วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ดร

สำนักดิศกุล, หัวหิน.

วันที่ ๑๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๖ นึกได้ว่าพรุ่งนี้วันอังคาร รถเมล์จะผ่านหัวหินเวลา ๗ ก.ท. ถึงกรุงเทพฯ เที่ยงวัน จึงรีบเขียนจดหมายฉะบับนี้เพื่อจะส่งให้ทันถึงท่านก่อนวันพุธ ขอทูลสนองข้อความในลายพระหัตถ์ดังต่อไปนี้

๑. คำจารึกพระพุทธรูป ที่ทรงแก้ไขนั้นดีขึ้น แต่หม่อมฉันอยากจะขอให้เริ่มด้วยศักราช คือขึ้นว่า “พุทธศักราช ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จฯ” เข้าแบบจารึกเก่าที่มักเริ่มด้วยศักราช

๒. เรื่องที่ช่างศิลปากรต้องทำของส่งเอ๊กซิหิบิเชนที่เมืองคานาดานั้น หม่อมฉันได้ทราบอยู่แล้ว เรื่องราวมันออกจะขัน ได้ยินว่าเมื่อท่านโป๊ะได้รับเชิญเข้าไปเปนกรรมการจัดของนั้น อ้างว่าเวลามีน้อยจะต้องอาศัยช่างในศิลปากรหลายแผนก ขอบังคับศิลปากรได้ทั้งหมดและให้ศิลปากรหยุดงานอื่นมาทำแต่งานของเธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณไม่ยอม อ้างว่าจะสั่งให้ข้าราชการไปฟังบังคับบัญชาคนนอกราชการไม่ได้ เจ้าชายสกลนายกกรรมการจึ่งขอเกลี่ยไกล่ เปนแต่ให้ช่างศิลปากร ช่วยเหลือตามสมควร แต่ข้อขำนั้น มันอยู่ที่เรื่องเงิน ยินว่ารัฐบาลอนุญาตเงินสำหรับเรื่องนี้ทั้งสิ้น ๑๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งค่าส่งและไปจัดตั้ง การที่ทำของปราณีตบรรจงฟุ้งไป น่าจะไปติดขัดด้วยเงินไม่พอ

๓. เรื่องฐานพระพุทธรูปแบบสุโขทัยนั้น หม่อมฉันได้เคยเห็นฐานพระศรีศากยมุนี ที่ในพระวิหารหลวงวัดพระธาตุเมืองสุโขทัย ด้วยได้สั่งให้เขาขุดตอนหนึ่ง และได้เห็นที่อื่นอีกแต่ก็ไม่ตั้งใจสังเกตและเปนฐานชำรุดทั้งนั้น นึกได้แต่ว่าไม่เหมือนฐานพระชินราช ไปคล้ายๆ ฐานพระเชียงแสนพวกหนึ่งซึ่งชอบทำฐานเกลี้ยง ๆ เปนหน้ากระดาน มานึกหาตัวอย่างในเวลานี้จะเปนทำนองฐานพระชัยรัชชกาลที่ ๔ ซึ่งทูลกระหม่อมน่าจะอนุโลมตามแบบสุโขทัยซึ่งทรงชำนาญมาก เปนแต่จะไขหน้ากระดานให้สูง ด้วยต้องการที่จารึกอักษร ที่ทูลมาทั้งนี้เปนการคั้นรีบเอาความรู้ให้ออกมาในปัตยุบันทันด่วน อาจจะพลาดพลั้งจะนึกดูต่อไปอย่าเพิ่งทรงฟังเอาเปนแน่นอน

๔. เรื่องนายประยูร ภมรมนตรี จะมาเฝ้าทูลปรึกษาแบบตู้ใส่รัฐธรรมนูญนั้นว่าฉะเพาะถึงหลักการ หม่อมฉันนึกขึ้นถึงเรื่องผู้มาขอพิมพ์หนังสือเมื่อครั้งหม่อมฉันยังเปนนายกราชบัณฑิตยสภา ซึ่งต้องรับธุระเขาตามหน้าที่ แต่การที่รับนั้นต่างกันเปน ๒ อย่าง ผู้ที่ขอปรารถนาจะให้หม่อมฉันแต่งให้เองทุกรายก็ว่าได้ อย่างต่ำก็ให้แต่งประวัติหรือแม้แต่คำนำ เมื่อรับเขาเข้าแล้วก็ได้ความลำบากทั้งต้องเหน็ดเหนื่อยในการที่แต่ง และเปนตัวอย่างสำหรับคนอื่นอ้าง เมื่อรู้สึกลำบากขึ้นเช่นว่าจึ่งได้คิดขยับขยายเพียงแนะให้ว่าควรจะพิมพ์หนังสือเรื่องนั้น ๆ ส่วนเรื่องประวัติให้เจ้าภาพเขาจดมา แต่งแต่เชื่อมหน้าเชื่อมหลังเล็กน้อย แต่คำนำก็ยังหนีไม่ใคร่พ้น พึ่งมาหลุดจากความลำบากเมื่อออกจากตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา ที่เขาว่าจะมาทูลปรึกษาเรื่องทำแบบตู้ใส่รัฐธรรมบุญ ดูก็เปนทำนองเดียวกันกับเรื่องหนังสือที่ทูลมา ความปรารถนาของเขาคงจะให้ทรงแนะและ เขียนแบบให้ด้วย ถ้าท่านทรงรับตามประสงค์ของเขาก็ต้องลำบาก และจะเปนธรรมเนียมต่อไป แต่จะปฏิเสธเสียทีเดียวอยู่ข้างเสียอัชฌาศัย หม่อมฉันจึงเห็นว่าเพียงตรัสแนะให้ทำเปนอย่างไร และให้ไปวานผู้อื่นเช่นพระพรหมพิจิตร เปนต้น เขียนอย่าง เพียงเท่านั้นก็เห็นจะพอหรือจะแนะให้อย่างหยาบๆ ว่า ให้ไปเลือกดูตู้พระธรรม ซึ่งเขาทำสำหรับไว้สมุดเล่มเดียว ตรงกับประสงค์ที่จะทำตู้ใส่สมุดรัฐธรรมนูญ แบบมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานหลายใบก็ได้เหมือนกัน เสนอความเห็นถวายมาแล้วแต่จะทรงเลือก หรือจะทรงดำริอย่างอื่นที่เห็นมีดีกว่าก็แล้วแต่จะทรงพระดำริ.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔) กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

  2. ๒. พระพรหมพิจิตร (พรหม พรหมพิจิตร์)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ