วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัดถ์ ลงวันที่ ๘ เดือนนี้ โปรดประทานข้อความเรื่องพราหมณ์ ตามที่ทรงค้นได้จากหนังสือดือบัวนั้น เป็นพระคุณอย่างยิ่ง

๑. ที่ได้ความว่าฮินดูนับรอบ ๖๐ ปีนั้นดีนัก เป็นพยานข้อที่ทรงสันนิษฐานไว้เป็นอันถูกทีเดียว

๒. วิธีทำศพนักบวชศุนยาษีนั้นจับใจมาก ทำให้นึกถึงชื่อตาแขกพราหมณ์อัตมสัญญาศรี ที่ขี้หกเหลือล้นนั้น มาแปลออกว่าจะต้องเขียนอาตมศุนยาษี หรือ อาตมศุนยรษี เห็นจะเป็น ๓ คำต่อกัน อาตมัน ว่า ชีวิต ศุนย ว่า เรือนร้าง ฤษี ว่า ผู้สำเร็จ รวมความว่าผู้สำเร็จชีวิตอยู่ในเรือนร้างเช่นนั้นกระมัง ศุนยรษี เป็น ศุนยาษี อาจเป็นเสียงทมิฬ ผิดด้วยอ่านตัว ร เป็นสระอาไป อย่างพราหมณ์ศาสตรีว่า ชื่อนี้เป็นชื่อยกย่อง นักบวชชนิดหนึ่งเป็นยศมหาตมคัณฑิ คงได้รับความยกยศเป็น อาตมัน คือผู้มีชีวิตใหญ่ เกล้ากระหม่อมเคยพบแขกพราหมณ์ในรถราง มีคนทักถาม แกตอบมีท่วงทีเป็นผู้รู้ ทำให้จับใจเกล้ากระหม่อมจึ่งพลอยสนทนาไปด้วย ที่สุดถามว่าท่านชื่อไร แกตอบว่า เขาเรียกว่า วานเรศ ยังนึกขันว่าอะไรชื่อจึ่งเป็นลิง แล้วได้มาเล่าถวายกรมพระจันทบุรี ทรงอธิบายว่า เขาหมายความว่าเป็นผู้ยินดีอยู่ในป่า เป็นชื่อยกย่องนักบวชชนิดหนึ่ง จึ่งเป็นอันเข้าใจได้ว่า เป็นพวกเดียวกับชื่อ อัตมสัญญาศรี ในการที่เอาศพศุนยาษีนั่งสมาธิฝังนั้น แบบใส่โกศทีเดียว ต่อยมะพร้าวบนศีรษะศพก็คือมะพร้าวแก้วล้างหน้าศพตรงทีเดียว

๓. โคปุร โคปุรัม นั่นคือ ประตู ประตูเมืองก็เรียกโคปุร ประตูเข้าเทวาลัยอันตกแต่งด้วยลวดลายเป็นชั้นเชิงก็เรียก โคปุร หมายความว่าประตูเท่านั้น มิได้หมายถึง ทรวดทรง คำว่า ปรางค์ เห็นจะมาแต่ปรางคณ (ปฺร + องฺคณ) แปลว่า ชาลา ว่าทางเดินเข้า เช่นเทวสถานเข้าโคปุรแล้วก็ถึงปรางคณ แล้วจึงถึงเทวาลัย เพราะเป็นของติดต่อปะปนกันอยู่ เลยทำให้เข้าใจไปผิด ๆ คำว่า ปรางค์ แม้บัดนี้ก็ยังเข้าใจเป็น ๒ อย่าง ว่าที่อยู่ก็ได้ ว่ายอดรูปดอกข้าวโพดก็ได้

๔. ชื่อเสียงแห่ง คมุต หรือ คมัต ของฮินดู (Indian gamut) จะเป็นอะไรไม่ทราบ คงเป็นเครื่องสายชนิดหนึ่ง มี ๗ เสียง เรียงกันได้ชื่อดังนี้

๑. นิษาทะ หรือ นิษทะ เป็นเสียงสูงที่สุด

๒. ฤษภะ (โค)

๓. คานฺธาระ

๔. มธฺยมะ (กลาง)

๕. ปฺจะ (ห้า)

๖. ไธวตะ

๗. ฆรฺธระ เป็นเสียงต่ำที่สุด

และว่าเสียงเหล่านี้เขียนละก็ได้ เช่น ฤษภะ เขียน ฤ ตัวเดียว จึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าอักษรชื่อเสียงของดือบัว เป็นอักษรชื่อละ ลองปรับดูก็ได้มาก แต่ไขว้เขวไปบ้างดั่งนี้

สะ น่าจะลัดไปเอา ษทะ
ริ ฤษภะ ลงที่
ฆะ ฆรฺธระ ไขว้
มะ มธฺยมะ ลงที่
ปะ ปฺจะ ลงที่
ดะ ไธวตะ ลงที่
สิ ไม่ได้เค้า  

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ