วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ดร

สำนักดิศกุล, หัวหิน

วันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หญิงมารยาตรออกมาถึงหัวหินเมื่อวันที่ ๒ มกราคม เชิญลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑ มาส่งหม่อมฉันฉะบับ ๑ ขอทูลสนองความ ๒ ข้อซึ่งทรงปรารภมาในลายพระหัตถ์ตามพระประสงค์ ดังต่อไปนี้

๑. คำจารึกพระพุทธรูปที่จะตั้ง ณ ศาลาการเปรียญวัดราชาธิวาศนั้น หม่อมฉันเห็นว่าควรจะจารึกดังนี้

“พระพุทธรูปโบราณองค์นี้ เดิมทอดทิ้งอยู่ที่วัดร้างในเมืองเชียงแสน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลพายัพใน พ.ศ. ๒๔๗๐ ตรัสสั่งให้เชิญลงมาปฏิสังขรณ์ให้คืนดีโดยพระราชศรัทธา แล้วโปรดฯ ให้ประดิษฐานเปนพระประธานในศาลาการเปรียญ ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงสร้างไว้ ณ วัดราชาธิวาศราชวรวิหาร

๒. เรื่องเครื่องต้นเครื่องทรงของขุนหลวงตากนั้น มีหลักสำหรับจะวินิจฉัยอยู่ที่ “ตำราเครื่องต้นเครื่องทรง” ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานฉะบับใบลานของเจ้าพระยาศรีรรรมาธิราช (บุญรอด) ไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร (ตำรานั้นได้พิมพ์แล้ว) เปนตำราในสมัยกรงศรีอยุธยาตอนปลาย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) หรือผู้อื่นคงจะได้เขียนขึ้นถวาย หรือได้ฉะบับเต็มมาแต่ครั้งกรุงธนบุรีและคงใช้เปนตำราในกรมภูษามาลาแต่ในสมัยนั้น

วินิจฉัยต่อไปว่าขุนหลวงตากจะใช้เครื่องต้นเครื่องทรงอย่างใดตามตำรานั้นบ้าง เห็นว่าเอาเปนยุติได้ข้อ ๑ ว่า เครื่องต้นเครื่องทรงอันต้องทำด้วยมหัครภัณฑ์ เช่น พระมหามงกุฎ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ หามีไม่ เพราะของครั้งกรุงศรีอยุธยาสูญ และมีหลักฐานในจดหมายเหตุแน่นอนว่าพึ่งมาสร้างขึ้นในครั้งรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เพราะฉะนั้นเครื่องทรงของขุนหลวงตากน่าจะมีแต่ส่วนภูษามาลา แต่คงพยายามทำตามแบบครั้งกรุงศรีอยุธยา ให้คล้ายคลึงกับของเดิมที่สุดที่จะเปนได้

แต่เมื่อคิดดูถึงที่พระเจ้าแผ่นดินแต่งพระองค์ตามที่น่าจะเปนจริงนั้น คำว่า “เครื่องต้น” กับคำว่า “เครื่องทรง” น่าจะหมายความต่างกัน เครื่องต้นหมายความว่าเครื่องแต่งพระองค์และเครื่องราชูปโภค อันเปนเครื่องหมายพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น พระมหามงกุฎ เปนต้น ล้วนเปนของวิเศษ เครื่องทรงนั้นหมายความว่าเครื่องแต่งพระองค์โดยปกติตามสบาย เครื่องต้นนาน ๆ ใช้ต่อเมื่อมีพิธีรีตองที่จะอวดพระเกียรติยศ เครื่องทรงใช้ตามที่สดวกแก่การต่าง ๆ อันมีเปนนิตย์ ยกตัวอย่างเครื่องทรงเวลาเสด็จออกว่าราชการ โดยปกติทรงพระภูษาจีบคาดแพรทรงสะพักเท่านั้นเอง ฉลองพระองค์ก็ไม่ทรง ถ้าเสด็จออกแขกเมืองอย่างครึ่งยศก็ทรงฉลองพระองค์เช่นเข้มขาบหรือเยียรบับ เพิ่มขึ้นอีกองค์ ๑ เครื่องศิราภรณ์ หม่อมฉันเข้าใจว่าพึ่งทรงเสด็จออกแขกเมืองเมื่อรัชชกาลที่ ๔ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรเห็นรูปภาพพระนารายณ์มหาราช เสด็จออกแขกเมืองในหนังสือที่ฝรั่งพิมพ์

คราวนี้จะวินิจฉัยถึงเครื่องทรงเวลาเสด็จไปยังที่ต่าง ๆ ตลอดจนเสด็จไปการศึกสงคราม ตามที่ปรากฎในครั้งรัชชกาลที่ ๓ และก่อนนั้นขึ้นไป เมื่อเสด็จออกนอกพระราชนิเวศน์ก็มิได้ทรงเครื่องแปลกกว่าที่พรรณนามาแล้ว แต่สันนิษฐานว่าเวลาเสด็จในการสงคราม เห็นจะทรงเครื่องให้กระชับพระองค์เหมาะแก่กาละยิ่งกว่าเสด็จประพาสในกรุง อาจจะทรงสนับเพลาและฉลองพระองค์คาดราตคดและทรงพระมาลา แต่เครื่องทรงเวลาเสด็จทางไกลเช่นนี้ก็คงอาศัยความสดวกและสบายเปนประมาณ ถ้าจะเทียบด้วยยุนิฟอร์มทหาร หลักของยุนิฟอร์มทหารไทยก็นุ่งกางเกงครึ่งแค่งใส่เสื้ออย่างน้อย คาดผ้า โพกหัว ถ้าเปนชั้นมูลนายก็ใส่หมวก ผิดกันแต่เนื้อผ้าและสีที่ทำเครื่องแต่งตัว ไพร่ใส่ผ้าเขียวครามหรือผ้าแดง มูลนายก็เปนผ้าที่มีดอกและมีทองปน ถ้าหากเป็นไพร่พลที่เกณฑ์จากหัวเมือง ก็แต่งเครื่องเดินป่าของราษฎรนั่นเอง หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔) กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  2. ๒. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ต้นสกุล “บุณยรัตพันธุ์” สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ