วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ดร

วังวรดิศ

วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

วันนี้มานึกอะไรขึ้นอีกอย่างหนึ่งเนื่องด้วยพระดำริของท่านว่าบัญญัติวรรณยุตให้ใช้ เอก โท ตามเสียงสูงต่ำ จะเปนของเกิดขึ้นชั้นหลังไม่นานนัก มาเกิดปรารภขึ้นว่า แต่ก่อนมาไทยเราพูดสำเนียงต่าง ๆ กันตามถิ่นที่อยู่ ซึ่งยังพอหาตัวอย่างชี้ได้ในปัจจุบันนี้ เปนชาวนครศรีธรรมราชก็สำเนียงอย่าง ๑ ชาวนครราชสีมาก็สำเนียงอย่าง ๑ แม้ชาวเมืองสมุทสงคราม ชาวเมืองเพ็ชรบุรี และชาวเมืองสุพรรณบุรีก็มีสำเนียงต่างไปจากชาวกรุงเทพฯ เพิ่งจะมาเหมือนกันขึ้นแพร่หลายเมื่อมีโรงเรียนเกิดขึ้น และการคมนาคมสดวกขึ้น ว่าฉะเพาะชาวเหนือเมื่อครั้งเปนมณฑลราชธานีในสมัยสุโขทัย ก็คงมีสำเนียงไปอีกอย่าง ๑ ข้อนี้เห็นได้ในบทเสภาที่แต่งเพียงเมื่อรัชชกาลที่ ๒ และที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทรนี้ยังว่า “ชาวเหนือเสียงเกื๋อไก๋” แปลว่าสำเนียงไม่เหมือนชาวกรุงเทพฯ สำเนียงอย่างเราพูดกันในกรุงเทพฯ เห็นจะสืบมาแต่สำเนียงชาวพระนครศรีอยุธยา ด้วยเหตุดังทูลมา ชาวมณฑลและเมืองที่สำเนียงเปนอย่างอื่น ย่อมเขียนวรรณยุตตามเสียงไม่ได้ หม่อมฉันเคยถามพระยาวิเชียรคิรี (ชม) ว่าสำเนียงแกพูดไม่เหมือนชาวบางกอกแกเขียนหนังสือลง เอก โท ด้วยเอาหลักอย่างไร แกตอบว่าใช้จำว่าชาวบางกอกเขาเขียนคำใช้ เอก โท อย่างไรก็เขียนตาม

ครั้นเช้าวันนี้หม่อมฉันไปพิพิธภัณฑสถาน เรื่องปรารภที่ทูลมาติดใจไป จึงแวะไปดูหลักศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช เห็นใช้หมาย กากะบาด ไม่มี โท แต่มี เอก ก็นึกว่าจะมีวิธีอ่านและออกสำเนียงเปนอย่างอื่น ไม่เหมือนเช่นเราชาวกรุงเทพฯใช้กัน จึ่งทูลมาเพื่อทรงวินิจฉัย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระยาวิเชียรคิรี (ชม ณ สงขลา)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ