วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๕ ต้องพระประสงค์จะปรับชื่อปืนกับชนิดปืนเข้ากัน ว่าปืนชนิดใดต้องกับชื่อที่เรียกกันอย่างไรนั้น ได้รับประทานทราบเกล้าแล้ว

เกล้ากระหม่อมยังไม่เคยคิดและสังเกตที่จะปรับกันเลย นึกถึงชื่อปืนตามที่เคยได้ยินมานั้นมีกว่า ๓ อย่าง แต่ก็ได้ยินมาจากหนังสือแต่งที่คิดว่าจะเป็นบทกลอนไปทั้งนั้น เท่าที่นึกได้เดี๋ยวนี้

๑. จารงค์ มณฑก นกสับ

๒. จารงค์ มณฑก นกคุ่ม ขานกยาง

๓. ทองปราย ปลายหอก

พอดีได้พบเมื่อก่อนได้รับลายพระหัตถ์วันหนึ่งเท่านั้นเอง ในลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตรา ตรงที่กล่าวว่าด้วยเรือรูปสัตว์มีว่า

“หน้าเรือปืนใหญ่จอง จารงค์ เรียกฤๅ”

ตรงกับที่ทรงสันนิษฐานว่า จารงค์เป็นปืนใหญ่นั้นทีเดียว และยังพบอีกที่กล่าวด้วยเรือเสือ มีว่า

“หนแห่งตำแหน่งหน้า เรือวาง ปืนแฮ
ขานชื่อขานกยาง อย่าง (หยั่ง) ตั้ง”

นี่เป็นตีความออกให้เห็นว่า ขานกยาง คือ หามแล่น นกสับ ไม่มีที่สงสัยต้องเป็นปืนประทับบ่าคาบศิลา ส่วนนกคุ่ม น่าจะเป็นปืนชนิดใดที่มีนกงอคุ่ม หรือมิฉะนั้นก็จะเป็นปืนคาบชุด ที่เหนี่ยวไกค่อยๆงุ้มลงไป ผิดกับคาบศิลาที่นกต้องสับฉาดลงไปทีเดียว ส่วนมณฑกนั้นเห็นจะเหลือแปล ดูตามชื่อก็ว่ากบ ไม่มีเค้าเลย จะหาที่ดูสอบก็นึกไม่ออก จะว่าปืนโก๊ก็ไม่มีหลัก ปืนโก๊ที่เคยเห็นก็เป็นปืนชนวนทองแดงเป็นอย่างเก่า เกรงว่าชื่อมณฑกจะมีมาก่อนนั้น ทองปราย หล่อด้วยทองเหลืองยิงลูกปราย (ปืนยิงเป็ด) ปลายหอก ไม่ต้องแปล

ชื่อปืนที่ตรัสออกชื่อท้ายลายพระหัตถ์นั้น ฝรั่งเปิดหมวก มีตรารูปฝรั่งเปิดหมวก เป็นชื่อจำเพาะกระบอก รักษาศาสนา สัมมาทิฐิ ก็เป็นชื่อตั้งจำเพาะกระบอกเหมือนกัน ไม่ใช่ปืนชนิดทั่วไป บาเหรี่ยมดูเหมือนจะเป็นชื่อชนิดปืน แต่ยังไม่เคยทราบว่ารูปร่างเป็นอย่างไร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ