วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ ดร

สำนักดิศกุล, หัวหิน.

วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ได้รับประทานลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๒ ขอทูลสนองความบางข้อในลายพระหัตถ์ก่อน คือ

๑. เรื่องกำหนดวันหยุดงานประจำปีตามที่ประกาศใหม่นั้น หม่อมฉันออกเห็นชอบด้วยโดยมาก เพราะกำหนดหยุดงานที่ตั้งเปนระเบียบมาออกจะฟั่นเฝือ และไม่จำเปนมีอยู่หลายงาน แม้วันปิยมหาราชนั้นที่จริงก็เปนงานสำหรับพระบรมรูปทรงม้าที่อยู่ในกรุงเทพฯ เปนสำคัญ ถึงไม่ปิดออฟฟิศก็ไปบูชาได้ตามเคย ว่าโดยความเคารพต่อพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็รวมอยู่ในวันมหาจักรีได้ ตั้งแต่ได้ยินกิตติศัพทในหนังสือพิมพ์ หม่อมฉันคอยดูวันมหาจักรีเปนสำคัญว่าจะเลิกหรือไม่ วันนั้นถ้าเลิกจะเปนการอกกตัญญูตรง แต่ก็ยังคงอยู่ในระเบียบใหม่ ข้อที่เขาเพิ่มวันที่ ๒๗ มิถุนายนก็เปนธรรมดา แต่มาคิดดูว่าอย่างพระองค์ท่านกับตัวหม่อมฉันจะควรทำอย่างไรในวันนั้น นึกดูเห็นว่าควรจะผูกพวงมาลาคนละพวง แล้วชวนหญิงอามหญิงเหลือไปด้วยกัน ไปวางที่ห้องราชองครักษ์ที่สวนดุสิต เห็นจะเหมาะกับการณ์ดี

๒. ข้อที่ทรงปรารภถึงความนิยมของคนในสมัยนี้ ว่าทำอะไรจะต้องให้ได้ตามหลักวิชชา กล่าวคือหนังสือที่ฝรั่งเขาแต่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น หม่อมฉันนึกขึ้นได้ว่าได้เคยเกิดพิศวงครั้ง ๑ เมื่อพูดกันกับกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ถึงเรื่องมหาวิทยาลัย หม่อมฉันว่าไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงโจทก์กัน ว่าจำจะต้องมี “ชาเตอร” ทำนองธรรมนูญ เหตุใดจึงไม่เอาวิชชาที่ฝึกสอนเปนหลัก เธออธิบายว่าถ้าไม่มีชาเตอรการที่จะให้ปริญญาก็ไม่มีราคา เธอได้ใช้คำว่าจะอุปรมาความถวายให้เข้าพระทัยได้ง่าย เปรียบเหมือนจะอุปสมบทเปนพระภิกษุ จะต้องหาคณะสงฆ์มาให้อุปสมบทฉันใด การที่จะให้ปริญญาก็ต้องหาผู้ที่ได้ปริญญามาแต่มหาวิทยาลัยที่สำคัญ แล้วมารวมกันเปนคณะให้ปริญญาต่อไป เธอตรัสออกพระองค์ต่อไปว่าที่พูดเช่นนั้น ไม่ใช่ประสงค์จะยกย่องพระองค์ของเธอว่าเคยเรียนในมหาวิทยาลัยเคมบริตช์ ด้วยเธอไม่ได้เข้าสอบรับปริญญาในที่นั้น จะให้ปริญญาก็ไม่ได้เหมือนกัน หม่อมฉันได้ตอบว่าถ้าเช่นนั้นก็ไม่เห็นเปนการยากอันใด ไทยเราที่ได้ปริญญามาจากออกชฟอร์ด เคมบริตช์ ก็มีหลายคน เช่นท่านไวย ท่านดุลย เปนต้น เอามาเปนอุปัชฌาย์ก็แล้วกัน

ยังนึกเสียดายอยู่ว่าหม่อมฉันไม่ได้ใช้โอกาศโดยแสดงปาฐกถาหรือเมื่อไปพูดวิทยุถึงเรื่องการศึกษาในประเทศต่าง ๆ ตามที่หม่อมฉันได้ไปสังเกตเห็นเมื่อไปยุโรปคราวหลัง ไม่มีประเทศไหนที่จะเอาอย่างประเทศอื่น แต่การศึกษาที่เขาจัดสำหรับประเทศนั้นเขาใช้หลักอย่างเดียวกันหมด คือ

ก. จะให้ชนชาติของเขาเปนอย่างไร

ข. ประเทศของเขาต้องการอันใดเปนสำคัญ

ยกตัวอย่างดังประเทศอังกฤษมีที่แผ่นดินน้อยกว่าจำนวนคน แต่มีอาณาเขตต์ห่างไกลอยู่มากแห่ง เขาฝึกหัดคนของเขาให้เชื่อตนเอง ให้ชอบไปเที่ยวทำการหาประโยชน์เลี้ยงตัว ณ ที่ต่างๆ หรือค้าขายกับนานาประเทศหากำไรมาเลี้ยงตัว ส่วนประเทศฝรั่งเศส เปนเมืองบริบูรณ์ คนไม่ยัดเยียดหาได้พอกินในเมืองของตนเอง เขาฝึกหัดในทางวิชชาความรู้ที่จะหาเลี้ยงชีพได้โดยไม่ต้องทิ้งบ้านเมืองไปอยู่ห่างไกล ส่วนเยอรมันนั้น เพราะเดิมคนชาติเยอรมันแยกย้ายกันเปนหลายก๊กหลายเหล่า ถูกชาติอื่นรังแกมาช้านาน เมื่อรวมกันเข้าเปนประเทศเดียวได้ก็ถือเอาการฝึกหัดที่จะรักษาบ้านเมือง และหาเลี้ยงกันโดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่น ดังนี้

๓. เรื่องพุทธมามกสมาคมนั้น ได้ทราบความที่จะทูลต่อว่า เมื่อวันที่ประชุมกันครั้งแรกที่สวนสราญรมย์ มหาจวนพูดขึ้นว่าสวนสราญรมย์เปนที่ประชุมของคณะราษฎร ซึ่งเปนสมาคมการเมือง ส่วนสมาคมพุทธมามกไม่เกี่ยวข้องแก่การเมืองจะมาประชุมในที่ร่วมกันไม่เห็นชอบด้วย ขอให้ไปประชุมที่อื่น ทำนองจะมีผู้คัดค้านคำขอนั้น มหาจวนว่าถ้าจะขืนประชุมกันที่สวนสราญรมย์นี้ต่อไปมหาจวนขอลาออก อีกข้อหนึ่งว่ามีคนลุกขึ้นแสดงปริยายว่าคติคอมมิวนิสม์เหมือนพระพุทธศาสนา มหาจวนค้านว่าไม่เหมือนกัน ได้ยกข้อธรรมะออกอธิบายเหมือนเปนเทศนากัณฑ์ ๑ ในที่สุดไม่มีใครรับรองวาทะของผู้ปริยายคติคอมมิวนิสม์ หม่อมฉันได้ยินมาดังนี้ พิเคราะห์ดูในข้อบังคับที่ประทานมายังคงเห็นว่าความคาดคะเนที่หม่อมฉันทูลไปในจดหมายฉะบับก่อนจะถูก คือบุคคลที่เข้าสมาคมนั้นเปน ๒ จำพวก จำพวก ๑ หลับตาเห่อต่อการตั้งสมาคมตามระดู แต่ใจซื่อต่อพระพุทธสาสนา อีกจำพวก ๑ มีวัตถุที่ประสงค์จะเอาพระพุทธสาสนาเปนเครื่องมือสอนลัทธิคอมมิวนิสม์ เห็นจะพยากรณ์ได้ว่าสมาคมนี้ในที่สุดคงแตกกัน

๔. มีอีกเรื่องหนึ่ง หม่อมฉันได้ยินว่าพวกสมาคมกรรมกรบังอาจไปขอเฝ้าถึงสมเด็จพระพันวัสสาฯ หม่อมฉันมีจดหมายเข้าไปสืบถามได้ความเปนแน่นอนว่าไปจริง ผู้ที่เปนหัวหน้าที่ไปชื่อ นายพันธุ์ น้อยประไพ ไปหาพระยาบรมนรินทรเจ้ากรม ขอให้นำความกราบทูลว่าจะขอเฝ้า พระยาบรมนรินทรไม่ยอม นายพันธุ์ น้อยประไพ ก็ไม่กลับ ครั้นพระยาบรมนรินทรไปกราบทูล สมเด็จพระพันวัสสาฯ ตรัสสั่งให้มาบอกว่า ที่จะทูลเชิญเสด็จเปนผู้อุปถัมถ์สมาคมกรรมกรและทรงเกื้อหนุนตามเรื่องราวที่ถวายนั้นจะทรงรับไม่ได้ ด้วยพระองค์ก็ทรงพระชะราแล้ว อีกประการหนึ่งเปนเจ้านายอยู่เหนือการเมือง และเรื่องของสมาคมกรรมกรนั้นเปนการเมือง ถ้าจะต้องการอย่างใดก็ชอบที่จะไปพูดกับรัฐบาล เปนอันหมดกันเพียงเท่านั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญชั่วคราว วันนั้นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับอยู่ที่ห้องราชองครักษ์ ในพระราชวังดุสิต โดยถูกคณะราษฎรเชิญเสด็จไปตั้งแต่ วันที่ ๒๔ มิถุนายน รวมเวลาประทับที่ห้องราชองครักษ์และพระที่นั่งอภิเศก ๕ วัน

    หม่อมเจ้าดวงจิตร (อาม) จิตรพงศ์และหม่อมเจ้าพัฒนายุ (เหลือ) ดิศกุล พระธิดาทรงติดตามไปเพื่อคอยปฏิบัติรับใช้

  2. ๒. หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ต่อมาทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

  3. ๓. หม่อมเจ้าดุลภากร วรวรรณ

  4. ๔. สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔) พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ในรัชกาลที่ ๘ ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

  5. ๕. พระยาบรมนรินทร (ตุ๊ ทรรพวสุ)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ