ราชพิธีอังกฤษ

ราชพิธีอังกฤษที่เรียกตามภาษาของเขาว่า โคโรเนชั่น แปลว่าพิธีทรงมงกุฎนั้น ก็เป็นราชพิธีทำนองเดียวกับราชาภิเษกของเรา แต่เราเรียกราชพิธีของเราว่า การรดน้ำยิ่ง (คืออภิเษก) ตามภาษาที่เราได้มาจากอินเดีย อันที่จริงน้ำเนื้อแห่งราชพิธี คือให้ราษฎรรับรองพระองค์พระราชาเสียก่อน จึงทรงราชูปโภคในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แลทรงรับศิริราชสมบัติซึ่งมีผู้ทูลถวายเป็นต้น ก็เค้าเดียวกันแทบทั้งนั้น แม้การรดน้ำยิ่ง (ซึ่งเดี๋ยวนี้อังกฤษไม่รด) ก็น่าสันนิษฐานว่า ประเพณีโบราณก็ได้รดเหมือนกัน ดังจะได้กล่าวภายหลัง

พิธีเข้ารับตำแหน่งเจ้าแผ่นดิน ถ้าจะกล่าวตามตำนานที่มีกระท่อนกระแท่นถอยหลังกว่า ๒๐๐๐ ปีไป ก็ยืดยาวเกินหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์รายวัน ในที่นี้จะเขียนแต่พอประมาณ แลแยกเอาแต่ที่เป็นเนื้อแท้ ๆ ของพิธีมาเล่าพอสมควร

ราชพิธีอังกฤษทำในโบถชื่อเวสต์มินสเตอร์ ในสมัยโบราณ พระราชาเคยเสด็จไปประทับแรมอยู่ในโบถคืนหนึ่ง เพื่อให้หัวหน้าสงฆ์ทูลสั่งสอน ให้ทรงทราบพิธีที่จะกระทำ แลเพื่อให้ทรงซ้อมด้วย ในปัจจุบันไม่ต้องทำดังนั้น พระราชาเสด็จโดยขบวนแห่ใหญ่ พร้อมด้วยพระมเหษี (ถ้ามี) ครั้นถึงโบถ ท่านสังฆราชแลราชาคณะผู้ใหญ่แลผู้ช่วยก็รับเสด็จที่ประตูโบถ แล้วนำเสด็จเป็นขบวนเข้าไปถึงที่เรียกว่า “เธียเตอร์” ทรง “อ้อนวอน” พระเจ้าก่อน แล้วเสด็จประทับ ณ ราชอาศน์ตวันตกแห่งที่บูชา ตอนนี้เป็นเวลาแสดงพระองค์ให้ราษฎรถวายสามิภักดิ์ นับว่าเป็นคั่นที่หนึ่งในน้ำเนื้อแห่งราชพิธี

การแสดงพระองค์ให้ราษฎรถวายสามิภักดิ์นี้ ในงานราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินสยาม ในพระราชวงศ์ปัจจุบัน พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่นั่งอัฐทิศ คือพระที่นั่งซึ่งหันพระพักตร์ไปสู่ทิศต่าง ๆ ได้ เมื่อหันพระพักตร์ไปสู่ทิศไหน ก็มีผู้ซึ่งสมมติว่า เป็นผู้แทนราษฎรเข้าไปถวายพระพร ในนามของข้าขอบขัณฑสีมาในทิศนั้น พิธีนี้ทำในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ในราชพิธีอังกฤษ พระราชาทรงยืนหันพระพักตร์ไปทั้งสี่ทิศในเธียเตอร์ ท่านสังฆราชกล่าวให้ผู้คนทั้งหลายซึ่งอยู่ในที่นั้นรู้จักพระองค์ แลถามว่า ราษฎรเต็มใจหรือที่จะถวายสามิภักดิ์แลรับใช้การงาน คนทั้งหลายในที่นั้นซึ่งสมมติว่าราษฎร พร้อมกันเปล่งเสียงแสดงความเต็มใจสามิภักดิ์แลยินดีต่อพระราชา ใช้คำว่า “ก๊อด เสฟ กิง ยอช” แล้วก็เป่าแตรประโคม

นี้เป็นแบบราชพิธีอังกฤษเดี๋ยวนี้ ในตอนที่พระราชาแสดงพระองค์ให้ราษฎรรู้จักแลถวายสามิภักดิ์ แบบนี้ในประเทศอังกฤษใช้มาแต่โบราณ เคยมีเรื่องในพงศาวดารว่า บางทีผู้คนในที่นั้นก็ไม่เปล่งเสียงถวายพระพรทันที แต่บางทีก็เปล่งเสียงดังเกินไปจนเกิดเหตุ ดังจะนำมาเล่าภายหลัง

ประเพณีในยุโรปก่อนสมัยที่มีคริสตศาสนา พิธีแสดงพระองค์พระเจ้าแผ่นดินให้ราษฎรรับรอง เป็นพิธีที่ทำกลางแจ้ง เมื่อพระราชาได้รับเลือกแล้ว ก็เชิญเสด็จขึ้นยืนบนโล่ห์ใหญ่ พวกที่เป็นหัวหน้าประชุมชนหลายนายช่วยกันแบกโล่ห์บนบ่าเดินรอบไปในชุมชน ให้เห็นพระองค์ แลให้เห็นตัวผู้แบกด้วย การเดินเช่นนี้มักจะเป็น ๓ รอบ เมื่อเดิน ๓ รอบแล้ว ก็มีผู้ถวายหอก แล้วมีผู้นำแถบผ้าหรือไหมซึ่งทำอย่างประณีตแลเย็บเป็นวงกลมเรียกว่า “ไดอาเด็ม” สวมถวายที่พระเศียร เป็นเครื่องหมายราชอำนาจ สิ่งที่เรียกไดอาเด็มนี้ ดูเป็นทำนอง “มงคล” ที่ใช้สวมศีรษะเด็กโกนจุก คนแต่งงาน แลคนป่วย เป็นต้น (แต่คำว่า “มงคล” ตามความหมายเช่นนี้ ผู้เขียนขอร้องทุกข์ว่าไม่มีในปทานุกรม) สิ่งที่ฝรั่งเรียกว่าไดอาเด็มนั้น อันที่จริงคนละอย่างกับสิ่งที่เรียกว่า “เคราน์” แต่ในปัจจุบันมักจะใช้สองศัพท์นี้ปน ๆ กันมาก

ย้อนกลับไปกล่าวถึงการแสดงพระองค์ของพระราชาอังกฤษ ได้เคยมีตัวอย่างครั้งพระเจ้าชาลส์ที่ ๒ คนไม่เปล่งเสียงรับรองแลถวายพระพรทันที จนสังฆราชต้องเตือนขึ้น ทั้งนี้ผู้รู้พงศาวดารอังกฤษคงจะเข้าใจเหตุได้

ส่วนตัวอย่างที่ตรงกันข้าม มีครั้งพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ พระราชาองคนั้นเป็นชาวต่างประเทศ ยกทัพไปตีได้เกาะอังกฤษ แล้วก็ทำพิธีครองราชสมบัติ และทรงมงกุฎใน ค.ศ. ๑๐๖๖ ราชวงศ์ของพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้สืบมาหลายชั่วพระมหากษัตริย์

ในวันที่ทำการพระราชพิธีพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงมงกุฎนั้น เพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินเป็นชาวต่างประเทศ ไม่ไว้พระทัยความสามิภักดิ์ของราษฎร จึงโปรดให้กองทหารของพระองค์ไประวังเหตุการอยู่ทั้งในโบถแลนอกโบถ นอกโบถมีกองทหารตั้งอยู่ทุกทางเข้าออก ครั้นถึงเวลาที่สังฆราชเรียกให้ราษฎรเปล่งเสียงถวายพระพร คนที่อยู่ในโบถก็เปล่งเสียงพร้อมกัน ดังสนั่นออกไปถึงนอกโบถ ทหารที่ตั้งกองอยู่ข้างนอก คิดว่าเกิดเหตุ แลพระเจ้าแผ่นดินถูกทำร้าย ก็ก่อการระรานขึ้น ทหารของพระเจ้าวิลเลียมเป็นพวกเหี้ยมเกรียม บางพวกก็เอาไฟเที่ยวจุดตามบ้านราษฎรในที่ใกล้เคียง เกิดเกรียวกราวกันใหญ่ ฝ่ายพวกที่อยู่ในโบถ ได้ยินเสียงเกรียวกราวข้างนอก ก็คงจะนึกว่าเกิดขบถนอกโบถ ครั้นออกไปเห็นไฟไหม้ ก็กรูไปช่วยกันดับไฟ ซึ่งกว่าจะดับได้ก็นาน

ส่วนในโบถพระราชพิธีที่ดำเนินไปตามระเบียบ แต่แทบจะไม่มีใครเหลือ จึงเป็นอันว่าพระราชาต้องทรงมงกุฎในที่ซึ่งมีคนดูน้อยที่สุด

ที่เล่าข้างบนนี้ เป็นแต่คั่นหนึ่งแห่งน้ำเนื้อของราชพิธี ยังมีคั่นอื่น ๆ ซึ่งจะได้กล่าวพรุ่งนี้ต่อไป

เมื่อพระราชาอังกฤษได้แสดงพระองค์ต่อราษฎร แลราษฎรได้ถวายสามิภักดิ์จนเป่าแตรประโคมแล้ว ก็มีผู้เชิญราชกกุธภัณฑ์เป็นกระบวนเข้าไปส่งต่อสังฆราชผู้เป็นประธาน ท่านสังฆราชรับแล้ววางไว้บนที่บูชา แล้วเชิญพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงสาบาล

การสาบานนี้ ถ้าจะเทียบกับในพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ก็เห็นจะต้องเทียบกับเวลาที่ประทับพระที่นั่งอัฐทิศ ราษฎรจากทิศต่าง ๆ ถวายพระพรแล้ว มีพระราชดำรัสเป็นใจความว่า จะทรงทำนุบำรุงสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข คำที่ทรงพระราชดำรัสนั้นมีแบบ ผู้เขียนไม่เคยได้ยินเพราะนั่งอยู่ห่าง แต่ถ้าจะค้นในหนังสือก็คงได้

คำพระราชทานสาบาลของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษนั้น แต่ก่อนอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปคนละอย่าง แลเพิ่งเปลี่ยนคราวนี้เอง (ทรงเรื่องนี้ พ.ค. พ.ศ. ๒๔๘๐) เหตุที่ต้องเปลี่ยนนี้ เพราะว่าจักรพรรดิราชย์อังกฤษเดี๋ยวนี้มีหลายประเทศ ประเทศที่เคยเรียกว่าเมืองขึ้น เดี๋ยวนี้เป็นเอกราชไปหลายประเทศ ต่างประเทศต่างมีรัฐธรรมนูญของตน แต่มีพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวกัน นัยหนึ่งว่า พระเจ้ายอชที่ ๖ เป็นพระเจ้าแผ่นดินของประเทศเกรตบริเตน (อังกฤษ) ด้วย พระเจ้าแผ่นดินของคานาดาด้วย ของอ๊อสเตรเลียด้วย ฯลฯ เพราะฉนั้นจึงทรงสาบาลว่า ทรงรับจะปกครอง “ชนชาวอังกฤษ ไอร์แลนด์ คานาดา อ๊อสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แลเอมไปร์อินเดียของท่าน” แลจะทรงปกครองตามกฎหมายแลขนบธรรมเนียมของประเทศนั้น ๆ คำสาบาลนี้ท่านสังฆราชกล่าวนำ แลพระราชารับสั่งตามดัง ๆ เป็นส่วนที่พระราชารับทำหน้าที่พระเจ้าแผ่นดิน ตอนไปถึงพิธีถวายเจิม

การเจิมพระราชาอังกฤษปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๔๘๐) ใช้เจิมด้วยน้ำมัน น้ำมันนั้นอยู่ในภาชนะเรียกว่า “อัมพัลลา” คือขวดหรือโถทำด้วยทองคำเป็นรูปนกอินทรีย์กางปีกสูง ๙ นิ้ว ที่คอมีสกรูหันเปิดเหมือนขวดสำหรับกรอกน้ำมันลงไป ภาชนะนี้เข้าใจกันว่าเป็นของเก่าที่สุด ไม่ได้ถูกทำลายในเมื่อราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ ถูกยุบในคราวที่เกิดขบถใหญ่หลายร้อยปีมาแล้ว เพราะว่านกทองคำตัวนี้ รักษาอยู่ที่โบถเวสต์มินสเตอร์ หาได้รักษาอยู่ที่คลังราชกกุธภัณฑ์ไม่

ในคำสั่งของอังกฤษให้จัดการตระเตรียม หรือที่เราเรียกว่า “หมาย” ซึ่งกระทรวงวังเป็นเจ้าหน้าที่ออก มีคำบ่งชัดว่า ให้เจ้าหน้าที่กรอกน้ำมันลงไว้ในอัมพัลลาเสียแต่ตอนเช้า แลให้นำช้อนซึ่งมีไว้คู่กันไปวางไว้ด้วยกันตามที่ ที่ต้องระบุในหมายเช่นนี้เพราะกลัวลืม หรือได้เคยลืมสักครั้งหนึ่ง เมื่อถึงเวลาจะถวายเจิม ถ้าอัมพัลลาไม่มีน้ำมันจะทำให้ฉุกลหุกกันมาก (เหมือนหม้อพระกริ่ง ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงจุดเทียนติดที่ฝาหม้อ ทรงประเคนต่อพระราชาคณะผู้ใหญ่ ให้ทำน้ำมนตร์ ถ้าเปิดหม้อออกไปไม่มีน้ำ เพราะมหาดเล็กลืม ก็จะฉุกลหุกไม่น้อย)

วิธีเจิมถวายพระราชาอังกฤษ ท่านสังฆราชรินน้ำมันจากอัมพัลลาลงในช้อน แล้วถือช้อนไปถวายเจิม ณ ที่ประทับ เจิมเป็นรูปกางเขนที่กลางพระเศียร (กระหม่อม) แห่งหนึ่ง เจิมที่พระทรวงแห่งหนึ่ง แลเจิมที่ฝ่าพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง เวลาที่ถวายเจิมนี้มีขุนนางผู้ใหญ่ผู้สวมสายสะพายกาเตอร์สี่นาย ถือเพดานเป็นกระโจมบังพระองค์ไม่ให้คนเห็น คงจะเป็นด้วยเจิมบนพระเศียร แลต้องแหวกเสื้อทรงให้ได้เจิมกลางพระอุระด้วย ในพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งกับพระมเหษี เข้าใจว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ ๓ (แต่ผู้เขียนจำไม่ได้ถนัด) ได้ประทับเปลือยกายตั้งแต่พระสะเอวขึ้นไปทั้ง ๒ พระองค์ในเวลาเจิม เหตุฉนี้ เพดานกระโจมจึงเป็นของจำเป็นนัก ส่วนพระมเหษีในปัจจุบันทรงรับเจิมแต่บนพระเศียรเท่านั้น แลผู้ถือเพดานกระโจมบังพระมเหษีคือท่านผู้หญิงบรรดาศักดิ์ใหญ่ ๔ นาย

การเลือกขุนนางหรือผู้อื่นที่มีหน้าที่เชิญราชกกุธภัณฑ์ หรือเครื่องใช้ในงานราชพิธีนี้ จะสักแต่ว่าชอบใจใครก็เลือกไม่ได้ ทุกคนมีหน้าที่ย่อมจะได้รับเลือก เพราะอยู่ในสกุลซึ่งต้องรับหน้าที่ตามประเพณี ก่อนวันราชพิธีช้านาน พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงตั้งกรรมการให้รับเรื่องราวของผู้อ้างว่ามีสิทธิจะได้รับหน้าที่ กรรมการเป็นผู้พิจารณาว่าใครมีสิทธิจะได้ตำแหน่งเป็นผู้ทำอะไร

การถวายเจิมนี้ นับว่าเป็นส่วนสำคัญของราชพิธี แต่ก่อนดูเหมือนจะถือกันว่าสำคัญยิ่งกว่าอื่นทั้งนั้น แลถ้าจะพูดถอยหลังไปเพียงที่เรียกกันว่า ยุคมัธยม ก็ถือกันว่า การทรงรับเจิม ย่อมทำให้พระราชาเป็นบุคคลเรียกว่า Maxtima Persona หรือคนซึ่งเป็นนักบวชด้วย เป็นฆราวาสด้วย จนถึงกับบางประเทศในยุโรป พระราชามีตำแหน่งในวัดเหมือนกับเป็นฐานานุกรมองค์หนึ่ง

ข้อที่พระราชาทรงรับเจิมแล้วเลยเป็นนักบวชไปด้วยนี้ ก็พอเทียบได้กับพิธีราชาภิเษกของเรา ซึ่งตามไสยศาสตร์ถือว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นพราหมณ์ เพราะทรงรับสายด้ายซึ่งเรียกว่า “สังวาลพราหมณ์” ในราชพิธีราชาภิเษก

ข้อที่ว่าการทรงรับเจิม ทำให้พระเจ้าแผ่นดินเป็นนักบวชไปด้วยนี้ นักปราชญ์โบราณคดีบางคนก็กล่าวว่าไม่มีหลักฐาน แต่บางคนก็ชี้ข้อที่พระเจ้าแผ่นดินในบางประเทศ เคยมีตำแหน่งเป็นฐานานุกรมอยู่ในวัด เหมือนกับนักบวชผู้มีบรรดาศักดิ์ มีตัวอย่างที่ชี้ได้มาก แต่ในประเทศอังกฤษไม่ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นนักบวชเพราะทรงรับเจิม ทั้งนี้ คงจะเป็นคติตามนิกายแห่งศาสนาในปัจจุบันนี้

น้ำมันที่ใช้ถวายเจิมพระราชาถือกันว่า เป็นน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ทำนองน้ำมนตร์จากปัญจมหานทีในอินเดีย ซึ่งเมื่อได้มาก็เก็บไว้ปนน้ำอื่น ๆ ต่อไป ในประเทศฝรั่งเศส มีเรื่องซึ่งเคยเชื่อกันว่า นกเขาสวรรค์ได้คาบภาชนะใส่น้ำมันลงมาวางไว้ ณ ที่บูชาในคราวราชพิธีสวมมงกุฎของเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง แลในประเทศอังกฤษก็มีเรื่องแข่งเรื่องฝรั่งเศสว่า นางเวอรยิน เมรี่ “แม่พระ” ได้แสดงตนให้นักบวชผู้หนึ่งเห็น แล้วให้ภาชนะใส่น้ำมันแก่นักบวชผู้นั้น ซึ่งต่อมาใช้ถวายเจิมพระราชา แต่เรื่องทั้ง ๒ เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า ซึ่งอ่านรู้กันในหนังสือเท่านั้น ไม่มีใครเชื่อเป็นจริงเป็นจังในสมัยนี้

ส่วนข้อที่ว่าราชพิธีของฝรั่งเศส เคยมีทำนองไปในทางราชาภิเษกนั้น ตำราเก่าที่สุดที่มีในเวลานี้ เป็นตำราซึ่งสังฆราชแห่งยอร์ก (อังกฤษ) ได้เรียบเรียงไว้ในร้อยปีที่ ๘ แห่งคริสตศักราช นับมาบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) ประมาณ ๑๐๐๐ ปี หนังสือนั้นกล่าวว่า ท่านสังฆราชรินน้ำมันลงบนพระเศียรพระราชาก็เทียบได้กับรดน้ำมนตร์หรืออภิเษกนั้นเอง ในปัจจุบันเป็นแต่เพียงเจิมด้วยน้ำมัน ไม่ใช่รดด้วยน้ำมัน จะเรียกว่าอภิเษกก็เรียกไม่ถนัด

เมื่อพระราชาได้ทรงเจิมแล้ว ก็ทรงรับเครื่องกกุธภัณฑ์แลราชูปโภค คือฉลองพระองค์ พระธำมะรงค์ พระแสงดาบ พระคทา แลลูกกลมเรียกว่า “ออร์บ” ทำด้วยทองคำประดับเพชรพลอยเป็นต้น

ท่านสังฆราชผู้เป็นประธานเชิญมงกุฏยืนสวมถวายบนพระเศียรพระราชา พระราชาประทับเก้าอี้ เป็นสัญญาให้คนทั้งหลายโห่ร้องอวยชัยอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายท่านขุนนางผู้มีจุลมงกุฏตามบรรดาศักดิ์ เมื่อพระราชาทรงมงกุฎแล้ว ต่างก็สวมจุลมงกุฎของตนเอง แตรก็เป่าประโคม แลปืนใหญ่ ซึ่งอยู่ไกลก็ได้รับสัญญาให้ยิงถวายบังคม ต่อนั้นไป ท่านสังฆราชถวายสมุดคัมภีร์ไบเบิลต่อพระราชา เมื่อทรงรับแล้ว ท่านสังฆราชกถวายพระพรอีกครั้งหนึ่ง

ต่อนั้นไปเขาเชิญเสด็จ หรือ “ยกพระองค์” พระราชาขึ้นประทับราชบัลลังก์ แล้วสังฆราช เจ้านายองค์ชาย แลขุนนางไปถวายเคารพทีละคน โดยวิธีจูบที่พระปรางพระราชา ระหว่างนี้ พวกร้องเพลงก็ร้องเพลงตามศาสนา

เมื่อผู้มีสิทธิถวายเคารพได้ถวายเคารพหมดแล้ว ก็ประโคมกลองและแตร คนทั้งหลายซร้องสาธุการอีกครั้งหนึ่ง

ราชพิธีอังกฤษตอนที่กล่าวมานี้ นอกจากที่ถวายเคารพโดยวิธีจูบที่พระปรางพระราชาแล้ว ก็คล้ายกับราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตอนที่ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ แต่การทรงสวมมงกุฎนั้น พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงรับมงกุฎไปทรงเอง ไม่มีผู้อื่นสวมถวาย ผู้อ่านควรทราบว่า ราชพิธีสยามในตอนนี้ไม่มีพิธีทางพุทธศาสนาเลย พระสงฆ์ในพุทธศาสนาไม่มีส่วนในตอนนี้ เพราะไม่ใช่กิจของสงฆ์ ที่จะเกี่ยวข้องกับอำนาจอาวุธ เครื่องประดับอันมีค่า แลทรัพย์สมบัติของฆราวาส ส่วนราชพิธีของฝรั่งเป็นของทำในวัด ซึ่งมีพิธีในศาสนาเกี่ยวข้องมาก แลเจ้าหน้าที่ใหญ่ผู้เป็นประธานในราชพิธีก็คือสังฆราชนั้นเอง ก่อนมีคริสตศาสนา ราชพิธีนี้ได้ทำไปคนละอย่าง เช่น พระ เจ้าแผ่นดินแสดงพระองค์ต่อราษฎร โดยวิธีทรงยืนบนโล่ห์ ซึ่งแบกบนบ่าของพวกนายหมวดนายกองผู้คุมพล ดังได้กล่าวในตอนก่อนแล้ว ครั้นมีศาสนาคริสเตียน พิธีอย่างเก่าก็ได้โอนมาใช้บ้าง เช่น พระราชาแสดงพระองค์ให้ราษฎรรับรอง เป็นต้น แต่เปลี่ยนไปเป็นทำนองในศาสนาทั้งนั้น

ส่วนวิธีสวมมงกุฎ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงสวมเอง แต่พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษให้สังฆราชเป็นผู้สวมถวายนั้น พระเจ้าแผ่นดินในประเทศฝรั่งเศสบางประเทศหรือบางพระองค์ก็ทรงรับมงกุฎไปทรงสวมเอง

ในประเทศฝรั่งเศส ราชพิธีนี้เคยทำคล้ายกับอังกฤษ กล่าวกันว่ากำหนดการเดิมก็เอาแบบอังกฤษเป็นตัวอย่าง เมื่อถึงเวลาทรงมงกุฎ ก็มีสังฆราชเชิญมงกุฎจากที่บูชาไปสวมถวายบนพระเศียรพระเจ้าแผ่นดิน อย่างเดียวกับแบบอังกฤษ

แต่เมื่อนะโปเลียนทำราชพิธีนี้ ได้เชิญสังฆราชสันตปาปาจากกรุงโรมไปเป็นประธานพิธีในกรุงปารีส แต่เมื่อเวลาจะสวมมงกุฎ นะโปเลียนทรงรับมงกุฎจากสันตปาปาไปทรงสวมเอง

ในประเทศสวีเดน สังฆราชกับเสนาบดียุติธรรมเป็นผู้เชิญมงกุฎไปพร้อมกันสวมถวายบนพระเศียรพระราชา

ในประเทศนอรเวย์ สังฆราชกับอัครเสนาบดีพร้อมกันสวมมงกุฎถวายพระเจ้าแผ่นดิน

ในประเทศรัซเซีย เมื่อยังเป็นราชาธิปัตย์ พระเจ้าซาร์ทรงสวมมงกุฎเอง

ย้อนกลับไปถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์อังกฤษ วัตถุที่เรียกว่า ออร์บ นั้น มีกางเขนอยู่ข้างบน เป็นเครื่องหมายว่า ศาสนาคริสเตียนเป็นศาสนาคลุมโลก พระแสงตามที่เรียกว่า “ดาบพิธี” มี ๕ เล่ม มีชื่อแลที่หมายต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่าเล่มหนึ่งเป็นที่หมายเมตตา เป็นดาบปลายหักหรือฝนให้ทู่ แสดงว่าไม่ใช้ทำร้าย

ส่วนพระคทาหรือไม้เท้านั้น อันหนึ่งซึ่งถวายให้พระราชาทรงรับด้วยพระหัตถ์ขวา เป็นเครื่องหมายราชอำนาจ อีกอันหนึ่งถวายให้ทรงรับด้วยพระหัตถ์ซ้าย เป็นเครื่องหมายความเที่ยงตรง ไม้เท้าอีกอันหนึ่งเป็นเครื่องหมายยุติธรรมแลความเที่ยงตรง สมมติว่าพระราชาทรงใช้นำทางก้าวดำเนิน

ส่วนมงกุฎนั้นมิได้มีมงกุฎเดียว ในราชพิธีนี้ บางตอนก็ทรงมงกุฎนี้ บางตอนก็เปลี่ยนไปทรงมงกุฎโน้น ซึ่งมีที่หมายต่างกันทั้งนั้น ต่อไปถ้าเสด็จพระราชดำเนินไปอินเดียกทรงมงกุฎพิเศษ ที่จะทรงในตำแหน่งที่เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของอินเดียเหมือนกัน

เมื่อเสร็จพิธีส่วนพระราชาแล้ว ท่านสังฆราชก็ทำพิธีส่วนพระมเหษีคือถวายเจิม ถวายเครื่องราชูปโภคส่วนพระมเหษี แลทรงมงกุฎถวาย เมื่อพระมเหษีทรงมงกุฎแล้ว พวกท่านผู้หญิงผู้มีจุลมงกุฎตามบรรดาศักดิ์ ก็สวมมงกุฎของตนทุกนาง

ในราชพิธีวันที่ ๑๒ นี้ (๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐) จะเดินกระบวนแห่เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชวังเวลา ๑๐ นาฬิกา พระราชพิธีในโบถลงมือเวลา ๑๒ นาฬิกา ๔๐ นาที เสด็จกลับถึงพระราชวัง ๑๔ นาฬิกา ๓๐ นาที รวมเวลาทั้งหมดถึง ๔ ชั่วโมงครึ่ง

ในสยาม เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงทำพิธีราชาภิเษกแล้ว เป็นประเพณีต้องเสด็จพระราชดำเนินเป็นกระบวนแห่เลียบพระนคร ราชพิธีอังกฤษใช้กระบวนแห่เสด็จไปแลเสด็จกลับจากโบถนี้เอง เป็นการเสด็จเลียบพระนคร

เมื่อราชพิธีอังกฤษที่จะมีวันที่ ๑๒ นี้ (๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐) มีเบ็ดเตล็ดที่เคยมีมาในพงศาวดารหลายอย่าง ซึ่งฟังสนุกดี ในที่นี้เก็บมาเล่าบ้างอย่างกระท่อนกระแท่น

ราชพิธีในโบถมีระเบียบอย่างเลอียดมาก งานคราวนี้ได้มีซ้อมหลายครั้งแล้ว ผู้มีหน้าที่จะต้องทำอะไรได้ไปซ้อมทั้งนั้น บางคราวคนไปซ้อมในโบถหลายร้อยคน เจ้านายก็เสด็จ พระราชาแลพระมเหษีก็เสด็จด้วย เพราะฉนั้นทุกท่านคงจะรู้หน้าที่กันหมด

แต่ในรัชกาลก่อนๆบางคราวไม่เป็นเช่นนั้น เป็นต้นว่า พระเจ้ายอชที่ ๑ เป็นเยอรมันตรัสภาษาอังกฤษไม่ได้ เสนาบดีแลข้าราชการของพระองค์ก็พูดเยอรมันไม่ค่อยได้ ในราชพิธีทรงมงกุฎ พระเจ้าแผ่นดินแลเจ้าที่หน้าผู้ดำเนินการพระราชพิธี คือท่านสังฆราชเป็นต้น พูดกันเข้าใจได้ด้วยภาษาละติน กล่าวกันว่าเป็นภาษาละตินอย่างเลว เพราะบางท่านไม่สู้จะรู้ภาษานั้นดีนัก

ในรัชกาลต่อ ๆ มา ราชพิธีครั้งหนึ่งเลอะเทอะกันมาก มีขาดโน่นลืมนี่ เวลาก็ไม่ตรง แลเครื่องใช้ในราชพิธีบางอย่างที่สำคัญก็ไม่มีเพราะลืมเสีย เมื่อเสร็จราชพิธีแล้ว พระราชาได้ตรัสต่อว่าสมุหราชพิธี ผู้นั้นทูลรับผิด แต่ทูลรับรองว่าจะจดจำใส่ใจไว้ เพื่อจัดราชพิธีทรงมงกุฎคราวหน้าให้เรียบร้อยไม่มีที่ติได้ พระราชาทรงพระสรวล ตรัสตอบว่า จะทรงพยายามเต็มพระกำลัง ที่จะไม่ให้ต้องมีราชพิธีสวมมงกุฎอีกนานที่สุดที่จะทรงทำได้

ในคราวกวีนวิกตอเรียทรงมงกุฎ เวลานั้นกวีนทรงพระชนม์เพียง ๑๘ พรรษา เมื่อก่อนเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ค่อยได้เสด็จสู่ที่ประชุมมากนัก แต่การซ้อมงานราชพิธี ก็เห็นจะได้ซ้อมน้อยกว่าคราวนี้ ระหว่างราชพิธีกวีนทรงกระซิบถามผู้อยู่ในที่ใกล้ว่า ต่อนั้นไปจะต้องทรงทำอะไร ผู้นั้นทูลตอบว่าไม่ทราบ แต่เห็นท่านสังฆราชถือแหวนมาจากที่บูชาแล้ว เห็นจะถึงเวลาทรงแหวนที่นิ้วนางพระหัตถ์ขวาดอกกระมัง กวีนตรัสว่า แหวนนั้นทำไว้สำหรับนิ้วก้อย จะทรงนิ้วนางกระไรได้ ทันใดนั้นท่านสังฆราชถือแหวนมาทูลให้ยกพระหัตถ์ขวากางนิ้วนางประทานให้สวมแหวนถวาย ตรัสแก่ท่านสังฆราชว่าแหวนคับทรงนิ้วนางไม่ได้ ทรงนิ้วก้อยแทนไม่ได้หรือ ท่านสังฆราชทูลว่า ระเบียบราชพิธีว่าต้องทรงนิ้วนาง ทรงนิ้วก้อยไม่ได้ มีผู้ทูลว่าทรงนิ้วนางแล้วเวลาถอดถ้าถอดไม่ออก ก็เอาพระหัตถ์แช่น้ำแลถอดในน้ำก็แล้วกัน กวีนยังไม่ทรงยอม เหลียวไปกระซิบถามหลอดเมลบอนด์อัครเสนาบดีว่า ก็เมื่อทรงนิ้วนางไม่ได้ ก็จะต้องทรงนิ้วก้อย ฉนี้ไม่ถูกหรือ หลอดเมลบอนด์ก็ทูลว่า สังฆราชเป็นเจ้าตำราพิธี เมื่อสังฆราชทูลว่านิ้วนาง นิ้วนางก็คงจะถูก กวีนตรัสว่า ถ้าพร้อมกันว่าเช่นนั้นก็ต้องทรงยอม แล้วยื่นพระหัตถ์ให้สังฆราชสวมแหวนถวาย เวลาที่สวมแหวนนั้น ตรัสว่าเจ็บจนแทบจะร้องขึ้น

พระธำมรงค์ที่ใช้ในราชพิธีนี้ สมมติเหมือนแหวนที่ใช้ในการแต่งงาน ถือว่าเป็นเครื่องมัดคล้ายกัน หรือถ้าจะกล่าวเปรียบก็คือว่า การสวมพระธำมรงค์วงนั้นเป็นเครื่องหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งงานกับประเทศ

กวีนอิลิสิเบธเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษองค์หนึ่ง ซึ่งขึ้นเสวยราชสมบัติ ๓๗๙ ปีมาแล้ว พระองค์ไม่มีสามี จึงไม่มีราชโอรสหรือธิดาที่จะสืบสันตติวงศ์ ได้มีผู้ทูลหลายครั้งให้ทรงแต่งงาน แต่ตรัสตอบว่า จะต้องแต่งงานทำไมอีก พระธำมรงค์ที่ทรงอยู่ ย่อมเป็นเครื่องหมายว่า ได้ทรงแต่งงานกับประเทศแล้ว ชาวประเทศทั้งหลาย คือราชโอรสแลธิดาของพระองค์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ