บันทึกเหตุ เรื่องศิลปากรราชบัณฑิตยสภา

ฉะเพาะพระองค์

ขั้นที่ ๑ มีประกาศพระบรมราชโองการ (โดยกรรมการคณะราษฎรแนะนำ) ให้ถอนสมเด็จกรมพระยาดำรงออกจากนายกราชบัณฑิตยสภา ตั้งกรมหมื่นพิทยาลงกรณ เป็นนายกแทนที่

ขั้น ๒ ประธานกรรมการคณะราษฎร มีหนังสือดำเนิรกระแสพระบรมราชโองการ สั่งถอนเจ้าพระยาวรพงศออกจากผู้แทนอุปนายกศิลปากรราชบัณฑิตยสภา

ขั้น ๓ นายก (ใหม่) ราชบณฑิตยสภามีคำสั่งถึงเจ้าพระยาวรพงศ ให้ส่งงานให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์

รูปการทั้ง ๓ ขั้นนี้ แสดงให้เห็นประหนึ่งว่า กรรมการคณะราษฎร ปรารถนายกราชบัณฑิตยสภาให้กรมหมื่นพิทยาลงกรณ และกรมหมื่นพิทยาลงกรณมีปรารถนายกแผนกศิลปากรให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ แต่มามีเหตุขัดข้องขึ้น ด้วยเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ตอบว่า ท่านเป็นแต่ผู้แทน เจ้าฟ้ากรมพระนริศเป็นตัวอุปนายก เพราะฉะนั้นมิใช่หน้าที่ของท่านที่จะส่งงาน

อันผู้ที่เป็นอุปนายกในราชบัณฑิตยสภาครั้งแรกนั้น เข้าใจว่าสมเด็จกรมพระยาดำรง องค์นายกกราบบังคมทูลแนะนำ เมื่อโปรดเกล้าฯ อำนวยตามแล้วนายกจึ่งทรงตั้งอุปนายก ๓ คนขึ้นตามพระบรมราชานุญาต

ทีนี้จะว่าแต่ส่วนอุปนายกแผนกศิลปากร อันเกิดเป็นปัญหาขึ้น ด้วยว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศมีอันเปน ทรงประชวนไปเพราะพลาดล้มพระอัฏฐิแตกร้าว นายกราชบัณฑิตยสภาทรงพระวิตกถึงการงานอันมีอยู่มากในศิลปากรเกรงจะเสียไปจึ่งได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวรพงศมาทำการแทนที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศ การอันนี้ได้มีพระราชหัตถ์สั่งไปทั้ง ๒ ฝ่าย คือฝ่ายนายกราชบัณฑิตยสภาผู้กราบบังคมทูล และฝ่ายอุปนายกผู้ทรงประชวน กับฝ่ายผู้ทำการแทนอุปนายก ฝ่ายที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศ อุปนายกได้ทรงรับนั้น มีความว่า ให้ออกพักรักษาพระองค์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวรพงศเข้าทำการแทนแล้ว

ในหนังสือประธานกรรมการคณะราษฎร ดำเนิรกระแสพระบรมราชโองการมาถึงนายกราชบัณฑิตยสภานั้น มีความแต่ว่าให้เจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ออกจากหน้าที่ มิได้มีกระแสพระบรมราชโองการให้เจ้าฟ้ากรมพระนริศกลับเข้ารับหน้าที่

โดยพฤติการเป็นดั่งนี้ ฝ่ายนายกราชบัณฑิตยสภาเห็นว่าไม่มีใครบังคับการแผนกศิลปากรแล้ว จึงแต่งให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์รับการจากเจ้าพระยาวรพงศ ฝ่ายเจ้าพระยาวรพงศเห็นว่าท่านเป็นแต่ผู้แทนจะส่งการไม่ได้ เพราะตัวอุปนายกมีอยู่ ฝ่ายอุปนายกเห็นว่ามีพระราชดำรัสสั่งให้ออกพักราชการ จะกลับเข้ารับราชการได้ก็ต่อเมื่อมีพระราชดำรัสสั่ง จะถือเอาการที่โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนออก แล้วล่วงเข้าไปบังคับการเอาเองนั้นเห็นว่าเป็นละเมิด จะรู้หรือว่าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใครมาทำต่อไป ปัญหาจึ่งมีว่าความเห็นทั้ง ๓ ฝ่ายนี้ ฝ่ายไหนจะผิดถูก

  1. ๑. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)

  2. ๒. หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ