๕๘

จางหลินหยุดให้ข้าพเจ้าซักถาม ๒-๓ คำ แล้วก็กล่าวต่อไปว่า

“ฉันเคยเล่าให้เธอฟังตอนที่หวูเพ่ฝูถูกเฟงยุกเสียงหักหลังถึงแก่ความปราชัย และเฟงกับจางเชิญต้วนฉีร่วยเข้ามาร่วมมือด้วย ต้วนได้เชิญ ดร. ซุนยัดเซนขึ้นไปเจรจากันที่ปักกิ่ง ดร. ซุนขึ้นไปถึงเทียนสินก็ล้มเจ็บลง และไปตายในปักกิ่งอีกไม่กี่เดือนต่อมา ตอน ดร. ซุนขึ้นไปปักกิ่งนี้ ทางจีนใต้ ดร. ซุนมอบอำนาจไว้ให้หูฮั่นหมิน ศานุศิษย์แขนขวา พอ ดร. ซุนตายลง หูฮั่นหมินก็รั้งบังเหียนการปกครองไว้ไม่ได้เพราะตนยังหนุ่มอยู่ ไม่มีใครเคารพนับถือยำเกรงเพียงพอ เฉินชุงหมิงและบรรดาหัวหน้าฝ่ายทหารในมณฑลภาคใต้ต่างก็แข็งข้อตั้งตัวเป็นใหญ่ คุมทหารเข้ามาเพื่อยึดกวางตุ้ง หูฮั่นหมินไม่มีทางจะช่วยเหลืออะไรได้ รัฐบาลจวนจะคว่ำอยู่แล้ว ก็พอดีมีคนมาช่วย คนผู้นี้ก็คือ เจียงไคเชค

“เวลานั้นเจียงไคเชคเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวในจีนที่ผลิตนายทหารชั้นดีออกมาปีละมาก ๆ เจียงได้เข้าร่วมมือกับหลีจงเหริน หลีจิ้เซิน และหวงส้าวหยุง ทำการป้องกันกวางตุ้งให้รอดพ้นจากการโจมตีของศัตรู เจียงเริ่มมีอำนาจแต่บัดนั้นมา เพราะเป็นเสมือนผู้กู้ชีวิตของรัฐบาลซึ่ง ดร. ซุนยัดเซนเป็นผู้ตั้ง คือรัฐบาลจีนใต้

“หูฮั่นหมินไม่สู้จะชอบเจียงนัก เพราะเกรงเจียงจะมีอำนาจมากเกินไป จึงคิดจะกีดกันกำจัดเจียงออกไปเสียให้พ้นทาง แต่เจียงไวกว่า จึงส่งนักเรียนนายร้อยไปคุมตัวหูไว้เสียก่อน ตั้งแต่นั้นมาเจียงก็มีอำนาจมากขึ้นอีก

“ขณะที่เกิดยุ่งขึ้นในเมืองกวางตุ้งเพราะเรื่องเจียงกับหูนี้ เฉินชุงหมิงศัตรูเก่าแก่ของ ดร. ซุนซึ่งเคยปล้นชีวิต ดร. ซุนถึงสองครั้ง ก็ฉวยโอกาสเข้ายึดซัวเถาและตั้งตัวเป็นใหญ่ เจียงส่งทหารไปเล่นงานทันที รบกันอยู่หลายสัปดาห์ ผลที่สุดเฉินก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เป็นการแพ้ครั้งสุดท้าย จนกระทั่งตายก็ไม่มีโอกาสขึ้นมาครองอำนาจอีกได้ ตัวละครโรงใหญ่ได้สิ้นชื่อไปอีกคนหนึ่ง

“เมื่อปราบเฉินศัตรูเก่าได้แล้ว เจียงก็เริ่มหันมาขบปัญหาการปราบรัฐบาลฝ่ายเหนือต่อไป ตั้งแต่เกิดแตกร้าวกันสมัยยวนซีไข ส่วนใหญ่ของประเทศจีนได้แบ่งออกเป็นฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ ดร. ซุนได้ตั้งป้อมอยู่ในกวางตุ้ง รอคอยโอกาสที่จะส่งทหารขึ้นไปยึดจีนเหนือเพื่อรวบรวมจีนให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา แต่จนกระทั่ง ดร. ซุนสิ้นชีวิตลงที่ปักกิ่ง นักปฏิวัติผู้นี้ก็ยังไม่สามารถส่งทหารออกไปจากกวางตุ้งได้แม้แต่คนเดียว เพราะการเตรียมกำลังยังไม่พร้อมสรรพ โดยเหตุนี้พอ ดร. ซุนรู้ตัวว่าจะต้องตายแน่แล้ว จึงทิ้งพินัยกรรมไว้ฉบับหนึ่งใจความว่า การปฏิวัติยังไม่เสร็จสิ้น ให้พี่น้องชาวจีนจงบากบั่นต่อไป เจียงเป็นชาวคณะก๊กมินตังคนแรกที่สามารถส่งทหารออกจากกวางตุ้ง บุกขึ้นไปตีจีนเหนือได้ตามความปรารถนาของ ดร. ซุนยัดเซน

“เวลานั้นรัฐบาลใหม่ที่กวางตุ้งนอกจากเจียงแล้ว มีคนสำคัญอยู่สี่ห้าคนคือ วังจิงไว, หูฮั่นหมิน, ซุนโฟบุตรชาย ดร. ซุนยัดเซน และ ที.วี. ซุง เป็นต้น ในทางอำนาจทหาร เจียงเป็นผู้นำหน้า หลีจงเหริน, หลีจี้เซิน, จูเผเตื๋อ และเหือยิงชิน ก็เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารในจีนใต้มีกำลังทหารคนละมาก ๆ เหมือนกัน แต่ในทางความรุ่งโรจน์แล้วดูเหมือนจะสู้เจียงไม่ได้ เมื่อเจียงตัดสินใจแน่แล้วว่าถึงเวลาที่จีนใต้จะต้องทำศึกกับจีนเหนือ ก็หันหน้าไปหารือกับพวกหัวหน้าทหารและคณะรัฐบาล ต่างก็เห็นพร้อมกันว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องรวบรวมประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา

“เหตุผลที่เจียงคิดทำศึกกับจีนเหนือมีอยู่สามประการ ในประการแรก กวางตุ้งมักจะเป็นบ่อเกิดแห่งการปฏิวัติเสมอ นักปฏิวัติคนสำคัญของจีนเช่น ดร. ซุนยัดเซน มักมาจากมณฑลกวางตุ้ง ชาวกวางตุ้งเป็นคนเลือดร้อน ถ้าไม่รบกับใครก็มักหาเรื่องรบกันเอง เจียงและพรรคก๊กมินตังรู้จิตใจอันนี้ดี และอนึ่ง ขณะนั้นพอดีพวกคอมมิวนิสต์ก่อความยุ่งยากขึ้นในกวางตุ้ง วังจิงไวเป็นผู้รับผิดชอบในการที่ยอมให้พรรคคอมมิวนิสต์เข้าร่วมมือกับพรรคก๊กมินตังในสมัย ดร. ซุน เมื่อเห็นเหตุการณ์รุนแรงเช่นนั้น ก็จำใจต้องเนรเทศตัวเองออกไปจากกวางตุ้ง ความยุ่งยากเรื่องคอมมิวนิสต์ครั้งนั้นกระเทือนใจคนสำคัญหลายคน เจียงกับพวกต้องการจะกลบความกระเทือนใจเหล่านี้ โดยวิธีหางานที่ใหญ่ยิ่งมาทำเพื่อให้ทุกคนลืมข้อบาดหมางของตนเสีย จึงคิดจะทำศึกกันจีนเหนือ เหตุประการที่สองก็มีว่า เวลานั้นมณฑลหูหนานเกิดการแย่งตำแหน่งข้าหลวงกันขึ้น ถังเสิงจื้อเป็นข้าหลวงอยู่ในมณฑลนี้ แต่กำลังจะถูกคนของหวูเพ่ฝูแย่งตำแหน่ง เช่นเดียวกับที่ถังเคยแย่งคนอื่นมาแล้ว มันเป็นเรื่องของกรรมสนองกรรม ถังกลัวว่าตนจะเสียตำแหน่งไป จึงหันมาหาพวกก๊กมินตังให้ช่วย พรรคก๊กมินตังมองเห็นว่ามณฑลหูหนานเป็นประตูสำคัญที่เปิดออกไปถึงจีนเหนือได้ จึงยอมรับที่จะช่วยถังเสิงจื้อ เพื่อจะได้เดินทัพผ่านหูหนานขึ้นไปสู่ภาคเหนือได้สะดวก ประการที่สาม ขณะนั้นหวูเพ่ฝูกำลังรบอยู่กับเฟงยุกเสียง ดังได้กล่าวไว้แล้ว พรรคก๊กมินตังเห็นว่าถ้าขืนรอช้าปล่อยให้หวูชนะเฟงได้เสียแล้ว หวูก็จะมีอำนาจใหญ่ยิ่งในจีนเหนือ ยากที่ฝ่ายตนจะเอาชนะได้ ถ้าจะให้ได้ผลจริง ๆ ก็ด้องบุกขึ้นไปโจมตีเอาเสียแต่ขณะนี้ ในระหว่างที่หวูกำลังติดพันอยู่กับเฟง

“โครงการบุกจีนเหนือของพรรคก๊กมินตังกำหนดกันไว้ว่าจะยกขึ้นตีตะลุยเป็นสามสาย สายที่หนึ่งผ่านตรงขึ้นไปยังเมืองหันเค้า สายที่สองตัดตรงขึ้นไปทางนานกิง สายที่สามตัดผ่านฮกเกี้ยนขึ้นไปเพื่อยึดมณฑลเจื้อเจียง (จีเกียง) เข้านครเซี่ยงไฮ้ สายหันเค้านับว่าสำคัญมาก เพราะหันเค้าเป็นฐานกำลังของหวู กองทัพทั้งสามสายนี้พุ่งกำลังเข้าโจมตีพร้อมกัน และได้ชัยชำนะตลอดทาง ทหารของหวูต้องถอยร่นไม่อาจจะต้านทานได้

“ขณะนั้น หวูเพ่ฝูกำลังร่วมมืออยู่กับจางโซหลินปราบกองทัพของเฟงยุกเสียงอยู่ทางเหนือกรุงปักกิ่ง คือบริเวณช่องแคบหนานโข่ว เฟ่งยุกเสียงได้หนีไปอยู่ที่มอสโคว์นานแล้วตั้งแต่เห็นว่าจะสู้หวูกับจางไม่ได้ เฟงใช้วิทยุเป็นเครื่องบัญชาการรบตลอดเวลา แต่เนื่องจากกำลังคนสู้กันไม่ได้ กองทหารของเฟงจึงพ่ายแพ้อย่างยับเยินในการยุทธที่หนานโข่ว ขณะที่เฟงใจหายใจคว่ำอยู่กับเครื่องวิทยุในมอสโคว์ ก็พอดีได้ทราบว่ารัฐบาลจีนใต้ส่งกองทัพขึ้นไปโจมตีหวูเพ่ฝู เฟงเห็นช่องทางจะเอาตัวรอดได้ จึงรีบทำการติดต่อกับรัฐบาลใต้ทันที เพื่อขอเป็นพันธมิตรด้วย รัฐบาลจีนใต้ก็รับข้อเสนอของเฟงไว้

“ส่วนหวูเฟ่ผู พอรู้ว่ารัฐบาลได้ส่งทหารขึ้นโจมตีแนวหลังของตน ก็ถอนทหารบางส่วนลงมายันทัพของจีนใต้ไว้ แต่ไม่มีประโยชน์อะไรเสียแล้ว เพราะทหารก๊กมินตังบุกขึ้นไปอย่างรวดเร็วมาก ผลที่สุดหวูก็ต้องคุมทหารลงไปยันไว้เอง ปล่อยให้จางโซหลินสู้รบอยู่กับเฟงยุกเสียงแต่ผู้เดียว

“แต่หวูเพ่ฝูกำลังจะสิ้นวาสนา ฉะนั้นแม้จะรบด้วยน้ำมือของตนเอง ก็หาอาจเอาชนะแก่ทหารก๊กมินตังได้ไม่ ขณะที่หวูซวดเซลงนั้น บรรดานายพลในบังคับบัญชาต่างก็พากันหันหลังซ้ำเติมเอา ตามแบบของความโสมมที่กระทำกันเรื่อยมา ฉะนั้นหวูจึงต้องแพ้เร็วขึ้นอีก นอกจากนี้จางโซหลินยังเป็นเหตุใหญ่อีกเหตุหนึ่งที่ทำให้หวูแพ้อย่างย่อยยับ จางต้องการให้หวูขับไล่ทหารก๊กมินตังออกไปจากมณฑลหูเป แต่หวูยังรีรออยู่ จางก็ขัดใจ จึงตัดความสัมพันธ์กับหวูเสีย ขณะที่หวูกับจางแตกกันนี้ เฟงยุกเสียงเห็นได้ทีก็ส่งทหารเข้าโจมตีอย่างรุนแรง จนกระทั่งยึดมณฑลเหือหนานได้ทั้งมณฑล ฝ่ายกองทหารก๊กมินตังก็ตีตัดขึ้นมาเรื่อย ๆ ผลที่สุดหวูก็ถึงแก่ความปราชัยในขั้นสุดท้าย นายพลผู้นี้เมื่อหมดหนทางสู้แล้ว ก็หนีไปหลบตัวอยู่ในหุบเขามณฑลเสฉวน ใช้ชีวิตฉากสุดท้ายในการแต่งโคลงและชมธรรมชาติ ตลอดจนศึกษาพระพุทธศาสนาและวรรณคดี จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ดังนี้, ตัวละครสำคัญของละครเมืองจีนก็เล่นบทของเขาจบลงไปอีกคนหนึ่ง”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ