วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๙ ประทานมาแต่หัวหินฉะบับหนึ่ง กับลงวันที่ ๑๓ ประทานที่กรุงเทพฯ นี้อีกฉะบับหนึ่ง ได้รับประทานแล้ว เป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง

เรื่องแต่งขาวดำและเครื่องแบบในงานพระเมรุครั้งนี้ เกล้ากระหม่อมเห็นชอบด้วยพระดำริ จะปฏิบัติตามนั้น เว้นแต่งานเจ้าพระยาสุรศักดิ

ร้านขายเครื่องกินเครื่องดื่ม ซึ่งตั้งอยู่มากมายริมท้องสนามหลวงนั้นได้สังเกตเห็น แต่ที่มีการขายยาดองกันมากที่นั้นยังไม่ทราบ เพราะไม่ได้เอาใจใส่ ส่วนการกินยาดองเป็นสมัยนิยมกันนั้นทราบ พวกนักเลงเสพย์เรียกกันว่า “ยองดา” ชื่อของยาดองนั้นก็คิดตั้งกันแปลก เป็นไปในทางให้ฟังร้ายแรง เช่นยาดองงูเห่าเป็นต้น แต่จะทำด้วยงูเห่านั้นหามิได้ ที่จริงยาดองมีขายตามร้านเหล่านั้นเห็นมานานแล้ว มียาห่อผ้าดั่งลูกประคบแช่เหล้าอยู่ในขวดโหล แต่เห็นจะไม่ค่อยมีคนนิยมกินกันมากมัก เขาว่าสำหรับผู้หญิง เพื่อจะเหลื่อมแฝงว่ากินยา ไม่ได้กินเหล้า ที่มาเกิดนิยมกันทั่วไปในสมัยนี้ คงเกิดจากพวกขายเหล้าเห็นอุบายขึ้น การขายเหล้าต้องรับอนุญาตและต้องขายอยู่ในที่มีเขตต์กำหนด การขายยาไม่มีกฎหมายบังคับ จึงเอายาดองไปเที่ยวเร่ขายก็คือเร่เหล้าขายนั้นเอง ทำให้เป็นทางพอใจนักเลงสุรา ที่ไม่ต้องถ่อร่างไปซื้อเหล้ากันถึงโรง เป็นหนทางที่ขายดีได้ผลมาก ยาดองที่เร่ขายนั้นก็คงจะได้คิดปรุงขึ้นอย่างฉลาด คือให้เสียรสสุราน้อยที่สุด แต่ให้สีผิดจากสุราไปมากเพื่อหลีกกฎหมาย

ที่เขาประกาศเรียกนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ ๙ โรงนั้น มีชื่อโรงเรียนดั่งนี้

๑. พระตำหนักสวนกุหลาบ

๒. สวนกุหลาบวังหน้า

๓. สวนกุหลาบวัดมหาธาตุ

๔. สวนกุหลาบไทย

๕. สวนกุหลาบอังกฤษสุนันทาลัย

๖. สวนกุหลาบสายสวลี

๗. สวนกุหลาบราชบูรณะ

๘. สวนกุหลาบเทพศิรินทร์

๙. สวนกุหลาบวิทยาลัย

ไม่ได้คิดเลยว่าโรงเรียนสวนกุหลาบจะมีมากถึงเท่านี้

ตั้งใจจะเขียนอะไรมาถวายให้ทรงทราบแปลก ๆ แต่นึกไม่ออกเพราะเหนื่อยเต็มที

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ