แนวราษฎร หรือ ลัทธิปั๋วอ้ายของมั่วจื่อ
ในปักกิ่ง ข้าพเจ้าได้พบ คนดีที่โลกไม่ต้องการ นั่นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๗๓ คือเมื่อ ๔๒ ปีมาแล้ว เวลาเกือบครึ่งศตวรรษไม่ได้ทำให้ลืมคนดีที่ข้าพเจ้าได้พบ คนดีเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นบุคคลคนเดียว และไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น หรือเป็นผู้หญิงเท่านั้น คนดีเหล่านี้จะเป็นใครบ้างข้าพเจ้าได้เขียนไว้แล้วในนิยายชีวิตปักกิ่งหลายเรื่อง และยังจะเขียนต่อไปอีกหลายเรื่อง ตราบจนกระทั่งข้าพเจ้าจะเขียนหนังสืออีกไม่ได้
ในหนังสือเล่มนี้ คนดีที่ข้าพเจ้าหมายถึงก็คือ จางหลิน นักหนังสือพิมพ์ใจสิงห์ ที่ไม่ยอมคุกเข่าให้แก่นักการเมืองและขุนพลทั้งหลายผู้เหยียบราษฎรอยู่ใต้ทอปบูตของเขา เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เคยเป็นประชาธิปไตย จางหลินเป็นผู้สืบมรดกคนเดียวของจอมศาสดามั่วจื่อ ผู้ประกาศลัทธิรักคน (ปั๋วอ้าย) ก่อนพระเยซูเกิด เขาเป็นผู้ที่เกิดมาเพื่อพิสูจน์ว่าความรักคนที่เรียกว่า ปั๋วอ้าย หรือ Universal Love นั้น มนุษย์ผู้เจริญยุคปัจจุบันมีจิตใจเจริญพอที่จะรับเอาได้หรือยัง หนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าได้เขียนความคิดของจางหลิน เพื่อบันทึกไว้เป็นจดหมายเหตุเรื่องราวของสมองมนุษย์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่ไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจ มีแต่มันสมองก้อนหนึ่งกับปากกาด้ามหนึ่งเท่านั้นเอง ความคิดของจางหลินซึ่งควรจะยังไม่สิ้นสูญไปในเร็ววัน ได้ท้าทายโลกที่เราเข้าใจกันว่าได้เจริญถึงขีดสูงลอยแล้ว เพราะมนุษย์สามารถเดินทางไปในอวกาศได้ และได้ไปเหยียบแผ่นดินในโลกพระจันทร์มาด้วยความภาคภูมิใจ อย่างน้อยสิ่งที่จางหลินคิดและได้ทิ้งความคิดนั้นไว้ ก็ได้พยายามพิสูจน์ว่าในดงดิบใจกลางผิวโลกใบนี้ ก็ยังไม่ไร้เสียทีเดียวซึ่งความสำนึกดีของคนผู้หนึ่งที่เชื่อมั่นว่า สันติสุขของโลกจะดำรงอยู่ได้ก็เพราะเรามีแนวราษฎรที่ไม่จำกัดชาติชั้นวรรณะคอยต่อต้านสงครามอยู่
หนังสือเรื่อง “คนดีที่โลกไม่ต้องการ” เป็นหนังสือที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นเพื่อเชิดชูแนวราษฎรของโลก ซึ่งเป็นแนวที่จะนำสันติภาพถาวรที่เราใฝ่ฝันมาให้แก่ชาติมนุษย์ แนวราษฎรแนวนี้เป็นขบวนการสันติภาพบริสุทธิ์ ไม่มุ่งหวังประโยชน์ใด ๆ ทางเศรษฐกิจการเมือง ดังขบวนการสันติภาพจำแลงที่ลัทธิการเมืองบางลัทธิมักจะนำมาใช้เป็นหน้ากาก แนวราษฎรมีความมุ่งหมายเพียงว่า ต้องการให้ราษฎรทั้งโลกมีองค์การร่วมที่ทำความเข้าใจกันเพื่อประโยชน์ของสันติภาพ ไม่หลงชาติด้วยอารมณ์ของกลุ่ม และไม่ยอมเอาตัวไปเป็นเครื่องมือของรัฐบาล เพื่อจะเข่นฆ่าทำสงครามกันดังที่ได้ทำมาแล้วอย่างย่อยยับในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และที่ ๒ แนวราษฎรไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ ไม่เลือกลัทธิและศาสนา แนวราษฎรถือความเป็นมนุษย์และความปลอดภัยกับความสุขสมบูรณ์ร่วมกันเป็นหลักคิด และเป็นหลักการทำงานเพื่อประโยชน์สุขของแต่ละคน แนวราษฎรเป็นประชาธิปไตยแท้ เพราะทุกคนคิดและทำด้วยตนเองอย่างอิสรเสรีทั้งโลก ไม่ใช่ประชาธิปไตยชาตินิยม ไม่ใช่ประชาธิปไตยทุนนิยม และไม่ใช่ประชาธิปไตยสังคมนิยม
ข้าพเจ้าเขียนเรื่อง “คนดีที่โลกไม่ต้องการ” เมื่อสันนิบาตประชาชาติ (The League of Nations) ประสบความพินาศ เหตุที่ต้องพินาศก็เพราะสันนิบาตแห่งนี้เป็นได้เพียงโต๊ะกลม สำหรับนักการเมืองเข้าโต้เถียงเกี่ยงงอนทะเลาะวิวาทกัน เพื่อหาประโยชน์ให้ชาติของเขาเท่านั้น ไม่ใช่สันนิบาตสมาคมของราษฎรที่ราษฎรทั่วโลกจะเข้าไปคิดและทำอะไรได้ ไม่มีแนวราษฎรในสันติบาตประชาชาติเลย นั่นเป็นความจริงที่ข้าพเจ้าได้เห็นกับตา
แล้วในบัดนี้ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเขียนคำนำครั้งนี้อยู่ สหประชาชาติก็กำลังเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับที่สันนิบาตประชาชาติได้เผชิญมาแล้ว สหประชาชาติก็ยังคงเป็นได้เพียงโต๊ะกลมสำหรับนักการเมืองลิ้นยาว ๆ ของนานาชาติ เข้าไปนั่งทะเลาะกันอย่างภาคภูมิใจเพื่อประโยชน์ของชาติของเขาเป็นหลักใหญ่ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์อันแท้จริงของสันติภาพถาวร ไม่มีแนวราษฎรในสหประชาชาติ เพราะฉะนั้นสงครามจึงยังสงบระงับไม่ได้ และในวันหนึ่งนักการเมืองเหล่านี้ก็จะฝังสหประชาชาติเสียด้วยอานุภาพของสันดานดิบ ซึ่งยังคงท้าทายอารยธรรมความเจริญของชาติมนุษย์อยู่ตามเดิม
ข้าพเจ้าได้อ่านคัมภีร์ของ Baha ‘U’ I lah ซึ่งสรุปคำสอนได้ว่า “This Earth is one country and mankind its citizens.” นั่นเป็นอุดมการณ์ที่สูงส่ง แม้จะปฏิบัติได้ยาก แต่ก็เป็นการบุกเบิกให้มนุษยชาติบ่ายโฉมหน้าไปสู่ทางอันราบเรียบร่มเย็นของสันติภาพถาวร เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่โลกจะสงบ เรารู้แต่ว่าดราบใดที่เรายังไม่ตั้งต้นหาความสงบ ตราบนั้นความสงบก็จะมีมาเองไม่ได้
และทางหนึ่งที่เราจะตั้งต้นก็คือการก่อตั้งแนวราษฎรขึ้น เราไม่จำเป็นต้องพูดกับนักการเมือง แต่เราจะพูดถึงความเข้าใจอันดีระหว่างราษฎรทุกคนทั่วทั้งโลก ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะและลัทธิหรือศาสนา ความเข้าใจกันจะลดความตึงเครียดของโลกลง เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศไม่มีโอกาสจะเอาราษฎรเป็นเครื่องมือสำหรับทำสงครามได้อีกต่อไป โดยเฉพาะรัฐบาลประเทศเผด็จการทั้งซ้ายและขวา
จางหลินเป็นตัวแทนของการมีศรัทธา เชื่อมั่นในการปลูกฝังความเข้าใจอันดีให้เกิดแก่ราษฎร ไม่เลือกชาติ ไม่เลือกภาษา เขาเชื่อว่าราษฎรไม่ต้องการสงคราม ผู้ที่ก่อสงครามไม่ใช่ราษฎร หากเป็นนักการเมืองและทหารในยุคของเขา ทหารหรือผู้สวมยูนิฟอร์มเป็นผู้ก่อสงครามทั้งสิ้น เขาได้เห็นอยู่กับตาว่าทหารของจางโซหลิน เฟงยุกเสียง วูแป๊ะฟู เจียงไคเช้ก เมาเซตุง ได้ก่อสงครามกลางเมืองขึ้นได้อย่างไร และเพราะอะไร ราษฎรจีนได้อะไรถ้าไม่ใช่เลือดกับน้ำตา ในเซี่ยงไฮ้ ในเทียนสิน ในแมนจูเรีย ทหารซามูไรผู้คลั่งชาติได้บุกรุกเข้าไปไล่ฆ่าฟันพี่น้องชาวจีนของเขาอย่างเหี้ยมโหดทารุณอย่างไร ทหารซึ่งมาจากราษฎรได้ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองได้อย่างไร และราษฎรได้รับความยากเข็ญอย่างไรเพราะการเข่นฆ่าของทหาร จางหลินเข้าใจดีว่า ราษฎรญี่ปุ่นเป็นอันมากไม่เห็นด้วยกับการฆ่าอย่างโหดเหี้ยมของทหารญี่ปุ่น ราษฎรญี่ปุ่นเหล่านี้ได้เห็นอกเห็นใจราษฎรชาวจีนที่ถูกทหารญี่ปุ่นรังแก แต่เขาพูดอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีแนวราษฎรจะสนับสนุนเขา
แต่จางหลินถูกรัฐบาลจีนและนักชาตินิยมชาวจีนผู้หลงชาติ เช่นคณะเชิ้ตสีเทากล่าวหาว่าเขาขายชาติ เพราะเขาคบกับราษฎรชาวญี่ปุ่น
หมายความว่า ลัทธิรักคนเพื่อลดความทารุณของสงครามเป็นลัทธิที่เป็นภัยต่อชาติจีน จนจางหลินต้องใช้หนี้ด้วยเลือดของเขาในบทสุดท้ายของ “ผู้เสียสละ” ซึ่งเป็นภาคจบของเรื่อง “คนดีที่โลกไม่ต้องการ” ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า แม้ในปัจจุบันนี้ผู้ถือลัทธิรักคนของมั่วจื่อ ยังจะต้องใช้หนี้ของ “การทำตัวเป็นภัยต่อชาติ” ด้วยเลือดอีกหรือเปล่า ตามซอกมุมต่างๆ ทั่วพื้นพิภพที่อยู่ในกำมือของนักการเมืองชาวอารยะ
คนดีคือคนที่ทำความดี แต่ความด็คืออะไร? เราคงจะต้องพูดกันอีกนานหลายชั่วคน
สด กูรมะโรหิต
บ้านพญาไท
วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๕