อาศา

คำว่า “อาศา” แปลตามภาษาเดิมว่า “ความหวัง” แต่ในภาษาไทยดูเหมือนจะใช้หมายความว่า สมัค แทบจะเสมอ

“อย่ากันแสงเศร้าหมองเลยน้องรัก ไว้พนักงานพี่จะอาศา
ออกตีคลีพนันดังสัญญา มิให้เสียภาราปัจจามิตร”

ในที่นี้จะเขียนว่าด้วยความหวัง แต่จะใช้คำไทยก็ไม่สนิท เพราะจะต้องมีคาถาแลเรื่องราวในภาษาเติม จำต้องใช้คำว่า “อาศา” จึงจะกลมเกลียวกับใจความ เป็นต้นว่าจะเรียกนางอาศาลูกสาวพระอินทร์ ว่านางความหวังก็ฟังเยิ่นเย้อขัดหู เพราะฉนั้นในที่นี้จึงใช้อาศาแปลว่าความหวัง ไม่หมายความว่า สมัค ดังที่ใช้กันเป็นปรกติในภาษาไทย

อาศาเป็นของดีหรือไม่ พูดตามธรรมดา ถ้าไข้หมดหวัง ก็แปลว่าไข้ไม่มีทางเยียวยา คนทำอะไรมีหวัง ก็คือเห็นท่วงทีว่ามีทางสำเร็จ ถ้าพูดโดยฉนี้ อาศาก็เป็นของดี เพราะช่วยชูน้ำใจไว้ได้ แต่ถ้าพูดทางศาสนาก็ไปอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้นว่า ถ้าท่านเปิดดูอภิธานปฺปทีปิกา ท่านจะพบศัพท์ อาศา เข้าชุดไว้กับตัณหา โลภ ราค กาม ฯลฯ ซึ่งล้วนไม่ใช่ของดี (คาถา ๑๖๒ แล ๑๖๓)

ในที่นี้จะไม่พยายามชี้แจงโดยโวหารลึกซึ้งว่า อาศา เป็นของดีหรือไม่ แต่จะนำนิทานแลภาษิตมาแสดงให้พอเห็นเค้าตามคติของคนรุ่นเก่า แลรุ่นหลังลงมา

หนังสือใหญ่เล่มหนึ่งซึ่งผู้แต่ง (Heriod) เป็นคนในสมัยกรีกโบราณก่อนพุทธกาลในอินเดียกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไป มีเรื่องเล่าถึงเทวดาแลมนุษย์ว่า ท้าวยุปิเตอร์เจ้าสวรรค์กริ้วมนุษย์ว่าขโมยไฟลงมาจากสวรรค์ (ก่อนนั้นมนุษย์ไม่รู้จักใช้ไฟ) แลว่ามนุษย์เป็นสัตว์ลามกปราศจากกตัญญูกตเวที ไม่ถือคำมั่นสัญญาอันได้ให้ไว้แก่กัน มีแต่จะก้าวร้าวฆ่าฟันกันด้วยเหตุอันมิบังควรเป็นต้น จึงทรงหยิบอาวุธจะขว้างลงมาให้เกิดเป็นไฟไหม้มนุษย์เสียให้หมด แต่ทรงยั้งคิดขึ้นมาว่า ไฟซึ่งแรงกล้าถึงแค่จะเผามนุษย์ให้สิ้นไปนั้น อาจมีเปลวร้อนแรงขึ้นไปจนไหม้สวรรค์ด้วยก็เป็นได้ ท้าวยุปิเตอร์ทรงเกรงฉนี้ จึงไม่ทำลายมนุษย์ให้สิ้นลงไปในทันที เปลี่ยนไปใช้วิธีจะลงโทษอย่างลมุนลม่อม ให้ชีวิตมนุษย์เปลืองไปเองทีละน้อย แลระหว่างนั้นก็ให้ทนทุกข์ไปก่อน

ท้าวยุปิเตอร์ทรงคิดเช่นนี้ จึงตรัสให้หาเทวดาไปประชุมบนยอดเขาโอลิมปัส ปรึกษาหาวิธีที่จะลงโทษมนุษย์ ตกลงกันว่า ให้สร้างสตรีขึ้นสำหรับเป็นผู้ก่อทุกข์แก่มนุษย์ ปรึกษาตกลงกันแล้วก็มอบให้เทวดาช่างปั้นไปปั้นรูปมนุษย์หญิงด้วยดินเหนียว เป็นมนุษย์เพศใหม่ซึ่งพร้อมด้วยความงาม อันย่อมจะทำให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่น เมื่อได้ปั้นหุ่นแล้ว เทวดาก็หายใจรดให้หุ่นนั้นมีชีวิตขึ้น แล้วนางกามเทวีก็อำนวยความงามเพิ่มให้อีก เทวดาอื่น ๆ ก็ให้คุณสมบัติโน่นนี่ซึ่งล้วนแต่จะทำให้ความเดือดร้อนเกิดแก่ชายทั้งนั้น เมื่อได้นิรมิตรสำเร็จแล้ว ก็พร้อมกันตั้งชื่อหุ่นมีชีวิตว่านางปันโดรา เป็นหญิงคนแรกในหมู่มนุษย์ แล้วท้าวยุปิเตอร์ก็ตรัสให้เทวดาองค์หนึ่งพานางปันโดราลงมาประทานแก่ชายผู้หนึ่ง ชายนั้นรับนางไว้ด้วยความลุ่มหลง แม้พี่ชายได้เตือนให้ระวังก็หาเชื่อไม่

นางปันโดราหญิงมนุษย์คนแรกได้มาสิงสู่อยู่กับสามี ก็มีความสุขยิ่งนัก ความสำราญของนางอยู่ในการเที่ยวเล่นในป่ากับสามี เก็บดอกไม้แลผลไม้ ซึ่งชูช่อเหมือนหนึ่งจะคอยยื่นให้นางเด็ดอยู่ทุกขณะ เมื่อจะนั่งพัก ก็นั่งบนลานหญ้านุ่ม ซึ่งเสมอกับปัจถรณ์เที่ยวปูอยู่ทุกหนทุกแห่ง ในสมัยนั้น มนุษย์ประสงค์อันใดก็สมประสงค์ ไม่มีอันใดกีดกั้น ความยินดีทั้งหลาย ถ้าจะมียกเว้นก็เห็นจะเพียงแต่ว่า นางปันโดราเป็นหญิงอยู่ผู้เดียวในหมู่มนุษย์ สามีของนางเป็นชายคนเดียวที่มีคู่ ชายอื่น ๆ ย่อมจะไม่สมมโนรถ ในเรื่องความรู้สึกชนิดใหม่ คือ ความรัก

บ่ายวันหนึ่ง นางปันโดรากับสามีสำราญอยู่ในป่า เห็นเทวดามีปีกที่เท้า แบกหีบหนักมา เทวดานั้นคือเมอร์คิวรี ผู้เป็นทูตของเทวดา เป็นเจ้าแห่งการค้าขาย แลเป็นเจ้าแห่งการพูดคล่อง แห่งความต่อลวง แห่งโจรกรรม แลเล่ห์กลทั่ว ๆ ไป เมอร์คิวรีเดินแบกหีบมาเวลานั้น ดูอาการเหน็ดเหนื่อย เดินเซด้วยความหนักของหีบ เสื้อผ้าอันรุ่งริ่งก็ปกคลุมด้วยฝุ่น เห็นได้ว่า ได้แบกหีบหนักเดินทางมาไกล มีความอ่อนเพลียยิ่งนัก นางปันโดราเห็นดังนั้นกกระซิบแก่สามีว่า ให้ถามว่ามาแต่ไหน จะไปไหน แลในหีบนั้นมีอะไร ทั้งนี้เป็นความอยากรู้อยากเห็นของหญิงคนแรก ที่มีมาในหมู่มนุษย์ เป็นน้ำใจซึ่งเป็นมรดกสืบต่อกันมาจนบัดนี้

ครั้นเมอร์คิวรีเดินเข้ามาใกล้ สามีของนางปันโดรา ก็ถามดังที่ภรรยาให้ถาม เมอร์คิวรีไม่ตอบปัญหา แต่ย้อนบอกว่า ได้แบกหีบหนักนั้นเดินทางมาไกล ได้ความเหน็ดเหนื่อยนัก จะขอฝากหีบไว้ ณ เรือนแห่งคู่ผัวเมียสักคราวหนึ่งจะได้หรือไม่ เมอร์คิวรีมีกิจจะต้องไปที่อื่นต่อไป เมื่อเสร็จกิจแล้วจึงจะมารับหีบคืน สามีกับนางปันโดราได้ฟังเทวดาออกปากดังนั้น ก็ยอมรับฝากหีบไว้ในเรือนของตน เมอร์คิวรีก็ลาออกเดินทางต่อไป

เมื่อเจ้าของออกจากเรือนไปแล้ว นางปันโดราก็เกิดความอยากรู้อยากเห็นยิ่งขึ้น จึงกล่าวแก่สามีว่า ให้เปิดหีบออกดูว่ามีอะไรในนั้นบ้าง สามีทัดทานว่า จะทำเช่นนั้นไม่ควรเลย จะเสียความไว้ใจของผู้ฝาก แลเสียธรรมในใจของตนเอง เมื่อนางปันโดราได้ฟังสามีทัดทานดังนั้น หน้ายิ้มแย้มก็กลายเป็นเง้า สามีผู้แสนจะรักลุ่มหลง ก็เกิดร้อนใจที่ทำให้นางเศร้า จึงชวนว่าจงออกไปเที่ยวชมนกชมไม้เพลิดเพลินกันในป่าเถิด ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาสามีชวนครั้งไร นางก็ไม่เคยขัดเลย แต่ครั้งนั้น นางปันโดราตอบว่า สามีจงไปคนเดียวเถิด

สามีเห็นภรรยาแสดงอาการเง้างอดเช่นนั้น ครั้นจะเซ้าซี้ต่อไป ก็เกรงจะน้อยเป็นมาก จึงออกจากเรือนไปคนเดียว เพื่อจะให้ต่างคนต่างสงบอารมณ์เสียสักพักหนึ่ง เข้าใจว่าอีกสักครู่ภรรยาก็คงตามออกไป

ครั้นสามีลงเรือนไปไม่นาน ภรรยาก็ยิ่งอยากรู้หนักขึ้นว่ามีอะไรในหีบ จึงเข้าไปดูใกล้ ๆ เห็นเป็นหีบไม้ดำ ทำด้วยฝีมือประณีต มีรอยแกะเป็นหน้าคน ซึ่งดูเหมือนจะยิ้มกับนาง รอบหีบมีเชือกทองคาด ปลายเชือกผูกเป็นปมเลอียด อันจะแก้ให้หลุดได้ด้วยยาก นางปันโดรารู้ตัวว่ามือของนางเป็นมือช่าง อาจแก้ปมนั้นให้หลุดแล้วกลับผูกเสียอย่างเดิมก็ได้ การที่จะแก้ปมออกดูนั้น ถ้าไม่เปิดดูในหีบ ก็คงจะไม่เสียความไว้ใจของผู้ฝาก

ดังนั้น นางปันโดราจึงลองแก้ปมที่เชือกทอง แก้อยู่นานก็ไม่หลุด ระหว่างนั้นได้ยินเสียงสามีกลับมาเรียกที่ใกล้เรือน แต่นางก็นิ่งเสีย แลยิ่งพยายามแก้หนักขึ้น จนในที่สุดแก้เชือกหลุดออกได้

ระหว่างที่กำลังแก้ปมอยู่นั้น ดูเหมือนจะมีเสียงอะไรในหีบ แต่ก็ไม่แน่ แต่ครั้นเชือกหลุดจากหีบ เสียงในหีบก็ดังมากขึ้น นางจึงก้มหูลงฟังจนชิด ได้ยินเสียงพูดอยู่ในหีบว่า “ปันโดรา ปันโดราผู้เป็นที่รัก จงกรุณาเราเถิด นางจงเปิดหีบนี้ให้เราพ้นจากที่ขัง เม็ตตาให้เราได้สู่ที่แจ้งนางจงเปิดหีบเถิด”

นางปันโดราได้ยินดังนั้น ก็ยิ่งพิศวงหนักขึ้น ขณะนั้นได้ยินเสียงฝีเท้าที่บันได นางทราบว่าสามีกลับมาตาม ถ้ามาพบนางอยู่กับหีบ ก็จะห้ามไม่ให้เปิด ความอยากรู้ของนางก็จะไม่สมใจ นางจึงรีบเปิดหีบแง้มดู พอให้รู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้น แล้วจะกลับปิดเสียก่อนที่สามีเข้ามาเห็น

ในหีบนั้น ท้าวยุปิเตอร์ได้เอาทุกข์ของมนุษย์ใส่มาทุกชนิด คือความไข้ ความแก่ ความตาย ความโศก ความแค้น ความเศร้า เป็นต้น ทุกข์เหล่านี้ พอฝาหีบแง้มก็บินออกมาหมด นางปันโดราเห็นสัตว์มีปีกตัวเล็ก ๆ บินกรูกันออกมาจากหีบก็ตกใจ รีบปิดหีบเสียทันที แต่แมลงทุกข์ชนิดต่าง ๆ ได้บินออกมาเสียหมดแล้ว เหลืออยู่แต่แมลงอาศาตัวเดียว แมลงทุกข์ต่าง ๆ ที่ออกมาจากหีบนั้น เที่ยวเกาะตามตัวมนุษย์ปล่อยพิษไว้ทั่ว ๆ ไป แลตั้งแต่นั้นมา มนุษย์ซึ่งไม่เคยมีทุกข์ ก็ได้รับทุกประการต่าง ๆ

เรื่องข้างบนนี้ มีในหนังสือซึ่งนักปราชญกริ๊กโบราณ แต่งไว้ก่อนพุทธกาลประมาณ ๒๐๐ ปี การที่เอาอาศา (ความหวัง) รวมเข้าไว้กับแมลงทุกข์อื่น ๆ ในหีบ ซึ่งท้าวยุปิเตอร์ส่งลงมาลงโทษมนุษย์นั้น ทำให้เห็นว่าสงเคราะห์เอาอาศาเข้าไว้ในจำพวกทุกข์ ไม่ใช่ของดี

แต่ในหนังสือภาษาลตินอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งนักปราชญ์สมัยกรุงโรมโบราณแต่งไว้ ภายหลังมาประมาณพันปี เล่าเรื่องนางปันโดราไปคนละอย่าง อาศากลายเป็นของดีไป

ในตอนก่อนได้เขียนเล่าตามหนังสือ ซึ่งนักปราชญ์กริ๊กโบราณแต่งไว้ก่อนพุทธกาลประมาณ ๔๐๐ ปี ความว่าท้าวยุปิเตอร์ได้เอาแมลงทุกข์ต่าง ๆ คือความไข้ ความแก่ ความตาย ความโศก ความแค้น ความเศร้า เป็นต้น รวบลงหีบส่งมาเป็นเครื่องทำโทษมนุษย์ มีแมลงอาศา (ความหวัง) รวมมากับแมลงอื่น ๆ ด้วย จึงทำให้เห็นว่า สงเคราะห์เอาอาศเข้าไว้ในจำพวกทุกข์ ไม่ใช่ของดี

แต่นักเขียนในยุโรปรุนหลังอธิบายแก้ไปว่า เมื่อเทพดาเอาแมลงทุกข์ต่าง ๆ ใส่ลงในหีบแล้ว ก็เกิดสงสารมนุษย์ขึ้นมา จึงเอาแมลงอาศาเพิ่มลงไปอีกตัวหนึ่ง เพื่อจะได้บันเทาทุกข์ของมนุษย์ขึ้นบ้าง ครั้นนางปันโดราเปิดแง้มหีบเป็นช่องให้แมลงทุกข์ต่าง ๆ บินออกมาเที่ยวเกาะตามตัวมนุษย์ แต่กลับรีบปิดหีบขังเอาแมลงอาศาไว้ได้ตัวหนึ่งแล้ว ครั้นสามีของนางเข้าไปในเรือน สองคนก็ได้ยินเสียงร้องออกมาจากในหีบว่า ท่านจงเปิดปล่อยข้าพเจ้าออกไปเถิด ท่านปล่อยแมลงทุกข์ออกไปหมดแล้ว ถ้าปล่อยข้าพเจ้าอีกผู้หนึ่ง ข้าพเจ้าจะช่วยบันเทาทุกข์ให้แก่ท่าน สามีภรรยาปรึกษากันเห็นว่า ไหน ๆ ก็ปล่อยแมลงออกมาเป็นกองแล้ว ควรปล่อยออกมาเสียให้หมดทีเดียว ฝ่ายแมลงอาศาเมื่อหลุดออกจากหีบได้แล้ว ก็เที่ยวเกาะตามตัวมนุษย์ เพราะฉะนั้น เมื่อคนมีทุกข์แล้ว ก็มีความหวังมาช่วยให้บันเทาลง

โดยประการที่อธิบายเพิ่มเติมฉนี้ อาศากลับเป็นของดี

ต่อมาอีกประมาณพันปี มีนักเขียนชาวกรุงโรมโบราณเขียนเรื่องเดียวกันไปคนละอย่าง มีความว่า เมื่อเทพดาส่งนางปันโดราเป็นหญิงคนแรกมาอยู่ในหมู่มนุษย์นั้น ได้ให้หีบใบหนึ่งเป็นของขวัญ ในหีบมีความสุขทุกชนิด เทพดากำชับนางปันโดราว่า อย่าให้เปิดหีบกลางทาง ต่อเมื่อมาอยู่ในหมู่มนุษย์แล้วจึงค่อยเปิด นางปันโดรามาตามทางอยากรู้เต็มที ว่ามีอะไรอยู่ในหีบ จึงลองแง้มดู แมลงสุขทั้งหลายก็บินออกจากหีบไปหมด นางกลับเปิดหีบกักไว้ได้แต่แมลงอาศาตัวเดียว แมลงสุขทั้งหลายหลุดหนีไปก่อนที่จะมาถึงมนุษย์ เหลืออยู่แต่แมลงอาศา เพราะฉนั้น มนุษย์จึงมีอยู่แต่ความหวังอย่างเดียว

ตามเรื่องนางปันโดราที่เล่ามานี้ ทำให้เห็นว่า ถ้าพูดตามคติของชนโบราณในตะวันตก อาศาก็เป็นของดี แต่ถ้าพูดตามคติของชาวตะวันออก อาศาก็เป็นของตรงกันข้าม มีสุภาษิตคำหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนได้เคยเห็น แต่อ้างที่มาไม่ได้ สุภาษิตนั้นว่า อาศาหิ ปรมํ ทุกขํ ไนราศฺย ปรมํ สุขํ แปลว่า ความหวัง เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ปราศจากความหวัง เป็นสุขอย่างยิ่ง

ตามหนังสือในพุทธศาสนา มีนิทานในสุทธาโภชนชาดก ว่าลูกสาวของพระอินทร์ ๔ นาง คือนางศิริองค์ ๑ นางศรัทธาองค์ ๑ นางอาศาองค์ ๑ นางหิริองค์ ๑ ไปเล่นที่สระอโนดาด (อโนตตฺต) ครั้นเหนื่อยก็นั่งพักที่พื้นมโนศิลา

[ที่เรียกว่าสระอโนดาด (อโนตตฺต) นั้น คือทเลสาบแห่งหนึ่งในหิมวา ทเลสาบใหญ่มี ๗ แห่ง คือ อโนตตฺต ๑ กณฺณมุณฺฑ๑ รถการ ๑ ฉตฺทนฺต ๑ กุญาล ๑ มนฺทกินี ๑ สีหปฺปปาต ๑ สระอโนดาดยาว ๑๕๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ ฝนซึ่งตกบนเขาทั้ง ๕ ซึ่งล้อมอยู่รอบทเลสาบ คือ จิตรกูฎแลกาฬกูฎ เป็นต้น ไหลมาลงอโนดาตทั้งหมด แลทั้งแม่น้ำในเขานั้น ๆ ก็ไหลลงมาด้วย พระอาทิตย์แลพระจันทร์ส่องแสงไม่ลงในสระอโนดาดโดยตรง แสงกระทบภูเขาก่อน จึงฉายมาลงในสระ สระจึงได้ชื่อว่า อโนดาด คือน้ำไม่ร้อน สระนี้มีทางไหลออกไป ๔ ทาง เรียกว่า สีหมุขทาง ๑ หัตถิมุขทาง ๑ อัสสมุขทาง ๑ อุสภมุขทาง ๑ สระอโนดาดเป็นสระบุญ คือว่าเมื่อใครได้อาบน้ำในสระนั้นแล้ว ก็ย่อมหมดราคีทุกประการ เมื่อมารดาพระพุทธเจ้าจะตั้งครรภ์ ฝันว่าได้อาบน้ำในสระอโนดาด จึงทำนายกันว่า จะเกิดโอรสเป็นบุรุษประเสริฐ ถ้าเขียนเรื่องสระอโนดาดให้เลอียดจะเกินหน้ากระดาษมากมาย จึงขอหยุดแต่เพียงเท่านี้]

ลูกสาวพระอินทร์ ๔ นางอาบน้ำในสระอโนดาด แล้วนั่งพักอยู่ที่พื้นมโนศิลา ก็พอฤๅษีนารทถือช่อปาริชาตเดินจะไปถ้ำกาญจนคูหาอันเป็นที่อยู่ของตน นางทั้ง ๔ เห็นช่อปาริชาต (ปาริจฺฉตฺตก) จึงขอต่อฤๅษีนารถ ฤๅษีนารถเป็นตัวร้าย ชอบยุแหย่ให้แตกร้าวกัน จึงกล่าวแก่นางทั้ง ๔ ว่า นาง ๔ องค์ขอช่อดอกไม้ช่อเดียว ฤๅษีนารทไม่รู้จะให้แก่ใคร ถ้านางทั้ง ๔ ตกลงกันเอง ว่าองค์ไหนเป็นเลิศ ก็จะให้ช่อดอกไม้แก่นางนั้น

สี่นางต่างก็ถือตนว่าเลิศ จะตกลงกันว่าใครดีกว่าใครก็ไม่ได้ จึงไปเฝ้าพระอินทร์ผู้บิดาให้ตัดสิน พระอินทร์เห็นทันทีว่า มีผู้ยุแยงจะให้แตกร้าวกันขึ้น ถามว่าใครเป็นผู้ยุ ก็ได้ความว่าฤๅษีนารทตามเคย แต่แม้พระอินทร์เอง จะตัดสินว่าลูกสาวองค์ไหนเยี่ยมกว่าองค์อื่น ก็ไม่กล้า จึงคิดถ่ายเทว่า ฤๅษีมัจฉริยโกสีห์ จำศีลอยู่ที่เขาหิมาลัย ควรต้องให้ฤๅษีองค์นั้นเป็นผู้ตัดสิน จึงตรัสแก่นางทั้ง ๔ ว่า จะส่งสุทธาโภชน์ไปให้แก่ฤๅษี ฤๅษีถือพรตว่ากินอะไรไม่กินผู้เดียว แต่จะยอมกินอาหารร่วมกับผู้มีคุณงามความดีเท่านั้น นางทั้ง ๔ จงไปขอกินสุทธาโภชน์กับฤๅษีมัจฉริยโกสีห์เถิด ถ้าฤๅษียอมกินร่วมกับนางองค์ไหน นางองค์นั้นก็เลิศ อีก ๓ นางสู้ไม่ได้

พระอินทร์ตรัสให้มาตลีนำสุทธาโภชน์ไปให้แก่ฤๅษี นางทั้ง ๔ ก็ขอกินทีละองค์ นางศิริเข้าไปก่อน ฤๅษีบอกว่า บุรุษอาจมีปัญญา แลคุณงามความดีทุกประการ แต่ถ้าไม่มีศิริก็ไม่มีความสำเร็จ แต่ถ้าคนมีศิริ ถึงแม้จะเกียจคร้านเหลวไหลก็อาจได้ดี อาตมจึงถือว่า ท่านมิใช่ผู้ไม่มีตำหนิ จะกินอาหารร่วมกับท่านไม่ได้

ครั้นนางศรัทธาเข้าไปขอ ฤๅษีก็ว่า คนเชื่อฟังท่านอาจทำดี แต่อาจทำผิดเพราะเชื่อท่านก็ได้ แล้วแต่ศรัทธาในทางไร เพราะฉนั้นอาตม จึงกินร่วมกับท่านไม่ได้ ท่านจงไปเสียเถิด

เมื่อนางอาศาเข้าไปขอ ฤๅษีกว่า บุคคลจะสำเร็จความหวังหรือไม่ก็ไม่แน่ ความหวังเป็นเครื่องทำให้เกิดความเสื่อมแก่คนได้ เพราะฉนั้น จึงไม่นับถืออาศาเป็นของดีแท้

เมื่อนางหิริเข้าไปขอ ฤๅษีก็ยกย่องว่า ความละอายบาปเป็นของประเสริฐ แลแบ่งสุทธาโภชน์ให้นางหิริกิน

ตามนิทานชาดกนี้ จะว่าอาศาเป็นบรมทุกข์ เหมือนสุภาษิตที่ว่าเมื่อกี้ก็ไม่ได้ ดูเหมือนจะกล่าวเป็นความว่า บุคคลจะหวังไปในทางดีก็ได้ ในทางร้ายก็ได้ เช่นเดียวกับศรัทธา ซึ่งเมื่อเลื่อมใสในทางธรรม ก็ย่อมเป็นของประเสริฐ แต่ถ้าเลื่อมใสในคติโหดร้าย ก็เป็นของไม่ดี

ถ้าจะกล่าวตามความคิดคนโดยมากในปัจจุบัน ความหวังก็จะเป็นของทั้งดีแลร้ายได้ทั้ง ๒ อย่าง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ