วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ ดร

สำนักดิศกุล, หัวหิน.

วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ได้รับประทานลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๖ ขอทูลสนองข้อความในลายพระหัตถ์ก่อน

๑. เรื่องสมาคมพุทธมามกนั้น ความปรากฏในหนังสือพิมพ์ว่านายกคณะราษฎรอนุญาตให้ใช้สวนสราญรมย์เปนที่ประชุมโดยพลการ สภารัฐมนตรีไม่เห็นชอบด้วย จึงสั่งไปให้ห้ามมิให้สมาคมพุทธมามกไปเกี่ยวข้องแก่สวนสราญรมย์ วินิจฉัยความที่ปรากฎนี้ ชวนให้เห็นว่าความคิดที่ตั้งสมาคมพุทธมามกนั้น น่าจะเปนอุบายของผู้ใดผู้หนึ่ง จะเปนผู้เริ่มคิดก็ตาม หรือผู้พลอยคิดประสมก็ตาม จะแสวงหาสมาชิกสมาคมคณะราษฎรให้กว้างขวางออกไป แต่พวกคณะราษฎร์ชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบด้วย คิดดูเมื่อไม่มีที่ประชุมแล้วหรือถึงจะหาได้ที่อื่น เรื่องสมาคมพุทธมามกคงล้มละลาย เพราะเปนการแช่งสมาคมพุทธสาวก จะหาทุนรอนอุดหนุนได้โดยยาก

๒. หม่อมฉันได้เห็นกำหนดงานพระเมรุลงในหนังสือพิมพ์เมื่อวานนี้เปนงานยืดยาว ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคมไปจนถึงวันที่ ๕ เมษายน แต่ละงานผู้ไปช่วยต้องไปเข้าสมาคมนั่งกลึ้งในวันตั้งพระศพเวลา ๑ รุ่งขึ้นต้องไปขมาที่พระเมรุอีกเวลา ๑ ทุกงานไป ออกท้อใจ ถ้าหากว่าเปนประโยชน์อย่างใดแก่ท่านผู้ไปปรโลกแล้ว ก็พอจะเปนเหตุให้ทนความลำบากด้วยรักและนับถือ แต่นึกไม่เปนประโยชน์อันใดแก่ท่าน ตัวเราก็แก่ ดูเปนการทรมานตัวด้วยกลัวนินทายิ่งกว่าอย่างอื่น มีเครื่องหน่วงใจอยู่อย่างเดียวแต่เมื่อนึกว่า เจ้านายน้อยพระองค์อยู่แล้ว ถ้าขาดเราไปก็จะร่องแร่งในหมู่เจ้านาย หม่อมฉันจึงปลงใจว่าจะลองทนดู ถ้าทนได้ก็จะอุตส่าห์ไปทุกงาน แต่ถ้าไม่สบายก็จะไปเที่ยวขมาพระศพ ตามสถานที่ประดิษฐานไว้ แล้วกลับออกมาหัวหินกลับเข้าไปเอาตอนจวนขึ้นปีใหม่

๓. เดิมหม่อมฉันได้ยินคำโจทก์กันว่ารัฐบาลจะแก้ไขระเบียบวันหยุดงานประจำปี นัยว่าจะเลิกวันมหาจักรีและวันปิยมหาราชเปนต้น แต่เมื่อมาเห็นในหนังสือพิมพ์เขาคงวันมหาจักรีไว้ วันอื่นนอกจากนั้นเปนแต่ปิดที่ทำการวันเดียวแทน ๓ วันบ้าง ไม่ปิดที่ทำการบ้าง ดูก็ไม่ขัดขวางอันใดเหมือนอย่างวันปิยมหาราช ถึงไม่ปิดที่ทำการก็ไม่ขัดต่อการไปบูชาพระบรมรูปทรงม้า แต่เรื่องที่กำหนดเวลาทำงานเปลี่ยนเปนตั้งแต่ ๑ นาฬิกา จนถึง ๑๑ นาฬิกานั้น ตั้งแต่หม่อมฉันเห็นประกาศก็นึกขันในใจ ด้วยเปนการที่หม่อมฉันได้ลองทำในหอพระสมุดฯ หลายปีมาแล้ว พอทำได้ไม่กี่วันพระเจนก็นำคำของพวกเสมียนพนักงานผู้น้อยมาร้องทุกข์ว่าหาข้าวกินไม่ทันที่จะมาให้ถึงหอพระสมุดฯ ได้ทัน ๘ นาฬิกา ไต่สวนดูเห็นเปนความเดือดร้อนจริงต้องเลิกกำหนดที่ตั้งนั้น คราวนี้ดูก็จะเปนเช่นเดียวกันอีก เพราะไทยเราผิดกับฝรั่งที่โดยมากเปนคนมีครอบครัว และต้องไปจ่ายตลาดมาปรุงอาหารสู่กันกิน ไม่เหมือนฝรั่งซึ่งมักเปนตัวคนเดียว และซื้ออาหารกินตามโรงเลี้ยง ถ้าไทยจะซื้อกินเช่นนั้นบ้างกลับเปลืองหนักขึ้น เพราะทางบ้านก็ต้องทำครัวอยู่อย่างเดิม และมาเพิ่มซื้อกินให้ทันมาทำงานอีกสถานหนึ่ง นอกจากนั้นคนทำงานของรัฐบาลในกระทรวงต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล ต้องใช้เวลามากสำหรับเดินทางมีไม่น้อย พวกทำงานตามโรงจักรและห้างหอเขามักอยู่ไกลที่ทำงาน ในเรื่องนี้มันเกี่ยวเรื่องไปถึงเรื่องตั้งสโมสร Club ต่าง ๆ ที่ไม่สำเร็จได้ในเมืองไทยก็เพราะไทยมักมีครอบครัว เมื่อสิ้นงานแล้วก็พอใจจะอยู่กับครอบครัว ไม่เหมือนฝรั่งซึ่งมักเปนโสดอยู่คนเดียวเปลี่ยวเปล่า จึงชอบไปพบปะเพื่อนฝูงที่สโมสร

๔. หมู่นี้หม่อมฉันไปพลิกอ่านหนังสือเรื่องคติพระพุทธสาสนาทางฝ่ายมหายาน ได้ความรู้แปลก ๆ อีกบ้าง เปนต้นว่าพบคำแปลศัพท์ “LAMA” คือพระธิเบตว่าเปนคำภาษาธิเบต แปลว่า Revered Master นึกขึ้นว่าทำนองเดียวกับคำ “เจ้ากู” ในภาษาไทย “ตะละเปิน” ภาษามอญ “กมรเตนอัญ” ภาษาเขมร ซึ่งเคยพิจารณากันมาแต่ก่อนเห็นว่าเปนคำเดียวกัน ต้องใครเอาอย่างใครไปแปลใช้ในภาษาของตน แต่ยังไม่ได้แก้ถึงวินิจฉัยว่าเหตุใดจึงเรียกพระว่า “เจ้ากู” มาพบอธิบายของธิเบตชวนให้คิดเห็นว่าคำที่เรียกพระว่าเจ้ากู จะมาแต่คติมหายานแต่ดึกดำบรรพ ด้วยทางลังกาหามีไม่ ได้พบใช้ในภาษาไทยอีกคำ ๑ ว่า “เจ้าไท” มีในหนังสือมาลัยและชื่อวัดเจ้าพระยาไท “ไท” ในที่นี้เห็นจะมาแต่ “ไท้” ไม่ใช่ชาติไทย น่าจะตรงกับศัพท์ธิเบตที่แปลเปนอังกฤษว่า Revered บางที ต้นเดิมจะมาทางเมืองจีนดอกกระมัง

มานึกขึ้นอีกเรื่องหนึ่งถึงคำท้ายชื่อวัดที่ลงว่า อาวาส เช่น รามาวาส บ้าง อาราม เช่น โพธาราม บ้าง ชื่อวัดที่ตั้งชั้นหลังนี้ดูเหมือนจะเข้าใจว่าจะใช้คำว่า “อาวาส” หรือ “อาราม” ก็เหมือนกัน แต่เห็นว่าที่จริงเดิมเขาจะหมายความต่างกันตามประเภทของวัด พลิกดูในอภิธานบาลีของกิลเดอร ศัพท์ อาวาส แปลว่าที่อยู่ ศัพท์ อาราม แปลว่าเปนที่สำราญหรือสวน คือ PARK พิจารณาดูวัดในเมืองศรีสัชนาลัย ที่เปนวัดสำคัญอยู่กลางเมืองหลายวัดมีเขตต์ที่ตั้งกุฏิสงฆ์อยู่วัดเดียว นอกจากนั้นหามีไม่ หม่อมฉันใคร่จะสันนิษฐานว่าวัดที่เรียกว่าอาวาสนั้น เดิมหมายความว่าเปนวัดที่ไม่ใช่สำหรับพระสงฆ์อยู่ เปนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์เรียกว่าพุทธาวาศ ในกฎหมาย วัดที่สำหรับให้พระสงฆ์อยู่เรียกว่าอาราม ครั้นถึงสมัยเมื่อมีคนบวชกันมากเปนประเพณีเมือง วัดจึงมีพระสงฆ์อยู่แทบทั้งนั้น ชื่อที่เรียกว่า อาวาส และอาราม ก็เลยปนกันไป ขอให้ทรงพระดำริดู

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ