๕๙
“ในจีนเหนือเวลานั้น ผู้มีอำนาจที่มีชื่อโด่งดังยังคงเหลือ ๒ คนคือ เฟงยุกเสียงกับจางโซหลิน ตัวเฟงยุกเสียงได้กลับมาจากมอสโคว์แล้วตั้งแต่ได้ข่าวว่ากองทัพก๊กมินตังได้เข้าโจมตีจีนเหนือ เมื่อเฟงได้มาบัญชาการศึกด้วยตนเองเช่นนี้ กองทัพกว๋อหมินจุนของเฟงก็คึกคักขึ้นอีกมาก ส่วนกองทัพจางโซหลินแม้จะยังกุมอำนาจไว้ในกำมือ แต่ก็ทานกำลังทัพก๊กมินตังไม่ได้ ต้องถอยร่นขึ้นไปทุกที ผลที่สุดก็เป็นที่แน่ชัดว่า ความหวังของจางโซหลินที่จะแผ่อำนาจข้ามลำน้ำแยงซีเกียงลงไปทางใต้ได้ล้มละลายไปสิ้น
“กองทัพของจีนใต้ได้ชัยชำนะเรื่อยมาภายหลังที่ตีได้นครนานกิงแล้ว พรรคก๊กมินตังก็เกิดเรื่องแตกร้าวกันอีก เธอคงยังจำได้ว่าเมื่อ ดร. ซุนตายแล้ว วังจิงไวได้หลบหน้าออกจากกวางตุ้งไป เพราะขัดใจกับชาวคณะก๊กมินตังอื่น ๆ ที่ต้องการกำจัดพวกคอมมิวนิสต์ วังจิงไวเป็นผู้สนับสนุนให้พวกคอมมิวนิสต์ได้เข้ารวมอยู่ในพรรคก๊กมินตัง สมัย ดร. ซุนยังมีชีวิตอยู่ เมื่อ ดร. ซุนตายแล้ว พวกคอมมิวนิสต์ได้ก่อความยุ่งยากขึ้นในกวางตุ้ง และถูกทหารก๊กมินตังปราบราบไป วังจิงไวมีความยุ่งยากใจในเรื่องนี้ จึงหลบออกไปจากกวางตุ้งและออกเดินทางไปรัสเซีย ในตอนที่ทัพก๊กมินตังเข้าโจมตีจีนเหนือนี้ วังจิงไวกลับมาจากรัสเซีย อาศัยที่ไม่ลงรอยอยู่กับหูฮั่นหมินซึ่งเป็นเสมือนแขนขวาของ ดร. ซุน วังจิงไวก็ตั้งรัฐบาลขึ้นที่หันเค้า โดยร่วมมือกับถังเสิงจื้อ มาดามซุนยัดเซน มาดามเหลียวจุงไข่ ซุนโฟ (บุตรชายซุนยัดเซน) ที.วี. ซุ่ง ฯลฯ ส่วนชาวคณะก๊กมินตังอื่น ๆ ก็ตั้งรัฐบาลขึ้นที่นานกิงใน ค.ศ. ๑๙๒๗ นครนานกิงนี้เคยเป็นเมืองหลวงของจีนมาหลายสมัย ต่อมาจูหยวนจางปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์หมิงได้สถาปนาก่อสร้างนานกิงขึ้นใหม่เมื่อประมาณ ๖๐๐ กว่าปีมาแล้ว ตัวเมืองนานกิงเดี๋ยวนี้เป็นแบบที่จูหยวนจางสร้างขึ้น เมื่อได้เป็นเมืองหลวงของจีนใหม่ก็ได้มีการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงอีกมากตามแบบสากลนิยม
“ทั้งๆ ที่ต้องรบกับจีนเหนืออยู่ยังไม่เสร็จ พวกจีนใต้เองก็แตกแยกกันเช่นนี้ จึงเกิดความอลเวงขึ้นเป็นอันมาก เวลานั้นเชื้อสายคอมมิวนิสต์ยังอยู่โดยทั่ว ๆ ไปในจีนใต้ ทหารก๊กมินตังต้องใช้เวลาปราบปรามเสียกำลังไปไม่น้อย รัฐบาลหันเค้าซึ่งมีวังจิงไวและถังเสิงจื้อเป็นตัวตั้งตัวตีนี้ไม่ทันกี่เดือน วังกับถังก็เกิดแตกแยกกันขึ้น รัฐบาลก็ล้มไป วังเดินทางไปทางใต้หวังจะตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่อีกในกวางตุ้ง ซึ่งมีเมืองแคนตอนเป็นนครหลวง แต่คณะทหารในกวางตุ้งไม่เห็นพ้องด้วย วังจึงลอยอยู่ ผลที่สุดก็ออกเดินทางไปพำนักอยู่ในยุโรป แต่ก่อนเดินทางไปยุโรปวังจิงไวได้พยายามพบกับชาวคณะก๊กมินตัง และให้ความเห็นว่า พวกคอมมิวนิสต์ในเมืองจีนได้กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวไป จึงทำให้เกิดความวุ่นวายไปทั่ว ฉะนั้น พวกก๊กมินตังจึงควรพยายามหาหนทางตัดรากคอมมิวนิสต์เสียให้ได้
“กองทัพก๊กมินตังยังคงรุดหน้าต่อไป กองทัพของเฟงยุกเสียงและเหยียนซีซานก็ช่วยตีขนาบกองทัพจางโซหลินอยู่ตลอดเวลา จางโซหลินไม่มีทางจะสู้ได้ ต้องถอยทหารออกทุกด้าน จนกระทั่งผลที่สุดก็ต้องสละปักกิ่งซึ่งเป็นฐานกำลังของตนในจีนเหนือ และถอยกลับเข้าไปในแมนจูเรียตามเดิม
จางโซหลินอำลาปักกิ่งไปในวันที่ ๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๗ โดยหารู้ไม่ว่าตนกำลังจะไปตาย รถไฟขบวนพิเศษบรรทุกเพียบไปด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของจางและตัวจางเอง แล่นบ่ายหน้าไปสู่นครมุกเด็นในแมนจูเรีย จางไม่เศร้าโศกเสียใจอะไรนักที่ต้องเสียจีนเหนือไปทั้งหมด ยังคงมีอารมณ์สนุกอยู่ตามเคย คุยเฮฮาไปตลอดทาง เล่นมาจองบ้างในบางครั้ง พอตกกลางคืนจางก็นอนหลับสบายอยู่ในรถนอนชั้นพิเศษ ซึ่งตกแต่งหรูหรา ครั้นรุ่งสาง นาฬิกาตีสี่ จางก็เรียกน้ำชามากิน คนใช้ชงน้ำชาให้ แต่พอจางเอื้อมมือไปหยิบถ้วยชาออกจากถาด ก็มีเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว รถไฟซึ่งกำลังวิ่งเข้าเขตนอกนครมุกเด็นอย่างเต็มฝีจักรก็พังพินาศเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จางโซหลินบาดเจ็บสาหัสมาก อยู่ได้สองสามชั่วโมงก็สิ้นใจ ดังนี้ ตัวละครสำคัญยิ่งของละครเมืองจีนก็เล่นบทของเขาจบไปอีกคนหนึ่ง
“เมื่อจางโซหลินสละปักกิ่งไปแล้ว กองทัพก๊กมินตังก็ยาตราเข้าสู่นครโบราณอย่างง่ายดาย ธงก๊กมินตังดาวน้ำเงินแดงก็ปลิวสบัดไปทุกหนทุกแห่ง
“แต่จีนก็ยังรวมกันไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่จีนเหนือได้ตกอยู่ในมือพรรคก๊กมินตังแล้ว พวกก๊กมินตังเองได้ขัดใจกันขึ้นอีก โดยเฟงยุกเสียงเป็นผู้ยุให้แม่ทัพในจีนใต้หลายคนก่อความยุ่งยากขึ้น เลือดต้องนองอีกหลายเดือนเหตุการณ์จึงสงบลง แต่แล้วเฟงยุกเสียงกับเหยียนซีชานก็ก่อเหตุขึ้นและต้องรบกันอีก นอกจากนี้พวกคอมมิวนิสต์ก็กำเริบขึ้นในลุ่มน้ำแยงซีเกียง ต้องปราบกันอีกเหมือนกัน แม้จนกระทั่งขณะที่เรานั่งพูดกันอยู่นี้ ความระหองระแหงก็ยังมีอยู่ทั่วไประหว่างหัวหน้าฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือนหลายคน ศึกฉือเหย่าซานเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงว่า ผู้กำอำนาจทหารไว้ในมือมณฑลต่าง ๆ ยังก่อเหตุขึ้นเสมอ เมื่อไม่พอใจอะไรขึ้นมาก็แข็งอำนาจตั้งตัวเป็นใหญ่ สำหรับทางแมนจูเรีย เมื่อจางโซหลินตายแล้ว จางโซเหลียงผู้บุตรก็ครองอำนาจแทน กองทัพก๊กมินตังไม่ต้องการจะติดตามตีเข้าไปในแมนจูเรีย จึงหยุดอยู่เพียงกำแพงใหญ่ ต่อมาถึงแม้จางโซเหลียงจะยอมใช้ธงก๊กมินตังแล้ว แต่อำนาจทางการปกครองก็ยังคงเป็นของจางโซเหลียงอยู่ตามเดิม เมื่อยังไม่มีความเป็นปึกแผ่นอย่างแท้จริงเช่นนี้ ความสงบก็มีอยู่ไม่ได้
“ฉันได้เล่าเรื่องละครโรงใหญ่ให้เธอฟังค่อนข้างจะยืดยาวในวันนี้ แต่เธอคงจะไม่เบื่อ ละครของเรายังไม่จบเรื่อง คงจะไม่มีวันจบเรื่องได้ตลอดศตวรรษนี้ ฉันแน่ใจว่าบ้านเมืองของฉันคงจะต้องชุลมุนวุ่นวายอยู่เช่นนี้อีกนาน ทั้งนี้เพราะว่าราษฎร ๔๕๐ ล้านของเขายังโง่เขลาอยู่อีกมาก เรายังไม่มีการศึกษาดีพอ ราษฎรส่วนใหญ่ยังไม่รู้อะไรดีอะไรชั่ว ยังไม่เข้าใจว่าการรักชาติและการเสียสละเพื่อชาตินั้นจะควรทำอย่างไร ราษฎรเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องมือของพวกนายพลที่สู้รบกันเพื่อเงินและอำนาจส่วนตัว ฉันยังมีความเห็นอยู่เสมอว่า เมืองจีนจะสงบได้ก็ต้องมีผู้นำที่ดีเพียงคนเดียว และราษฎรจะต้องเคารพนับถือผู้นำแต่ผู้เดียว ฉันยังเสียดายความคิดของคั้งเหย่าเหวยไม่หาย ท่านผู้นี้ต้องการให้จีนเปลี่ยนการปกครองเช่นเดียวกับที่ ดร. ซุนยัดเซนต้องการ แต่การเปลี่ยนการปกครองนั้นต้องไม่ทิ้งกษัตริย์ นั่นคือ ต้องมีรัฐธรรมนูญแบบมีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย กษัตริย์จะไม่ทำอะไรนอกจากจะเป็นที่รวมความนับถือยำเกรงของราษฎรทั้ง ๔๕๐ ล้าน แต่มันน่าอนาถใจที่ความคิดของคั้งเหย่าเหวยไปด้วนลง เพราะความเห็นแก่ตัวที่แสนสกปรกโสมมของยวนซีไข”
จางหลินถอนใจเบา ๆ แล้วกล่าวต่อไปว่า “ฉันอิจฉาเธอ ระพินทร์, ที่เธอได้เกิดมาเป็นคนไทย คนไทยเป็นคนเคราะห์ดีมาก มีความสุขร่มเย็น มีความเป็นปึกแผ่นแน่นหนา มีอิสรภาพและเสรีภาพ เมืองไทยเป็นเมืองสวรรค์ เมืองไทยทำให้ฉันริษยาคนไทย แต่คนเราเลือกเกิดไม่ได้ เมื่อฉันเกิดเป็นคนจีนในสมัยที่มืดมัวเช่นนี้ ถ้าฉันไม่เห็นแก่ตัวจนเกินไป ฉันก็ได้แต่ก้มหน้าทำหน้าที่ของพลเมืองดี ฉันจะไม่หนีหน้าไปไหน ฉันจะต่อสู้ต่อไปอีกจนถึงที่สุด ถ้าฉันจะต้องถูกฆ่าตายเพราะความตั้งใจดีของฉัน ฉันก็จะไม่ขอเสียใจเป็นอันขาด”