วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ดร

สำนักดิศกุล, หัวหิน.

วันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๖ หม่อมฉันมีความยินดีที่ทรงพระดำริจะเขียนลายพระหัตถ์ทุกวันพุธต่อไป ด้วยความหวังนี้จะได้อะไรโดยกำหนดแน่ทำให้เกิดผาสุกได้อย่างหนึ่ง อย่างเขาว่า “นับวันคอยถ้า” ฝ่ายหม่อมฉันก็จะพยายามเขียนส่งจากนี่วันเสาร์ให้ได้ทรงรับในวันอาทิตย์เสมอไป

๑. เรื่องแต่งตัวแบบเครื่องเฝ้า ที่หม่อมฉันทูลไปในจดหมายฉะบับก่อน ดูเหมือนจะยังไม่เข้าพระทัยดังหม่อมฉันเจตนา อันว่าเครื่องแบบที่เราจะแต่งนั้น หม่อมฉันเห็นว่าควรแต่งอย่างเครื่องเฝ้าเปนนิตย์ ถึงจะแต่งเครื่องกระทรวงใดได้ก็ไม่ควรแต่ง อันนี้เปนองค์ศีลที่มีจดหมายทูลปรารถนาด้วยนึกว่าแบบเครื่องเฝ้านั้นเอง ดูเหมือนพระราชกำหนดใหม่จะบังคับเปลี่ยนแปลง แต่หม่อมฉันก็ไม่มีตัวพระราชกำหนดอยู่ที่นี่ จึงได้ทูลมาตามความเข้าใจว่าบังคับให้ใช้เสื้อขาวกางเกงขาว มีแผงคออย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าในพระราชกำหนดใหม่ไม่กล่าวถึง หรือไม่บอกเลิกเครื่องแต่งตัวแบบเครื่องเฝ้าไซร้ เราก็คงใช้เครื่องเฝ้าอย่างเดิม เพราะการที่เข้าเฝ้าจำต้องแต่งตัว เราไม่มีตำแหน่งในกระทรวงอื่นก็ต้องแต่งเครื่องเฝ้าให้ตรงตามฐานะ จะไปอาศัยเครื่องแต่งตัวทหารหรือเครื่องพลเรือนกระทรวงอื่นซึ่งเรามีแต่กิตติมศักดิ์เห็นว่าไม่ถูก เพราะคนอื่นเช่นเราแต่ไม่มีกิตติมศักดิ์ยังมีอีก จะหนีเขาเอาตัวรอดหาควรไม่ หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้ ขอให้ทรงตรวจพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวที่ออกใหม่ดูว่าจะเปนอย่างไร

๒. ที่กระทรวงวังมาทูลหารือท่านด้วยเรื่องกิจการพระราชพิธีต่าง ๆ แล้วเอาไปให้ 卐 พิพากษาว่าจะควรประการใดนั้น หม่อมฉันเห็นว่าเปนด้วยความขลาดเขลากลายเปนลบหลู่ ถ้าว่าโดยปกติเช่นเคยเปนมา การเช่นนี้มีแต่ ๒ อย่าง คือพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสสั่งให้ทูลปรึกษาท่าน ๆ ทรงพระดำริเห็นอย่างไรก็กราบบังคมทูล เมื่อพระเจ้าอยู่หัวพอพระราชหฤทัยอย่างไรก็ทรงแก้ไขหรือไม่แก้ไขตามพระราชอัธยาศัย อีกอย่างหนึ่งถ้ากรมวังปรึกษาเอง ท่านทรงพระดำริเห็นอย่างไรตรัสให้ทราบ ถ้ากรมวังไม่แน่ใจจะชอบด้วยพระราชอัธยาศัยหรือไม่ ก็กราบบังคมทูลขอเรียนพระราชปฏิบัติ ที่จะเอาไปให้ผู้อื่นตรวจแก้หาชอบไม่ ความที่ทรงรำคาญในเรื่องนี้หม่อมฉันขอทูลเสนอทางแก้ไข ว่าคราวนี้ถ้ากรมวังมาทูลหารือเรื่องพระราชพิธีอันใด ควรจะตรัสตอบว่าตำหรับตำราก็มีอยู่แล้วในกระทรวงวัง ให้เขาทำระเบียบการขึ้นตามความคิดของเขา แม้ส่งระเบียบการมาถวายให้ตรวจก็ได้ ถ้าเปลี่ยนเปนเช่นนั้นการที่ท่านจะต้องทรงทำ ก็เพียงติระเบียบที่กรมวังทำซึ่งเขาจะเอาก็ได้ไม่เอาก็ได้ หรือเขาจะเอาไปปรึกษาใครต่อใครอีกก็ได้ เช่นนี้จึงจะพ้นความรำคาญ หรือจะทรงพระดำริเห็นอุบายอย่างอื่นประการใดก็สุดแต่พระปัญญา เมื่อบอกให้เขียนความตรงนี้หญิงพูนแอบมาได้ยิน บอกว่ามีอุบายอีกอย่างหนึ่ง คือเสด็จออกมาเสียให้ห่างอย่าให้เขารบกวนเป็นดี

มีเรื่องเนื่องด้วยระเบียบการพระราชพิธีที่ตรัสเล่ามาอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งเคยสดุดใจหม่อมฉันเมื่อสองสามวันมานี้ เจ้าพระยาวรพงศฯ ออกมาหัวหิน แวะมาหาหม่อมฉัน พูดกันถึงเรื่องงานพระเมรุ หม่อมฉันถามขึ้นว่าพระศพกรมหลวงสมรรัตนฯ จะได้ทรงพระโกษฐ์ทองใหญ่หรือไม่ เจ้าพระยาวรพงศฯ ว่าข้อนี้กำลังปรึกษากันอยู่ หม่อมฉันออกปลาดใจด้วยตามแบบแต่ก่อนมาพระศพเจ้านายพระองค์ใดได้พระราชทานพระโกษฐ์กุดั่นใหญ่ตั้งที่วัง เวลาออกพระเมรุย่อมพระราชทานพระโกษฐ์ทองใหญ่ไม่มีเว้น หม่อมฉันยังจำได้เมื่อครั้งกรมหลวงนครชัยศรีฯสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จออกมาซ้อมเสือป่าอยู่ที่บ้านโป่ง เสด็จกลับทางรถไฟไปพระราชทานน้ำสรงพระศพ หม่อมฉันตามเสด็จไปในรถพระที่นั่งมีพระราชดำรัสว่าจะพระราชทานโกษฐ์กุดั่นใหญ่ให้ทรงพระศพ หม่อมฉันได้กราบทูลว่าโกษฐ์กุดั่นใหญ่นั้นถือกันว่านำโกษฐ์ทองใหญ่ ได้มีพระราชดำรัสตอบว่าเพราะจะพระราชทานโกษฐ์ทองใหญ่เมื่อออกพระเมรุ จึงโปรดฯ ให้ทรงโกษฐ์กุดั่นใหญ่ตั้งที่วัง

๓. เรื่องแต่งฉันท์สดุดีสังเวยด้วยวิธีประมูลและตั้งกรรมการนั้น ถ้ากรมหมื่นพิทยาฯ ไม่ยอมส่งก็ถูกของเธอ.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๕) พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงเป็นต้นราชสกุล “จิรประวัติ”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ