วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๖ คิดว่าจะไม่ต้องทูลสนอง เพราะวันที่ ๒๑ ฝ่าพระบาทก็จะเสด็จกลับ แต่มามีหมายสั่งเลิกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เสด็จกลับ เชื่อว่าฝ่าพระบาทก็คงไม่เสด็จกลับเหมือนกัน จึ่งเขียนหนังสือส่งมาถวายต่อไป

งานพระเมรุนั้น เห็นจะไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งหวังตั้งใจว่าตนจะไปได้ทุกงานทุกเวลาก็คงเป็นไปได้เท่าได้ งานใดมีแรงดึงดูดมากก็ไปมาก น้อยก็ไปน้อย ไม่มีแรงก็ไม่ไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ยินกะว่า จะเสด็จพระราชดำเนิรแต่วันพระราชทานเพลิง งานละวันเท่านั้น เว้นแต่งานสมเด็จชายกะเสด็จพระราชดำเนิรสามวัน

ฝ่าพระบาทเห็นจะมีถูกเกณฑ์โดยจำกัด ให้เสด็จไปแทนพระองค์ในลางงานลางเวลาเป็นแน่จะมีในงานกรมหลวงสมร

การกำหนดวันหยุดงานประจำปีนั้น เข้าใจว่าเอาอย่างโฮลิเดฝรั่งมา คำว่าโฮลิเดดูเป็นหยุดเพื่อทำบุญ แต่ไม่ตรงเช่นนั้นไปหมด ลางวันก็เป็นหยุดยกให้เป็นเกียรติยศ เห็นจะเป็นธรรมเนียมที่เติมเข้าทีหลังเช่นวันมหาจักรี วันปิยมหาราช นี่เป็นหยุดถวายเพื่อเป็นพระเกียรติยศ พวกสมาคมพ่อค้าต่างประเทศ ที่เรียก บอด ออฟ เทรตส์ เขาก็ประกาศหยุดถวาย เป็นพระเกียรติยศเลิศอยู่แล้ว

ทำการอะไรในสมัยนี้ ถ้าใครทำตามใจเห็นดี มีผู้รู้ติว่าทำการไม่มีเฟาน์เดชัน เขาว่าต้องทำตามหลกวชชา หลักวิชชาอยู่ที่ไหน ฟังก็คือหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งของฝรั่งที่ฉวยมาได้ ทำให้เหมือนฝรั่งแล้วเป็นการทำดี ถึงจะขัดกับกาลเทศ ค่อยฝึกหัดดัดไปก็ได้ก็ดีไปเอง

คำ ไท ไท้ ไทย เป็นคำเดียวกัน ประกอบอยู่กับคำใดลองแปลดูว่าใหญ่เป็น ได้ความกินกันทุกแห่ง เช่นเทพไท ก็เทวดาผู้ใหญ่ เจ้าไท ก็เจ้าใหญ่ ท่านไท้ ก็ท่าน ผู้ใหญ่ เป็นไทแก่ตัว ก็เป็นใหญ่แก่ตัว ชาติไทย ก็ชาติใหญ่ เขาว่ามาแต่คำไต้ 大 ในภาษาจีน เห็นว่าถูกแม่นแท้นัก

ที่อยู่ของพระสงฆ์นั้น แท้จริงแบ่งเป็นส่วนเป็นสัด คือพระอยู่ในวิหาร (เรียกตามคำอธิษฐานวรรษาว่า “อิมสฺมิํ วิหาเร -”) วิหารอยู่ในอาวาส (เรียกตามคำอธิษฐานวรรษาว่า “อิมสฺมิํ อาวาเส -”) อาวาสอยู่ในอาราม คือสวน (กัลปนา) ตัวอย่างเช่นกฏิวัดสวนพลูก็ได้แก่กฏิอยู่ในวัด วัดอยู่ในสวนพลู เหตุด้วยเป็นของคาบเกี่ยวกันดั่งนี้จึงพาหลง วิหารก็เปนวัด อาวาสก็เป็นวัด อารามก็เป็นวัด ที่จริงก็เป็นส่วนสัดอย่างบ้านชาวสวน คือเรือนปลูกอยู่ในบ้าน กบาลบ้านตั้งอยู่ในสวน แต่เรียกรวบหมดว่าสวนได้ฉันใด อารามก็เป็นคำเรียกรวบเป็นวัดได้ฉันนั้น

พุทธเจดีย์ ปฏิมาฆร พระระเบียง เหล่านี้เป็นของเกิดภายหลัง เมื่อพระเจ้า ปรินิพพานแล้ว เริ่มแรกตั้งใจทำเป็นปูชนียสถานของกลาง มักสร้างในที่ประชุมชนเช่นกลางเมือง หรือทางร่วม ยิ่งเป็นเมืองเก่ายิ่งมีมาก ไม่ได้ทำเป็นวัด ไม่มีที่ให้ภิกษุอยู่ แล้วอย่างไรภายหลังพระภิกษุเอื้อมเข้าปกครองได้มาก เลยกลายไปเป็นวัด ประกอบคำเป็นอาวาส เป็นอาราม แต่ความข้อนี้ทูลกระหม่อมทรงตระหนักพระทัย ทรงขนานนามพระพุทธรัตนสถานลงท้ายเป็นสถาน ไม่เป็นอาวาสอาราม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

ป.ล. ได้ส่งสมุดข้อบังคับของพุทธมามกสมาคม ถวายมาทอดพระเนตรเล่นด้วย น่าดูอยู่บ้าง มีลายพระหัตถ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กับทั้งรายชื่อผู้ก่อการ

<น>

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ