วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัตถ์ มีใจเบิกบานอย่างที่สุด ด้วยคิดถึงฝ่าพระบาทอยู่ไม่วายทุกคนด้วยกัน บ่นถึงด้วยกันอยู่เสมอ คิดจะเขียนหนังสือมาถวายเหมือนกัน เรื่องก็มีเตรียมไว้ แต่อยู่บางกอกเสียเปรียบหัวหิน ด้วยมีใครต่อใครมากวนให้ช่วยอะไร ๆ ต้องไปวุ่นกับเขาเสียเลยไม่ได้เขียน

เป็นการลำบาก ที่ฝ่าพระบาทเพิ่งทรงสังเกตเห็น “รัชชกาล” เขียน ช สองตัวซ้อน เขียนกันเช่นนั้นมาหลายปีแล้ว เป็นการจำเป็นต้องเขียนเช่นนั้น เพราะมีพระราชกำหนดว่า หนังสือราชการให้ใช้ตัวตามปทานุกรมของกรมศึกษาธิการ ในปทานุกรมนั้นบังคับไว้ให้เขียนเต็มตามภาษามคธ ไม่ใช่ซ้อนตัวแต่คำ รัชชกาล เท่านั้น คำอื่นก็ซ้อนหมด เช่น วิชา เป็น วิชชา บริจาก เป็น บริจจาก บริขาร เป็น บริกขาร วัฒน เป็น วัฑฒน หัวจะแตกตายเสียให้ได้ มีอะไรที่ไม่เห็นด้วยอีก ๑๐๘ ประการ แต่ไม่รู้จะไปร้องแรกแหกกะแชงกับใคร ฝ่าพระบาทเห็นจะไม่ได้ทรงเอื้อกับปทานุกรมนั้น เคยทรงเขียนมาอย่างไรก็ทรงเขียนไปอย่างนั้น แต่แล้วคนพิมพ์ยกลายพระหัตถ์เขาก็ไปพิมพ์แก้ตัวให้ต้องตามปทานุกรม ฝ่าพระบาทไม่ได้ทรงตรวจถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง จึ่งมิได้ทรงสังเกตเห็น

การทำปทานุกรมนั้น พวกเปรียญที่สันทัดจัดเจนในภาษามคธเขาทำ เขารู้สึกว่าภาษามคธเป็นหลักอัครมหาสำคัญ ไทยเราลักขูเขียนไม่ถูกต้องแก้ให้ถูก แต่ฝ่ายเราสิเห็นว่าถึงเดิมจะเป็นภาษามคธก็ดี แต่เราเอามาเขียนและออกเสียงไปเสียอย่างอื่นก็ต้องนับว่าเป็นภาษาไทย ต้องรักษาไว้ให้คงอยู่ตามเดิม กรมหมื่นพิทยาลงกรณจับได้ว่า ส ๓ แบบสันสกฤต ใช่ว่าท่านแต่ก่อนท่านจะไม่รู้ที่ใช้เมื่อไร แต่ท่านไม่ใช้ตามแบบสันสกฤต ท่านจัดให้ใช้เสียอย่างหนึ่ง เอา ษ เป็นตัวการันต์ เกล้ากระหม่อมช่วยจับต่อ ว่าเอา ศ เป็นตัวสกดก็ตกลงกัน แต่ก็เห็นเสียเปล่า แพ้พวกผู้รู้เขา พวกผู้รู้เหล่านั้น กรมพระจันทบุรีตรัสเรียกว่า “พวกดิกชเนรีเล่มเดียว” คำทั้งหมดเห็นว่ามาแต่ภาษามคธ เช่น ฆ่า มาแต่ ฆาต ควรเขียนเป็น ฆ่าต์ บูด มาแต่ปูติ ควรเขียน บูติ อยากฟันภาษาไทยทิ้งกระโถนให้หมด

เวลานี้กำลังเขาตั้งกรรมการชำระปทานุกรมใหม่ มีท่านวรรณเป็นประธาน มีรายงานการประชุมชำระลงพิมพ์เสมอ ได้ตัดรายงานครั้งที่สุดถวายมาทอดพระเนตรนี้แล้ว มีผูกศัพท์แปลภาษาอังกฤษเป็นพื้น ปทานุกรมชำระใหม่นี้ เห็นจะต้องเปลี่ยนรูปตั้งภาษาอังกฤษแปลเป็นไทย

ได้จดคำไทยที่สระเคลื่อนได้ ซึ่งเกล้ากระหม่อมรู้สึกประหลาดมาถวายทอดพระเนตร เกี่ยวไปในทางทำอักขรวิธีภาษาไทย สำหรับได้ทรงรู้สึกพระทัยแปลก ๆ แล้วก็โยนไปให้พระพินิจเก็บเท่านั้น ยังมีอีกหลายทาง คิดเก็บได้มากๆ จะจดมาถวายต่อไป

ได้ทราบว่าจะมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ ๑๐ เดือนหน้า แล้วมีการฉลองต่อไป ฝ่าพระบาทคงต้องเสด็จเข้าไป เป็นโอกาศที่จะได้เฝ้า และได้พบหลาน ๆ ด้วยคราวหนึ่ง คิดถึงเหลือเกิน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๕) พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาท ทรงเป็นต้นราชสกุล “กิติยากร”

  2. ๒. หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔) กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ภายหลังทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

  3. ๓. พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ