๕๕

“ขอย้อนไปเล่าถึงจีนเหนืออีกหน่อย ขณะที่ ดร. ซุนได้ครองอำนาจในกวางตุ้งอีกครั้งหนึ่ง ทางจีนเหนือซึ่งอยู่ในอำนาจของหวูเพ่ฝูก็เกิดยุ่งกันขึ้นอีก ได้มีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีจากหลี่หยวนหุงเป็นเฉาคุนใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ระหว่างเวลานั้นจางโซหลินศัตรูเก่าของหวูเพ่ฝู ซึ่งเคยปราชัยแก่หวูมาคราวหนึ่งนั้น ได้เตรียมกำลังพร้อมสรรพ จึงฉวยโอกาสที่หวูกำลังสงบอารมณ์อยู่กับการแต่งโคลงกลอนของโปรด ขาดความเอาใจใส่ในบ้านเมือง รีบทุ่มเทกำลังทหารจากแมนจูเรีย ข้ามแนวกำแพงใหญ่เข้ามาจนถึงเมืองซานห่ายกวนซึ่งเป็นเมืองท่าของปักกิ่ง หวูถูกโจมตีเอาไม่ทันรู้ตัว ก็รีบจัดทัพขึ้นไปรับจางโซหลิน โดยให้เฟงยุกเสียงคุมทหารขึ้นไปขัดตาทัพอยู่ทางเยโฮลเหนือปักกิ่ง ให้ซุนเย่คอยรักษากรุงปักกิ่งไว้ เพื่อพิทักษ์ประธานาธิบดีเฉาคุนซึ่งเป็นเพื่อนรักของตน ให้จางฟู่ไหลคุมทหารขึ้นไปยันไว้ที่ชานห่ายถวน ตัวหวูเพ่ฝูเองยกกำลังส่วนใหญ่ตีตะลุยทัพจางโซหลินขึ้นไปจากเมืองซานห่ายกวน ทหารจางโซหลินสู้ทหารหวูเพ่ฝูไม่ได้ ก็ถอยร่นแตกขึ้นไปไม่เป็นขบวน

“ตอนนี้ละครโรงใหญ่ของเราได้เพิ่มตัวละครสำคัญขึ้นอีกคนหนึ่งคือ เฟงยุกเสียง (เฝิงยู่เสียง) เธออยู่เมืองไทยคนได้ยินชื่อนายพลผู้นี้ดี เฟงยุกเสียงเป็นนักรบคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ช่วยทำให้การปฏิวัติของจีนนองเลือดมากขึ้นและยุ่งมากขึ้น เฟงเป็นคนรูปร่างใหญ่โต ถือศาสนาคริสเตียน เราเรียกกันว่านายพลคริสเตียน เฟงเป็นคนมีนิสัยดีต่อผู้น้อย ไม่เอาเปรียบทหารในบังคับบัญชาในทางหาความสบายเช่นนายพลโดยมากในเมืองจีน เฟงกินนอนอย่างพลทหาร ใส่เสื้อผ้าเลว ๆ ชอบคลุกคลีอยู่กับทหารโดยไม่ถือตัว โดยเหตุนี้ทหารจึงรักใคร่ยำเกรงเฟงมาก อีกประการหนึ่ง เฟงเป็นคนเจ้าระเบียบวินัย ทหารของเฟงถูกฝึกหัดให้รู้จักรักษาระเบียบวินัยเป็นอย่างดียิ่ง ดูเหมือนว่าจะไม่มีทหารจีนในกองทัพของใครเลยที่มีระเบียบวินัยดีเหมือนทหารของเฟงยุกเสียง เมื่อได้รับคำสั่งให้ขึ้นไปขัดตาทัพอยู่ที่เยโฮล เฟงก็คิดหาวิธีจะหักหลังหวู เพราะความเคียดแค้นที่หวูเอาตำแหน่งข้าหลวงมณฑลเหือหนานไปยกให้กับผู้อื่นเสีย เฟงเคลื่อนกองทัพไปได้หน่อยก็สั่งให้หยุดไว้ รอจนหวูนำทหารออกจากปักกิ่งไปไกลแล้วก็แอบลอบกลับมาปักกิ่งในตอนกลางคืน และเข้ายึดกรุงปักกิ่งและตัวประธานาธิบดีเฉาคุนไว้ พอหวูเพ่ฝูรู้เรื่องก็พะว้าพะวัง รีบถอนตัวออกจากแนวรบ แล้วกลับลงมายังเทียนสินพร้อมด้วยทหารเพียงสามพันคนเท่านั้น หวูกำลังโกรธก็รีบคุมทหารซึ่งมีกำลังเพียงเล็กน้อยเข้าโจมตีปักกิ่ง เฟงยุกเสียงส่งทหารออกไปรับหน้าที่หยางซุ่น ห่างจากปักกิ่งประมาณร้อยกว่ากิโลเมตร รบกันชั่วเวลาเล็กน้อย หวูก็ต้องพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกในชีวิต และรีบหนีไปยังเมืองจี่กุงซานชายแดนมณฑลหูเป่

“เมื่อหวูสิ้นอำนาจลงแล้ว ต้วนฉีร่วยหัวหน้าพรรคอันฝู่ ศัตรูเก่าแก่ของหวูก็เข้ามายังปักกิ่งตามคำเชิญของเฟงยุกเสียงและจางโซหลิน ต้วนเข้ามาร่วมคณะจัดการปกครอง แล้วก็เชิญ ดร. ซุนยัดเซนขึ้นมาจากกวางตุ้งเพื่อปรึกษาหารือด้วยอีกผู้หนึ่ง

“ดร. ซุนรับเชิญทันที ทั้ง ๆ ที่มีผู้ทัดทานว่าอาจเป็นกลยุทธ์ของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ แต่ ดร. ซุนมีความมุ่งหวังอย่างเดียวที่จะช่วยให้ประเทศจีนได้รวมกันเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ดร. ซุนหวังว่าเมื่อสิ้นหวูเสียแล้ว ตนคงจะเข้าเจรจาร่วมมือด้วยได้ เพื่อให้จีนเหนือกับจีนใต้หันหน้าเข้ามาเป็นมิตรต่อกัน ความหวังเช่นนี้ทำให้ ดร. ซุนตัดสินใจเด็ดขาด เดินเปิดอกเข้าไปยังกรุงปักกิ่งแต่ผู้เดียว องอาจเหมือนพญาราชสีห์

“ดร. ซุนข้ามไปเกาะญี่ปุ่นก่อน เพื่อเยี่ยมเยียนมิตรสหายเก่า ๆ ที่ตนเคยรู้จักเมื่อสมัยเริ่มการปฏิวัติ การเยี่ยมเยียนครั้งนั้นเป็นการเยี่ยมครั้งสุดท้าย ดร. ซุนอาจไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า ขณะที่เรือแล่นออกจากท่าเคลื่อนลำทิ้งเกาะญี่ปุ่นไปนั้น เป็นโอกาสครั้งที่สุดของชีวิตที่ตนจะได้เห็นเกาะญี่ปุ่นที่อาศัยหลบภัย ขณะที่คิดการปฏิวัติล้มระบอบกษัตริย์แมนจู

“ดร. ซุนเดินทางจากญี่ปุ่นไปถึงเทียนสินเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ พอถึงเทียนสิน ดร. ซุนก็เริ่มล้มเจ็บ แต่มีเสียงพูดกันว่า ดร. ซุนป่วยการเมือง เพื่อรอดูท่าทีปรปักษ์ในปักกิ่งให้แน่ใจเสียก่อน อย่างไรก็ดี ในตอนหลัง ดร. ซุนได้ป่วยขึ้นมาจริง ๆ และต้องพักอยู่ที่เทียนสินหลายวัน ตอนนี้ต้วนฉีร่วยได้เดินทางไปเยี่ยมจากปักกิ่ง แต่การเยี่ยมนั้นได้กลายเป็นการทะเลาะวิวาทกันเพราะอุดมคติทางการเมือง

“ดร. ซุนทุเลาลงเล็กน้อย ก็ออกเดินทางจากเทียนสินไปปักกิ่งในวันที่ ๓๐ ธันวาคม มีผู้คนไปรับที่สถานีรถไฟมากกว่าแสนคน ดร. ซุนถึงปักกิ่งแล้วก็ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะอาการโรคได้หนักลงอย่างรวดเร็ว ต้องเข้าไปพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล พี.ยู.เอ็ม.ซี. เธอคงยังจำได้เมื่อคราวเราไปเยี่ยมโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงยิ่งในตะวันออกแห่งนี้ ตอนเธอมาถึงปักกิ่งใหม่ ๆ ฉันได้ชี้ให้ดูห้องที่ ดร. ซุนเคยนอนเจ็บอยู่

“ต่อมา ดร. ซุนได้ย้ายออกจากโรงพยาบาลมานอนเจ็บอยู่ในบ้านของ ดร. กวู้ ครั้นถึงวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ วีรบุรุษผู้นี้ก็สิ้นใจ

“ความตายของ ดร. ซุนยัดเซนทำให้ประเทศจีนเต็มไปด้วยความเศร้า ทุกบ้านทุกเรือนบังเกิดความเยือกเย็นอ้างว้างเปลี่ยวเปล่ายิ่งนัก เพราะทุกคนรู้ดีว่าจีนได้เสียคนดีที่สุดไปคนหนึ่งแล้ว–คนดีที่เกิดมาเพื่อต่อสู้กับความชั่ว–คนดีที่โลกไม่ต้องการ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ