานมาหน่อยก็หายไป แล้วกลับไปโผล่ที่อื่นอีก เป็นดังนี้มาช้านาน

แต่คอมมูนิสต์อย่างเก่าในสมัยที่กล่าวนี้ หมายความว่าคนทั้งหลายร่วมกันหาทรัพย์ได้แล้ว ก็แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ให้เสมอหน้ากัน คอมมูนิสต์อย่างใหม่ ตามที่อ่านในหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ ๆ ในเวลานี้ ไม่เหมือนคอมมูนิสต์อย่างเก่า

คำว่า คอมมูนิสต์ ที่เข้าใจกันเดี๋ยวนี้ หมายความว่า คอมมูนิสต์ตามปัญญาของนักปราชญ์เยอรมันผู้ช่างคิดคนหนึ่งชื่อว่าคาลมากซ์ ซึ่งพ่อแม่เป็นยิวทั้งสองคน นักปราชญ์ยิวเยอรมันคนนั้น ตายในลอนดอนเมื่อประมาณ ๕๕ ปีมาแล้ว (ทรงเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑) ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ได้ร่อนเร่ไปในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ เพราะหนีบ้าง เพราะถูกขับบ้าง เป็นผู้ได้ร่ำเรียนดีในทางกฎหมายตามอาชีพของบิดาก่อน แล้วย้ายไปสนใจในทางอื่นภายหลัง ได้เขียนหนังสือลงพิมพ์เป็นเล่มสมุดใหญ่ ๆ แลสมุดที่สำคัญก็คือสมุดชื่อ “ แคปิตัล” ซึ่งเป็นต้นตำราของคอมมูนิสต์สมัยใหม่ เมื่อก่อนตายคาลมากซ์อาศัยหากินอยู่ในลอนดอน แต่ก็หาได้พอกินเท่านั้น วิธีหาเงินก็คือเขียนหนังสือขาย แลได้เขียนให้หนังสือพิมพ์ “ตริบฺยูน” กรุงนิวยอร์คเป็นต้น

คาลมากซ์เป็นผู้ที่เรียกกันว่า ผู้ตั้งลัทธิคอมมูนิสต์แบบปัจจุบัน คำสอนของคาลมากซ์ ถ้าจะย่นย่อลงไป ตามที่ผู้เขียนได้เห็นเขาย่อกัน ก็มีความว่า ความเป็นไปในทางเศรษฐกิจย่อมนำให้พงศาวดารเป็นไป “พลงาน” คือพวกไม่มีทรัพย์ แลความไม่มีทรัพย์ของพลงานนั้น จำเป็นจะทำให้ความมีทรัพย์ของบุคคลต้องล้มไป แต่การล้มความมีทรัพย์นี้ต้องใช้กำลังแลอำนาจบงการของพลงานเป็นเครื่องเตรียมการ เพื่อห้ามการแบ่งชั้นแห่งคน ไม่ให้ใครมีทรัพย์เป็นปึกแผ่นได้

[ที่ใช้คำว่า “พลงาน” ในที่นี้ คือคำฝรั่งว่า “โปรฺลิตาเรียต” ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาลตินครั้งกรุงโรมโบราณ เป็นคำเรียกพลเมืองไม่มีทรัพย์หรือไม่มีรายได้ประจำ แลถือกันในสมัยนั้นว่า เป็นประโยชน์แก่รัฐอยู่แต่เพียงที่มีลูกเพิ่มจำนวนพลเมืองขึ้นเท่านั้น ในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑ โปรฺลิตาเรียตแปลว่า ราษฎรผู้ทำงานหรือผู้รับจ้าง ซึ่งคนละชั้นกับพวกมีทรัพย์ คาลมากซ์ยืนยันว่า คนมีทรัพย์ไถนาบนหลังคนงาน]

คอมมูนิสต์ตามแบบของคาลมากซ์นี้ เป็นที่เข้าใจกันว่า โซเวียตรัซเซียเป็นประเทศที่นำไปใช้ มีสมาคมเรียกว่าชมรมคอมมูนิสต์ระหว่างประเทศ ใช้ชื่อสั้นว่า โคมินเติน เป็นผู้รับหน้าที่กระจายลัทธิให้เผยแผ่ไปในโลก โคมินเตินนี้ อยู่ในความครอบงำของพวกหัวหน้าการเมืองในโซเวียตรัซเซีย หัวหน้าการเมืองเหล่านั้น เป็นผู้กำหนด “เส้น” คือประศาสโนบายของชมรม ผู้อยู่ในลัทธิคอมมูนิสต์ (เรียกว่า คอมมูนิสต์) ทั้งหลายทั่วโลก ต้องปฏิบัติตาม “เส้น” โดยวินัยเคร่งครัดที่สุด สมาชิกแห่งชมรมคอมมูนิสต์ระหว่างประเทศนั้น จะอยู่ในปารีสหรือลอนดอน หรือที่ไหนก็ตาม ถ้าไม่ปฏิบัติตามประศาสโนบายของชมรม ก็ถูกปลดชื่อจากทะเบียน ซึ่งเรียกว่า “ชำระล้าง” (คำว่าชำระล้างนี้ ถ้าฟังตามข่าวที่มีมาเสมอ ๆ ก็เป็นคำน่าหวาดหวั่นมาก ดังผู้อ่านของเราย่อมจะเคยได้อ่านอยู่แล้ว)

หลักใหญ่ของคอมมูนิสต์แบบปัจจุบัน ก็คือการแก่งแย่งระหว่างชั้นคน เพราะคอมมูนิสต์เชื่อว่า ระบอบรัฐบาลทั้งหลายที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) ถ้าจะเว้นระบอบของโซเวียตเสียแล้ว ก็เป็นเครื่องมือของชนมีทรัพย์ใช้ เพื่อจะข่มขี่ชนชั้นไม่มีทรัพย์ทั้งนั้น เหตุฉนี้จึงถือว่าเป็นธุระของคนงาน นัยหนึ่งชนไม่มีทรัพย์ที่จะสร้างรัฐอย่างใหม่ขึ้น

ก่อน ค.ศ. ๑๙๓๓ โคมินเตินเห็นว่า วิธีที่จะล้างรัฐบาลระบอบอื่น ๆ ลงไปนั้น นอกจากใช้กำลังก่อการกำเริบให้ป่วนปั่นกันไปหมดแล้วก็ไม่มีทางอื่น แลเห็นว่าพวกโซเชียลิสม์ แลพวกที่คิดการเปลี่ยนด้วยวิธีอื่น ซึ่งไม่ใช่วิธีทำให้เกิดป่วนปั่นนั้น เป็นพวกที่ทำให้เสียทางทั้งหมด จึงนับว่าเป็นอริของพลงาน

ครั้นลัทธิฟาสซิสม์แบบที่ใช้ในประเทศเยอรมันได้มีผลสำเร็จ เป็นเหตุให้ประเทศนั้นแข็งแรงขึ้น จนถึงเยอรมันได้ประกาศตนว่า เป็นศัตรูผู้จะคิดล้างคอมมูนิสต์แล้ว โคมินเตินก็เกิดกลัวขึ้นมาว่า โซเวียตรัซเซียอาจถูกเกียดกันออกไปให้อยู่โดดเดี่ยว แลถูกเยอรมันรบรุก หรืออาจถูกเยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่นรุมรบก็เป็นได้ การเป็นดังนี้ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๓ มา โคมินเตินจึงเปลี่ยนอุบายเสียใหม่ แลมีคำสั่งพวกคอมมูนิสต์ทั่วโลกว่า ให้กลับย้อนไปเดินทางเดียวกับพวกฝ่ายซ้ายทุก ๆ แห่ง

ความเชื่อของพวกคอมมูนิสต์ หรือโคมินเตินมีว่า สงครามทั่วโลกจะต้องเกิดแน่นอน แลถ้าเกิดสงครามใหญ่ขึ้นแล้ว ถ้าพวกคอมมูนิสต์เดินแต้มให้ดี ประเทศประชาธิปัตย์ก็จะรวมกลุ่มกันทำศึกกับกลุ่มประเทศฟาสซิสม์ ผลที่สุดทธิคอมมูนิสต์จะเฟื่องฟู การจับหัวชนกัน (ถ้าทำได้) ย่อมเป็นกุศโลบาย

หลักสำคัญประการที่หนึ่งของคอมมูนิสต์คือ การแก่งแย่งระหว่างชั้นดังกล่าวมาแล้ว หลักสำคัญประการที่สองคือ ดิกเตเตอชิป แห่งโปรฺลิตาเรียต หรืออำนาจบงการของพลงาน

หลักที่สองนี้ที่ว่าพลงานเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจบงการนั้น ผู้ทรงแท้จริงก็คือชมรมคอมมูนิสต์ อุตสาหกรรม การแบงก์ การค้าขายทั้งหลาย จัดรวมเป็นของกลางทั้งหมด อยู่ในความบังคับบัญชาของรัฐบาล แต่ชมรมเป็นผู้บังคับรัฐบาลอีกทีหนึ่ง

การมีทรัพย์ส่วนบุคคลนั้น ยอมให้มีได้แต่ทรัพย์ชนิดเสื้อผ้าแลเครื่องใช้ประจำตัว แลยอมให้มีเงินได้ แต่เงินนั้นต้องฝากในคลังออมสินของรัฐบาล หรือมิฉนั้นก็ต้องให้รัฐบาลกู้

ใครจะจ้างคนอื่นทำงานส่วนตัวเช่นรับใช้ในบ้านเรือน เป็นต้น ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐ ก็จ้างไม่ได้

อุตสาหกรรมจัดเป็นงานรวมอยู่ในรัฐ แลแบ่งแยกออกไปเป็นจำพวก ๆ คนทั้งหลายถ้าไม่ได้รับอนุญาตยกเว้น ก็ต้องเป็นลูกจ้างของรัฐด้วยกันทั้งนั้น การยกเว้นมีน้อยที่สุด

ตามที่กล่าวมานี้ น่าจะถามว่าทรัพย์ที่รวมกันจัดสร้างขึ้นได้นั้น เมื่อได้ผลแล้ว ก็แบ่งเสมอหน้ากันจริงตามหลักหรือไม่ ?

ถ้าถามดังนี้ ก็จำจะต้องตอบว่า ยัง หัวหน้าแห่งสำนักผู้จัดการ แลคนที่มีฝีมือชำนาญเหล่านี้ได้ค่าจ้างสูง แต่คนอื่น ๆ ได้ค่าจ้างต่ำ ในโรงงานอุตสาหกรรมเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) จัดให้มีการรับค่าจ้างตามชิ้นงาน แลมีวิธีเร่งให้งานเร็ว เรียกว่า สตาซาโนวิสม์ (ซึ่งแปลว่าอะไรผู้เขียนไม่ทราบ) การสไตร๊คคนงานนั้นห้ามขาด พลเมืองลงคะแนนโหวตได้ แต่ต้องโหวตจำเพาะแต่ชื่อผู้สมัคร ซึ่งชมรมคอมมูนิสต์นำออกให้โหวตเท่านั้น ใครทางานไม่ดี หรือทำไม่สำเร็จ ก็สังเคราะห์เข้าว่าเป็นผู้ทำลาย บางทีก็ ถูกปลดแลย้ายไปอยู่ค่ายในไซเบอเรีย พลเมืองที่ถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูของรัฐนั้น รัฐเป็นผู้ชี้ว่าใครเป็นบ้าง คนพวกนี้ไม่อนุญาตให้ทำงาน แต่ไม่ให้นับเข้าในจำพวกคนไม่มีงานทำ เพราะรัฐไม่เอาเป็นธุระ การเกณฑ์ทหารใช้ทั่วประเทศ

ถ้าจะพูดตามข่าวที่ทราบเวลานี้ (มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑) คอมมูนิสต์ก็เป็นระบอบปกครอง ซึ่งมีนักการเมืองพวกหนึ่ง เป็นผู้บัญชาการอยู่ใต้บังคับเด็ดขาดแห่งจอมบงการ มีอำนาจกำหนดเงินเดือน แลเวลาทำงานของพลงาน แลเมื่องานนั้นเผล็ดดอกออกผล ก้มีอำนาจนำไปจับจ่ายได้ ตามแต่จะเห็นควร

เงินรายจ่ายนั้นได้ยินว่า จ่ายมากมายในการเผยแผ่ลัทธิทั่วไปในโลก แต่จะมากมายเพียงใด ก็ไม่มีทางจะทราบได้

ฟาสซิสม์

ลัทธิที่ได้ชื่อว่า ฟาสซิสม์นี้ เป็นลัทธิ “เก็บ” หรือคอลเล็คติวิสม์อย่างหนึ่ง

คำฟาสซิสม์นี้เป็นคำกลาง เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใช้ในอิตาลีก่อน จึงมักใช้เรียกระบอบปกครองของประเทศนั้นโดยเฉพาะ แต่อันที่จริงระบอบนาซิสม์ ก็สงเคราห์เข้าว่าเป็นฟาสซิสม์ชนิดหนึ่ง และระบอบปกครองประเทศอื่น ๆ ที่ทำนองคล้ายกัน ก็มักเรียกว่าฟาสซิสม์ เหมือนเช่นประเทศญี่ปุ่น ก็มักเรียกกันว่าครึ่งฟาสซิสม์ เพราะระบอบรัฐบาลของญี่ปุ่น จะว่าประชาธิปัตย์ก็ไม่เที่ยง จะว่าฟาสซิสม์ก็ไม่แท้ กล่าวกันว่าตกอยู่ระหว่างสองระบอบนั้น

แต่หนังสือฝรั่งในประเทศที่ไม่เป็นฟาสซิสม์ บางทีก็เรียกญี่ปุ่นว่า ประเทศจอมบงการ หนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่ง ซึ่งออกเมื่อวันที่ ๑๗ เดือนก่อน (ธ.ค. ๒๔๘๑) สงเคราะห์เอาสยามเข้าไปด้วยซ้ำ

หนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับนั้นเขียนบทนำว่าด้วยเสรีของหนังสือพิมพ์ แลในตอนหนึ่งมีความว่า “ในประเทศจอมบงการทั้งหลาย การมีเซ็นเซ่อร์แลการควบคุมหนังสือพิมพ์ ย่อมเป็นของจำเป็น แต่บัดนี้ชนในประเทศญี่ปุ่น สเปญ โปแลนด์ ตุรกี กรีก ฮังการี รูมาเนีย โปรตุเกศ บัลกาเรีย อิหร่าน ซีเรีย ปาเลสไตน์ อิราค บราซิล แลสยาม อีกทั้งชนในประเทศมหาอำนาจที่ใช้โปรปะกันดาเป็นเครื่องมือ ก็รู้สึกความข้อนี้อยู่ด้วยกันทั้งนั้น

[ข้อที่เขาว่า สยามอยู่ในหมู่ประเทศที่มีเจ้าพนักงานตรวจแลควบคุมหนังสือพิมพ์อยู่เป็นปรกตินั้น เขาพูดไกลเกินไป เพราะการควบคุมหนังสือพิมพกวดขันเสมอกับที่เขาทำกันในบางประเทศนั้น ยังหาได้ทำจริงในสยามไม่ หากจะมีบางรายชั่วคราวที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเห็นว่าจำเป็นหรือสมควรที่จะต้องข่มหนังสือพิมพ์ไว้บ้าง ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำอยู่เป็นปรกติ เช่นบางประเทศในยุโรป]

ระบอบฟาสซิสม์ของอิตาลี กับนาซิสม์ของเยอรมัน เป็นระบอบซึ่งรวมราษฎรหมดทั้งรัฐ ให้เข้าอยู่ในขอบข่ายของความนิยมชาติ ลัทธิคอมมูนิสต์ ฟาสซิสม์ กับนาซิสม์ ต่างก็มีสิ่งที่ยกย่องไว้เหมือนดังเป็นที่บูชา คอมมูนิสต์ยกย่องพลงานเสมอกับเป็นปูชนียวัตถุ ฟาสซิสม์แลนาซิสม์ยกย่องชาติ คอมมูนิสต์ต้องการให้เอกชนยอมทุกอย่าง เพื่อจะให้เกิดผันผวนไปทั่วโลก ฟาสซิสม์ต้องการให้เอกชนยินยอมเช่นกัน เพื่อประโยชน์แก่อิตาลี นาซิสม์ต้องการให้ยินยอม เพื่อประโยชน์แก่ประเทศเยอรมัน

ลัทธิฟาสซิสม์เสนอตนว่าเป็นผู้ปกปักรักษาความมีทรัพย์ส่วนบุคคล มิให้คอมมูนิสต์มาแย่งยื้อไปได้ ดังนี้ ใน ประเทศฟาสซิสม์จึงอนุญาตให้บุคคล หรือบริษัทบุคคลมีกิจการสร้างสมทรัพย์ขึ้นได้ แต่รัฐใส่ใจควบคุมดูแล เพื่อให้กิจการนั้น ๆ เป็นประโยชน์แก่รัฐด้วย รัฐจึงถือเอาอำนาจเพื่อบัญญัติว่า ผู้สร้างสินค้าสำเร็จรูป ต้องซื้อสินค้าดิบจากใคร ผู้มีเงินต้องฝากหรือเข้าช่วยลงทุนที่ไหน ถ้ามีกำไรจะมีได้เพียงใด การจ้างพลงานจะต้องจ้างอย่างไรเป็นต้น ความต้องการของรัฐทำให้รัฐต้องบังคับว่า ให้พลเมืองสร้างสินค้าชนิดไหนบ้าง ให้สร้างอย่างไร แลเมื่อสร้างขึ้นแล้ว ให้จำหน่ายที่ไหน

ในประเทศฟาสซิสม์ก็เหมือนกับในโซเวียตรัซเซียอยู่อย่างหนึ่ง คือว่า มีชมรมการเมืองได้ชมรมเดียว นอกจากชมรมเดียวนั้นแล้วใครจะคิดตั้งอีกไม่ได้

ชมรมเดียวที่มีในรัฐนั้น มิได้เลือกกันตามแบบประชาธิปัตย์ วิธีของชมรมเป็นวิธีที่เรียก “ออโธริตาเรียน” วิธีออโธริตาเรียนนี้ หมายความว่า บัญชาลงมาจากเบื้องบน ทำนองแบบทหาร ไม่ใช่บัญชาขึ้นไปจากเบื้องล่าง ราษฎรจะเข้าเป็นสมาชิกของชมรมทุกคนไม่ได้ ต้องแล้วแต่ว่าเบื้องบนจะบัญชาให้เป็นหรือไม่ ในประเทศเยอรมัน ชมรมนาซีได้ปิดประตูมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๓ ได้ยินว่าไม่รับสมาชิกใหม่ตั้งแต่นั้นมา ส่วนโซเวียตรัซเซียนั้น การเข้าเป็นสมาชิกในชมรมคอมมูนิสต์ เป็นของยากยิ่ง ผู้สมัคจะเข้าชมรม อาจได้รับเลือกให้เป็นเพียงผู้ฝึกหัด เมื่อเข้าไปเป็นผู้ฝึกหัดแล้ว จะอยู่ไปได้หรือจะกลับถูกไล่ออกมา ก็แล้วแต่ความประพฤติ แลความสามารถของตน

ระบอบฟาสซิสม์เหมือนกับระบอบคอมมูนิสต์อีกข้อหนึ่ง คือว่าชมรมการเมืองที่มีชมรมเดียวนั้น เป็นผู้ชี้ประศาสโนบาย แลเป็นผู้เดินเครื่องจักรแห่งราชการของรัฐ ชมรม รัฐ แลชาติ ทั้ง ๓ อย่างนี้ สมมติว่าอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำนองไตรยสรณาคม

นาซิสม์

ระบอบนาซิสม์กับระบอบฟาสซิสม์แปลกกันไม่สู้จะมากนัก ทั้งสองระบอบมีจอมบงการ แลมีชมรมการเมืองชมรมเดียว ซึ่งเลือกเฟ้นกันเป็นอย่างที่สุด คนแปลกพวกเข้าไม่ได้

แต่นาซิสม์มีแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือถือเผ่ามนุษย์เป็นที่ตั้ง ลัทธินาซิสม์ถือว่ามนุษย์มีจำแนกเป็นสองจำพวก คือ เผ่าอารยจำพวกหนึ่ง ไม่ใช่อารยจำพวกหนึ่ง ในจำพวกชนเผ่าอารยนั้น ถือว่าเผ่าอดิกย่อมมีกำลังกายแลกำลังปัญญาเป็นอย่างดี แลชนติวตอน (เยอรมัน) เป็นผู้ออกหน้า แม้ในเผ่าอดิกด้วยกัน

เพราะแบ่งแย่งแลเกียจกันพวกแปลกเผ่าฉนี้ ชนผู้มิได้เป็นเผ่าอารย (คือยิวโดยเฉพาะ) จึงถูกห้ามมิให้แต่งงานกับเยอรมัน แลทั้งไม่ให้มีตำแหน่งในราชการ แลในอาชีพบางอย่าง จนถึงจะเข้าเรียนในสำนักศึกษาก็ไม่ได้ ในบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) ได้ตั้งโรงเรียนเพื่อจะฝึกสอนเยอรมันรุ่นใหม่ ให้เป็นหัวหน้าบ้านเมืองสืบไปในภายหน้า เด็ก ๆ ที่กำลังรับฝึกหัดอยู่ในเวลานี้กล่าวว่า จะเป็นพวกที่พารัฐไปสู่ความจำเริญได้อีกพันปีเป็นประมาณ

พวกที่เข้าฝึกหัดอยู่ในโรงเรียนใหม่นี้ ต่อไปภายหน้าจะเป็นพวกที่มีพยานแสดงได้ว่า มีเลือดเยอรมันบริสุทธิ์แท้ต่อไปอีกหลายชั่วคน ที่ถือข้อนี้เป็นข้อสำคัญ ก็เพราะยืนยันว่า ถ้าเผ่าเยอรมันเป็นเผ่าแท้ ไม่มีเลือดอื่นปนได้เมื่อใด เยอรมันก็จะดำรงมั่นไปชั่วกัลปาวสาน

เรื่องเผ่าแท้ซึ่งไม่มีเลือดอื่นปนนี้ นักปราชญ์มานุษวิทยาในประเทศอื่น ๆ มักเถียงว่าเป็นไปไม่ได้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ