๕๔
จางหลินจิบน้ำชา แล้วก็เล่าเรื่องจีนปฏิวัติให้ข้าพเจ้าฟังต่อไปอีก
“เมื่อกี้ฉันเล่าค้างไว้ตอนที่นายพลหวูเพ่ฝูได้ครองอำนาจในจีนเหนือ ขณะนั้นทั่วทั้งจีนเหนือก็ไม่มีใครอีกแล้วที่ใหญ่โตไปกว่าหวูเพ่ฝู หวูมีทั้งกำลังคนและกำลังใจ หวูได้กำลังใจจากราษฎรที่สนับสนุนตนเป็นส่วนมาก ราษฎรรักใคร่หวูมากเพราะนักรบผู้นี้เป็นคนมักน้อย ไม่ข้องแวะกับใคร พูดจริงทำจริง ไม่ต้องการตำแหน่ง ไม่ต้องการเงินทอง ความมักน้อยนี้ทำให้ราษฎรยกย่องมากกว่านายพลคนอื่น ๆ จริงอยู่เวลานั้นจางโซหลินก็เรียกว่าเป็นคนมีอำนาจใหญ่โตคนหนึ่งเหมือนกันในแมนจูเรีย แต่จางโซหลินเอากำเนิดมาจากนายโจรหนวดแดง มักใหญ่ใฝ่สูง ราษฎรไม่นับถือเหมือนหวูเพ่ฝู ฉะนั้นจึงต่ำต้อยกว่าหวูมากในอิทธิพลอำนาจ จะว่ากันทางกำลังทหารแล้วหวูก็เข้มแข็งกว่าจาง เพราะเวลาเกิดรบกันขึ้นจางก็แพ้ทุกที รวมความว่าเวลานั้นอำนาจการปกครองในจีนเหนืออยู่ในกำมือของหวูเพ่ฝู ส่วนจางโซหลินนั้นคุมอำนาจอยู่ในแมนจูเรีย
“ฉันจะย้อนเล่าเรื่อง ดร. ซุนยัดเซนอีกสักหน่อย เมื่อกี้ฉันเล่าถึงตอนที่ ดร. ซุนถูกลูกน้องกบฏเอา และถูกไล่ออกจากกวางตุ้งไปหลบอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ลูกน้องคนที่กบฏต่อ ดร. ซุนเข้ายึดอำนาจการปกครองในกวางตุ้งก็คือ เฉินชุงหมิง เธอคงจะยังจำได้ดีว่า เมื่อตอนเกิดมีผู้ล้มรัฐธรรมนูญ และเอาเชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์ชิง (เช็ง) ขึ้นนั่งบัลลังก์อีกใน ค.ศ. ๑๙๑๒ นั้น ดร. ซุนได้พาพรรคพวกหลบมาทางใต้ และตั้งรัฐบาลขึ้นอีกรัฐบาลหนึ่ง โดยเอาเมืองแคนตอนในกวางตุ้งเป็นศูนย์กลาง ตั้งแต่นั้นมาจีนก็แยกออกเป็นจีนเหนือกับจีนใต้อย่างแลเห็นถนัดชัดเจน ดร. ซุนตั้งรัฐบาลได้ไม่นานก็เกิดปั่นป่วนขึ้นระหว่างพวกเดียวกัน แต่บังเอิญเฉินชุงหมิงชาวคณะก๊กมินตังผู้หนึ่งกุมอำนาจทหารเข้าตัดต้นไฟเสียทัน ดร. ซุนจึงสามารถตั้งรัฐบาลต่อไปได้ เฉินชุงหมิงใหญ่โตขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะได้ทำความชอบในการที่ช่วยรักษาชีวิตรัฐบาลของ ดร. ซุนไว้ให้รอดอยู่ได้ ความใหญ่โตของเฉินชุงหมิงนี้ได้เป็นภัยต่อ ดร. ซุนเรื่อยมา เพราะผลที่สุดเฉินก็จัดการยึดอำนาจการปกครองจีนใต้ และขับไล่ ดร. ซุนออกไปจากแคนตอนดังที่ฉันเคยเล่าไว้แล้วเมื่อสักครู่
“ขณะนั้น หวูเพ่ฝูยังคงมีอำนาจอยู่ทางจีนเหนือ หวูเริ่มสังเกตท่าทีของเฉินชุงหมิงทันที พอรู้สึกว่าเฉินมีอำนาจเกินไป และทำท่าทางจะมีอำนาจขึ้นทางใต้ อาจเป็นตัวอย่างให้มณฑลอื่น ๆ แข็งข้อกับรัฐบาลจีนเหนือได้ หวูก็กระซิบเสิ่นหุงยินแม่ทัพในกวางซีให้เข้าขัดขวางเฉินชุงหมิงไว้ หลังจากที่เลือดไหลนองเพียงเล็กน้อย เฉินก็สิ้นอำนาจลง เสิ่นหุงยินแลเห็นว่า ดร. ซุนเป็นผู้ที่ชาวจีนใต้เคารพนับถือมาก จึงเชิญ ดร. ซุนเข้าไปช่วยจัดการปกครองในกวางตุ้ง หวูเพ่ฝูรู้เข้าก็ไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะตนเองก็คร้าม ดร. ซุนอยู่ แต่เสิ่นอธิบายว่า ดร. ซุนแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่จะปกครองจีนใต้ไว้ได้ หาไม่แล้วความปั่นป่วนต่าง ๆ ก็จะไม่มีวันสงบได้เลย เสิ่นคะเนไว้ว่า ดร. ซุนคงไม่มีอำนาจอะไรมากนักเพราะตนคอยควบคุมอยู่
“แต่ ดร. ซุนไม่ใช่ผู้ที่ไม่มีวิญญาณของนักสู้ เมื่อเข้ากวางตุ้งได้แล้วก็ลงมือเรียกร้องอำนาจของตนกลับคืน อาศัยที่ ดร. ซุนมีอิทธิพลอยู่ในกวางตุ้งมากกว่าที่เสิ่นจะคาดถึง ผลที่สุด ดร. ซุนก็กำอำนาจการปกครองไว้ตลอดกวางตุ้ง และขยายอิทธิพลเข้าไปในแคว้นยูนนานและกวางซี เสิ่นเห็นท่าไม่ดีก็พยายามไล่ ดร. ซุนออกไป แต่ท่านรัฐบุรุษผู้นี้ได้เตรียมการไว้พร้อมแล้ว เสิ่นจึงไม่สามารถจะทำอะไรได้ ตนเองกลับเป็นผู้ถูกไล่ออกไปแทน
“ดร. ซุนปกครองจีนใต้เรื่อยมาโดยที่ยังไม่มีความหวังอย่างใดที่จะรวบรวมจีนทั้งประเทศให้เป็นปึกแผ่นขึ้นได้ สำหรับจีนใต้ ดร. ซุนก็ยังมีเรื่องหนักใจอยู่เป็นอันมาก เพราะแม้แต่ในพรรคก๊กมินตังเองก็มีการแตกแยกความคิดกันเสียแล้ว หูฮั่นหมินกับวังจิงไวซึ่งเป็นคณะพรรคร่วมใจของ ดร. ซุนก็มีความเห็นแตกต่างกัน จนกระทั่งกลายเป็นปรปักษ์ต่อกันขึ้น เจียงไคเช้คซึ่งเวลานั้นเป็นเพียงผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบกก็คอยทีอยู่เงียบ ๆ ไม่เข้าข้างฝ่ายใด คอยระวังแต่เพียงว่าไม่ให้วังจิงไวหรือหูฮั่นหมินมีอำนาจจนเกินไปในคณะพรรคก๊กมินตัง แท้จริงคนสำคัญของจีนในเวลาปัจจุบันโดยมากล้วนเป็นผู้ที่เคยอยู่กับ ดร. ซุนมาแล้วทั้งนั้น แต่ในขณะนั้นคณะพรรคก๊กมินตังยังไม่มีผู้ใดที่มีอำนาจเด่นขึ้นมาทางการทหาร เฉินชุงหมิงเคยแสดงตัวเด่นขึ้นมาพักหนึ่ง แต่เฉินเป็นผู้หักหลัง ดร. ซุนเลยไปไม่รอด เพราะเท่ากับโค่นเสาหินของตนเสียเอง ผู้ที่มีท่าทีว่าจะเด่นขึ้นมาอีกคนหนึ่งในเวลานั้นก็คือ เจียงไคเช้ค ซึ่งเวลานั้นเป็นเพียงผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก แต่กว่าดาวของเจียงไคเช้คจะสุกใสขึ้นมาได้ในทางการทหาร ดร. ซุนก็สิ้นชีพไปเสียแล้ว”