วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ได้รับประทานแล้ว

เรื่องเครื่องแต่งตัวเฝ้า เกล้ากระหม่อมกราบทูลมาโดยถือเอาพระดำรัสเข้าปรับกับพระราชบัญญัติใหม่ ซึ่งในนั้นมีบังคับในการใช้แผงคออยู่ แต่ให้เป็นสีตามกระทรวงราชการ ก็ตกเป็นอันว่าคือพระราชบัญญัติเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนใหม่เท่านั้นเอง จริงอยู่พระราชบัญญัตินั้นให้ชื่อว่า “พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือน และเพิ่มเติมพระราชกำหนดเครื่องแต่งกายผู้มีตำแหน่งเฝ้า” ตามชื่อนี้ก็ควรแล้ว ที่จะเข้าพระทัยว่า กินถึงเครื่องเฝ้าอย่างเก่าด้วย แม้ผู้ร่างก็คงตั้งใจให้กินถึง แต่นึกได้เพียงข้าราชการนอกประจำการซึ่งแต่ก่อนแต่งเครื่องยศตามกระทรวงไม่ได้ ต้องแต่งเครื่องเฝ้านั้นพวกหนึ่ง กับฝรั่งซึ่งจ้างมารับราชการเป็นพิเศษ ไม่มียศแต่งเครื่องยศไม่ได้ ต้องแต่งเครื่องเฝ้าอีกพวกหนึ่ง จึ่งทำพระราชบัญญัติให้ทั้งสองพวกนี้ทิ้งเครื่องเฝ้าไปแต่งเครื่องยศตามกระทรวงได้ แต่พวกผีไม่มีศาลอีกพวกหนึ่ง เขานึกไปไม่ถึง หรือนึกถึงแต่ตั้งใจจะคัดออกไม่ให้เข้าในราชการก็ได้ เพราะฉะนั้นพวกผีไม่มีศาลไม่มีช่องที่จะแต่งตัวตามพระราชบัญญัติใหม่ได้เลย แต่ยังเคราะห์ดีที่พระราชบัญญัติใหม่ยังอนุญาตให้แต่งอย่างเก่าได้อยู่ พวกผีไม่มีศาลก็ยังมีสิทธิที่จะแต่งเครื่องเฝ้ายืนอยู่ได้ จนกว่าจะมีพระราชบัญญัติสั่งยกเลิกเมื่อไร ก็เป็นอันสิ้นสิทธิที่จะเข้าเฝ้าเมื่อนั้น ได้ถวายพระราชบัญญัติมาทอดพระเนตรเพื่อทรงวินิจฉัยนี้แล้ว

ขอบใจหญิงพูน ที่ช่วยคิดให้หลบหนีการปรึกษามาอยู่หัวหิน แต่จะหนีไม่พ้น เพราะไม่ใช่ว่าเขามาปรึกษาด้วยปาก เขามีหนังสือมา ที่หัวหินนั้นหนังสือก็ส่งถึง เสียค่าสแตมป์เพียง ๑๐ สตางค์ ที่กรุงเทพฯ ต้องเสียค่ารถรางให้นักการเดิรไปมา ๒๒ สตางค์ แม้มาอยู่หัวหินก็ให้ประโยชน์แก่กระทรวงวังลดค่าใช้จ่ายลงได้ ๑๒ สตางค์ การรับปรึกษาก็ไม่พ้น แล้วยังจะไม่รู้เหนือใต้ในทางลับให้หลงเซอะไปอีกด้วย ถ้าจะให้พ้นต้องหนีไปซัวเถา แต่ทั้งนี้เป็นการพูดเล่น ความจริงการปรึกษาไม่มีถี่นักมิได้

ฉันท์สดุดีทราบเพิ่มมาอีก ว่าพระบริหารสาราลักษณ์ (เกื้อ สาลักษณ์) ก็ได้ให้แต่งอีกคนหนึ่ง ส่วนทางกระทรวงธรรมการนั้นไม่แต่ง ทำความตกลงกับกรมหมื่นพิทยาลงกรณ สมมตเอาที่เธอแต่งเป็นของกระทรวงธรรมการส่ง ด้วยหลักว่าราชบัณฑิตยสภาก็อยู่ในกระทรวงธรรมการ ได้ยินว่าตัดสินว่าสู้ของพระบริหารไม่ได้ แต่คำตัดสินไม่น่านับถือ เพราะผู้ตัดสินไม่รู้หนังสือ และพระบริหารก็เป็นคนที่ชิดชอบอัชฌาสัย แต่เป็นคำตัดสินนอก ที่เด็ดขาดนั้นจะต้องเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสิน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

พระโกศพระอัฎิคลังไม่ให้ จะทำอย่างไรกันต่อไปไม่ทราบ

<น>

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ