วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชาทุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัตถ์ ๓ ฉะบับในเรื่องเดียวกัน ซึ่งทรงพระปรารภถึงเครื่องหมายเสียงสูงต่ำในอักษร คือไม้เอกโทตรีจัตวา ว่าจะเกิดมีขึ้นเมื่อไร และชาวเรากับชาวเหนือชาวใต้พูดสำเนียงไม่เหมือนกัน ไม้เครื่องหมายเสียงนั้นจะมีประโยชน์ตลอดไปได้อย่างไร ได้ถือรับสั่งตรวจตราพิจารณาแล้ว ขอถวายรายงานการตรวจพร้อมด้วยความเห็นต่อไปนี้

ไม้เอกโทนั้น ได้พบในหนังสืออันแก่ที่สุดก็ที่จารึกหลักศิลาของขุนรามคำแหงเมืองสุโขทัย แต่ไม้โทเขียนเป็นกากบาทเหมือนไม้จัตวาที่เขียนกันในเวลานี้ ตามที่เขียนเช่นนั้นเป็นสมด้วยชื่อ ไม้เอกแปลว่า ไม้อันเดียวขีดเดียว ไม้โทแปลว่าไม้สองอันขีดก่ายกันเป็นกากบาท ต่อมาภายหลังเขียนอย่างง่ายๆ ไม่ยกเหล็กจาร ทุกวันนี้จึ่งกลายรูปเป็นไม้สองอันต่อกันเป็นมุมฉาก ข้อความในหนังสือที่จารึกในหลักศิลาอันนั้น มีว่าแต่ก่อนหนังสือไทยไม่มี ขุนรามคำแหงได้คิดบัญญัติขึ้น แต่ฟังตามนี้มิได้ทำให้เข้าใจไปว่า แต่ก่อนไทยเขียนหนังสือไม่เป็นเลย เข้าใจเพียงว่าแต่ก่อนไทยใช้หนังสือขอมตามเขมร ซึ่งเวลานั้นเขมรกำลังมีอำนาจรุ่งเรือง มีพยานที่หลักศิลาในเมืองสุโขทัยรุ่นราวคราวเดียวกันจารึกหนังสือขอมมีอยู่ ขุนรามคำแหงตั้งใจจะแยกไทยออกนอกอำนาจเขมร ตั้งตัวเป็นชาติอิสสระ จึ่ง คิดดัดแปลงตัวหนังสือขอมให้เป็นรูปอื่น บัญญัติให้เป็นหนังสือไทย คงจะได้คิดและบังคับให้ใช้กันมานานแล้ว ที่จารึกลงหลักศิลานั้นคงเป็นภายหลังเมื่อเขียนอ่านกันได้คล่องแล้ว เมื่อแรกคิดแปลงเป็นหนังสือไทยขึ้น จะคิดไม้เอกโทขึ้นพร้อมกันมาทีเดียว หรือจะคิดเติมขึ้นต่อภายหลังนั้นทราบไม่ได้ แต่คิดว่าคงจะยังไม่มีไม้เอกโทมาก่อนเหมือนกันกับหนังสือขอม เมื่อเห็นความจำเป็นที่ควรมีจึ่งคิดเติมขึ้นทีหลัง แต่อย่างไรก็ดี เมื่อจารึกหนังสือไทยลงหลักศิลานั้นมีไม้เอกโทแล้ว หลักศิลานั้นเป็นหนังสือไทยที่จารึกในแผ่นดินขุนรามคำแหง และมีความปรากฎว่าขุนรามคำแหงเป็นผู้คิดหนังสือไทย ก็ต้องถือว่าไม้เอกโทมีมาพร้อมแต่แรกคิดหนังสือไทยในครั้งขุนรามกำแหงนั้น

ไม้ตรีจัตวานั้นมั่นใจทีเดียวว่าคิดเติมขึ้นภายหลัง ใช้ชื่อต่อไม้เอกโทแต่คิดรูปไม่สมชื่อ ไม้ตรีควรจะเป็นไม้สามอันหรือเลข ๓ แต่ไพล่ไปเป็นเลข ๗ ไม้จัตวาควรจะเป็นไม้สี่อันหรือเลข ๔ แต่ไพล่ไปเป็นกากบาทซ้ำไม้โทรูปเดิม เมื่อรู้อยู่ว่าเป็นของคิดขึ้นภายหลังแล้ว ก็จำต้องค้นหาต่อไปว่ามีขึ้นเมื่อไร จะดูหนังสือใดๆ ก็เห็นว่าจะยึดเอาเป็นหลักไม่ได้ เพราะลอกคัดต่อ ๆ กันมาก็เขียนแก้ไปตามอักขรวิธีที่ใช้กันอยู่ในเวลาคิดนั้น เห็นอยู่ก็แต่หนังสือตำราเรียนว่าพอจะยึดเอาเป็นหลักได้ ด้วยว่าเวลาแต่งตำราเรียนนั้น ถ้ามีไม้อะไรใช้บ้างก็คงจะจำแนกลงไว้ จึ่งได้จับหนังสือตำราเรียนเก่า ๆ ดู

หนังสือจินดามณี มีความปรากฎตามคำกลอนในเนื้อเรื่อง ว่าขุนโหรชาวโอฆบุรีข้าพระเจ้าแผ่นดินแต่ง แต่ที่จ่าหน้าเขียนว่าพระโหราแต่งถวายสมเด็จพระนารายณ์ จัดว่าเป็นหนังสือเรียนที่เก่ากว่าฉะบับอื่น หนังสือนั้นตั้งต้นสอนให้แต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน บอกเครื่องหมายเสียงมีแต่ไม้เอกโทว่าดั่งนี้

“อักขรเป็นหมู่ สอสามเป็นคู่ ไม้ม้วนไม้มลาย

ไม้เอกไม้โท เป็นคู่หมู่หมาย ปรติหารปรกาย ฝนทองฟองดัน”

ตอนต้นนี้ไม่ได้กล่าวถึงไม้ตรีจัตวา แต่ตอนหลังเสร็จสอนแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนแล้วกลับย้อนไปสอน ก ข ก กา มีบอกเครื่องหมายเสียงพร้อมทั้งไม้เอกโทตรีจัตวาว่าดั่งนี้

“ษ ศ ส ญ ย นี้ ใครถวิล
่  ้  ๊  ๋ พินทุ ชอบรู้
ไ ใ ใส่โดยจิน ดาแม่น
คือว่าท่านนั้นผู้ ฉลาดแท้เมธา”

ทำไมตอนหลังจึ่งมีครบ ๔ ไม้ ตอนต้นจึ่งมีแต่ ๒ ไม้ เมื่อใครครวญก็เห็นความวิปลาสอยู่ สอนแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน อันเป็นวิชชาชั้นสูงก่อนสอน ก ข ก กา อันเป็นวิชชาชั้นต้นนั้นหาควรไม่เลย เห็นว่าพระโหราแต่งจินดามณีนั้น โดยประสงค์จะสอนกุลบุตรในวิชชาชั้นสูง ให้รู้แต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนเท่านั้น ภายหลังมีใครผู้ใดผู้หนึ่งเห็นว่าควรจะมีวิธีสอนให้ตลอด จึ่งแต่งระเบียบสอน ก ข ก กา ต่อเข้า ฝีปากที่แต่งก็เห็นได้ว่าผิดกันเป็นกอง ยุคที่แต่งต่อนั้นจะเป็นครั้งไหนทราบไม่ได้ แต่เป็นอันว่ามีไม้เครื่องหมายเสียงครบ ๔ อย่างแล้ว ส่วนตอนต้นจะว่ายุคแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ยังมีไม้เครื่องหมายเสียงแต่ ๒ อย่างเท่านั้นหรือ ก็ว่าลงไปไม่ได้ถนัด เพราะการแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนมีบังคับที่ใช้แต่ไม้เอกโท ท่านจึ่งพูดไว้แต่ไม้เอกโท ส่วนไม้ตรีจัตวาไม่มีที่บังคับให้ใช้ในโคลงฉันท์กาพย์กลอน ท่านจึ่งไม่พูดถึง เช่นนั้นก็อาจเป็นได้ ส่วนในตำราเรียนฉะบับอื่น เช่น ปฐมมาลา ปฐม ก กา มีไม้เครื่องหมายเสียงครบ ๔ อย่างแล้วทั้งนั้น หนังสือเหล่านั้นใครแต่งและแต่งเมื่อไร ไม่มีบอกไว้ แต่สังเกตได้โดยถ้อยคำว่าไม่แก่กว่าหนังสือจินดามณี

ตามลายพระหัตถ์ของฝ่าพระบาท ตรัสแจ้งความว่า ได้ทรงตรวจกฎหมายฉะบับ ๓ ดวง ซึ่งเขียนในรัชชกาลที่ ๑ นั้นมีไม้ตรีจัตวา อันนี้เป็นหลักสกัดเบื้องหลัง ว่ารัชชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ มีไม้ตรีจัตวาแล้ว สกัดเบื้องหน้าปรากฎว่ารัชชกาลในขุนรามคำแหงเมืองสุโขทัยยังไม่มีไม้ตรีจัตวา ไม้ตรีจัตวาจะเกิดขึ้นเมื่อไรในระหว่างนั้น ก็ยังเป็นระหว่างที่กว้างเต็มที อันจะต้องค้นหาต่อไปให้ได้ความแคบเขาอีก

ทีนี้จะกราบทูลถึงความที่ปรากฎในใจ หนังสือของพวกเราชาวเมืองที่ใกล้เคียงกัน คือไทยเขมรมอญพะม่าเหล่านี้ ถึงรูปตัวหนังสือจะต่างกันก็ดี แต่รากเหง้าก็เลียนเอาแบบหนังสือในประเทศอินเดียมาด้วยกันทั้งสิ้น แต่หมดด้วยกันทุกแห่ง จะหาว่าใครมีไม้เครื่องหมายเสียงใช้ก็หามิได้เลย เขาว่าไทยใช้คำต่างความกันด้วย เสียงสูงต่ำนั้นเอาอย่างมาจากจีน แต่จีนก็หาได้มีเครื่องหมายเสียงสูงต่ำใช้ไม่ มีแต่ไทยเราพวกเดียว ไทยนอกจากเราไปก็ไม่มีเครื่องหมายเสียงใช้ เห็นเป็นประหลาดที่สุด และฉลาดที่สุดที่คิดไม้เอกโทตรีจัตวาขึ้นใช้ ด้วยมีความจำเป็นที่สุด มีนิทานหลายเรื่องที่เล่าถึงความเข้าใจผิดในเรื่องเสียง เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง อ่านหนังสือพิมพ์เห็นเขาเล่าถึงเรื่องเขาไปเที่ยวแม่ฮ่องสอน ว่าที่นั้นมีพวกไทยเงี้ยวใจบุญอยู่มาก มีคนหนึ่ง ไปขุดบ่อน้ำไว้ริมทางในป่าเปลี่ยว ปรารถนาจะสงเคราะห์แก่คนเดิรทางในที่กันดาร ถ้าหากว่าอยากน้ำจะได้ตักกิน แต่บ่อน้ำนั้นแลลับไปหน่อย เมื่อเดิรอยู่ในทางไม่เห็นบ่อ เกรงคนเดิรทางที่อยากน้ำจะไม่สำเร็จความปรารถนา จึงอุตส่าห์เขียนหนังสือเป็นป้ายบอกไปปักไว้ริมทางว่า ที่นี่มีน้ำ แต่เพราะหนังสือของพวกไทยเงี้ยว ไม่มีเครื่องหมายเสียงสูงต่ำ คนเดิรทางมาอ่านแปรไปว่า ที่นี่หมีหนำ ทำให้ตกใจกลัวหมี วิ่งเตลิดเปิดเปิงไป เลยไม่ได้กินน้ำ นี่เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีไม้เครื่องหมายเสียงเป็นที่สุด

เครื่องหมายเสียงสูงต่ำนั้น น่าจะได้ค่อยคิดจัดขึ้นทีละขั้น ขั้นต้นแบ่งพยัญชนะพวกหนึ่งอ่านเป็นเสียงสูงอย่างถูกไม้จัตวา เช่น ข ฉ เป็นต้น ขั้นนี้เข้าใจว่าเขมรเขาจัดขึ้น เพราะเขมรเขาก็มีอักษรสูงเหมือนกัน หนังสือเขมรมีก่อนหนังสือไทย ต้องเป็นไทยเอาอย่างเขามาไม่ใช่คิดขึ้นเอง ขั้นสองจัดให้ใช้ตัว ห นำจูงเสียงพยัญชนะอีกพวกหนึ่ง ให้อ่านเสียงสูงขึ้นเท่ากับถูกไม้จัตวาก็ได้ ขั้นนี้ไทยเราคิดขึ้นเอง เพราะทางเขมรไม่มีแบบที่ทำเช่นนี้ ขั้นสามเมื่อได้ทำมาสองขั้นเช่นนั้นแล้วยังไม่พอกับเสียงคำที่เราพูด จึ่งคิดเติมไม้เอกโทขึ้นหมายผันเสียงอีกชั้นหนึ่ง ขั้นสี่ภายหลังเมื่อการเขียนหนังสือกวางออกไป ถึงเขียนคำภาษาต่างประเทศ มีภาษาจีนเป็นต้น จึ่งได้เพิ่มไม้ตรีจัตวาขึ้นอีก สำหรับผันอักษร ๗ ตัว คือ ก จ ด ต บ ป อ แต่ที่จริงไม่จำเป็นเลย ถ้าจะจัดให้ใช้ ห นำผัน เป็น กา หก่า หก้า ก้า หกา เสียก็ได้เหมือนกัน แต่ในชั้นแรกมิได้จัดไว้เช่นนั้น ก็เพราะท่านจะเห็นว่ารุงรังเปล่า ๆ ได้ลองคิดดูแล้ว เสียงที่พยัญชนะ ๗ ตัวนั้นถูกไม้ตรีจัตวา มีแต่คำที่เป็นสร้อยเช่น เต้นก๋า หมุนจี๋ วิ่งตื๋อ เป็นต้น อันไม่จำเป็นจะต้องเขียน ท่านจึ่งกำหนดไว้ให้พยัญขนะ ๗ ตัวนั้นผันแต่ ๓ เสียง

เครื่องหมายเสียงผันอักษร ย่อมเป็นของใช้ไม่ได้ตลอดดินแดนไทย จริงอย่างฝ่าพระบาทตรัส เพราะว่าต่างถิ่นไปเสียงก็แปร่งไป จะได้เครื่องหมายเสียงอย่างเดียวกันไม่ได้ จึ่งทรงพระดำริว่า หรือหนึ่งเขาจะเขียนไว้พอเป็นเครื่องหมายเท่านั้น เช่น ม้า ใครจะเคยเรียกว่าม่าก็ตามที แต่เมื่อเขียน ม้า แล้ว ให้พึงเข้าใจว่าสัตวพาหนะ ขอประทานโทษ เห็นว่าจะเป็นเช่นนั้นไม่ได้ เพราะหนังสือไทยมิได้เอาอย่างจากหนังสือจีน ซึ่งคิดขึ้นด้วยอาศัยรูปเป็นหลัก เช่นเขียนเป็นวงจุดกลาง ใครจะอ่านว่า ยิด หรือว่า ยี่ ก็ ตามที ให้พึงเข้าใจว่าดวงพระอาทิตย์ หนังสือไทยเราหาได้เดิรทางนี้ไม่ เราเดิรทางเขียนตามเสียงแบบอินเดีย เพราะฉะนั้นไม้เอกโทจะต้องเป็นเครื่องหมายเสียงเป็นแน่นอน แท้จริงแรกคิดเครื่องหมายเสียงหนังสือไทยขึ้นนั้นเป็นความคิดสั้น ๆ ด้วยดินแดนไทยเวลานั้นยังแคบเล็ก ยังไม่แผ่ไปกว้างขวางอย่างทุกวันนี้ จะว่าหนังสือไทยคิดขึ้นสำหรับชาวสุโขทัยได้เท่านั้นก็ได้ คำในจารึกหลักศิลาสุโขทัยซึ่งพระสารประเสริฐ ได้สอบมาพบเสียงที่ผิดกับเราชาวกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้ก็มีหลายคำ เช่น คา (ติด) = ฅ้า แข้ง (ขา) = แฅ้ง แต่ความแปลกกันนี้หาเป็นไรไม่ เพราะว่าทุกเขตต์แขวงย่อมพยายามที่จะพูดและจะเขียนให้เหมือนเมืองหลวง เราชาวเมืองหลวงเขียนอย่างไรพูดอย่างไรเขาก็ตาม โรงเรียนก็ตั้งแผ่กว้างออกไปทุกที ในไม่ช้าก็จะพูดจะเขียนเหมือนกันหมด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ