พยุหยาตราเพชรพวง

ได้ตรวจริ้วกระบวนเพชรพวงพยุหยาตราชลมารค ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ หมายที่ควรสังเกตได้ดั่งนี้

ความผิดแผกกับเดี๋ยวนี้ มีสำคัญอยู่ที่ชื่อเรือโดยตำแหน่ง คือ พวกเรือที่เดี๋ยวนี้เรียกว่าเรือดั้งนั้น ครั้งกระโน้นเรียกว่าเรือกัน ส่วนเรือดั้งนั้น ครั้งกระโน้นไปตกอยู่แก่เรือนำหน้าเรือพระที่นั่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ตั้งพระชัย ตั้งผ้าไตร หรือพานพุ่มดอกไม้บนนั้น จะมีหลายลำเรียงต่อกันก็ได้ ทั้งนี้ก็ต้องกับแบบเล่นหนัง หน้ารถเขาเชิดตัวเสนานำ เรียกว่าดั้ง ว่าหนังดั้ง ดั้งแปลว่าหน้า หนังดั้งหนังหน้า เรือดั้งเรือหน้า เสาดั้งเสาหน้า

ทุกวันนี้ ถ้าเรียกว่ากระบวนพยุหยาตราแล้ว ย่อมเข้าใจกันว่าแห่ ๔ สาย กระบวนเพชรพวงครั้งกระโน้นก็จัด ๔ สาย แต่เป็น ๔ สายอยู่ชั่วตอนใกล้เรือพระที่นั่งเท่านั้น ไม่ตลอดทั้งกระบวน ว่าโดยละเอียดแล้ว กระบวนพยุหยาตราเพชรพวงครั้งกระโน้นวางริ้วเป็น ๕ สาย สายกลางเป็นริ้วเรือพระที่นั่ง ควรจะเรียกว่าสายพระราชยาน สายในซ้ายขวาเป็นริ้วเรือแห่ ควรจะเรียกว่าสายคู่แห่ สายนอกซ้ายขวาเป็นริ้วเรือกัน ควรจะเรียกว่าสายกัน

ระเบียบกระบวนนั้นจัดแบ่งเป็น ๕ ตอน ตอนหน้าเรียกว่ากระบวนนอกหน้า (ได้แก่ทหารกองนอก) ถัดเข้าไปเรียกว่ากระบวนในหน้า (ได้แก่กองทหารรักษาพระองค์) ตอนกลางเป็นกระบวนเรือพระราชยาน ตอนหลังชั้นในเรียกกระบวนในหลัง (ได้แก่กองทหารรักษาพระองค์) ตอนหลังชั้นนอกเรียกว่ากระบวนนอกหลัง (ได้แก่ทหารกองนอก) ทั้ง ๕ ตอนนี้ มีเรือประตูคั่นทุกตอน

ทีนี้จะพรรณนาถึงเรือกระบวนโดยละเอียด พอควรแก่ที่จะพึงสำเนียก

กระบวนนอกหน้า มีเรือพิฆาต ๓ คู่ ไม่มีชื่อ พวกขุนศาลลงประจำทั้ง ๖ ลำ อันเรือพิฆาตนั้นรูปร่างจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ

ถัดมาเป็นเรือแซ ๕ คู่ มีชื่อทุกลำ แต่ไม่สำคัญที่จะจด จะจดแต่ชื่อผู้ลงประจำลำ คือ

คู่ ๑ สมิงเพชรน้อย (ซ้าย) สมิงนครอินทร์ (ขวา)

คู่ ๒ พญาพระราม (ซ้าย) พระยาเกียรติ์ (ขวา)

คู่ ๓ หลวงท่องสื่อ (ซ้าย) พระโชดึก (ขวา)

คู่ ๔ พระยาราไชศวรรย์ (ซ้าย) พระสมบัติบาล (ขวา)

คู่ ๕ พญาจุลา (ซ้าย) หลวงศรียศ (ขวา)

เรือแซนี้รูปร่างว่าอย่างง่ายก็คือเรือชัยโกลน หัวท้ายเขียนหลายน้ำยา ยังมีเรือเสือทยานชล เรือเสือคำรนสินธุ์ เป็นตัวอย่างดูได้อยู่เวลานี้

ถัดมาเป็นเรือชัย ๑๐ คู่ จะบอกทั้งชื่อเรือและชื่อกรมที่ลงประจำต่อไปนี้

คู่ ๑ ตาวชมชัย เทเพนทร์ (ซ้าย) ขันธ์ฉาว ธรเณนทร์ (ขวา)
คู่ ๒ สุพรรณดาว ใหญ่ซ้าย ชัยขันธ์ ใหญ่ขวา
คู่ ๓ ชัยขจรพาชี ม้าซ้าย ชัยอัศวบวร ม้าขวา
คู่ ๔ ชัยฦๅยิ่ง ช้างซ้าย ชัยฦๅชะนะ ชัางขวา
คู่ ๕ ชัยทะยานทิพ หลวงศรีกล้าสมุท สัสดีซ้าย ชัยอธิการ หลวงเทพา สัสดีขวา
คู่ ๖ เกิดฦๅชัย พญาราม ชัยผู้เลิศ พญาพิชัยสงคราม อาสาขวา
คู่ ๗ สฦาชัย พญาวิชิตณรงค์ เขนทองซ้าย ชัยชำนะ พญาพิชัยรนฤทธิ์ เขนทองขวา
คู่ ๘ พิษณุชัย พญาเดโช (ซ้าย) ชัยเรืองฤทธิ์ พญาท้ายน้ำ (ขวา)
คู่ ๙ ชยันทีหวั่น นา (ซ้าย) ชัยไหวธรณี เมือง (ขวา)
คู่ ๑๐ ขจรชัย คลัง (ซ้าย) ชัยนคร วัง (ขวา)

เห็นจะเป็นเรือชัย ๑๐ คู่นี้แหละ ที่มีคำปรากฎในเห่เรือว่า

“เรือชัยไวว่องวิ่ง รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม
เสียงเส้าเร้าระดม ห่มท้ายเยิ่นเดิรคู่กัน”

การกระทุ้งเส้า เป็นการทำจังหวะให้ลงพายพร้อมกัน เห็นจะทำไม่จำเพาะแต่เรือกัน

ถัดมาเป็นเรือรูปสัตว ๒ คู่

คู่ ๑ ราชสีห์น้อย พญามหาอำมาตย์ (ซ้าย) คชสีห์น้อย พญาสุรเสนา (ขวา)
คู่ ๒ ราชสีห์ใหญ่ สมุหนายก (ซ้าย) คชสีห์ใหญ่ สมุหพระกลาโหม (ขวา)

ถัดมาถึงเรือรูปสัตวอีกคู่ ๑ เป็นเรือประตูหน้าชั้นนอกคั่นกระบวนนอกหน้ากับกระบวนในหน้า คือ

ม้าใหญ่ ราชนิกุล (ซ้าย) เลียงผาใหญ่ เทพอรชุน (ขวา)

ถัดนั้นถึงเรือกระบวนในหน้า เป็นเรือรูปสัตว ๑๒ คู่

คู่ ๑ (กระบี่) สุรพิมาน (ซ้าย) หลวงพรหมนาวา อังหมะ (ขวา) หลวงอินทรนาวา อาสาหกเหล่า
คู่ ๒ นกอินทรี อาสาหกเหล่า
คู่ ๓ นกหัสดิน  
คู่ ๔ นกเทศ  
คู่ ๕ นกหงอนตั้ง  
คู่ ๖ สิงหโต ตำรวจ
คู่ ๗ กิเลน หลวงสิทธสำแดงรณ (ซ้าย) หลวงศรสำแดงฤทธิ (ขวา)
คู่ ๘ สิงห กรมอะไรไม่ทราบ
คู่ ๙ นาค  
คู่ ๑๐ นาคสามเศียร  
คู่ ๑๑ เหรา ชื่อนาควาสุกรี (ซ้าย) จมื่นศรีสรรักษ นาคเหรา ขวา จมื่นสรเพชญ์ภักดี
คู่ ๑๒ ครุฑคู่ชัก  

ถัดนั้นถึงเรือเอกชัยคู่ ๑ เป็นเรือประตูหน้าชั้นใน คั่นกระบวนในหน้ากับกระบวนพระราชยาน คือ

ชัยรัตนพิมาน พื้นดำ ตำรวจใหญ่ซ้าย ชัยบวรสวัสดิ์ พื้นดำ ตำรวจใหญ่ขวา

อนึ่งตั้งแต่เรือนาคสามเศียรคู่ ๑๐ มา มีเรือโขมดยาซ้อนสายนอกเป็นเรือกันอีก ๕ คู่ คือ

คู่ ๑ เกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง  
คู่ ๒ อาสาวิเศษ  
คู่ ๓ ตำรวจใหญ่  
คู่ ๔ ตำรวจใน  
คู่ ๕ ทองแขวนฟ้า (ซ้าย) โพธิ์เรียง ทองแขวนฟ้า (ขวา) บ้านใหม่

ที่นี้ถึงกระบวนเรือพระราชยาน เรียงกันแถวเดียวสายกลาง

พระที่นั่งชลพิมานชัย กิ่งพื้นดำ เป็นดั้งที่ ๑
พระที่นั่งไกรสรมาศ กิ่งพื้นดำ เป็นดั้งที่ ๒
พระที่นั่งศรพิมานชัย กิ่งพื้นดำ เป็นดั้งที่ ๓
พระที่นั่งไกรแก้วจักรรัตน์ กิ่งพื้นดำ เป็นดั้งที่ ๔
พระที่นั่งศรพรหมชัย กิ่งพื้นแดง เป็นดั้งที่ ๕
พระที่นั่งศรสมรรถชัย กิ่งพื้นดำ เป็นลำทรง
พระที่นั่งไกรสรมุข กิ่งพื้นดำ เป็นลำรอง

ถัดนั้นมีเรือพระที่นั่งกิ่งเรียงคู่อยู่สายใน เป็นเรือสำรองคู่ ๑ คือ

ไกรสรจักร (ซ้าย) ศรีสุนทรชัย (ขวา)

ถัดไปถึงเรือเอกชัยคู่ ๑ เป็นเรือประตูหลังชั้นใน คั่นกระบวนพระราชยานกับกระบวนในหลัง คือ

หลาวทอง พื้นดำ ตำรวจนอกซ้าย เหิรหาว พื้นดำ ตำรวจนอกขวา

ในระยะเรือพระที่นั่งคู่ท้ายกับเรือประตูหลังชั้นในนี้ มีเรอโขมดยาซ้อนสายนอกเป็นเรือกัน ๒ คู่

คู่ ๑ ทหารใน

คู่ ๒ สัสดี

เรือโขมดยานี้ โขมดแปลว่าหัว ยาคือน้ำยาเขียนหัว รูปร่างอย่างเรือดั้งทุกวันนี้ แต่เรือดั้งเดี๋ยวนี้หัวปิดทอง อย่างที่หัวเขียนลายน้ำยาเคยเห็นมีอยู่ใต้ถุนกฏิวัดเก่าๆ บ้าง เป็นเรือประจำยศพระราชาคณะ

ถัดเรือประตูหลังชั้นในไป เป็นกระบวนในหลัง สายกลางมีเรือพระที่นั่งเอกชัยเรียงกัน ๒ ลำ คือ

๑ เรือพระที่นั่งกรมพระราชวังบวร

๒ เรือพระที่นั่งเจ้าต่างกรม

สายในซ้ายขวามีเรือรูปสัตว ๓ คู่ คือ

คู่ ๑ มกร พระอินทรรักษา (ซ้าย) พระพรหมสุรินทร (ขวา)
คู่ ๒ นาคสามเศียร ชื่อนาคถบองรัตน จมื่นเสมอใจราช (ซ้าย) นาคจักรคธาธรทอง เจ้าหมื่นวัยวรนาถ (ขวา)
คู่ ๓ สิงห์โต ไม่บอกกรม  

ถัดนั้นถึงเรือรูปสัตวอีกคู่ ๑ เป็นเรือประตูหลังชั้นนอก คั่นกระบวนในหลังกับกระบวนนอกหลัง คือ

ม้าน้อย หมื่นศรีสหเทพ (ซ้าย) เลียงผาน้อย หมื่นนรินทรเสนี (ขวา)

ถัดเรือประตูหลังชั้นนอกก็ถึงกระบวนนอกหลัง มีเรือแซ ๓ คู่ มีเรือพิฆาต ๒ คู่ ไม่บอกกรมประจำลำ เป็นสิ้นกระบวนเท่านี้ เป็นเรือ ๑๑๓ ลำด้วยกัน

สังเกตได้จากในริ้วนี้ ว่าเรือชะนิดที่มีทวนหัวตั้งสูงขึ้นไปเป็นงอนนั้นเรียกชื่อเปลี่ยนตามชั้นเรือดีเลว เรือพระที่นั่งเรียกว่าเรือกิ่ง เรือที่นั่งเจ้านายและเรือประตูเรียกว่าเรือเอกชัย เรือข้าราชการเรียกเรือชัย เรือรูปสัตวที่เป็นตรามีแต่ราชสีห์ใหญ่น้อย คชสีห์ใหญ่น้อย ม้าใหญ่น้อย เลียงผาใหญ่น้อย รวมแปดลำเท่านั้น นอกนั้นไม่มีความหมาย เรือหงส์จะเป็นเรือพระที่นั่ง หรือเรือรูปสัตวแสนยากรก็ไม่มีในกระบวนนี้เลย

อนึ่งในระยะกระบวนเรือตอนที่เรียงเป็น ๔ สายนั้น มีม้าแซงเดิรแซงบนตาหลิ่งด้วย

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๗๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ