วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓ ได้รับประทานแล้ว ในวันที่ ๓ นั้นเอง หญิงจงไปเยี่ยม พอโผล่หน้าขึ้นไปก็หัวเราะว่าเด็จพ่อรับสั่งให้มาเยี่ยมประชวรเมื่อหายแล้ว

งานฉัตรมงคล วันทักษิณานุปทาน เกล้ากระหม่อมก็ได้ทราบข่าวว่าร่องแร่งมาก ผู้ที่มาแจ้งข่าวเป็นข้าราชการคนหนึ่ง เขาได้ตั้งใจนับข้าราชการที่เข้าไปนั่งเฝ้าตามตำแหน่งมี ๑๓ คนด้วยกัน วันฉัตรมงคลค่ำเช้าฟังข่าวประหนึ่งจะไม่ร่องแร่งมากนัก แต่เป็นธรรมดาจะต้องร่วงโรยเพราะไม่มีเสด็จออก พวกเราโดยมากเป็นพวกปิดทองหน้าพระ งานสโมสรนั้นขอประทานแก้แทนรัฐมนตรีตามที่ได้ทราบแน่แก่ใจ เดิมทีเขาเตรียมจัดที่สนามระหว่างพระที่นั่งอัมพรกับพระที่นั่งอนันต์ เตรียมตั้งวงรีเสปชั่นและจัดโต๊ะแบ่งเจ้าแบ่งขุนนางเหมือนอย่างเคย แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือสมเด็จพระบรมราชินีมิได้เสด็จพระราชดำเนิรก็เป็นอันทำเช่นนั้นไม่ได้ ด้วยไม่มีใครรับรีเสปชัน ไม่มีประธานแห่งเจ้านาย เขาจึงได้ย้ายไปมีสโมสรทางหน้าตารางเรา และจัดปนละวนปนละเกอย่างงานชาวบ้าน โดยการณบังคับให้ต้องทำเช่นนั้น

ในเวลานี้เห็นจะทุกโรงเรียน กำลังเห่อจะตั้งเป็นสมาคมตามโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนสวนกุหลาบก็รวมอยู่ในพวกนั้น จริงอย่างพระดำรัส ที่ว่าโรงเรียนสวนกุหลาบเดี๋ยวนี้มิได้สืบเนื่องมาจากโรงเรียนเก่า เป็นแต่โอนเอาชื่อไปใช้ พวกนักเรียนสวนกุหลาบเก่าที่เขาเอาตัวออกหากทีเขาก็จะเห็นเหตุเช่นนั้น ทั้งไม่เชื่อว่านักเรียนสวนกุหลาบใหม่จะนับถือเขาด้วยเหตุเช่นเดียวกัน เป็นการแน่ที่พวกโรงเรียนสวนกุหลาบใหม่มิได้ถือว่าฝ่าพระบาทเป็นผู้ก่อสร้างโรงเรียนเขา ถ้าเขานับว่าสืบเนื่องกันกับโรงเรียนเก่า เขาก็คงจะติดพระรูปฝ่าพระบาทไว้เป็นที่เคารพเสียแล้ว เพราะว่าการติดรูปโฟโตกราฟหรือรูปเขียนไม่เป็นโมนุเมนต์ แม้ดำรงพระชนม์อยู่ก็ทำได้

พูดถึงพระรูป จะทูลถวายข่าวต่อไป ตาโป๊ะเล่าให้ฟังว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิถามเธอว่าเกล้ากระหม่อมได้คิดไว้ในเรื่องพระรูปสมเด็จพระราชปิตุลาอย่างไรบ้าง (หมายถึงพระรูปหล่อ) เธอตอบว่าไม่เห็นได้ทรงพระดำริเลย และเธอว่าข้างหลวงสรรค์ก็ต้องการพระบรมรูปพระมงกุฎ (พระรูปหล่อเหมือนกัน) เธอตอบว่าเธอช่วยอะไรไม่ได้ เธอไม่ได้บังคับศิลปากรเสียแล้ว ทางหลวงสรรค์สารกิตต้องการพระบรมรูปพระมงกุฎเกล้านั้นพอเดาได้ เห็นจะคิดประดิษฐานไว้ในโรงเรียนวชิราวุธ แต่ทางเจ้าพระยาธรรมศักดิถามถึงพระรูปสมเด็จพระราชปิตุลานั้น คิดไม่เห็นว่ามีประสงค์จะทำอะไร ทั้งหวังว่าเกล้ากระหม่อมจะได้คิดไว้แล้วด้วย แปลว่าเกล้ากระหม่อมจะต้องมีเกี่ยวข้องแก่การนั้นซึ่งมิได้รู้สึกตัวเลยน่าประหลาด

หนังสือพิมพ์ไทยใหม่เขาลงข่าวว่า แผนกออกแบบกรมช่างแสงมีประสงค์จะจ้างกรรมกรที่เป็นช่างไม้ประมาณ ๑,๐๐๐ คน เพื่อทำการออกแบบก่อสร้าง จะรับเหมาก่อสร้างสถานที่ของรัฐบาลทั้งของประชาชน เพื่อรัฐบาลจะได้ไม่ต้องจ้างคนอื่นต่อไป มีคนเข้าสมัคแล้วประมาณ ๑๐๐ คน ค่าจ้างจะได้มากน้อยตามฝีมือ แต่อย่างต่ำจะไม่น้อยกว่าวันละ ๗๕ สตางค์ ถ้าจริงกรุงสยามต่อไปนี้จะรุ่งเรืองใหญ่หลวง แต่สงสัยว่าเดิมพันค่าก่อสร้างในกรุงสยามจะให้กำไรพอเลี้ยงกรมช่างแสงหรือไม่ ชั่วแต่ค่าจ้างช่างไม้ก็จะต้องจ่ายเงินประมาณวันละ ๑,๐๐๐ บาท หรือปีละ ๓๖๕,๐๐๐ บาทเสียแล้ว

หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์เขาลงคำแต่ง ให้ชื่อว่า “ไทยกับลาวคือชาวสยาม” พยายามจะชี้แจงให้เข้าใจว่าไทยกับลาวมิใช่คนต่างชาติกัน ได้ตัดออกไว้สองตอน คิดว่าจะส่งมาถวายทอดพระเนตรเล่นเหมือนหนึ่งทอดพระเนตรยี่เก แต่แล้วก็เห็นเสียเวลาเลยเลิก ไม่ส่งมาถวาย เขาว่าคนไทยชาติไทยได้ชื่อมาจากเมืองสุโขทัย เมื่อครั้งต่อต้านหลุดจากอำนาจเขมรตั้งตัวเป็นอิสสรภาพได้ เขาแปลชาติไทยว่าชาติใหญ่เป็นอิสสรภาพไม่อยู่ใต้อำนาจใคร

ในตอนกลางวันวานนี้ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๖ ดีใจมากที่ฝ่าพระบาทจะเสด็จกลับกรุงเทพฯ วันที่ ๑๑ จะได้เฝ้าสักคราวหนึ่ง ซึ่งจะทำความคิดถึงอันเหลือล้นให้มลายไปชั่วคราวได้ ขอบพระเดชพระคุณที่ทรงอนุโมทนาในการที่ย้ายไปอยู่ตึกใหม่ แม่โตแกชวนไปด้วยที่อยู่เก่าผุพังต้องซ่อมแซมใหม่ ตามที่พระวิตกว่าไปอยู่ตึกใหม่จะได้ความลำบากในการที่ต้องเดิรไปรับแขกนั้นเป็นอยู่บ้างจริง แต่ว่าตัดการรับแขกลงได้บ้างเหมือนกัน แขกที่เป็นคนสำคัญจึงต้องเดิรไปรับเขา ที่ไม่ใช่คนสำคัญเลยไม่ต้องได้พบ ส่วนแขกที่คุ้นเคยไม่มีผลผิดแปลกอะไร อยู่ถึงไหนเขาก็ตามไปหาจนถึงนั่น ที่ตึกใหม่ลมจัดเหมือนชายทะเล เพราะตั้งอยู่ชายทุ่ง ที่เรือนเก่าแต่ก่อนก็เช่นนั้นเหมือนกัน แต่แล้วก็ตื่นปลูกต้นไม้อะไรต่ออะไรลงไปมากมาย เลยบังลมเสียสิ้น

ครั้นตอนเย็นอยู่ดี ๆ หญิงเหลือก็โผล่ไปหาด้วยมิได้รู้ตัวเลย ออกจะตกใจ แต่เมื่อไต่ถามได้ความว่าเจ็บเป็นโรคเนื้องอกในจมูก กลับไปให้หมอตรวจเพื่อตัดแก้ ได้ความเข้าใจก็เบาใจไป โรคเนื้องอกในจมูกไม่ใช่โรคสำคัญ ถามถึงฝ่าพระบาทที่ว่าจะเสด็จกลับ เธอว่ายังไม่แน่ติดจะเสียใจ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข พระนามเดิมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔) เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเป็นต้นราชสกุล “ภาณุพันธุ์”

  2. ๒. หลวงสรรสารกิจ (เคล้า คชนันท์)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ