วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ ดร

สำนักดิศกุล, หัวหิน

วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ได้รับประทานลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑ อ่านด้วยความยินดีเพลิดเพลินขอทูลสนองตามที่ได้สัญญาไว้

๑. เรื่องเครื่องแต่งตัวอย่างขอเฝ้านั้น หม่อมฉันก็ได้พระราชบัญญัติมาตรวจดูเมื่อเขียนจดหมายถวายไปแล้ว ความเห็นก็ตรงกับพระดำริว่า

ก) พระราชบัญญัตินั้นเปนแต่บอกแก้ไขเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน ไม่ได้เลิกแบบขอเฝ้า

ข) ในพระราชบัญญัติไม่ได้กล่าวถึงเครื่องแบบขอเฝ้า แปลว่าไม่ได้ห้ามมิให้แต่ง

ขอให้เข้าใจกันเปนยุติว่าเราจะแต่งเครื่องแบบขอเฝ้าอย่างเก่าต่อไป จนกว่าจะมีคำสั่งห้ามหรือให้แต่งเปนอย่างอื่น

๒. เรื่องกิจการเกี่ยวด้วยพระราชพิธีดังประทานอธิบายมาดูก็น่าทุเรศ เปนความลำบากจะแก้ไขยาก

๓. เรื่องโกษฐ์พระอัสฐินั้น กระทรวงพระคลังก็จะเกี่ยงให้ใช้เงินพระคลังข้างที่เท่านั้นเอง ลงปลายก็เห็นจะเปนเช่นนั้น แต่เรื่องโกษฐ์พระศพก็ดี โกษฐ์พระอัสฐิก็ดี มันไม่มีหลักเสียแล้วจะใช้อย่างใดก็ได้ พระศพเจ้านายวังหน้ากลับจะสดวกดี ด้วยอาจเอาโถแก้วที่ในราชบัณฑิตยสภาไปรับพระอัสฐิตรงไปบรรจุที่วัดชนะสงครามได้ทีเดียว แต่เจ้านายวังหลวงนั้นยังลำบาก ด้วยพระอัสฐิยังจะต้องเอาไปตั้งไว้ที่หอพระนาค

๔. คราวนี้นึกเรื่องอะไรที่จะเขียนบันเลงออกจะข้น เมื่อวานนี้พระยาโบราณฯ ออกมาหัวหิน มากินเข้ากลางวันด้วยกัน ได้สนทนากันลงมติความ ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ เนื่องจากเห็นในหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ กล่าวถึงประวัติวัดขุนญวน เห็นว่าจะเปนวัดเก่าก่อนวัดศาลาปูน และคำว่า “ขุนญวน” นั้นคงหมายความว่า “เจ้าเชียงใหม่” หรือเมืองใดเมืองหนึ่งในมณฑลพายัพเปนผู้สร้าง ส่วนเรื่องตำนานของวัดตอนทูลกระหม่อมเสด็จขึ้นไปทรงปฏิสังขรณ์นั้น ผู้แต่งตำนานไม่รู้เรื่องเลอียด เท่าที่ท่านธรรมราชา (อาจ) เล่าให้หม่อมฉันฟัง ว่าเมื่อทูลกระหม่อมทรงผนวช โปรดเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรโบราณสถานที่พระนครศรีอยุธยาเนือง ๆ ทรงปรารภกับพระธรรมราชา (คุ้ม) ว่าใคร่จะมีที่สำหรับประทับสักแห่งหนึ่ง เวลานั้นวัดขุนญวนร้างอยู่และอยู่ใกล้ชิดกับวัดศาลาปูนที่พระธรรมราชา (คุ้ม) อยู่ จึงถวายวัดขุนญวนให้เปนที่ประทับ ดังนี้ พระธรรมราชา (คุ้ม) เห็นจะมีอุปการคุณอย่างอื่นอีก ครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปประพาสวัดศาลาปูน ทอดพระเนตรเห็นพระเจดีย์องค์หนึ่งอยู่ข้างทางขึ้นจากท่าไปเข้าโบสถ์ มีศิลาจารึกติดอยู่ ตรัสว่าพระเจดีย์องค์นั้นทูลกระหม่อมเสด็จไปประทานพระกฐินคราวใด เคยทรงจุดธูปเทียนบูชาทุกคราว โปรดฯ ให้หม่อมฉันไปอ่านศิลาจารึก ก็ได้ความว่าเปนที่บรรจุธาตุของพระธรรมราชา (คุ้ม)

อีกข้อ ๑ นั้น พูดวันถึงเครื่องมุกด์ที่ทำครั้งกรุงศรีอธุธยา ซึ่งปรากฎว่ามาจากวัดบรมพุทธารามนั้น สังเกตดูแบบอย่างเปน ๒ รุ่น รุ่นหลังเปนของครั้งพระเจ้าบรมโกษฐ์ แต่ยังมีเก่ากว่านั้นบางชิ้น เช่น ลายบานตู้มุกด์ใบที่ ๒ ของทูลกระหม่อมชาย ที่มีรูปพระอินทร์กับพระนารายณ์ น่าสันนิษฐานว่าจะเกิดขึ้นในรัชชกาลพระเจ้าเสือสร้างเพิ่มเติม ที่วัดบรมพุทธาราม ซึ่งทำนองจะยังสร้างไม่สำเร็จบริบูรณ์ในรัชชกาลสมเด็จพระเพทราชา ด้วยมีหลักฐานว่าการช่างเจริญขึ้นในรัชชกาลพระเจ้าเสือ ถึงสามารถซ่อมแปลงมณฑปพระพุทธบาทแก้ทำเปน ๕ ยอด รูปภาพก็คล้ายกับวัดใหญ่ที่เมืองเพ็ชรบุรี ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ผู้เปนนายงานมณฑปพระพุทธบาทเปนผู้สร้าง รวมความว่าบานประดับมุกด์นั้นเริ่มเกิดขึ้นในรัชชกาลพระเจ้าเสือ แล้วเจริญสืบมาถึงรัชชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์ ตลอดจนในรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร

๕. มีอีกเรื่องหนึ่งเพิ่งนึกได้เวลาเขียนหนังสือนี้ หม่อมฉันได้เห็นในหนังสือพิมพ์ว่ามีสมาคมตั้งขึ้นใหม่ เรียกว่า “สมาคมพุทธมามก” พระยาศรีราชอักษร ซึ่งเปนศิษย์ในสำนักวัดราชบพิธฯ เปนนายก นัยว่าตั้งด้วยอนุมัติของสมเด็จพระสังฆราชฯ และมีพระมหาเปรียญเจ้าเปนสมาชิกหลายองค์ ได้ทราบเพียงเท่านี้ มูลเหตุที่ตั้งสมาคมนี้ และวัตถุที่ประสงค์ที่แท้จริงเปนอย่างไรท่านทรงทราบหรือไม่ ที่ทูลถามมาเพราะบางทีเณรงั่วจะรู้เรื่องทางวัดมาเล่าถวาย

๖. โปรแกรมของหม่อมฉันคิดว่าจะกลับเข้าไปกรุงเทพฯ ราววันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ และจะพักอยู่ในกรุงเทพฯ จนวันที่ ๗ หรือวันที่ ๘ เมษายนศกหน้า จึงจะกลับออกมาหัวหินอีก.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  2. ๒. จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๕) เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นต้นราชสกุล “บริพัตร”

  3. ๓. พระยาศรีราชอักษร (มา กาญจนาคม)

  4. ๔. หม่อมเจ้าเพลารถ จิตรพงศ์ โอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔) เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ขณะนั้นผนวชเณรอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ