วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

วันนี้เป็นวันกำหนดมีหนังสือมาถวาย แต่เป็นเวลางานจอแจหาเรื่องราวที่จะกราบทูลไม่ได้สมบูรณ เพราะฉะนั้นจะกราบทูลแต่ตามมีตามได้

ข่าวว่าสมเด็จพระพันวัสสาทรงเอะอะ จะเสด็จออกมารับพระราชทานน้ำสังข์ที่หัวหิน กรมวังตกใจ ด้วยเขากะหน้าที่ถวายไว้ ให้ทรงปฏิบัติพระราชกิจทางฝ่ายใน มีการสรงน้ำพระบรมอัฏฐิในวันที่ ๑ เมษายนเป็นสำคัญ เขาจึงเปลี่ยนวันพระราชทานน้ำสังข์เข้ามาเป็นวันที่ ๓๐ มีนาคมตามเดิม เพื่อจะได้เสด็จกลับไปสรงน้ำพระบรมอัฏฐิทันในวันที่ ๑ เมษายน แล้วก็เลิกไม่เสด็จมา แต่การพระราชทานน้ำสังข์ดูเหมือนว่าไม่ถอยกลับ กำหนดเป็นวันที่ ๓๐ คงอยู่ ส่วนเกล้ากระหม่อมเขาเกณฑ์หน้าที่ให้ปฏิบัติพระราชกิจทางฝ่ายหน้าทุกอย่าง ตลอดพระราชพิธีปีใหม่ ไม่มีช่องจะหลีกออกมารับพระราชทานน้ำสังข์ แล้วเลยพาลเที่ยวได้

เริ่มพระราชพิธีตรุสจุดเทียนชัยเมื่อคืนนี้กร่อยเต็มที เจ้านายมีแต่เกล้ากระหม่อมคนเดียว ข้าราชการมีแต่ทหารสัก ๑๐ คนเห็นจะได้ นอกนั้นก็มีแต่เจ้าหน้าที่ พอเกล้ากระหม่อมออกจากบ้านก็มีพายุฝนตั้งมา ครั้นถึงพระที่นั่งดุสิตเห็นม่านมุขเด็จขาดลงมาเกี่ยวกับยอดบุษบกและซุ้มจรณำ กำลังสอยเก็บกันยุ่ง ลมกระแทกบานพระทวารพระบัญชร เสียงปึงปังต้องปิดกันอลหม่าน กลับถึงบ้านได้รับรายงานว่าพายุพัดเอากระเบื้องหลังคาตึกใหม่ร่วงกราว ๆ จะเสียหายมากน้อยเท่าไรยังเห็นไม่ได้ ได้ยินแต่เสียงน้ำเปนหยดลงเพดานดังผลุ ๆ

เรื่องอาวาสอารามตามที่ได้กราบทูลมาก่อนแล้วนั้น นึกอยากรู้ละเอียดขึ้นมา ว่าอาวาสครั้งพุทธกาลมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง จึงให้เณรงั่วถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้ความว่าที่พบตามหนังสือต่าง ๆ ปรากฏมี

๑. วิหาร ที่อยู่กลางวัน เรียกว่า ทิวาฏฐาน ที่อยู่กลางคืน เรียกว่ารติฏฐาน

๒. หอฉัน ที่ประชุมเสพอาหารและปราศรัยกัน เรียกว่า อุปฏฐานสาลา

๓. โรงน้ำ เรียกว่า อุทกโกฏฐก

๔. เว็จ เรียกว่า วจฺจกุฏิ

๕. ศาลาโรงธรรม ที่ประชุมฟังธรรม แสดงธรรม และสนทนาธรรม เรียกว่า ธมฺมสาลา

เณรงั่วว่า สถูป เจดีย์ ได้พบบ่อยๆ ในนิทานต่างๆ แต่โดยมากอยู่ที่ทางสามแพร่งสี่แพร่ง ไม่เคยพบว่าอยู่ในอาวาศหรืออารามเลย

ตามที่ทูลมาก่อนโดยที่คิดว่าชื่อพระพุทธรัตนสถาน เป็นชื่อที่ทูลกระหม่อมทรงขนานขึ้นนั้น จะผิดไปเสียดอกกระมัง พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานสร้างในรัชชกาลที่ ๔ หรือที่ ๕ ไม่ทราบ แต่พระกุฏินั้นสร้างในรัชชกาลที่ ๕ แน่ ถ้าพระอุโบสถสร้างในรัชชกาลที่ ๕ ชื่อพระพุทธรัตนสถานก็คงเป็นพระยาศรีสุนทรฟักขนาน

ขอประทานทูลหนังสือฉะบับนี้เพียงเท่านี้ที

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) วัดเทพศิรินทราวาส

  2. ๒. พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ์)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ