๔๓
“ศึกครั้งนั้นเป็นภัยอย่างร้ายแรงแก่พรรคก๊กมินตัง เพราะเป็นโอกาสให้พรรคจิ้นปู้ต่างศัตรูของ ดร. ซุน กล่าวหาเอาได้ว่าพวกก๊กมินตังเป็นผู้ก่อความยุ่งยากขึ้น ประมุขของพรรคจิ้นปู้ต่างได้บอกกล่าวให้ยวนซีไขทำการขับไล่พวก ดร. ซุนให้ออกไปจากสภา ยวนซีไขรีบทำตาม เพราะตรงกับความประสงค์ของตนอยู่แล้ว ในที่สุดก็ยังได้ทำการยุบสภาเสียด้วย ยวนซีไขรีบทำการกุมอำนาจอย่างเต็มที่ เช่นตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นใหม่ เลือกเอาพวกของตัวเข้านั่งร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง มอบอำนาจให้ประธานาธิบดีอย่างเต็มมือ เช่นให้มีอำนาจปลดตั้งข้าหลวงประจำจังหวัดฝ่ายทหารได้ เพื่อจะได้ใช้กำลังอาวุธปราบเสี้ยนหนามได้อย่างเต็มที่ สภาจังหวัดก็ยุบเสียหมดสิ้นไม่ยอมให้มี ราชพิธีต่าง ๆ ที่ยกเลิก กลับฟื้นฟูขึ้นใหม่ เช่นพิธีเซ่นไหว้ที่เทียนถานเป็นต้น ที่ฟื้นฟูราชพิธีขึ้นอีกนี้ก็เพื่อจะเตรียมลู่ทางไว้สำหรับเป็นเจ้าแผ่นดินต่อไป
“การคุมอำนาจของยวนซีไขที่แลเห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พยายามบรรจุมาตราที่ว่าด้วยการสืบตำแหน่งประธานาธิบดีลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรานี้กำหนดให้ประธานาธิบดีมีอายุในการดำรงตำแหน่งได้นานถึงสิบปี นอกจากนั้นยังมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีชี้ตัวผู้ที่จะมารับตำแหน่งต่อไปได้ถึง ๓ คน ชื่อของคนทั้งสามนี้จะต้องเอาใส่ไว้ในหีบทองคำอย่างมิดชิด หีบนี้จะไม่เปิดจนกระทั่งประธานาธิบดีถึงแก่กรรมหรือหมดสภาพในการดำรงตำแหน่ง เมื่อถึงเวลาเปิดออกแล้ว ให้เลือกคนใดคนหนึ่งในสามคนนี้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนต่อไป การกำหนดอำนาจเช่นนี้ได้เป็นข้อแสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่ายวนซีไขพยายามที่จะเตรียมทำลู่ทางไว้สำหรับเป็นเอมเปอเรอ แบบเดียวกับที่นโปเลียนได้เคยทำมาแล้ว ยวนไม่เคยแสดงความเห็นชอบกับ ดร. ซุนในการที่จะตั้งจีนขึ้นเป็นประเทศริปับลิค ยวนยังยึดมั่นอยู่ในอุดมคติเดิม นั่นคือจีนต้องปกครองด้วยการมีเจ้าแผ่นดิน อุดมคตินี้ไม่ประหลาด ข้อประหลาดอยู่ที่ว่ายวนต้องการจะเป็นเจ้าแผ่นดินเสียเอง
“เมื่อได้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่เช่นนี้แล้ว ยวนซีไขก็เริ่มทำโปรปะแกนดา ชักชวนให้ราษฎรเห็นชอบด้วยกับระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์ ซึ่งจีนได้เคยปกครองกันมาแล้วเป็นเวลาพันๆปี ที่ปรึกษาของยวนหลายคนซึ่งเป็นทั้งชาวจีนและชาวต่างประเทศ ต่างก็สนับสนุนระบอบการปกครองรูปเก่านี้ พากันออกความเห็นว่า จีนจะปกครองโดยระบอบริปับลิคไม่ได้ จีนควรจะปกครองด้วยการมีเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้กฎหมายเช่นเดียวกับมหาอำนาจอื่น ๆ ความเห็นเหล่านี้ถูกใจยวนซีไขเป็นอันมาก
“หลังจากที่ได้ทำโปรปะแกนดาจนเป็นที่แน่ใจแล้วว่าราษฎรอาจคล้อยตามได้ ยวนซีไขก็ใช้วิธีหนุนให้ใครคนหนึ่งยื่นเรื่องราวไปยังสภาซีเนต ขอให้จัดการปกครองเสียใหม่โดยให้จีนมีเจ้าแผ่นดินอีก เมื่อเรื่องผ่านมือยวนนักการเมืองผู้เฒ่าคนนี้ก็แสร้งทำเป็นลังเลใจอยู่เสมือนว่าไม่เห็นด้วยนัก ยวนซีไขไม่รับพิจารณาเอง แกล้งมอบเรื่องไปให้จังหวัดจัดการขอความเห็นชอบจากราษฎร จังหวัดรู้ใจยวนดีอยู่แล้ว จึงจัดการติดสินบนหาคะแนนโหวตให้ ผลที่สุดก็ปรากฏว่ายวนซีไขถูกเลือกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์สมดังที่ได้มุ่งหมายไว้ ถ้าสังเกตให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า วิธีการอันนี้ได้ดำเนินคล้ายวิธีการของนโปเลียนมาก
“เมื่อคะแนนโหวตได้บ่งชัดว่าต้องการยวนเป็นเจ้าแผ่นดินเช่นนี้ สภาซีเนตก็มอบราชบัลลังก์ให้แก่ยวนซีไข ในชั้นแรกยวนแกล้งทำเป็นไม่เต็มใจที่จะรับ แต่ผลที่สุดก็รับเสมือนหนึ่งจำใจรับ เพื่อแสดงให้คนทั้งปวงเห็นว่าตนไม่นิยมชมชอบกับการเป็นเจ้าแผ่นดินเลย
“การเคลื่อนไหวที่กระเทือนใจนักปฏิวัติเช่น ดร. ซุนยัดเซนอย่างที่สุดนี้ ได้พลิกแผ่นดินจีนให้คว่ำลงอีกครั้งหนึ่ง ความไม่พอใจได้กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วเสมือนไฟไหม้ป่า พวกริปับลิกันในยูนนานได้เริ่มคัดค้านเป็นแห่งแรก หลังจากนั้นก้วยโจว, กว่องซี, เสฉวนก็เอาอย่างบ้าง เสียงคัดค้านนี้ได้ดังสนั่นเหมือนฟ้าร้อง การจลาจลทำท่าจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ ขณะนั้นยังไม่ถึงกำหนดวันพิธีเถลิงราชสมบัติของยวนซีไขประธานาธิบดี ยวนพยายามส่งกำลังไปปราบปรามฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ แต่ก็หาสำเร็จไม่ ผลที่สุดก็พยายามใช้น้ำเย็นเข้าลูบ เช่นสัญญาจะแต่งตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยขึ้นเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถ้ากลับใจมาเข้าพวกกับตน แต่ก็ไม่มีใครยอมรับสินบนของยวน เสียงคัดค้านดังสนั่นมากขึ้นกว่าเดิมทุกวัน ผลที่สุดยวนทนไม่ไหว ก็จำใจประกาศระงับโครงการเป็นเจ้าแผ่นดินของตนเสีย แต่แม้กระนั้นแล้วก็ยังหาเป็นที่พอใจแก่นักปฏิวัติคณะริปับลิกันไม่ ยูนนาน, ก้วยโจว, กว่องซี, กวางตุ้ง, เจื้อเจียง, เสฉวน, ได้ลุกขึ้นประกาศตนเป็นอิสระไม่ยอมขึ้นกับยวนอีกต่อไป คณะพรรคริปับลิกันได้ประกาศตั้งสหรัฐจีนใต้ขึ้น โดยมีเมืองแคนตอนเป็นที่ตั้งรัฐบาล
“ความผิดหวังอย่างร้ายแรงนี้ ทำให้ประธานาธิบดียวนซีไขได้รับความชอกช้ำใจอย่างสาหัส ผลที่สุดก็ต้องตายด้วยโรคเส้นประสาทอย่างแรง”