๓๕
จางหลินหยุดทอดระยะขณะหนึ่ง คล้ายกับจะกำลังนึกถึงอะไร ก่อนที่ข้าพเจ้าจะให้ความเห็นอะไรออกมา เขาก็กล่าวต่อไปว่า “สำหรับประเทศจีนฉันมีความรู้สึกว่า เรากำลังเป็นศูนย์กลางของความยุ่งยากในตะวันออก จีนเป็นประเทศใหญ่ เป็นตลาดอย่างดีสำหรับพวกฝรั่ง อันนี้แหละเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้อิทธิพลของฝรั่งหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศจีนตลอดครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๑๙ ผลที่เกิดขึ้นก็คือการปะทะกันอย่างรุนแรงในแผ่นดินจีน เราเกือบจะเอาตัวไม่รอด เกือบจะต้องถูกแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ถ้าไม่ใช่เพราะเสือหลายตัวเกิดอิจฉากันเองแล้ว จีนก็คงจะไม่มีเหลือเป็นรูปเป็นร่างมาจนถึงเดี๋ยวนี้ นี่แหละคือมูลเหตุสำคัญที่จีนต้องปฏิวัติ”
“ฉันเคยได้ยินเธอบ่นมานานว่า ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจีนจึงต้องรบราฆ่าฟันกันเองอย่างป่นปี้ถึงเพียงนี้ การนองเลือดเป็นของธรรมดาสำหรับการปฏิวัติใหญ่อย่างจีน แต่บางทีก็เกินธรรมดาไปบ้างเพราะเหตุผลสำคัญข้อหนึ่ง คือว่าจีนขาดหลักกลางที่ราษฎรจะยึดถือเอาไปเป็นที่รวบรวมกำลังใจให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา ราษฎรชาวจีนเคยกับประเพณีการมีเจ้าแผ่นดินมาตลอด ๔-๕ พันปี ฉะนั้นพอเปลี่ยนใจโครมครามรีบตัดเจ้าแผ่นดินออกไปเสียจากวงการปกครองเช่นนี้ ราษฎรจึงว้าเหว่ไม่รู้จะยึดเหนี่ยวอะไรเป็นหลักกลางร่วมกัน ผลที่เกิดขึ้นก็คือการแตกฉานซ่านเซ็น แทบจะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เราต้องไม่คิดว่าจีนยุคปฏิวัติรุ่นแรกมีหลักชาติสำหรับยึดเป็นหลักกลางอย่างประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะว่าความรู้สึกในเรื่องชาติชาวจีนมีน้อย ชาวจีนรุ่นเก่าไม่เข้าใจว่าชาติคืออะไร เขารู้จักแต่ความรักในระหว่างพวกพ้องวงศ์ตระกูลภายในขอบเขตของหมู่บ้านและตำบลเท่านั้น ชาวจีนรู้จักแต่ clan ไม่รู้จัก nation แต่ที่เราอยู่กันมาได้ตลอดหลายร้อยหลายพันปี ก็เพราะเรามีวัฒนธรรมของเราเองร่วมกันอย่างมั่นคง มีเจ้าแผ่นดินเป็นจุดศูนย์กลาง สำหรับควบคุมความเป็นปึกแผ่นของราษฎร สองอย่างนี้เท่านั้นที่ทำให้จีนมีชีวิตอยู่ได้โดยที่ใครกลืนไม่ลง แม้แต่ในสมัยที่เราเสียแผ่นดินแก่พวกมองโกลในยุคราชวงศ์หยวน และเสียแผ่นดินแก่พวกแมนจูในยุคราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้าย พวกมองโกลและพวกแมนจูก็กลืนเราไม่ได้ ตรงกันข้าม, กลับถูกเรากลืนหมดโดยที่เขาไม่รู้ตัว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเรามีวัฒนธรรมสูงกว่า มั่นคงกว่า พวกเขาเข้ามาก็มาใช้วัฒนธรรมของเรา เช่นทางหนังสือและภาษาเป็นต้น พวกมองโกล พวกแมนจูเขาก็มีหนังสือของเขาเหมือนกัน แต่เวลาเขาเข้ามาปกครองเรา เขาไม่ใช้หนังสือของเขา แม้แต่ภาษาก็ไม่ค่อยพูดภาษาของเขา โดยเหตุนี้เขาจึงถูกเรากลืนอย่างง่ายดายที่สุด เขาได้กลายเป็นคนจีนไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในตอนหลัง ๆ นี้ดูเหมือนจะกลายเป็นคนจีนไปทั้งเนื้อทั้งตัวทีเดียว นี่แหละคืออานุภาพของวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของเรา วัฒนธรรมและเจ้าแผ่นดินเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้จีนมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่รู้จักคำว่าชาติ เมื่อไม่รู้จักคำว่าชาติ ก็เอาชาติเป็นหลักกลางอย่างประเทศอื่น ๆ ไม่ได้ โดยเหตุนี้ พอเสียหลักกลางคือเจ้าแผ่นดินไปเพราะการปฏิวัติ ราษฎรจึงเคว้งคว้าง ไม่รู้จะยึดหลักอะไรเป็นหลักร่วมกัน จะเอารัฐธรรมนูญยึดก็ไม่ได้ เพราะไม่แพร่หลายพอ ราษฎรไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร เมื่อเกาะกันไม่ติดเพราะเสียหลักกลางเช่นนี้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือความอลหม่าน ใครมีอำนาจในมณฑลใด ก็รวบรวมเอาราษฎรในมณฑลนั้นเข้าไว้ในกำมือ ประเทศชาติจึงแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า หาความเป็นปึกแผ่นไม่ได้ คนที่เห็นแก่ตัว ต้องการจะกอบโกยอำนาจและเงินทอง ก็พากันฉวยโอกาสเข้าหาอำนาจทางการเมือง คนพวกนี้มีอยู่มากมายก่ายกอง เราถือกันว่าเป็นการทำลายชาติโดยตรง เพราะเป็นผู้ทำให้ประเทศชาติต้องแตกแยกกัน ราษฎรหลงฆ่าฟันกันเอง หาความสงบมิได้ หัวหน้าที่ดีของเราที่เสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริงก็มีไม่น้อย แต่เมื่อมีคนชั่วที่เห็นแก่ตัวปนอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ก็ย่อมจะช่วยอะไรกันได้ยาก
“เท่าที่ฉันได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่าเหตุแรกที่ทำให้จีนต้องอลหม่านไม่มีความสงบ ก็เพราะจีนไม่มีหลักกลางสำหรับให้ราษฎรยึดถือ หลักกลางนี้เมื่อได้ปฏิวัติแล้วนานพอควร เราก็ควรจะหวังได้ว่า ความรู้สึกในเรื่องชาติควรจะเกิดขึ้น และความรู้สึกอย่างนี้ควรจะเป็นหลักกลางสำหรับยึดร่วมกันได้ ความหวังเช่นนี้ก็น่าจะเป็นความจริง แต่เราต้องไม่ลืมว่าความรู้สึกเรื่องชาตินี้ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความฟุ่มเฟือยในเรื่องเสรีภาพ ตลอดจนความคิดที่แตกแยกกันในเชิงการเมือง และเชิงประโยชน์ส่วนตัวของบรรดาหัวหน้าต่าง ๆ อันนี้แหละเป็นไม้ตายอีกอันหนึ่งสำหรับชาวจีน ฉันมีความเห็นว่า ความรู้สึกในเรื่องชาติเกิดช้าไป จึงไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ หลังจากปฏิวัติแล้ว เสรีภาพกับความเสมอภาคได้ไหลเทเข้ามาเต็มประเทศจีน ราษฎรชาวจีนซึ่งไม่คุ้นกับทฤษฎีอันนี้เลย พอแบมือรับเอามาก็เริ่มใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย ผลที่เกิดขึ้นก็คือความอลหม่านของสังคม พวกเราโดยมากพากันคิดว่าทุกคนเท่ากันหมด ทำอะไรทำได้ พูดอะไรพูดได้ ขอบเขตไม่ต้องมี ความสมควรไม่ต้องมี การติกันอย่างรุนแรงมีอยู่โดยทั่วไป แต่เมื่อติแล้วตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นได้ การติการวิพากษ์อย่างนี้แหละ ทำให้ความคิดของชุมชนปั่นป่วนไปหมด ไม่รู้จะเอาหลักอะไรกันดี ทุกคนมีหลักของตนเอง นักปราชญ์เต็มบ้านเต็มเมือง เหมือนภาษิตฝรั่งเรื่องพ่อครัวมากไปไม่มีผิด เมื่อเสรีภาพฟุ่มเฟือยเสียเช่นนี้ ความรู้สึกในเรื่องชาติที่เกิดขึ้น และควรจะเป็นหลักกลางสำหรับราษฎรยึดเหนี่ยวแทนองค์เจ้าแผ่นดิน อันเป็นประเพณีเก่าแก่ตลอด ๔-๕ พันปี จึงไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย เพราะทุกคนรักชาติในแง่ของเขา–ในวิธีของเขา เถียงกันรบราฆ่าฟันกันในเรื่องวิธีและเรื่องแง่เหล่านี้ แล้วก็บอกว่าฉันทำเพื่อชาติ–ฉันรักชาติ ของฉันถูกกว่า ของท่านใช้ไม่ได้ ตกลงความรักชาติซึ่งควรจะเป็นความรู้สึกส่วนกลาง หรือเป็นหลักกลางร่วมกันสำหรับราษฎรยึดเหนี่ยว เพื่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ก็เลยกลายเป็นเครื่องสำหรับอ้างอิงในการกระทำของบุคคลต่าง ๆ และมีไม่น้อยที่การกระทำเหล่านั้นมีความมุ่งหวังเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแท้ๆ นี่แหละ, ระพินทร์, จึงเป็นเรื่องน่าอนาถนัก ความรักชาติที่ปลุกขึ้นในตอนหลังนี้ ไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่พวกเราชาวจีนอย่างเต็มที่เลย เพราะมักจะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการหาประโยชน์ส่วนตัวเสียเนือง ๆ”