- คำนำของผู้จัดพิมพ์
- ๑. สภากาชาด
- ๒ นิราศ
- ๓. โคบุตร
- ๔. ไวต์ชาวสยาม
- ๕. ผสมผสาน
- ๖. พม่าประเทศราช
- ๗. ผสมผสาน (๒)
- ๘. สำคัญอะไรที่ชื่อ
- ๙. ทุนสำรองพิกัด
- ๑๐. ผสมผสาน (๓)
- ๑๑. ประชาธิปัตย์แลความลับ
- ๑๒. เมื่อเจียงไคเช็คถูกจับ
- ๑๓. ขอโทษ
- ๑๔. เซี่ยงไฮ้
- ๑๕. อ๊อกซฟอด
- ๑๖. ดินเนอร์ใหญ่
- ๑๗. สามก๊ก
- ๑๘. หมู่ประเทศ “ออสโล”
- ๑๙. เซี่ยงไฮ้
- ๒๐. โรตารี่ในประเทศเยอรมัน
- ๒๑. ผสมผสาน (๔)
- ๒๒. รัฐคติ
- ๒๓. ล่าผัว
- ๒๔. โลกนี้ครึ่งหนึ่ง
- ๒๕. สก๊อตแลนด์กับอิงแลนด์
- ๒๖. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
- ๒๗. ขัติยมานะ
- ๒๘. เมื่อวันประกาศมหาสงคราม
- ๒๙. ปเกียรณกะ
- ๓๐. ในอินเดีย
- ๓๑. ในเมืองอังกฤษ
- ๓๒. คำราม
- ๓๓. ศัพท์รอยัลลิซต์
- ๓๔. อารยะชน อานารยะชน
- ๓๕. หนังสือพิมพ์
- ๓๖. กล่องดวงใจ
- ๓๗. ธนาธิปัตย์ยังไม่ตาย
- ๓๘. ฉากละคร
- ๓๙. ราชพิธีอังกฤษ
- ๔๐. ผสมผสาน (๕)
- ๔๑. นึกเมื่อฟังเทศน์
- ๔๒. บรรดาศักดิ์อังกฤษ
- ๔๓. กาพย์เห่เรือ
- ๔๔. โอวาทสำหรับชายหนุ่ม
- ๔๕. ราชาธิราชประเทศเม็กซิโก
- ๔๖. มุกดาดำ
- ๔๗. ประปา
- ๔๘. อุตสาหกรรมในกระท่อม
- ๔๙. ปนคำพูด
- ๕๐. วังแก้ว
- ๕๑. แซะประธาน
- ๕๒. ครึ่งสตางค์
- ๕๓. ฝักซ้ายฝ่ายขวา
- ๕๔. ประชาธิปัตย์สองแห่ง
- ๕๕. ยิวแลอาหรับ
- ๕๖. เฮ็บราย
- ๕๗. ประเทศอิราค
- ๕๘. พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
- ๕๙. รัฐแฟรงก์
- ๖๐. ศัพท์
- ๖๑. …ิสม์
- ๖๒. ท่านเสือ
- ๖๓. ส่องกระจก
- ๖๔. พระสังตปาปา
- ๖๕. นานาภาษิต
- ๖๖. สำนวนหนังสือ
- ๖๗. อาศา
- ๖๘. คณะสงฆ์
เซี่ยงไฮ้ (๒)
ใครกอบกรรมทำบาป กรรมนั้นก็คงจะสนองสักวันหนึ่ง แต่ในสมัยนี้โลกดำเนินเร็วนัก ความสนองจึงมาเร็วกว่าแต่ก่อน
การปฏิบัติห้ำหั่นร้ายกาจในฟ้า ซึ่งเมื่อปีเศษนี้เอง ชนผิวขาวชาวยุโรป ได้ทำแก่ชนผิวดำชาวแอฟริกาผู้ไม่มีทางต่อสู้ ได้หวนมาใส่ชนผิวขาวในสเปญ ชนผิวขาวด้วยกันทำแก่กันเอง ดุจดังที่ได้ทำแก่ชนผิวดำฉะนั้น
แลบัดนี้เปิดเวทีองก์ใหม่ที่เซี่ยงไฮ้ ชนผิวเหลืองต่อชนผิวเหลืองทิ้งบอมบ์ใส่กันเอง แต่ผู้ถูกบอมบ์มีชนผิวขาวอยู่ด้วยเป็นอันมาก ที่ว่าชนผิวขาวพลอยถูกบอมบ์ด้วยนั้น “ถูก” ทั้งชีวิตแลทรัพย์ด้วย เป้าของอาวุธฉกาจที่ทิ้งจากฟ้านี้ เป็นเป้าใหญ่ขึ้นทุกที เมื่อวานซืนเป้าคือเมืองเด็ซซี (อบิซซีเนีย) เมื่อวานเป้าคือมาดริด วันนี้เป้าคือเซี่ยงไฮ้ เป็นเมืองใหญ่กว่ากันขึ้นไปตามลำดับ พรุ่งนี้เป้าจะคือเมืองไหน ถ้าเป้าพรุ่งนี้จะใหญ่ขึ้นไปกว่าเซี่ยงไฮ้ ก็จะมีเมืองในโลกนี้เพียง ๔-๕ เมืองเท่านั้น ที่จะเป็นเป้าได้
ผู้อ่านเรื่องแซมเมียลไว้ต์ในหนังสือพิมพ์นี้ (ประมวญวัน) ย่อมจะทราบแล้วว่า ในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช เมืองมะริศเป็นอ่าวใหญ่ ถ้าเปรียบว่า การค้าขายของสยามกับต่างประเทศเป็นกาย เมืองมะริศก็เป็นหัวใจ ซึ่งเป็นผู้ฉีดโลหิตเลี้ยงทั่วไป เมืองมะริศเป็นอ่าวสำหรับสยามค้าขายกับต่างประเทศในสมัยโน้น เหมือนดังเซี่ยงไฮ้เป็นอ่าวสำหรับการค้าขายสินค้าของเมืองจีนในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐)
แต่เมืองมะริศของสยามในรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์ ยังเล็กกว่าเมืองสเมอร์นาของตุรกี เมืองนั้นเป็นเมืองท่า ซึ่งเป็นหัวใจของพาณิชย์ตุรกี ที่ค้าขายกับต่างประเทศอยู่ประมาณ ๔๐๐ ปี มีชาวต่างประเทศไปตั้งภูมิลำเนาหากินอยู่เป็นอันมาก จนเมื่อ ๑๔ ปีเศษนี้เอง ประเทศตุรกีทำสงครามกับประเทศกริ๊ซ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกัน ทั้งสองฝ่ายใช้อาวุธอย่างใหม่ เมืองเสมอร์นาก็ไหม้เป็นจุณไปหมด
วันนี้จีนกับญี่ปุ่นรบกันรอบ ๆ เซี่ยงไฮ้ ในเซี่ยงไฮ้แลบนฟ้าเหนือเซี่ยงไฮ้ด้วย เหตุฉะนี้แหล่งใหญ่แห่งการค้าขายของชาวต่าวประเทศที่ไปตั้งทำในเมืองจีน แลการค้าขายของจีนที่ทำกับต่างประเทศ ก็มีท่วงทีที่อาจจะเป็นเช่นเมืองสเมอร์นาอีกแห่งหนึ่ง แต่ใหญ่กว่ากันมาก เพราะเซี่ยงไฮ้ใหญ่กว่าสเมอร์นากว่า ๑๐ เท่า คู่ศึกจีนกับญี่ปุ่นมีกำลังแข็งแรงกว่าคู่ศึกตุรกีกับกริ๊ซกว่า ๒๐ เท่า แลอาวุธที่ใช้ก็ร้ายกาจกว่ากัน จนไม่รู้จะประมาณเทียบอย่างไรได้ ตุรกีกับกริ๊ซรบกันครั้งนั้น รบกันตามยอดหญ้า ยังหาได้เหาะรบไม่
มีผู้ตั้งปัญหาว่า ถ้าญี่ปุ่นกับจีนจำเป็นจะต้องรบกัน ท้องที่ที่จะเป็นสนามรบได้ก็มีถมไป เหตุไฉนจะต้องไปรบกันที่เซี่ยงไฮ้ จนทำให้เกี่ยวพันไปถึงชีวิตแลทรัพย์ของฝรั่งเป็นอันมาก ปัญหาข้อนี้ “ประมวญวัน” ได้ตอบเป็นเลาๆ ไว้นานแล้ว แต่บัดนี้ได้ฟังคำตอบของฝรั่งกล่าวเป็นคำเปรียบว่า เซี่ยงไฮ้เป็นแหล่งการพาณิชย์ อุปมาว่าเป็นหัวใจของประเทศจีนเป็นผู้ฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในกาย ถ้าเหตุการสำคัญเกิดแก่กายก็จะเกิดแก่หัวใจด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าญี่ปุ่นพยายามจะทำร้ายประเทศจีนจริงจัง ก็จะละเลยหัวใจเสียมิได้ ส่วนจีนนั้นเล่าก็จำเป็นจะต้องรักษาหัวใจของตน
แต่ก็ถ้าเปรียบเซี่ยงไฮ้ว่าเป็นหัวใจของประเทศจีน ก็เหตุไฉนเรือรบแลโรงทหารถาวรของญี่ปุ่น แลทหารอาศาแลตำรวจของชนชาวยุโรปและอเมริกา จึงไปมีอยู่ที่นั่นได้ คำตอบปัญหานี้เป็นคำตอบอย่างแปลก คือว่า หัวใจพาณิชย์ของประเทศจีนปัจจุบันนี้ มิใช่หัวใจที่เกิดพร้อมมากับกาย เป็นหัวใจซึ่งผู้อื่นตัดผ่ากาย แล้วยัดเข้าไปไว้ให้ ฝ่ายกายเมื่อได้รับหัวใจใหม่นี้แล้ว ก็ใช้เป็นประโยชน์ ในตอนหลังนี้จะไม่ใช้ก็ไม่ได้
ถ้าจะพูดตามตำนานที่มีมา ประเทศอังกฤษได้ทำสงครามกับจีนเรียกว่า “สงครามฝิ่น” ครั้นสิ้นสงครามนั้นลงมาประมาณ ๙๕ ปีมาแล้ว หนังสือสัญญาหย่าสงครามได้บังคับว่า ให้จีนเปิดอ่าวให้ฝรั่งค้าขายได้ห้าแห่ง เซี่ยงไฮ้เป็นแห่งหนึ่งในห้า ต่อมาได้มีหนังสือสัญญากันว่า พ่อค้าฝรั่งซึ่งไปตั้งหากินอยู่ที่อ่าวนั้น ๆ จะซื้อที่ดินเป็นของตนแลปลูกสร้างเรือนโรงขึ้นก็ได้ เซี่ยงไฮ้ภาคที่เรียกแดนสัมปทานทั้งสองแดนเวลานี้ ก็คือที่ดินซึ่งฝรั่งซื้อแลก่อสร้างขึ้นตามสัญญานั้น เพราะต่อ ๆ มาฝรั่งชาติอื่น ๆ ก็ได้ยกตัวอย่างสัญญาที่จีนยอมทำให้แก่อังกฤษ ขอทำสัญญาเช่นเดียวกันกับรัฐบาลจีนด้วย แลในที่สุดญี่ปุ่นก็ได้เข้ามีส่วนเช่นเดียวกับฝรั่ง
การปกครองแดนสัมปทานทั้งสองแดนนี้ เจ้าของที่ดินที่ซื้อไว้จากจีน ประนีประนอมกันปกครองทำนองเทศบาล แต่ก็ยังถือว่า อยู่ในอาณาเขตของประเทศจีนนั่นเอง หาใช่เป็นอาณาเขตของชาวต่างประเทศไม่
การรักษาแดนสัมปทาน ได้มีทหารแต่ตำรวจชาวต่างประเทศเข้าไปตั้งอยู่ทั้งฝรั่งแลญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงถือว่ามีสิทธิที่จะใช้ทหารในที่นั้น สิทธินี้จีนไม่รับรอง แต่ญี่ปุ่นก็ยืนยันว่ามี จึงส่งเรือรบเข้าไปในแม่น้ำ แลส่งทหารขึ้นบกในตอนหนึ่งแห่งแดนสัมปทาน แลเกิดรบกันขึ้นทั้งทางบกแลทางฟ้า จนเลยเป็นการใหญ่โตในบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๐)
ยังมีข้อชักยุ่งอีกข้อหนึ่ง ตามตำนานของเซี่ยงไฮ้ เมื่อแรกเปิดเซี่ยงไฮ้เป็นอ่าวที่อนุญาตให้ชาวต่างประเทศไปตั้งค้าขาย ๙๕ ปีมาแล้วนั้น ได้แบ่งพลเมืองเป็นสองพวก คือชาวต่างประเทศพวกหนึ่ง จีนพวกหนึ่ง อันที่จริงเดี๋ยวนี้ก็ยังต้องแบ่งเช่นนั้น แต่มีแปลกกันที่ว่า แต่ก่อนชนทั้งสองจำพวกไม่อยู่ปะปนกัน พลเมืองจีนอยู่ในเมืองโบราณ ซึ่งมีกำแพงล้อมรอบ ชาวต่างประเทศอยู่ในแดน ซึ่งซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิม เป็นการแยกกันอยู่
แต่เมื่อก่อนเกิดรบกันขึ้นคราวนี้ ชาวต่างประเทศในเซี่ยงไฮ้ มีเกือบ ๕ หมื่นคน จีนมีประมาณ ๒ ล้าน ๓ แสนคน แต่จีนกว่าล้านคน เข้าไปอยู่ในแดนสัมปทานของชาวต่างประเทศ พลเมืองในแดนสัมปทานจึงเป็นจีนไปแทบจะทั้งนั้น ชาวต่างประเทศเพียง ๕ หมื่นคน ถ้าเทียบกับจีนกว่าล้าน ก็นับว่าน้อย
การเป็นเช่นนี้ เซี่ยงไฮ้จะพ้นภัยสงครามไปได้ ก็แต่เมื่อคู่สงครามทั้งสองฝ่ายตกลงว่าจะไม่รบกันที่นั่น แต่จะกำหนดเช่นนั้นในบัดนี้ (ก.ย. ๒๔๘๐) ก็ยาก เพราะญี่ปุ่นเป็นผู้ที่มีส่วนอยู่ในแดนสัมปทาน แลได้ใช้แดนสัมปทานเป็นที่ส่งทหารขึ้นบก แลตั้งที่มั่นเสียส่วนหนึ่งแล้ว
การเป็นเช่นนี้ ใครจะทายว่า เมืองใหญ่เมืองหนึ่งปัจจุบันจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ทายยาก แลไม่มีใครกล้าทายว่า การค้าขายใหญ่โตของอังกฤษ ฝรั่งเศส แลอเมริกา จะเป็นอย่างไรต่อไป ทั้งจะไม่มีใครกล้าทายว่าผลแห่งการทั้งหมดนี้ จะมีแก่ญี่ปุ่นประการใด