๓๐
บุรุษผู้ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Peiping Times ยิ้มอย่างเยือกเย็น เมื่อข้าพเจ้าถามขึ้นว่า “ทำไมจึงจะต้องมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ด้วยเล่า ในเวลาที่หาความสงบไม่ได้เช่นนี้?”
“ประหลาดใจหรือ, ระพินทร์” เขาถามด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่น “การเป็นนักหนังสือพิมพ์ไม่จำเป็นจะต้องเลือกสมัยเวลา แต่ถ้าจะถึงกับเลือกสมัยเวลากันแล้ว ฉันก็จะเลือกเอาเวลาที่บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ มันเป็นโอกาสที่ฉันจะได้รับใช้เพื่อนร่วมชาติอย่างเต็มสติกำลัง เรารับใช้คนที่กำลังมีทุกข์ย่อมจะได้กุศลแรงกว่าการรับใช้คนที่กำลังมีสุขไม่ใช่หรือ?”
“อุดมคติอันนี้ฉันเห็นจะต้องจำไว้บ้าง” ข้าพเจ้าพูดพลางหัวเราะ
จางหลินกล่าวต่อไปด้วยน้ำเสียงอันเยือกเย็นดุจเดิม “ฉันได้ตั้งใจไว้แล้วว่าจะรับใช้ชาติด้วยการเป็นนักหนังสือพิมพ์ ในขณะที่โลกเต็มไปด้วยความมืดมัวเช่นนี้ การเป็นนักหนังสือพิมพ์ย่อมจะมีประโยชน์อยู่บ้างตามสมควร ฉันมีเชฟเฟ่อร์คู่ชีวิตซึ่งเขียนมาแล้วหลายปี เวลานี้ยังไม่บุบสลายอย่างไร เข้าใจว่าคงจะใช้ได้จนกระทั่งฉันแก่ ปากกาด้ามนี้แหละทำให้ฉันแลเห็นราคาของการเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักหนังสือพิมพ์มีงานหนักนะระพินทร์ เราทำงานเป็นเครื่องจักร เราคิด เราเขียน เราระวัง พลาดนิดเดียวเราอาจทำความอยุติธรรมให้แก่คนเกือบทั้งโลกก็ได้ เราต้องเขียนหนังสือโดยไม่มีกำหนดเวลา ในขณะที่คนอื่นๆ เขานอนหลับกันอย่างสบายอยู่บนฟูกอันอ่อนนุ่ม บางทีเราก็ยังต้องนั่งทรมานสังขารอยู่ที่โต๊ะ จิบกาแฟแก้ง่วง ปล่อยให้ยุงกัดลายไปทั้งตัว เขียนไปคิดไป ได้ยินเสียงแท่นพิมพ์ แท่นตัด แท่นเย็บ ดังเป็นจังหวะเหมือนเสียงดนตรี บางครั้งฉันเคยคิดว่า นี่เราเป็นบ้าไปหรือ? ทำไมเราจึงไม่นึกอิจฉาคนอื่นๆ ที่เขานอนหลับกันอย่างแสนสุขสำราญบานใจบ้าง? ทำไมเราจึงมานั่งถ่างตาอยู่คนเดียว ปล่อยให้ยุงกัดอยู่จนดึกดื่นค่อนคืนเช่นนี้? ทำไมเราจะต้องเป็นนักเขียน เราจะเขียนไปทำไมกัน มีประโยชน์อะไร มีอยู่หลายคราวทีเดียวที่ฉันนึกจะวางปากกา อยากจะหัดทำไร่ทำนาเสียบ้าง หรือมิฉะนั้นก็ลองเป็นพ่อค้าดู ฉันมีลุงอยู่คนหนึ่ง เป็นเศรษฐีใหญ่อยู่ในชวา ท่านเคยชวนให้ฉันไปเป็นผู้จัดการบริษัทเหมืองแร่ที่มลายู ฉันมีรายได้อย่างจุใจทีเดียว เป็นรายได้ที่สูงกว่าการทำหนังสือพิมพ์หลายสิบเท่า แต่แปลกไหม ระพินทร์ ฉันปฏิเสธ! ฉันไม่ต้องการจะเป็นผู้จัดการบริษัทที่ปกครองคนงานนับพัน ฉันตัดสินใจถือปากกาเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ ฉันประหลาดใจตัวเองว่าทำไมจึงไม่หนีออกไปหาความสุขที่ฉันจะต้องได้รับอย่างแน่ๆ–หนีไปให้พ้นประเทศจีน—ไม่ต้องมานั่งทนดูความชุลมุนวุ่นวาย และความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติอย่างเช่นเวลานี้ ฉันไม่เข้าใจตัวเองเลยว่าเหตุไฉนจึงมาเลือกเอาข้างถือปากกา แล้วก็เขียน–เขียน–เขียน–เขียนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย–เขียนอย่างไม่ต้องเป็นห่วงตัวเองไม่ต้องเป็นห่วงใคร แม้แต่ผู้ที่ฉันรักและบูชายิ่งกว่าชีวิต ไม่ห่วงจนกระทั่งพวกก้วยจือโส่วที่เทียนเฉียว รู้จักเทียนเฉียวไหม ระพินทร์? อยู่ใกล้ ๆ บ้านฉันนั่นเอง วันนั้นระพินทร์ผ่านไปเยี่ยมฉันที่บ้าน คงยังจำได้ว่ามีทหารม้าเดินแถวไปทางเทียนเฉียวหลายหมวด มีคนนั่งไปในเกวียนเล็ก ๆ ใส่เสื้อขาว มีป้ายผูกติดอยู่ที่หน้าเกวียน ฉันเคยเล่าให้ฟังว่าเขาไปทำอะไรกัน นั่นแหละเทียนเฉียวของปักกิ่ง ว่าง ๆ ฉันจะพาไปดูสักวันหนึ่ง ไปดูเขารับรางวัลกันเป็นรางวัลครั้งสุดท้ายสำหรับคนดีและคนชั่ว เดี๋ยวนี้พวกนักบุญและคนบาปพากันไปรับรางวัลที่เทียนเฉียวเดือนละมากๆ รู้ไหมระพินทร์ที่รัก ในเมืองจีนชีวิตคนแทบจะหาราคาไม่ได้เลย”
ข้าพเจ้าเม้มริมฝีปาก ชำเลืองดูสีหน้าอันเคร่งเครียดของเขาอยู่ ข้าพเจ้ารู้สึกตัวคล้ายกับได้เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของชายผู้นี้ แววตาและสีหน้า ตลอดจนน้ำเสียงและถ้อยคำ ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักชีวิตจิตใจของจางหลินอย่างซาบซึ้ง อนิจจา! ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้พบนักบุญเข้าแล้ว!
จางหลินจิบชาหลุงจิ่งอย่างอารมณ์เย็น แล้วกล่าวต่อไปว่า
“รู้ไหม ระพินทร์ ว่าทำไมฉันจึงไม่หนีไปเป็นผู้จัดการบริษัทเหมืองแร่ที่มลายู มีรายได้เป็นเรือนหมื่น มีอำนาจวาสนาคุมคนงานเป็นพันๆ นั่นมันแสนจะสุขกายสบายใจยิ่งกว่าหารเขียนหนังสือนับไม่ถ้วนเท่าไม่ใช่หรือ? ใคร ๆ เขาก็หาว่าฉันโง่อย่างบัดซบ โง่อย่างบ้าบอที่สุด อยากจะรู้ไหมเล่าว่าทำไมฉันจึงไม่หนีเอาตัวรอด ฉันมีเหตุผลอย่างไร?”