- คำนำ
- ประวัติท้าวนารีวรคณารักษ์
- นิทานเรื่องนำ
- ๑ นิทานเรื่องนางตรีบิดา
- ๒ นิทานเรื่องนายกอาย
- ๓ นิทานเรื่องบุตรีขุนเมือง
- ๔ นิทานเรื่องวิปกฤษพราหมณ์
- ๕ นิทานเรื่องอุบลเศรษฐี
- ๖ นิทานเรื่องพระมหาเถรรักศิษย์ไม่เสมอกัน
- ๗ นิทานเรื่องท้าวเอฬาราช
- ๘ นิทานเรื่องมาณพเลี้ยงพังพอน
- ๙ นิทานเรื่องโอรสพระเจ้าอุพัทธราชาธิราช
- ๑๐ นิทานเรื่องเศรษฐีสอนบุตร
- ๑๑ นิทานเรื่องโอรสพระเจ้ากรุงมัทราส
- ๑๒ นิทานเรื่องเศรษฐีบุตร ๔ คน
- ๑๓ นิทานเรื่อง ๔ มาณพ
- ๑๔ นิทานเรื่องจตุรพราหมณ์
- ๑๕ นิทานเรื่องจตุรนารี
- ๑๖ นิทานเรื่องพราหมณ์เลือกเมีย
- ๑๗ นิทานเรื่องสุบินกุมาร
- ๑๘ นิทานเรื่องนายสำเภาชื่อสุริยวาณิช
- ๑๙ นิทานเรื่องพระเจ้าไตรวัต
- ๒๐ นิทานเรื่องพระยารีผัวเมีย
- ๒๑ นิทานเรื่องกษัตริย์สรโนธมาธิราช
- ๒๒ นิทานเรื่องชายชาวชนบท
- ๒๓ นิทานเรื่องตากับยายชาวชนบท
- ๒๔ นิทานเรื่องพระเจ้ากรุงศรีภิรมย์มหาราช
- ๒๕ นิทานเรื่องนางกะเชอรั่ว
- ๒๖ นิทานเรื่องพเอิญเข้าดลใจ
- ๒๗ นิทานเรื่องนายแวง ๒ คนเฝ้าท้องพระโรง
- ๒๘ นิทานเรื่องรัตนทัตบุตรเศรษฐี
- ๒๙-๓๐ นิทานเรื่องวิษณุคุบ
- ๓๑ นิทานเรื่องตำรวจ ๒ สหาย
- ๓๒ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกพบกลอง
- ๓๓ นิทานเรื่องเลือดมาอาศรัยเล็น
- ๓๔ นิทานเรื่องเศวตโคธา
- ๓๕ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกแทะสายหน้าไม้
- ๓๖ นิทานเรื่องคชทุมพรราชกุมาร
- ๓๗ นิทานเรื่องหงส์หามเฒ่า
- ๓๘ นิทานเรื่องลากับราชสีห์
- ๓๙ นิทานเรื่องพราหมณ์ช่วยกบ
- ๔๐ นิทานเรื่องน้ำผึ้งหก
- ๔๑ นิทานเรื่องฤษีชุบสุนัขเปนราชสีห์
- ๔๒ นิทานเรื่องนกกางเขนตกฟองที่หาดทราย
- ๔๓ นิทานเรื่องนายเนสาท
- ๔๔ นิทานเรื่องช่วยคนแลสัตว์ตกเหว
- ๔๕ นิทานเรื่องช่วยเสือตาย
- ๔๖ นิทานเรื่องให้ลิงเปนองครักษ์
- ๔๗ นิทานเรื่องนกกระจาบกับลิง
- ๔๘ นิทานเรื่องเศรษฐีบุตรหนีตาย
- ๔๙ นิทานเรื่องปลาพยายามหนีภัย
- ๕๐ นิทานเรื่องท้าวทศกระวีราชหนีพระกาล
- ๕๑ นิทานเรื่องนกยางลวงปลา
- ๕๒ นิทานเรื่องถึงที่ต้องตาย
- ๕๓ นิทานเรื่องวานรกับจรเข้
๒๐ นิทานเรื่องพระยารีผัวเมีย
นางจึงทูลว่า ในอดีตกาลล่วงแล้ว มีบรมกษัตริย์พระองค์ ๑ ทรงพระนามพระเจ้าธรรมบาลราช ได้ผ่านสมบัติณกรุงอุทโยมหานคร ๆ นั้นมีปริมณฑล ๑๒ โยชน์ แลบริบูรณ์ด้วยโขลนทวารปราการชัยศรี คือตรีบูรณ์โดรณอจลสถลมารค แลอำมาตย์อำพลด้วยพลพยุหะหัตถีอัศวรถานา ๆ อเนกคณนาโยธาหาญนิกรพลพาหนะจตุรงค์คงกระพัน อาจผลาญประจันตอรินราชให้ลุอำนาจได้ดังประสงค์ ท้าวเธอก็ขุกไขอภิรมย์ปรางค์มาศ อันประดิษฐ์บรรจงด้วยสุวรรณรชฎะรัตนรุ่งรังสีเทียมสุริยสถิต บพิตรเธอมีพระอาชญาอาณาเขตรแผ่ผ่านไปได้ ๑๖๐ โยชน์โดยประมาณ ท้าวเธอครองศฤงคารทรงธรรมทศพิธ บพิตรเธอมีกษัตริย์ร้อยเอ็ดพระองค์มาถวายสุวรรณรชฏะมาลาอยู่เปนนิตย์เนือง ๆ แล
มีทลิทกพระยารี ๒ สวามีภรรยา เคยตัดสุกะรุกขามาขายเลี้ยงชีพแลหอมยับส่ำสมทองที่เหลือกินได้วันละ ๒ กระษาปณ์ ครั้นจิระกาลนานมามีทองถึง ๑๐๐ กระสาปณ์ จึงซื้อแม่โค ๑ ชื่อนันทลีมาเลี้ยงไว้ แลพระยารีทั้ง ๒ บรรทุกฟืนเต็มหลังนางโคนันทลีแล้ว ส่วนอาตมะทั้ง ๒ ก็หาบมาด้วย ขายได้ทรัพย์ทวีขึ้นวันละ ๕ กระษาปณ์จนมั่งมีบริบูรณขึ้นเปนอันมาก
กาลวัน ๑ ชนทั้ง ๒ นั้นไปถึงวนะประเทศป่าใหญ่ จึงผูกนันทลีล่ามไว้ให้กินตรุณติณา แลป่านั้นโคอุสุภราชแห่งพระอิศวรเปนเจ้าเคยมาเที่ยวแลถ่ายปัสสาวะค้างใบหญ้าอยู่ที่นั้น นางนันทลีได้กินน้ำปัสสาวะที่ค้างใบหญ้าอยู่นั้นก็มีครรภ์ ครั้นครรภ์บริบูรณ์แล้วก็คลอดบุตร ๑ ผู้เผือกงามสอาด พระยารีทั้ง ๒ เห็นลูกนางนันทลีก็ดีใจ จึงแต่งบายศรีทำขวัญ แล้วตกแต่งโรงร้านสอ้านสอาดให้อยู่ ย่อมอภิบาลเลี้ยงดูมิให้เลือดไรไต่ตอม จนวัฒนาการเติบใหญ่มีมหันตกำลังเรี่ยวแรงยิ่งนัก จึงให้นามชื่อว่านนทุกราช สูงใหญ่เสมอกันกับนางนันทลีมารดา พระยารีทั้ง ๒ ย่อมเทียมเข็นขนฟืนขาย จนมั่งมีมหัทธนโภไคยอิ่มอาบซาบจิตต์ตื้นชื่นแช่มแย้มวาจาว่า พ่อเอ๋ย นนทุกราชลูกข้าเรี่ยวแรงนักหนา นันทลีมารดาเจ้าชราแล้วเรี่ยวแรงถอยถดลดล้าลง อย่าเลยจะหาโคอื่นมาเทียมเปนคู่กับนนทุกราชเถิด ว่าแล้วพระยารีก็ไปซื้อโคตัว ๑ เปนค่า ๑๐ กระษาปณ์ทอง มีสิริวิลาศวิลัยเลาเข่าแข้งตละกลึงกลมตละปั้นขันแขงแรงเรี่ยว สูงใหญ่ยาวอย่างนนทุกราชนั้น แต่มหิทธิพลกำลังน้อยลดกว่า ผิวพรรณดำมั่นเหมาะเหมือนนิลรัตน ให้นามชื่อสัญชีพ ไว้เรียงเคียงนนทุกราชบำรุงบำเรอด้วยตรุณหญ้าฟางฟูมเฝือเหลืออิ่มอูมขึ้นทุกวัน พระยารีทั้ง ๒ ซื้อเกวียนเล่ม ๑ มาเข็นขนฟืนขายจนจำเริญมากหลาย ทาสหญิงชายเหลือหลามมีเกวียนถึง ๕๐ เล่ม แล้วก็ละฟืนค้าของอื่น ออกมาปจันตประเทศราชธานี สัญชีพแลนนทุกราชนี้เข้าเทียมแอกเดียวด้วยกัน แลดูนี้พริ้งเพราเลาลีลาศหยาดสวรรค์ แขงขันกว่าโคทั้งร้อย ถ้าไปปะจันตคามประเทศลงลุ่มเลนไล่โคทั้งปวงเข็นไม่ไหว มาปลดนนทุกราชแลสัญชีพไปช่วยเข็นขึ้นได้สิ้น ส่งสินค้าได้ทั้งตลาดบห่อนขาดทุน แต่เที่ยวค้าทุกประเทศจนมั่งมี พระยารีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ เกวียนถึง ๕๐๐ ทาสีทาสาใช้สอยกล่นกลาด ปรากฎเกียรติยศจนทราบถึงพระกรรณพระเจ้าธรรมบาลราช ๆ มีพระโองการให้หาพระยารีทั้ง ๒ มาถามว่า ท่านค้าขายมาช้านานส่ำสมทรัพย์ไว้ได้ ๘๐ โกฏิจริงฤๅ พระยารีทั้ง ๒ รับว่าจริง ท้าวเธอพระราชทานที่ตั้งให้ชื่อธรรมจิตต์เศรษฐี ครั้นพระยารีทั้ง ๒ ได้เปนเศรษฐีแล้ว แต่งอลงกฎประดับนนทุกราชแลสัญชีพด้วยอาภรณ์พร้อมพริ้งพพรรณราย สายทามแลอ้อมแอกแปรกรัตนตายตุ้มทอง กรองเชิงช้องหางแล้วด้วยเนาวรัตนมณีสีพราย ทั้งเชือกไซร้ก็พันด้วยไหม คลึงไคลด้วยไหมเบญจพรรณสุวรรณแนบแนมแวมวาว งามตละรูปโคอันช่างลิขิตเขียนวิจิตรบรรจง ทำขวัญแล้วจึงว่า พ่อนนทุกราชแลพ่อสัญชีพ เจ้าช่วยบิดามารดาไปค้าอิกคราวหนึ่งเถิด ว่าแล้วเศรษฐีก็บรรทุกเกวียน ๕๐๐ จะไปยังสุวรรณภูมนคร ครั้นได้อุดมฤกษ์ก็ประดับนนทุกราชแลสัญชีพพร้อมด้วยอลงกฎรัตนทั้งปวง แล้วก็ประทับเทียบออกก่อนเกวียน ๕๐๐ ลีลาไปถึงวนะประเทศ ๑ ชื่อจันทะวนะรุกขา แลป่านั้นมีพญาราชสีห์สิงอยู่ตัว ๑ ชื่อจันทสิงหราช มีสิงคาลจิ้งจอก ๒ ตัว มีบริวารตัวละ ๑,๐๐๐ สิงคาลตัว ๑ ชื่อสังวะธันต ตัวหนึ่งชื่อวายุภักษ แลสิงคาลจ่าฝูงตัว ๑ มาอยู่เปนมนตรีพญาจันทสิงหราชแห่ห้อมล้อมตามกินเดนอยู่
ครั้นเศรษฐีนำเกวียน ๕๐๐ ไปถึงสถานประเทศที่นั้นก็ให้หยุดลงปลงเกวียน แล้วปลดนนทุกราชแลสัญชีพไปผูกให้กินหญ้ากินน้ำ
ในกาลนั้นนนทุกราชจึงว่าแก่สัญชีพว่า สหายเอ๋ย อันประเทศป่านี้ผาสุกสนุกสนานนักหนา ถ้าเศรษฐีปลดปละเราเสียในดงแดนนี้จะดีทีเดียว ซึ่งเราจะต้องการด้วยตุ้มตาบทองกรองรัตนมณีนั้นเราไม่ยินดีดอก เราอาสาเข็นเกวียนมาก็ช้านานจนเศรษฐีมั่งมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิแล้ว ควรจะปล่อยปละเรากับสหายให้หากินเองจึงจะชอบ ชั่งไม่คิดกรุณาเราบ้างเลย ใช้สอยเรากะไรอย่างโคสถุล สหายจะคิดประการใด เราไซร้ไม่ไปด้วยแล้ว จะโลเลหลีกอยู่ที่นี่
สัญชีพจึงตอบว่า ที่ว่าอันสหายจะคิดอย่างนี้มิชอบ เพราะเศรษฐีได้ฝึกสอนอภิบาลบำรุงเรายิ่งกว่าโคคณาญาติแห่งเรา แลสหายมาคิดหน่ายหนี กลัวเกลือกว่าเศรษฐีจะโกรธจะทำทัณฑกรรมประหาร สหายจะคิดอ่านประการใด
นนทุกราชก็แจ้งว่า สหายไซร้พึ่งมาอยู่ จะเล่าแต่แรกเริ่มมารดาข้าทำไว้ได้มั่งมีขึ้นมากหลาย จนมาถึงตัวข้าอุส่าห์ทำให้แต่น้อยโน้นมา จนได้ที่เปนเศรษฐีแล้วแลจะปราณีเรานี้เพอนไร้มาจนได้เปนดี เห็นว่าเรามีกำลังที่ไหนลุ่มเลนเข็นยากก็ใส่เราเข้าที่นั่น เรานี้ขยันขันแขงยิ่งกว่าคน เออนี่จะทนประทุกไปถึงไหน เราไม่ไปด้วยแล้วนะสหาย
สัญชีพจึงเสนอว่า เออ อันสหายซิคิดจะมิไปจะใคร่อยู่ก็จงแลดูรัชชุเชือกใหญ่เขาคลึงไคลด้วยไหม ๓ เกลียวเหนี่ยวนาสิกไว้จะออกได้ไฉน
นนทุกราชจึงสนองว่า เราจะอัดอั้นอัสสาสะปัสสาสให้อัดอั้นอกพองท้องแขงแสร้งกระทำจำตาย
สัญชีพจึงกระหน่ำว่า ถ้าแลเศรษฐีแจ้งว่าสหายแสร้งกระทำตายจะให้ต่อยตีด้วยท่อนไม้แลแทงด้วยประฏักสหายจะคิดประการใด
นนทุกราชจึงตอบว่า ถ้าต้องตีอย่างนั้นเล่า ก็เพราะกรรมก่อนเราก่อไว้ แลใครจะบอกแก่เศรษฐี ๆ จึงจะรู้ว่าเราแสร้งกระทำ
สัญชีพจึงมีคำซ้ำสารว่า เมื่อสหายต้องโบยเพทนา ข้าจะกลั้นน้ำตาได้ฤๅ แม้นไม่มีผู้ใดบอกกล่าวเล่าคดี เกลือกจะเข้าดลใจเศรษฐีเอง
กาลนั้นนนทุกราชว่า นิยายซึ่งว่าเข้าดลใจมีฤๅ สหายจะกล่าวเล่าเราจะขอฟัง
สัญชีพจึงกล่าวนิยายดังนี้