- คำนำของผู้จัดพิมพ์
- ๑. สภากาชาด
- ๒ นิราศ
- ๓. โคบุตร
- ๔. ไวต์ชาวสยาม
- ๕. ผสมผสาน
- ๖. พม่าประเทศราช
- ๗. ผสมผสาน (๒)
- ๘. สำคัญอะไรที่ชื่อ
- ๙. ทุนสำรองพิกัด
- ๑๐. ผสมผสาน (๓)
- ๑๑. ประชาธิปัตย์แลความลับ
- ๑๒. เมื่อเจียงไคเช็คถูกจับ
- ๑๓. ขอโทษ
- ๑๔. เซี่ยงไฮ้
- ๑๕. อ๊อกซฟอด
- ๑๖. ดินเนอร์ใหญ่
- ๑๗. สามก๊ก
- ๑๘. หมู่ประเทศ “ออสโล”
- ๑๙. เซี่ยงไฮ้
- ๒๐. โรตารี่ในประเทศเยอรมัน
- ๒๑. ผสมผสาน (๔)
- ๒๒. รัฐคติ
- ๒๓. ล่าผัว
- ๒๔. โลกนี้ครึ่งหนึ่ง
- ๒๕. สก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์
- ๒๖. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
- ๒๗. ขัติยมานะ
- ๒๘. เมื่อวันประกาศมหาสงคราม
- ๒๙. ปเกียรณกะ
- ๓๐. ในอินเดีย
- ๓๑. ในเมืองอังกฤษ
- ๓๒. คำราม
- ๓๓. ศัพท์รอยัลลิซต์
- ๓๔. อารยะชน อานารยะชน
- ๓๕. หนังสือพิมพ์
- ๓๖. กล่องดวงใจ
- ๓๗. ธนาธิปัตย์ยังไม่ตาย
- ๓๘. ฉากละคร
- ๓๙. ราชพิธีอังกฤษ
- ๔๐. ผสมผสาน (๕)
- ๔๑. นึกเมื่อฟังเทศน์
- ๔๒. บรรดาศักดิ์อังกฤษ
- ๔๓. กาพย์เห่เรือ
- ๔๔. โอวาทสำหรับชายหนุ่ม
- ๔๕. ราชาธิราชประเทศเม็กซิโก
- ๔๖. มุกดาดำ
- ๔๗. ประปา
- ๔๘. อุตสาหกรรมในกระท่อม
- ๔๙. ปนคำพูด
- ๕๐. วังแก้ว
- ๕๑. แซะประธาน
- ๕๒. ครึ่งสตางค์
- ๕๓. ฝักซ้ายฝ่ายขวา
- ๕๔. ประชาธิปัตย์สองแห่ง
- ๕๕. ยิวแลอาหรับ
- ๕๖. เฮ็บราย
- ๕๗. ประเทศอิราค
- ๕๘. พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
- ๕๙. รัฐแฟรงก์
- ๖๐. ศัพท์
- ๖๑. …ิสม์
- ๖๒. ท่านเสือ
- ๖๓. ส่องกระจก
- ๖๔. พระสังตปาปา
- ๖๕. นานาภาษิต
- ๖๖. สำนวนหนังสือ
- ๖๗. อาศา
- ๖๘. คณะสงฆ์
นึกเมื่อฟังเทศน์
เมื่อวันวิสาขะบูชา ผู้เขียนได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์สองกัณฑ์ เป็นเทศน์ของธรรมกถึกต่างโวหาร ในเวลาที่ฟังได้นึกในใจหลายข้อ แต่นำมากล่าวในที่นี้ไม่ได้หมด เพราะจะกินหน้ากระดาษมากนั้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง ความนึกเหล่านั้นบางทีก็ก้าวร้าวนัก
ในที่นี้จะนำใจความที่นึกมาเขียนลงไว้สัก ๓ ข้อ จำเป็นจะต้องกล่าวย่อ แต่ถึงย่อก็อาจจะยาว
(๑) ความนึกข้อที่ ๑ ว่า ผู้จะหัดเป็นนักเขียนแลนักพูด ถ้าฟังเทศน์บ่อย ๆ แลสังเกตสำนวนโวหารของธรรมกถึก คือถ้อยคำแลวิธีร้อยกรองถ้อยคำของท่าน ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตนนักหนา แต่จะเป็นประโยชน์แก่หนังสือไทยแลภาษาไทย ยิ่งกว่าประโยชน์แก่บุคคลเสียอีก ทั้งนี้เพราะสำนวนเทศน์เป็นอย่างเก่า ไม่ใช่สำนวนของธรรมกถึกโซ๊ต ก็เป็นสำนวนไทยอย่างดี บางคนฟังเทศน์ไม่ค่อยจะเข้าจะเข้าใจ “ซึมซาบ” แต่นั้นเป็นเพราะธรรมกถึกจำเป็นต้องใช้ศัพท์มคธ ซึ่งเป็นคำ “เต็กนิกัล” ของศาสนา ธรรมกถึกแปลศัพท์เหล่านั้นเป็นไทย ก็ต้องแปลให้ถูกตามวิภัติปัจจัย จะแปลเถอะ ๆ ไปไม่ได้ ธรรมะซึ่งธรรมกถึกนำมาแสดงย่อมเป็นของสูงเข้าใจยาก จะพูดให้เข้าใจ “ซึมซาบ” เหมือนนิทานหล่อนจ๊ะคุณจ๋านั้นไม่ได้ แต่ภาษาที่ท่านให้เป็นภาษาไทยอย่างดี แลถ้าคิดถึงความยากแห่งอรรถะที่ท่านนำมาแสดง ก็ต้องว่าจะพูดให้ง่ายไปกว่านั้นได้โดยยาก ที่กล่าวนี้ กล่าวถึงสำนวนนักเทศน์ที่ไม่โซ๊ต ส่วนนักเทศน์โซ๊ตนั้นอีกอย่างหนึ่ง (คำว่า “ซึมซาบ” เป็นคำเย้ยซึ่งใช้กันสมัยหนึ่งในรัชกาลที่ ๕ ผู้ไม่รู้หนังสืออ่านหนังสือที่ผู้ไม่รู้เขียนก็เข้าใจซึมซาบดี แต่หนังสือที่ผู้รู้เขียนนั้นไม่ซึมซาบ)
(๒) ผู้เขียนนึกอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้านักเทศน์ใหม่ ๆ บางท่านไม่พยายามจะกล่าวข้อความที่ยังไม่ค่อยรู้ก็จะดีนัก
(๓) ข้อที่นึกอีกข้อหนึ่งไกลไปถึงหนังสือฝรั่ง ซึ่งได้อ่านหลายเดือนมาแล้ว ครั้นนึกขึ้นได้คราวนี้ ก็ย้อนไปค้นมาอ่านใหม่
หนังสือที่ว่านี้ เป็นของนาย เอ.ปี. เฮอเบิต. เอ็ม. ปี. ว่าด้วยเรื่องศัพท์ในภาษาอังกฤษของเขาเอง ที่ใช้เฉไฉกันไปต่าง ๆ ถ้าเราจะนำเอาคำของเขามาเทียบกับภาษาไทยของเราก็อาจเทียบได้มาก แต่ผู้เขียนจะปล่อยไว้ให้ผู้อ่านคิดเทียบเอาเอง
นายเฮอเบิตกล่าวว่า ผู้ใดทำท่วงทีประหนึ่งว่า จะเป็นผู้วางบัญญัติลงในเรื่องภาษา หรือในเรื่องใช้ศัพท์ ผู้นั้นหาเหาใส่ตน คนทั่วโลกจะลุกขึ้นนั่งเอียงหูฟังคอยจับผิด การที่คนทั้งโลกลุกขึ้นนั่งเอียงหูฟังคอยจับผิดนั้น อันที่จริงก็เป็นการดี เพราะแสดงความเอาใจใส่
อีกข้อหนึ่งเขากล่าวว่า คนบางคนทักท้วงว่า จะบัญญัติอะไรลงไปในเรื่องคำพูดนั้นไม่ได้ เพราะถ้าใช้กันตามธรรมดาอย่างไรอย่างนั้นก็ถูก อนึ่งภาษาย่อมจะไม่ยืนที่ มีแต่จะเปลี่ยนไปเสมอ ตามนัยที่ว่านี้ ถ้าคนโดยมากจะเรียกขาวว่าดำ ขาวก็แปลว่าดำ นักปราชญ์ราชบัณฑิตจะว่ากระไร ก็เป็นความอวดรู้เหลว ๆ ของนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งนั้น
นายเฮอเบิตกล่าวว่า ถ้าจะบัญญัติอะไรลงไปไม่ได้ในเรื่องภาษา เหตุใดสิ่งอื่น ๆ จึงบัญญัติได้แทบทุกอย่าง ถ้าจะอ้างว่าภาษาเปลี่ยนอยู่เสมอ สิ่งอื่น ๆ ก็เปลี่ยนอยู่เสมอเหมือนกัน เหตุไฉนการเล่นฟุตบอลล์ หรือการขับรถยนตร์ หรือกิจการค้าขายจึงมีระเบียบบังคับอย่างชัดเจนได้ ถ้าเราเล่นฟุตบอลล์ไม่มีระเบียบบังคับ ใครนึกจะเล่นอย่างไร ๆ ก็เล่นตามใจ หรือถ้าขับรถยนตร์ไม่ต้องมีระเบียบเดินทางซ้ายขวา ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับแห่งโคมสีเขียวแลแดงที่ปักอยู่ตามถนน ใครนึกจะไปทางไหนก็ไปฉนี้ จะเป็นอย่างไรบ้าง
กิจการค้าขายถ้าไม่ทำตามระเบียบอันดี จะได้ประโยชน์ดังที่ควรได้หรือไม่ ถ้าผู้รู้วิธีบาญชีกล่าวตำหนิติเสมียนบาญชีว่าทำไม่ถูก เราก็ไม่เรียกว่าการกล่าวตำหนินั้นเป็นการอวดความรู้เหลว ๆ หรือถ้าตำรวจจราจรจับคนขับรถยนตร์เวลากลางคืนว่า ไม่มีโคมตามข้อบังคับ เราก็หากล่าวว่าตำรวจอวดความรู้เหลว ๆ ไม่
คนบางคนกล่าวว่า จะใช้คำโน้นหรือคำนี้ ถ้าเข้าใจกันแล้วก็เป็นไรไป ข้อนี้แย้งว่า ถ้าเอาสิ่วไปไขควงก็อาจสำเร็จได้ แต่จะดีแก่สิ่ว หรือดีแก่ควงหรือไม่นั้นอีกอย่างหนึ่ง
อนึ่ง เขากล่าวว่า ข้อที่ว่าถ้าเข้าใจกันแล้วก็เป็นอันใช้ได้นั้น ข้อที่ว่าเข้าใจกันนี้แหละยังสงสัยอยู่ ศัพท์เป็นเหมือนสายใยที่จะชักความเข้าใจของผู้ฟัง ถ้าดึงผิดสาย ผู้ฟังอาจไม่เข้าใจความหมายของผู้พูดก็ได้ ยิ่งเมื่อผู้พูดก็ไม่เข้าใจด้วยแล้ว ผู้ฟังก็ยิ่งจะไม่เข้าใจหนักขึ้น เขาอ้างคำว่า “คอมมูนิสต์” แล “ฟาสซิสม์” ซึ่งแต่ก่อนมีความหมายเจาะจงจนเกือบจะชัดเจน แต่ในเวลานี้ (พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐) คนมักใช้สองศัพท์นี้เรียกอะไร ๆ หลายอย่าง ซึ่งแผกเพี้ยนกันมาก ๆ
เขาว่าอย่าให้ใครหลงว่าศัพท์เป็นเครื่องเล่นของอาจารย์แว่นตาวาว หรือของคนที่คลั่งอยู่กับหนังสือเท่านั้นเอง อันที่จริงศัพท์เป็นเครื่องมือสำหรับให้คนใช้ในการค้าขาย แลในอาชีพทุก ๆ ชนิด เป็นเครื่องใช้ของรัฐบุรุษด้วย ของนักเขียนด้วย แลของผู้ประกาศโฆษณาด้วย
ผู้ประกาศขายของบางคน ไม่เสียดายเงินในการทำรูปภาพงดงาม เพื่อจะจูงตาให้คนดูตัวหนังสือที่บอกขายของ แต่ถ้อยคำที่ใช้ประกอบรูปภาพนั้นชืด ๆ ไม่สมกับรูปภาพ เขาจึงว่าผู้ประกาศขายของควรจะอาศัยผู้มีศิลปะในการใช้ถ้อยคำ เหมือนกับอาศัยผู้มีศิลปะในการเขียนรูปฉนั้น
นายเฮอเบิตกล่าวว่า ข้อสำคัญของภาษาก็คือสิ่งที่เขาใช้ศัพท์ว่า “เอฟฟีเชียนซี” คือสำเร็จผลสมหมายทันที นัยหนึ่งเมื่อพูดหรือเขียนลงไปแล้ว ผู้ฟังหรือผู้อ่านก็เข้าใจความหมายในทันใดที่ได้ยินหรืออ่าน ไม่ต้องพูดอ้อมค้อมให้เสียเวลาแลเสียลมหายใจเกินความจำเป็น แลเมื่อสำเร็จผลสมหมายครั้งหนึ่งแล้วก็สำเร็จอยู่เสมอ ไม่เหมือนเอาสิ่วไขควง ซึ่งอาจสำเร็จได้ในครั้งแรก แต่ไม่ช้าสิ่วนั้นก็จะใช้ เป็นสิ่วไม่ได้ ถ้าเป็นดังนั้นสิ่วก็ไม่สำเร็จผลสมหมายในการที่เป็นสิ่ว เขาว่าสิ่วต้องใช้เป็นสิ่ว ไขควงต้องใช้เป็นไขควง ถ้าใช้ปนกันเลอะเทอะ ไม่ช้าสิ่วก็ไม่ใช่สิ่ว แลไขควงก็ไม่ใช่ไขควง แต่จะเปลี่ยนหน้าที่กันก็ไม่ได้ ความข้อนี้เขาให้ตัวอย่างในภาษาอังกฤษหลายคำ ถ้าเราจะนำเอาคำไทยมาเทียบให้เห็นตัวอย่าง ก็คือคำว่า “เสรีภาพ” ซึ่งกฎหมายอันเป็นหลักของประเทศบ่งความไว้อย่างหนึ่ง แต่ไม่ช้าเราไม่น้อยคนก็เอาไปใช้จนผิดความไปหมด
นายเฮอเบิตกล่าวว่า ผู้ใดสมัคที่จะรักษาความดีงามของภาษาไว้ ผู้นั้นก็จะต้องแข็งข้อต่อสู้ความเถลไถลในการใช้คำพูด เขาว่าเราจะเป็นผู้เห็นถูกไปทุกคนในเรื่องคำพูดนั้นไม่ได้ แต่อาจจะกังวลได้ แต่ถ้าเราใส่ใจในเรื่องคำพูดแลวิธีร้อยกรองคำ คอยถามตัวเองอยู่ร่ำไป ว่านั้นถูกหรือ นี่ถูกหรือ แนี้ เราก็จะได้ทั้งความรู้แลความเพลินด้วย เขาชวนให้คนทั้งหลายเป็นผู้รบแลผู้กังวลในเรื่องคำพูด (ใช้ศัพท์ ว่า Word warriors and word worriers) เพื่อประโยชน์แก่ภาษาของตนเอง
ใจความที่เขากล่าวนี้ จะสรุปลงได้อีกทางหนึ่งว่า ผู้รักประเทศควรจะต้องรักภาษาของตนด้วย ภาษาเป็นเครื่องร้อยชนในประเทศให้เป็นกลุ่มเดียวกัน ควรเป็นเครื่องมือซึ่งยังให้สำเร็จผลสมหมายโดยนัยที่กล่าวแล้ว แลควรเป็นสิ่งสง่าอันทำให้เราเกิดความนับถือตน แลทำให้เราเป็นที่นับถือของชนชาติอื่น ๆ ด้วย ในสมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์อาจอยู่สวัสดีได้ด้วยไม่มีภาษาอันงดงาม เพราะประชุมชนในสมัยป่าเถื่อน อาศัยกำลังกายแลอิทธิที่เกิดจากอาวุธ คือก้อนหินแลกระดูกสัตว์ที่ฝนปลายแหลมเป็นต้น รักษาสวัสดีของตนไว้ได้ แต่ในสมัยหลัง ๆ มาไม่ปรากฏว่าสิวิไลเซชั่นเคยเกิดในหมู่ชนซึ่งไม่มีภาษาดีเลย เหตุฉนี้เราจะเรียกตนว่าผู้รักชาติ มีประสงค์ให้ความจำเริญแลสวัสดีเกิดแก่ชาติก็ตาม จะว่าเป็นผู้รักประเทศ มีประสงค์จะให้ความงดงามแลความมั่งคั่งเกิดในท้องที่ของเรายิ่ง ๆ ขึ้นก็ตาม ถ้าเราไม่เป็นผู้รักภาษาของเราเอง ไม่พยายามรักษาหรือทำให้เกิด “เอฟฟิเชียนซี” ยิ่งขึ้นไซร้ ก็ดูเหมือนขาดความภักดีแก่หมู่ของตนไปเสียส่วนหนึ่ง
ความข้อหลังนี้ ย่อลงได้ว่า จะรักชาติหรือประเทศก็ตาม ต้องรักภาษาแลหนังสือของตนด้วย