- คำนำของผู้จัดพิมพ์
- ๑. สภากาชาด
- ๒ นิราศ
- ๓. โคบุตร
- ๔. ไวต์ชาวสยาม
- ๕. ผสมผสาน
- ๖. พม่าประเทศราช
- ๗. ผสมผสาน (๒)
- ๘. สำคัญอะไรที่ชื่อ
- ๙. ทุนสำรองพิกัด
- ๑๐. ผสมผสาน (๓)
- ๑๑. ประชาธิปัตย์แลความลับ
- ๑๒. เมื่อเจียงไคเช็คถูกจับ
- ๑๓. ขอโทษ
- ๑๔. เซี่ยงไฮ้
- ๑๕. อ๊อกซฟอด
- ๑๖. ดินเนอร์ใหญ่
- ๑๗. สามก๊ก
- ๑๘. หมู่ประเทศ “ออสโล”
- ๑๙. เซี่ยงไฮ้
- ๒๐. โรตารี่ในประเทศเยอรมัน
- ๒๑. ผสมผสาน (๔)
- ๒๒. รัฐคติ
- ๒๓. ล่าผัว
- ๒๔. โลกนี้ครึ่งหนึ่ง
- ๒๕. สก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์
- ๒๖. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
- ๒๗. ขัติยมานะ
- ๒๘. เมื่อวันประกาศมหาสงคราม
- ๒๙. ปเกียรณกะ
- ๓๐. ในอินเดีย
- ๓๑. ในเมืองอังกฤษ
- ๓๒. คำราม
- ๓๓. ศัพท์รอยัลลิซต์
- ๓๔. อารยะชน อานารยะชน
- ๓๕. หนังสือพิมพ์
- ๓๖. กล่องดวงใจ
- ๓๗. ธนาธิปัตย์ยังไม่ตาย
- ๓๘. ฉากละคร
- ๓๙. ราชพิธีอังกฤษ
- ๔๐. ผสมผสาน (๕)
- ๔๑. นึกเมื่อฟังเทศน์
- ๔๒. บรรดาศักดิ์อังกฤษ
- ๔๓. กาพย์เห่เรือ
- ๔๔. โอวาทสำหรับชายหนุ่ม
- ๔๕. ราชาธิราชประเทศเม็กซิโก
- ๔๖. มุกดาดำ
- ๔๗. ประปา
- ๔๘. อุตสาหกรรมในกระท่อม
- ๔๙. ปนคำพูด
- ๕๐. วังแก้ว
- ๕๑. แซะประธาน
- ๕๒. ครึ่งสตางค์
- ๕๓. ฝักซ้ายฝ่ายขวา
- ๕๔. ประชาธิปัตย์สองแห่ง
- ๕๕. ยิวแลอาหรับ
- ๕๖. เฮ็บราย
- ๕๗. ประเทศอิราค
- ๕๘. พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
- ๕๙. รัฐแฟรงก์
- ๖๐. ศัพท์
- ๖๑. …ิสม์
- ๖๒. ท่านเสือ
- ๖๓. ส่องกระจก
- ๖๔. พระสังตปาปา
- ๖๕. นานาภาษิต
- ๖๖. สำนวนหนังสือ
- ๖๗. อาศา
- ๖๘. คณะสงฆ์
บรรดาศักดิ์อังกฤษ
ผู้รับประมวญวันคนหนึ่งอยู่นอกกรุงเทพ เขียนมาขอให้อธิบายว่า เหตุใด บอลด์วินจึงลาออกจากตำแหน่งอัครเสนาบดี แลเหตุใดเมื่อออกแล้วจึงได้เข้าสภาขุนนางทันที อนึ่ง ผู้นั้นใคร่ทราบธรรมเนียมการพระราชทานบรรดาศักดิ์ของอังกฤษ ว่ามักได้แก่บุคคลอย่างไร
คำถาม ๒ คำข้างต้นนั้น ตอบได้โดยสันนิษฐานเปรย ๆ ว่า บอลด์วินรับราชการมาหลายสิบปีในตำแหน่งซึ่งเหน็ดเหนื่อยมาก แลบัดนี้ (มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐) ก็อายุถึง ๗๔ แล้ว จึงขอพระราชทานถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเพื่อปลดชราตนเอง แลทั้งจะไม่รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญต่อไปด้วย แต่บอลด์วินเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถแลทั้งเป็นผู้มีความชอบที่รับราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ มานาน จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์แลอิศริยาภรณ์เป็นความชอบ การพระราชทานบรรดาศักดิ์นั้น นอกจากเป็นการแสดงพระมหากรุณาแก่ผู้มีความชอบแล้วยังจะเป็นเครื่องให้บอลด์วินได้มีตำแหน่งในปาลิเม็นต์ต่อไปในสภาขุนนาง เพราะในสภานั้นสมาชิกย่อมเข้าปรึกษาราชการได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องเสนอตนให้ราษฎรเลือกอย่างในสภาสามัญ
ข้างบนนี้เป็นคำตอบกว้าง ๆ จะชี้แจงให้เลอียดกว่านี้ก็ไม่เคยพบหลักอันใดที่จะนำมากล่าว ส่วนข้อที่ว่า เหตุใดอัครมหาเสนาบดีบางคนจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เมื่อออก บางคนไม่ได้รับพระราชทานนั้น ข้อนี้ถ้าตอบด้วยปากก็เห็นจะได้โดยสันนิษฐาน แต่ตอบเป็นหนังสือไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็นหนังสือที่ไหนเป็นหลักฐานที่จะนำมาอ้างได้ นอกจากจะกล่าวอย่างกำปั้นทุบดินว่า บรรดาศักดิ์แลอิสริยาภรณ์ย่อมเป็นเกียรติ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน ถือหลักว่าพระราชาเป็นท่อธารแห่งเกียรติทั้งหลาย แม้เคยเป็นประเพณีมาที่อัครเสนาบดีหรือเสนาบดี เคยกราบบังคมทูลเสนอนามผู้ที่สมควรจะได้รับพระราชทานเกียรติก็จริง แต่การที่จะพระราชทานหรือไม่ก็แล้วแต่พระราชาพระองค์เดียว เคยมีตัวอย่างบ่อยๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินไม่โปรดตามคำปรึกษาของอัครเสนาบดีที่ขอพระราชทานเกียรติให้แก่บุคคลผู้ไม่ถูกพระราชอัธยาศัย ข้อนี้มีปรากฏหลายครั้งในพงศาวดาร
อนึ่ง เคยได้ยินตัวอย่างหลายรายที่พระราชาจะพระราชทานบรรดาศักดิ์หรืออิศริยาภรณ์แก่ผู้มีความชอบ แต่ผู้นั้นไม่เต็มใจรับ ก็เป็นอันไม่ได้พระราชทาน
ส่วนคำถามของผู้อ่านของเราที่เขียนมาจากนอกกรุงเทพว่า พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมักพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่บุคคลชนิดใดนั้น เป็นคำถามซึ่งไม่อาจตอบเป็นกิจลักษณะได้ เพราะเป็นปัญหาใหญ่นัก
ผู้เขียนได้เปิดดูตำแหน่งอัครเสนาบดีถอยหลังไป ๑๐๐ ปี ปรากฏว่าได้มีอัครเสนาบดี ๑๗ คน มีบรรดาศักดิ์ชั้นหลอดมาเดิมก่อนเป็นอัครเสนาบดี ๗ คน ไม่มีบรรดาศักดิ์ชั้นหลอดก่อนเป็นอัครเสนาบดี ๑๐ คน ท่านทั้ง ๑๐ นี้ ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลอด ๔ คน ไม่ได้เป็นหลอด ๖ คน แต่เป็นเซอร์ ๒ คน พวกที่ไม่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นั้น ปรากฏว่าบางท่านขอพระราชทานอภัยที่จะเป็นมิศเตอร์ไปตลอดชีวิต ส่วนท่านทั้ง ๔ ที่รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ภายหลังที่เป็นอัครเสนาบดีแล้วนั้น ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นเออร์ลทั้ง ๔ ท่าน แม้อัครเสนาบดีคนหนึ่งในสมัยกวีนวิกตอเรีย เป็นก่อนเป็นอัครเสนาบดี เป็นขุนนางชั้นต่ำกว่าเออร์ล แต่ภายหลังก็ได้เป็นเออร์ลเหมือนกัน
ส่วนการพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่ขุนนางอื่น เช่นขุนนางที่เป็นเศรษฐีพ่อค้าเป็นต้นนั้น มีประเพณีแลตัวอย่างในพงศาวดารที่จะนำมาอ้างได้มาก เป็นประเพณีอ้างตัวอย่างซึ่งน่าอ่านเหมือนกัน แต่ยาวเกินกว่าที่จะนำมาเล่าได้ในหน้ากระดาษวันนี้ (๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐) เพราะยังมีข่าวใหม่ที่ควรนำมาแสดงในเรื่องการตั้งขุนนางของอังกฤษ
ข่าวใหม่วันนี้ (๒๓ มิย. ๒๔๘๐) ว่า รัฐบาลอังกฤษได้ตั้งกรรมการหมู่หนึ่งให้สอบสวนแลพิจารณาปัญหาเรื่องที่ผู้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นอันมาก กรรมการได้เสนอรายงานชั้นต้น เมื่อวันที่ ๖ เดือนพฤษภาคม ปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐) รายงานนั้นแสดงให้เห็นพิกัดค่าธรรมเนียม ซึ่งเราไม่เคยทราบทางอื่น ดูเป็นเงินมากมายนัก
ผู้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ใหม่ ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามลำดับชั้นบรรดาศักดิ์ โดยพิกัดต่างกันดังนี้
บรรดาศักดิ์ชั้น ดฺยุ๊ก | ๗๓๐ ปอนด์ |
บรรดาศักดิ์ชั้น มาเควส | ๖๓๐ ปอนด์ |
บรรดาศักดิ์ชั้น เออร์ล | ๕๓๐ ปอนด์ |
บรรดาศักดิ์ชั้น ไวส์เคานต์ | ๔๓๐ ปอนด์ |
บรรดาศักดิ์ชั้น บารอน | ๒๒๐ ปอนด์ |
บรรดาศักดิ์ชั้น บารอนเน็ต | ๒๗๐ ปอนด์ |
นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมเรียกว่า Special Remainder เป็นจำนวนเงินมากน้อยตามลำดับชั้นบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่ ๔๗๕ ปอนด์ ชั้นดฺยุ๊กลงไปจนถึง ๒๑๕ ปอนด์ชั้นบารอนเน็ต ในเวลาที่เขียนนี้ (มิ.ย. ๒๔๘๐) ผู้เขียนไม่ทราบว่า ค่าธรรมเนียมชนิดนี้อะไรแน่ แลยังไม่มีเวลาสอบ
รายนามกรรมการที่อ้างนี้กล่าวว่า ได้มีตำหนิมากขึ้นทุกทีว่า พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นความชอบแก่ใครแล้ว ผู้มีความชอบยังต้องเสียเงินเป็นอันมาก ดูไม่เป็นการงดงามเลย บางครั้งผู้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ไม่ใช่คนมั่งมี ก็ต้องยกค่าธรรมเนียมพระราชทานบ่อย ๆ กรรมการเห็นว่า การพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่ผู้ใด ถ้าต้องเสียเงินก็ดูเกียรติที่พระราชทานนั้นเสื่อมไป เราจึงน่าเข้าใจว่า การเสียค่าธรรมเนียมในการรับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้ ต่อไปข้างหน้าอาจจะเลิกก็ได้