วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น (๒)

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ในการที่จะชี้ตัวเทวราชทั้ง ๔ สถาน ในเมือง อภินวไชยวัฒน นั้น เท่ากับสืบจับผู้ร้ายต่างเมือง

๑. Kihirelinpulvan ค้นได้แต่รูปร่างคล้ายๆ คือ Girija-pati แปลว่า “ผู้เป็นเจ้าแห่งคิริชา” เป็นวิเศษณนามของพระอิศวร คิริชา แปลว่า “เกิดแต่เขา” เป็นวิเศษณนามของพระอุมา เหตุว่าพระอุมานั้นเป็นลูกเขาหิมวัต จะถูกตัวหรือไม่ถูกไม่แน่ ดูอยู่ข้างจะห่างเหินแต่เสียงใกล้กว่านี้ที่เป็นชื่อเทวดาหาไม่พบ

๒. Śamanboksel นี่ตามเอาตัวได้คือ Samanta-bhuj ศมัน์ต-ภุช์ และ Śamanta-bhuk ศมัน์ตฺ-ภุก์ ก็มีแปลว่า “กินหมด” เป็นวิเศษณนามของพระเพลิง ทางลังกาเห็นจะใช้ Samanta-bhaksha ศมัน์ต-ภักษ กระมังจึงมีเสียง S ต่อท้าย bhui, bhuk, bhaksh แปลว่ากินเหมือนกันใช้ได้อย่างเดียวกัน เทวราชองค์นี้ไม่มีผิดแน่ สร้างไว้สำหรับทำพลี อ้อนวอนขอช่วยบันดาลให้ฤดูเป็นไปดี และเพื่อเป็นล่ามถึงเทวราชทั้งหลาย ในเมื่อปรารถนาจะขอพรต่างๆ ด้วย

๓. Vibhishana นี่พิเภษณ รู้จักตัวไม่ต้องค้นหาสร้างไว้บูชาเป็นพระภูมิเจ้าที่ เพื่อให้ช่วยปกปักรักษาให้บ้านเมืองเป็นสุข ที่เลือกเอาเจ้าลังกาองค์นี้เป็นที่สักการบูชา เพราะปรากฏว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในศีลในธรรมมากกว่าองค์อื่น

๔. Skandakumara นี่ก็รู้จักไม่ต้องตาม คือ สกันทกุมาร ผู้เป็นเจ้าแห่งการรณรงค์สร้างไว้บูชา เพื่อให้ช่วยอำนวยชัยชนะศัตรู

ถ้าคิดถึงทางประจุทิศ พระอิศวรต้องนับเป็นที่ ๑ เพราะเป็นมหาเทวะ ควรแก่ทิศบูรพา พระเพลิงเป็นล่ามของเทวดาทั้งหลาย ต้องเป็นที่ ๒ ก็ควรวางทิศขวา พระพิเภษณเป็นแต่เจ้าของที่ วางไว้ทิศตะวันตก ก็พอควรแก่เกียรติยศแล้ว พระสกันทกุมารนั้นต้องวางทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศที่ต่อแผ่นดินใหญ่จะได้คอยดูป้องกันศัตรู ซึ่งเวลาแรกนั้นก็จะมาได้ทางนั้นทางเดียว คิดเห็นลงระเบียบตามลำดับหมดดังนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ