วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๐ ได้รับประทานทราบเกล้าแล้ว

เรื่องพุทธมามกสมาคม เห็นจะไม่เป็นตามกะทู้ทางข้างดีที่ทรงตั้งขึ้นในข้อหลัง กลัวจะตรงกันข้ามไปเสียอีก แต่จะพูดไปโดยเดานั้นเป็นการไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตเสียแล้ว กรรมที่ตั้งสมาคมชั้นนั้นให้ผลเป็นทุกข์ มีเรื่องเกิดปรากฏขึ้นในหนังสือพิมพ์หลายประการ ตามที่ได้ตัดถวายมาทอดพระเนตรเล่นนี้แล้ว พระพิมลธรรมท่านถามเกล้ากระหม่อมอย่างไม่ต้องการคำตอบว่า ผู้ที่ไม่ได้เข้าสมาคมจะนับว่าไม่ใช่พุทธมามกไหม แปลว่าท่านเห็นกรรมที่ตั้งเป็นสมาคมนั้นไม่เข้าการ

เรื่องเอกษหิบิชันนั้นน่าสงสาร ฝ่าพระบาทตรัสทำนายไว้ ว่าภายหน้าจะขัดข้องด้วยเรื่องเงินก็มาถึงจริง ๆ เพราะทำอย่างฟุ้งซ่านไม่คิดถึงทุนรอนเสียเลย ตามที่ทูลมาคราวก่อนว่าถอนช่างไปหล่อรูปพระโพธิสัตวไชยาและเศียรพระพุทธรูปมือครูยาวเสียนั้น ไม่ใช่ว่าหล่อแต่รูปเดียว สั่งให้หล่อถึงอย่างละสองรูป เกล้ากระหม่อมถามนายเฟโรจี ว่าหล่อทำไมเป็นสองรูปก็บอกว่าไม่ทราบ เกล้ากระหม่อมพูดกับนายเฟโรจีว่าเอกษหิบิชันเป็นแต่ของแสดงให้ดูชั่วคราว จะหล่อเพียงเป็นรูปปลาสเตอทาสีเป็นทองสัมฤตเท่านั้นก็พอแล้ว นายเฟโรจีก็เห็นชอบด้วย แต่เป็นการที่แกจะออกความเห็นไม่ได้ ต่อมาวันหนึ่ง พอเกล้ากระหม่อมโผล่เข้าไปในศิลปากรสถาน ท่านโป๊ะก็รายงานว่าหัวช้างหล่อแล้วเรียบร้อยดี (คือช้างพระราชทานอินโดจีน) เกล้ากระหม่อมก็เดิรไปดู ท่านโป๊ะก็ตามไปด้วย ที่นั้นรูปพระโพธิสัตวและเศียรพระก็กำลังปั้นขี้ผึ้งและเข้าดินชุลมุนอยู่ด้วย เกล้ากระหม่อมจึ่งถามว่าทำทำไมเป็นสองรูป เธอตอบว่าเผื่อเสีย เกล้ากระหม่อมออกความเห็นว่าไม่จำเป็น ถ้าทำแช่ทองแดงแล้วจะได้แน่กว่า เร็วกว่า และง่ายกว่า ที่สุดก็เป็นรูปทองแดงเหมือนกัน เธอว่ารูปทองแดงแช่ราคามันตก ที่ว่าเช่นนี้ก็เข้ารอยหวังกำไรรอยเท่าพันทวีอย่างที่ตรัสเล่าไป

การทำช้างก็มีเรื่อง ยังไม่ได้เล่าถวาย เมื่อท่านโป๊ะเข้าไปนั่งศิลปากรสถานในการทำของเอกษหิบิชัน ครั้งแรกเมื่อได้พบเกล้ากระหม่อมเธอก็ต่อว่า ว่าจารึกฐานช้างภาษาอังกฤษนั้นใครแต่งถวาย เกล้ากระหม่อมบอกว่าส่งออกมาจากข้างใน เธอว่าเต็มที แล้วเธอก็ออกความเห็นเจียรนัยว่าคำนั้นไม่ดีควรจะแก้เป็นอย่างนั้น ซึ่งเกล้ากระหม่อมไม่จำไว้พอที่จะเล่าถวายให้ละเอียด เพราะไม่รู้สันทัดในภาษาอังกฤษ เกล้ากระหม่อมตอบว่า ฉันแก้ไม่ได้ดอก เพราะเป็นคำพระราชทานออกมา ฉันไม่ได้ผูกขึ้น เธอร้องโอ้เสียใจ

ต่อมาอีกไม่ช้า พระเจน เป็นทูตเชิญลายพระหัตถ์กรมหมื่นพิทย์มาให้ ความในลายพระหัตถ์มีว่าเธอไปที่ศิลปากรสถาน เห็นหนังสือภาษาอังกฤษที่ฐานช้างซึ่งจะพระราชทานไปอินโดจีนไม่ดี ใครผูกถวายไม่ทราบ ถ้อยคำไม่เป็นพระเกียรติ กระเดียดจะเสียพระเกียรติด้วยซ้ำไป แล้วพระเจนยังบอกนอกไปอีกว่า ในกรมท่านทรงพระดำริเห็นว่าไม่ควรทำภาษาอังกฤษ เพราะฝรั่งเศสเขาไม่ชอบ เกล้ากระหม่อมรู้สึกเห็นขัน นี่อะไรกัน เสียงช่างเหมือนท่านโป๊ะเสียนี่กระไรเลย และยังขันยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก เพราะคำจารึกนั้นได้ผ่านกรมหมื่นพิทย์ถึง ๓ เที่ยว ดังจะได้เล่าถวายทีหลังต่อไป ดีชั่วอย่างไรก็ควรจะเห็นเสียนานแล้ว ทำไมจึงเพิ่งมาเห็นเข้าด้วยผเอิญติด ๆ กับท่านโป๊ะเห็น พระเจนรีดจะเอาคำตอบ เกล้ากระหม่อมขอผัดว่าจะเขียนเป็นหนังสือตอบไปถวาย

จำจะต้องเอาเรื่องทำช้างถวายถอยหลังขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง จึ่งจะเข้าพระทัยได้ดี เดิมทีเกล้ากระหม่อมเขียนแบบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย คิดทำตัวช้างด้วยทองแดง ฐานทำด้วยศิลามีลายแถบทองแดงรัด ในแถบมีช่องที่จะจารึกได้อยู่สองด้าน คิดว่าจารึกหนังสือไทยด้านหนึ่ง หนังสือฝรั่งเศสด้านหนึ่ง ได้กะงบประมาณทูลเกล้าฯ ถวายเป็น ๓ สถาน สถานหนึ่งทำพระราชทานไปพร้อมเสร็จทั้งตัวทั้งฐาน สถานหนึ่งทำแต่ตัวกับลายแถบที่เป็นทองแดงรัดฐานส่งไป ส่วนที่เป็นศิลาให้เขาทำเอาเอง อีกสถานหนึ่งทำแต่ตัวช้างส่งไป ส่วนฐานนั้นแล้วแต่เขาจะนึกจะทำเอาเอง จะโปรดสถานใดแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ ถ้าโปรดในสองสถานข้างบนแล้ว ขอพระราชทานสำเนาอักษรจารึกด้วย ได้รับพระราชทานพระราชวินิจฉัยให้ทำอย่างสถานกลาง แต่เรื่องคำจารึกนั้นยังไม่มีพระราชดำรัสลงมาประการใด เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจได้ว่าต้องตระเตรียมเรียบเรียงก่อน คงจะได้พระราชทานมาในภายหลัง

ต่อมาเมื่อเกล้ากระหม่อมอยู่ที่หัวหิน ได้รับหนังสือเจ้าพระยามหิธรดำเนิรกระแสพระบรมราชโองการส่งคำจารึกฐานช้างมาเป็น ๔ ภาษา และจำกัดให้จารึกภาษาไทยด้านหน้า ภาษาฝรั่งเศสด้านขวา ภาษาญวนด้านซ้าย ภาษาอังกฤษด้านหลัง แบบเดิมคิดไว้มีที่จารึกแต่ด้านข้าง แล้วก็แคบพอที่จะจารึกหนังสือได้เพียงบรรทัดหนึ่งหรือสองบรรทัดเท่านั้น ที่พระราชทานลงมาแต่ละภาษามีตั้งแต่ ๘ ถึง ๑๐ บรรทัด จำเป็นต้องคิดเปลี่ยนแปลงแบบรากฐานใหม่ให้เหมาะแก่คำจารึกที่พระราชทานลงมา ขณะนั้นราชบัณฑิตยสภาเปลี่ยนนายกแล้ว การสิ่งใดที่เดิมเกี่ยวอยู่แก่เกล้ากระหม่อม ช่างเขาต้องการหารือเขาก็เขียนหนังสือถึงเกล้ากระหม่อม แต่กรมหมื่นพิทย์มีหนังสือนำส่งมา เธอว่าเขาส่งผ่านเธอ เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจได้ว่าเธอต้องการคอนโทรล เมื่อเกล้ากระหม่อมตอบจึงได้ส่งผ่านเธอเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในเรื่องฐานช้างเมื่อเกล้ากระหม่อมคิดเขียนแบบใหม่แล้ว จึงได้ส่งแบบและคิดคำจารึกถวายกรมหมื่นพิทย์ไป มีหนังสือนำบอกเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนปลายให้เธอสั่งช่างทำ โดยความตั้งใจเหมือนหนึ่งส่งงานให้แก่เธอทีเดียว เมื่อช่างเขาเขียนเทียบหนังสือจารึก ลงที่แล้ว เขาก็นำขึ้นถวายกรมหมื่นพิทย์ กรมหมื่นพิทย์ส่งมาให้เกล้ากระหม่อมตรวจ เกล้ากระหม่อมตรวจแก้แล้วส่งถวายกรมหมื่นพิทย์ไป เป็นอันว่าคำจารึกนั้นได้ผ่านกรมหมื่นพิทย์แล้วถึง ๓ เที่ยว ดีชั่วอย่างไรก็ควรจะเห็น และเกล้ากระหม่อมได้คำจารึกนั้นมาแต่ไหน ก็ควรจะรู้โดยหนังสือนำส่งคำจารึกเสร็จสิ้นแล้ว

เกล้ากระหม่อมจึงได้เขียนหนังสือตอบไปว่า คำจารึกนั้นฉันผูกเองไม่ได้ เพราะไม่รู้ภาษาต่างประเทศ และไม่อุกอาจให้ใครผูกให้ ได้กราบบังคมทูลขอขึ้นไป โปรดเกล้าฯ พระราชทานลงมา ฉันจึงได้คัดส่งมาให้เธอสั่งช่างทำ ความแจ้งอยู่ในหนังสือนำซึ่งเขียนถึงเธอลงวันนั้นแล้ว แต่เธอเพิ่งมารู้สึกขึ้นเดี๋ยวนี้ว่าไม่ดีก็ไม่ล่าเกินไป ยังมีช่องที่จะทำเปลี่ยนได้ งานนี้ก็เป็นงานของราชบัณฑิตยสภา เธอควรจะเรียบเรียงคำเสียใหม่ ส่งขึ้นไปทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนจะเป็นการที่สมควรอย่างยิ่ง

หนังสือนี้ได้รับตอบลงมาว่า ที่ประทานคำจารึกไปก็ได้ส่งให้ช่างไปทำ หาได้สังเกตไม่ และเรื่องนี้ก็มิได้คิดไปอย่างอื่น นอกจากแสดงความภักดี (ต่อเกล้ากระหม่อม) เท่านั้น เรื่องก็เป็นอันจบลงเพียงเท่านี้

เรื่องพระราชทานน้ำสังข์ในพิธีตรุส เกล้ากระหม่อมทราบทางกรมวังว่าเขาร่างหมายมีกำหนดการพระราชทานน้ำสังข์เหมือนเคยมา แต่ว่าย้ายไปพระราชทานที่สวนจิตรลดา ร่างหมายนั้นยังจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ต่อได้พระราชทานพระบรมราชานุมัติแล้ว จึงจะถือเป็นการแน่ได้ ลางทีก็จะโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปก็ได้ ตามข่าวที่ฝ่าพระบาททรงทราบมาจะต้องถือไว้ก่อนว่าเป็นข่าวลือ ข่าวที่จะถือเอาว่าเป็นการแน่ได้นั้น จะต้องได้ทางกรมวัง ซึ่งคงจะได้ทราบในวันหน้า แม้จะเป็นไปเหมือนข่าวที่ทรงทราบมา ก็ไม่ประหลาด รูปการก็ไปเข้ารอยเก่า ซึ่งแต่ก่อนก็มิได้มีหมาย เคยพระราชทานต่อกับการดับเทียนชัยเมื่อทรงเจิมเครื่องราชูปโภคแล้ว ใครเข้าไปเฝ้าก็ได้รับพระราชทาน ไม่ได้เข้าไปก็ไม่ได้รับพระราชทาน ข่าวที่ทรงทราบในครั้งนี้ ถ้าเป็นความจริงที่ไม่โปรดให้มีหมาย ก็คงเป็นพระราชดำริที่จะดูใจเจ้านาย ว่าใครยังคงจงรักภักดีด้วยความจริงใจบ้าง หน้าที่ของกงซุลก็จะต้องปฏิบัติไปตามพระราชประสงค์ คือไม่เที่ยวได้วิ่งเตือนต้อนเจ้านายให้เข้าไปรับพระราชทาน แต่ไม่ปิดความ ถ้าใครสงสัยกระวนกระวายมาไต่ถามก็จะแนะนำให้เข้าไปรับพระราชทาน ตัวกงซุลก็จะเข้าไป ลูกกงซุลก็จะพาเข้าไป ฝ่าพระบาทซึ่งเกล้ากระหม่อมจะถือว่าทรงกระวนกระวายเพราะตรัสถามก็ควรเสด็จเข้าไป พระบุตรบุตรีที่สามารถจะเข้าไปได้ก็ควรให้เข้าไปหมด จะเป็นมงคลแก่ตัว และเจริญพระทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หาโทษมิได้เลย กงซุลเห็นดังนี้ แล้วแต่จะโปรด

เกล้ากระหม่อมป่วยไปสี่ห้าวันแล้ว เป็นโรคประจำตัว หลอดลมอักเสบ เวลาฤดูเปลี่ยนตามเคย ไม่มากมายอะไร ไม่ช้าก็หาย ไม่ต้องทรงพระวิตก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

  2. ๒. พระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ