วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าประบาท

ลายพระหัตถ์ตรัสถึงเรื่องเรือ ซึ่งปรากฎในบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ตั้งปัญหา เป็น ๔ ข้อ ขอถวายพยากรณตามปัญญาต่อไปนี้

ข้อ ๑ คำว่า “เรือต้น” และ “กิ่งแก้ว” กินฉะเพาะแต่เรือรัตนพิมานชัย อันกล่าวในโคลงนั้นลำเดียว เพราะบทเห่เรือนั้นต้นบทแต่งเปนกาพย์ห่อโคลง “ทรงเรือตนงาม เฉิดฉาย กิ่งแก้วแพรวพรรณราย” นี่ห่อโคลงตรงที่ว่า “ทรงรัตนพิมานชัย กิ่งแก้ว” เพราะฉะนั้นจึ่งฟังเอาเป็นยุติได้แต่เพียงว่าเรือรัตนพิมานชัยนั้น เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง

ส่วนบทต่อลงมานั้นแต่งละเลิงตามใจ ตั้งตนว่า “นาวาแน่นเป็นขนัด ล้วนรูปสัตวแสนยากร” จะฟังว่ามีเรือพระที่นั่งปนอยู่ในนี้ไม่ได้ ต้องเป็นเรือแสนยากรล้วน แต่เมื่อตรวจจริงจังเข้าก็เห็นด่างพร้อยไป เรือครุฑ เดี๋ยวนี้มีแต่เรือแสนยากร แต่เมื่อก่อนมีเรือพระที่นั่งด้วย “พลพายกรายพายทอง” คำนี้ส่อว่าเป็นเรือพระที่นั่ง เรือ (ไกร) สรมุข ถ้าแปลชื่อก็จะต้องว่าเป็นเรือหน้าราชสีห์ “จตุรมุข------ม่านกรองทอง--------หลังคาแดง แย่งมังกร” คำเหล่านี้ส่อว่าเป็นเรือพระที่นั่ง เรือสมรรทชัย มีคำว่า “เคียงคู่จร” กับเรือไกรสรมุข ถ้าหากเรือไกรสรมุขเป็นเรือหน้าราชสีห์ เรือสมรรถชัยก็จะต้องเป็นเรือหน้าอะไรที่คล้ายกัน จึ่งจะเข้าคู่กันได้ เรือหงส์ เดี๋ยวนี้มีแต่เรือพระที่นั่ง แต่ก่อนเห็นจะมีเรือแสนยากรด้วย เพราะที่พิพิธภัณฑสถานได้หัวเรือหงส์เล็กมาไว้หัวหนึ่ง สมเป็นเรือหงส์แสนยากร อันเชิงกลอนนั้นย่อมว่าไปตามคล่องปาก จะยึดเอาเป็นหลักฐานจริงจังเห็นไม่ได้

ข้อ ๒ เรือชัยมีกะทุ้งเส้า เป็นเรือดั้งแน่นอน แต่ที่ชื่อว่าเรือชัยนั้นสงสัยอยู่ว่าจะเป็นเรือชนิดใด ตามที่เข้าใจกันอยู่เวลานี้ว่าเป็นเรือชะนิดที่มีทวนหัวตั้งสูงขึ้นไปเป็นงอน ถ้าเช่นนั้นเรือกิ่งจะเป็นเรือชะนิดใด เรือชัยกับเรือกิ่งจะผิดกันอย่างไร ได้ค้นคว้ามานานแล้ว ก็ยังหาพบหลักฐานที่แน่นอนไม่ เรือหงส์เรียกว่าเรือชัยสุพรรณหงส์ก็มี แต่อย่างไรก็ดี แม้เรือดั้งจะเป็นเรือทองชะนิดมีทวนหัวสูงเป็นงอนก็ไม่ขัดข้อง เรือคู่ชักเหิรหาวหลาวทองก็ยังมีเหลือเป็นตัวอย่างอยู่ พวกเรือสุครีพพาลีริ้วในก็เป็นเรือทอง ถ้าเรือดั้งริ้วนอกเป็นเรือทองเสียด้วยก็จะงามเลิศ ดีกว่าเป็นเรือทองปนเรือไม้ สันนิษฐานว่าแต่ก่อนจะมีเรือ ๒ สำรับ เป็นเรือทองสำรับ ๑ เป็นเรือไม้สำรับ ๑ เวลาปกติทรงเรือไม้ เรือนำเรือตามก็ใช้เรือไม้ เวลาเผยพระเกียรติยศทรงเรือทอง หรือนำเรือตามก็ใช้เรือทอง ที่มาปะปนกันเปนเรือไม้บ้างเรือทองบ้างอย่างทุกวันนี้ เข้าใจว่าจะเป็นด้วยความเสื่อมทรามสิ้นเนื้อประดาตัว

ข้อ ๓ ตามพระประสงค์ที่จะทรงจัดเรือทุกลำ ให้ได้กับตราตำแหน่งมีตัวเจ้าของลงประจำนั้น เห็นจะไปไม่ไหว จะได้ก็แต่บางลำ เพราะเรือรูปสัตวนั้นเห็นจะมีที่มาเป็น ๒ ทาง มาทางเขมรทาง ๑ เช่น มีรูปฉลักปรากฎอยู่ที่ปราสาทพระนครวัด อันเป็นรูปหน้าหงส์ หน้านาค หน้าเหรามังกรเป็นต้น ทำด้วยไม่มีความหมายอะไร นอกจากเพื่อความงามเท่านั้น กับมาทางแบบอินเดียอีกทาง ๑ ทำเป็นตราเครื่องหมายประจำตัวขุนรถ ซึ่งเขานำไปกับรถ เรามาทำกับเรือ เปนเรือเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทำเป็นรูปราชสีห์ เรือเสนาบดีกระทรวงกลาโหมทำเป็นรูปคชสีห์ ลางทีแต่ก่อนนี้ถ้าตัวเสนาบดีมิได้ตามเสด็จ เรือก็เห็นจะไม่ได้เข้าริ้ว ทีหลังถึงตัวเสนาบดีมิได้ตามเสด็จ เปนเสนาบดีเวียงต้องอยู่รักษาพระนครก็เกณฑ์เอาแต่เรือไป เพื่อความสพรึบพร้อม ใครจะคุมไปก็ได้ ตกเป็นอันว่าภายหลังลืมหลักฐานหมดทำไปไม่เป็นหัวเป็นเท้า เรือที่ควรมีลำเดียวก็ทำซ้ำขึ้นเป็นคู่ เพราะฉะนั้นในที่สุดจะคิดจำหน่ายว่าเรืออะไรเป็นของใครนั้นเห็นจะไม่ตก

ข้อ ๔ เรือริ้ว ตามที่เข้าใจกัน จัดเป็นริ้วกลาง ริ้วในซ้ายขวา ริ้วนอกซ้ายขวา ริ้ว หมายความว่าเป็นเส้นเป็นสาย หลายเส้นหลายสายเรียงขนานกัน บรรดาเรือทุกลำที่ต้องเกณฑ์เข้ากระบวนแล้วเป็นเรือริ้วทั้งสิ้น และเรือในกระบวนโดยมากก็มีธงประจำเรือ ตั้งแต่เรือพระที่นั่งเป็นต้นลงไปทีเดียว ถ้าเป็นเรืออย่างหัวมีทวนสูงเป็นงอนก็มีธงทั้งหัวท้าย ถ้าเป็นเรือรูปสัตวก็มีธงแต่ท้าย และบรรดาเรือแซก็ปักธงท้ายทุกลำ เพราะฉะนั้นก็พอสมกับคำที่ว่า “เรือริ้วทิวธงสลอน” ได้อยู่แล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ