วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น

หัวหิน

วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ได้อ่านเรื่องพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ ๕ ซึ่งโปรดประทานไปให้อ่านนั้นแล้ว รู้สึกเหมือนได้ประสบแสงสว่างพอเห็นทาง ด้วยในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรสิทำศึกออกนัวเนีย จนถึงแก่เสด็จสวรรคตในมัชฌิมวิถี สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นสืบเสวยราชสมบัติ ควรจะได้ทำศึกต่อไปแม้ไม่มากก็น้อย แต่ไฉนจึ่งเงียบหายไปดุจตะเกียงดับ จะว่ามีพระสันดานคร้านและขลาดก็เป็นไปไม่ได้ ด้วยพระองค์ได้ตามเสด็จพระเชษฐาในงานพระราชสงคราม ชินแก่ความหมั่นเพียรและกล้าหาญมามากกว่ามากแล้ว หากว่าจะเป็นด้วยคร้านขลาด อ้ายพม่าก็คงได้ใจยกเข้ามารังแก แต่ก็หามีเช่นนั้นไม่ เป็นเหตุให้ไม่เข้าใจและประหลาดใจอยู่ครัน ๆ เพราะฉะนั้นฉะบับที่ทรงเรียงขึ้น โดยที่ทรงเก็บเรื่องราวทางต่างประเทศมาประกอบนี้ เป็นอันไขความให้ผู้เรียนเข้าใจเหมือนหนึ่งประทานแสงสว่างแก่ผู้เรียนย่อมเป็นประโยชน์ไม่น้อยเลย

ทีนี้จะกราบทูลทักในกระบวรเขียนและถ้อยคำ ตามคติสมาคมวรรณคดี (น หมายความว่า หน้า บ หมายความว่า บรรทัด)

น ๒ บ ๒ คำว่า “กำราบปราบปราม” กำราบ ถ้าย่นเข้าก็เป็นกราบ ไม่ตรงความหมายกับคำ กำราบ ที่เข้าใจ เห็นจะหลงเพี้ยนมาจากคำ บำราบ ซึ่งแปลว่าทำให้ราบ ยืดออกมาจาก ปราบ ซึ่งแปลว่า กด ทุบ ตี สับ ฟัน ฆ่า ปราม แปลว่าห้าม เพราะฉะนั้น ในที่นั้นจะใช้คำแต่เพียงปราบปราม เท่านั้นก็พอแล้ว ตัดคำ กำราบ ออกเสียทีเดียว ไม่ต้องแก้เป็นบำราบ

น ๓ บ ๒, ๔, ๕, ๖, ๗ มีคำใช้ว่า ก๊ก อันเป็นภาษาจีน นึกรังเกียจอยากจะไม่เอา ถ้าจะใช้คำว่า ภาค เข้าแทน จะทรงพระดำริเห็นเป็นประการใด รู้สึกเหมือนกันว่าได้ความไม่ดีเท่า ก๊ก ที่แท้คำว่า ก๊ก นั้น ความหมายในภาษาจีนว่า ประเทศ ไม่ได้หมายความว่าเป็นพวกเป็นเหล่าเป็นคณะอย่างที่ไทยเราเข้าใจกัน เช่น เสียมหลอก๊ก ประเทศสยามลาว ยี่ปุ่นก๊ก ประเทศยี่ปุ่น ตงก๊ก ประเทศกลาง (คือจีน)

น ๑๒ บ ๑ เห็นมีวงเล็บหลัง แต่วงเล็บหน้าไม่มีอยู่ที่ไหน เข้าใจได้ว่าดีดพิมพ์ตก สมว่าวงเล็บหน้าจะอยู่ที่ตรง “--พ.ศ. ๒๑๕๕ (ปีที่พระยาทะละเอาหัวเมืองมอญไปยอมขึ้นต่อพม่า) นั้น”

น ๑๒ บ ๑๔ ถึง ๑๖ ความเคลือบคลุมอยู่ ตรงที่ว่า “มีรับสั่งให้เรียกพวกฮอลันดาเข้ากระบวรไปยิงปืนใหญ่ของบรรณาการ ที่เจ้าประเทศฮอแลนด์ส่งมาถวาย” ตอนนี้ฟังเป็นว่าเรียกพวกฮอลันดาขึ้นไปพร้อมในกองทัพหลวง แล้วมีความต่อไปว่า “พวกฮอลันดาได้ขึ้นถึงกองทัพหลวงเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๖๑๒” ตอนนี้ฟังเป็นว่าเรียกพวกฮอลันดาขึ้นไปทีหลัง ถ้าเป็นดั่งนั้นก็ควรจะแก้คำเสียเป็นอย่างนี้ “มีรับสั่งให้เรียกพวกฮอลันดาขึ้นไปยิงปืนใหญ่ของบรรณาการที่เจ้าประเทศฮอแลนด์ส่งมาถวาย พวกฮอลันดาได้ขึ้นไปถึงกองทัพหลวงเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๖๑๒”

น ๑๕ บ ๒ ที่มีความว่า “ให้รีบยกกองทัพกลับไปๆ ไปพบกองทัพพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลกตั้งสกัดอยู่” เห็นว่าไม้ยมกไม่ต้องมีก็ได้ความแล้วควรตัดออกเสีย

ได้ถวายต้นฉะบับคืนมานี้แล้ว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๗๕

กราบทูลทราบฝ่าพระบาท

กรมหมื่นพิทยาลงกรณมีหนังสือมาถึงเกล้ากระหม่อม เรื่องอุปนายกศิลปากร ดังได้ถวายมาทอดพระเนตรนี้ เกล้ากระหม่อมได้ทำบันทึกเหตุขึ้นถวายมาด้วย เพื่อเปนราวทางที่จะได้ทรงพระดำริ พร้อมทั้งร่างตอบด้วย

ขอพระบารมีเปนที่พึ่ง ได้ทรงพระเมตตาโปรดพิจารณา ว่าตามความที่เกล้ากระหม่อมเห็นและร่างตอบนั้น จะเป็นการถูกต้องสมควรหรือยัง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส พระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิทยาลงกรณ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงเป็นต้นราชสกุล “รัชนี”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ