วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๓ เดือนก่อน ได้รับประทานแล้ว พออ่านถึงข้อพระดำริ ซึ่งกิจที่เราควรจะทำในวันหยุดที่ ๒๗ มิถุนายนนั้นก็ต้องหัวเราะ แล้วส่งให้หญิงอามอ่าน ก็หัวเราะเหมือนกัน ที่จริงเราควรจะประกอบการกุศลสักอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องไม่ให้เห็นไปเปนทางว่าแสดงความพยาบาท

เรื่องพุทธมามกสมาคม ต้องเป็นอย่างที่ทรงพระดำริแน่ทีเดียว บัญชีรายชื่อผู้ก่อการในสมุดที่ถวายมา นายถมชื่อต้นนั้น ทราบต่อมาว่าคือ นายถม ธรรมปาโมกข์ ที่กินเหล้าทั้งเป็นพระ การที่มีผู้ออกความเห็นว่าคติคอมมิวนิสม์เหมือนพระพุทธศาสนานั้น เกล้ากระหม่อมก็ได้ทราบเหมือนกัน แต่ทราบน้อยไปไม่ถึงว่าแสดงในที่ประชุมสมาคมและเกิดโต้เถียงกัน สมัยนี้สมาคมต่าง ๆ กำลังตั้งขึ้นมากมาย คิดว่าไม่ช้าจะถึงสมัยสมาคมล้มระเนระนาศเพราะไม่มีเงินพอใช้ พระดำรัสสมเด็จพระพันวัสสาตอบสมาคมกรรมกรดีเต็มที

ได้ทราบว่าหีบพระธรรมนูญนั้น นายประยูรได้ไปมอบให้พระพรหมพิจิตรเขียนแบบ ทีจะรู้แกวมาแต่ไหนว่าพระพรหมพิจิตรนับถือติดต่ออยู่ด้วยเกล้ากระหม่อม พระพรหมพิจิตรหนักวิ่งมาหา แต่เกล้ากระหม่อมไม่ค่อยสบาย แม่โตจึงกันไว้เสียเลยไม่ได้พบกัน

ข่าวว่ากรมหมื่นพิทยาลงกรณเข้าไปตามหาพระพุทธรูปสำหรับโรงเรียนสวนกุหลาบที่ในพระบรมมหาราชวัง เห็นจะเกี่ยวแก่การที่จะฉลองโรงเรียนสวนกุหลาบนับแต่ตั้งมาได้ ๕๐ ปี แต่พระอะไรสำหรับโรงเรียนนั้นมีไม่เคยทราบเลย ข่าวว่ายกเอาไป ๓ องค์ เกินไป ๒ องค์

พระยาโบราณมาหาเยี่ยมเยียนเกล้ากระหม่อม สนทนากันไปถึงเรื่องผู้ร้ายาขุดพระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ ว่าได้แผ่นทองจารึก เทศาภิบาลตามเอามาได้ว่าในนั้นมีชื่อเจ้าแม่อะไร พระยาโบราณก็เหลวจำไม่ได้ เกล้ากระหม่อมหวังว่าฝ่าพระบาทคงจะได้ทรงทราบข่าว พอที่จะตรัสเล่าให้ทราบได้ดีกว่านั้นบ้าง

คำว่า “โต๊ะ โตก โพง พาน” เข้ามาสู่ความคิด โต๊ะกับโตกเป็นวัตถุอันเดียวกัน เป็นคำคู่ปรับเสียงชาวใต้กับชาวเหนือประกับกันไว้ อย่างเดียวกับเสื่อสาดอาสน แถมบาลีเข้าประกับด้วย ทำให้สงสัยไปว่าโพงพานจะเป็นวัตถุอันเดียวกันเหมือนกันเสียดอกกระมัง คำโพงนั้นอาจยืดเป็นพโอง ตามที่มีในหนังสือนิทราชาคริชว่า “พานพโองเอก” ซึ่งแปลกันย่ำแย่มาแล้วนั้นก็ได้ แล้วยังได้พบที่ไหนอีก พโองติดกับพานอยู่เหมือนกัน แต่โพงนั้นเป็นชื่อเครื่องวิดตักน้ำมีอยู่ จึงทำให้งันไป ไม่กล้าลงความเห็นเด็จขาดไปได้ กรมหลวงสรรพสิทธิ์ตรัสว่า พานนั้นทางอุบลเขาเรียกว่า “พา” ทรงพระดำริว่าจะมาแต่คำภาชน

งานพระศพสมเด็จชาย ตรัสสั่งให้เลื่อนถอยลงไป ๗ วัน กรมวังจึงหมายแก้เป็นเริ่มงานวันที่ ๗ สุดงานวันที่ ๙ แทนเริ่มงานวันที่ ๑ สุดงานวันที่ ๓ แต่บัดนี้ได้ยินว่าไม่เอาแล้ว จะแก้เปลี่ยนไปใหม่อีก น่ารำคาญ

การงานที่ไหนเกล้ากระหม่อมไม่ได้ไป เพราะกลัวจะทำให้เจ็บมากขึ้น บัดนี้สบายแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

ป.ล. เมื่อเขียนหนังสือนี้แล้ว ได้ทราบมาว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จกลับกรุงเทพฯ วันที่ ๑๑ และในวันที่ ๑๑ นั้นเองก็จะเริ่มงานพระศพสมเด็จชาย พระราชทานเพลิงวันที่ ๑๒ เก็บพระอัฏฐิวันที่ ๑๓ และในวันที่ ๑๓ นั้นก็จะเริ่มงานพระศพกรมหลวงสมรกับกรมพระนราติดไป พระราชทานเพลิงวันที่ ๑๔ เก็บพระอัฏฐิวันที่ ๑๕ ฝ่าพระบาทคงต้องเสด็จกลับเหมือนกัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

<น>

  1. ๑. พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์)

  2. ๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔) พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นต้นราชสกุล “ชุมพล”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ