- คำนำ
- ประวัติท้าวนารีวรคณารักษ์
- นิทานเรื่องนำ
- ๑ นิทานเรื่องนางตรีบิดา
- ๒ นิทานเรื่องนายกอาย
- ๓ นิทานเรื่องบุตรีขุนเมือง
- ๔ นิทานเรื่องวิปกฤษพราหมณ์
- ๕ นิทานเรื่องอุบลเศรษฐี
- ๖ นิทานเรื่องพระมหาเถรรักศิษย์ไม่เสมอกัน
- ๗ นิทานเรื่องท้าวเอฬาราช
- ๘ นิทานเรื่องมาณพเลี้ยงพังพอน
- ๙ นิทานเรื่องโอรสพระเจ้าอุพัทธราชาธิราช
- ๑๐ นิทานเรื่องเศรษฐีสอนบุตร
- ๑๑ นิทานเรื่องโอรสพระเจ้ากรุงมัทราส
- ๑๒ นิทานเรื่องเศรษฐีบุตร ๔ คน
- ๑๓ นิทานเรื่อง ๔ มาณพ
- ๑๔ นิทานเรื่องจตุรพราหมณ์
- ๑๕ นิทานเรื่องจตุรนารี
- ๑๖ นิทานเรื่องพราหมณ์เลือกเมีย
- ๑๗ นิทานเรื่องสุบินกุมาร
- ๑๘ นิทานเรื่องนายสำเภาชื่อสุริยวาณิช
- ๑๙ นิทานเรื่องพระเจ้าไตรวัต
- ๒๐ นิทานเรื่องพระยารีผัวเมีย
- ๒๑ นิทานเรื่องกษัตริย์สรโนธมาธิราช
- ๒๒ นิทานเรื่องชายชาวชนบท
- ๒๓ นิทานเรื่องตากับยายชาวชนบท
- ๒๔ นิทานเรื่องพระเจ้ากรุงศรีภิรมย์มหาราช
- ๒๕ นิทานเรื่องนางกะเชอรั่ว
- ๒๖ นิทานเรื่องพเอิญเข้าดลใจ
- ๒๗ นิทานเรื่องนายแวง ๒ คนเฝ้าท้องพระโรง
- ๒๘ นิทานเรื่องรัตนทัตบุตรเศรษฐี
- ๒๙-๓๐ นิทานเรื่องวิษณุคุบ
- ๓๑ นิทานเรื่องตำรวจ ๒ สหาย
- ๓๒ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกพบกลอง
- ๓๓ นิทานเรื่องเลือดมาอาศรัยเล็น
- ๓๔ นิทานเรื่องเศวตโคธา
- ๓๕ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกแทะสายหน้าไม้
- ๓๖ นิทานเรื่องคชทุมพรราชกุมาร
- ๓๗ นิทานเรื่องหงส์หามเฒ่า
- ๓๘ นิทานเรื่องลากับราชสีห์
- ๓๙ นิทานเรื่องพราหมณ์ช่วยกบ
- ๔๐ นิทานเรื่องน้ำผึ้งหก
- ๔๑ นิทานเรื่องฤษีชุบสุนัขเปนราชสีห์
- ๔๒ นิทานเรื่องนกกางเขนตกฟองที่หาดทราย
- ๔๓ นิทานเรื่องนายเนสาท
- ๔๔ นิทานเรื่องช่วยคนแลสัตว์ตกเหว
- ๔๕ นิทานเรื่องช่วยเสือตาย
- ๔๖ นิทานเรื่องให้ลิงเปนองครักษ์
- ๔๗ นิทานเรื่องนกกระจาบกับลิง
- ๔๘ นิทานเรื่องเศรษฐีบุตรหนีตาย
- ๔๙ นิทานเรื่องปลาพยายามหนีภัย
- ๕๐ นิทานเรื่องท้าวทศกระวีราชหนีพระกาล
- ๕๑ นิทานเรื่องนกยางลวงปลา
- ๕๒ นิทานเรื่องถึงที่ต้องตาย
- ๕๓ นิทานเรื่องวานรกับจรเข้
๓ นิทานเรื่องบุตรีขุนเมือง
ยังมีวาณิช ๔ คนเปนสหายกัน ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองท้าวพิธรุทศราช ท้าวเธอผ่านไอสุริยสมบัติรัตนราชธานีนั้น แลสหาย ๔ คนมีทองคนละชั่ง ชวนกันไปค้าเมืองขุดตุกมหานครราชธานี พระมหากษัตริย์ผู้ผ่านสมบัติในนครนั้นทรงพระนามว่า พระเจ้านิศกรมหาราช มีพระอรรคมเหษี ชื่อนางเทพลุศเทวี แลมีขุนเมืองผู้ ๑ ชื่อแสนจำนงราชเปนเสนาบดี แลเสนาบดีนั้นมีบุตรีคน ๑ ชื่อนางน้อย มีอายุได้ ๗ ขวบ ครั้งนั้นมีลูกค้า ๔ คนไปถึงประจันตคาม เห็นศาลาแห่ง ๑ ชอบกลก็ชวนกันเข้าไปนอนพักอาศรัย มีพราหมณ์ลูกค้าหมู่หนึ่ง ๔ คนมาอิกเล่า มาเห็นจัตุวาณิชอาศรัยอยู่แล้ว จึงคิดกันว่าเราจะไปต่อไปภายหน้าโพ้นก็จวนค่ำย่ำราตรีอยู่แล้ว เราอาศรัยนอนณศาลานี้เถิด คิดพร้อมกันแล้วจึงบอกลูกค้าผู้อยู่ก่อนนั้นว่า เราจะไปหน้าโพ้น โจรก็ร้ายนัก เราอาศรัยด้วยกันเถิด แลเราพี่น้องทั้งนี้จงระมัดระวังตัวจงหนักเถิด จึงพราหมณ์ลูกค้าทั้ง ๔ คน ก็ค่อยว่าแก่กันว่า เราจะเอาทองไปฝังไว้ใต้ต้นไม้ที่นั้นเถิด จึงพราหมณ์ก็ชวนกันลงไปฝังไว้แล้วก็กลับมานอนในศาลานั้น แลลูกค้าผู้ ๑ แกล้งกระทำเล่ห์หลับกรนอยู่ ครั้นว่าเพื่อนกันหลับสิ้นแล้วก็ลอบลงไปขุดเอาทองนั้นไปฝังไว้ในที่อื่น แล้วก็กลับคืนมานอนอยู่ด้วยกัน ครั้นจะใกล้รุ่งก็ชวนกันจะไปขุดเอาทองเห็นแต่รอยขุดเอาไป ไม่เห็นทอง พราหมณ์ทั้ง ๔ คนนั้นก็ไปร้องแก่ขุนเมืองว่า ตูข้ากลัวโจรจะปล้นเอาทอง ๔ ชั่งของตูข้าทั้ง ๔ ไป ตูข้าจึงฝังทองนั้นไว้ แลทองนั้นหายไป ขอเจ้ากูจงได้พิจารณาเอาทองให้แก่ตูข้าในกาลบัดนี้เถิด ขุนเมืองจึงพิจารณาหาโจรนั้นมิพบ ถามใคร ๆ จะมีพิรุธก็หามิได้ จึงแต่งคนที่เชื่อได้ให้ไปฟังดูที่สงัดเงียบอยู่มิปรากฎออกเลย จึงพราหมณ์ลูกค้า ๔ คนก็กระทำฎีกายื่นแก่ขุนเมืองพระคลัง ๆ ก็นำฎีกาไปถวายแก่สมเด็จท้าวนิศกรมหาราช ๆ เธอก็มีพระโองการสั่งขาดแก่ขุนเมืองให้หาตัวโจรจงได้ ถ้ามิได้ให้ขุนเมืองใช้ทองเขา จะให้ไหมจัตุรคูณแล้วจะให้ยกเสียจากที่ขุนเมือง แม้นช้าหนักจะลงอาญาขุนเมือง กับทั้งโคตรแห่งขุนเมืองจงสิ้นชีวิตแล
ขุนเมืองได้ฟังสั่งขาดดังนั้นก็เปนทุกข์หนักหนา ออกมายังเคหาไม่ได้อาบน้ำบริโภคอาหารเลย ส่วนมหาภรรยาแลจุลภรรยาเห็นสวามีมีทุกข์เศร้าหมอง ก็ประเล้าประโลมปลอบถามขุนเมือง ๆ นิ่งอัดอั้นมิได้บอกเหตุนั้นเลย มหาภรรยาก็กลับมาบอกแก่ดรุณบุตรีมีอายุได้ ๗ ขวบว่า เจ้าไปเชิญชวนบิตุเรศแห่งเจ้าให้อาบน้ำบริโภคอาหารในกาลบัดนี้ นางดรุณกุมารีน้อยนั้นก็ไปเชิญบิดา ขุนเมืองมีเสนหาอันยิ่งในบุตรี จึงมีวาจาว่า ดูก่อนบุตรี บิดานี้มีทุกข์หนักหนา เปนมหันต์ใหญ่หลวง จะบริโภคอาหารกะไรได้ นางจึงถามว่าบิดามีทุกข์เปนมหันต์นั้นฉันใด ขุนเมืองจึงเล่าว่า พราหมณ์วาณิช ๔ คนมาแต่เมืองโกสัมพีนคร มาไสยนาการนอนพักอาศรัยในเขตรแดนนครนี้ฝังทองไว้คนละชั่ง แลมีผู้ร้ายลอบมาขุดเอาทองแห่งวาณิชนั้นไป แลวาณิชทั้งหลายนั้นก็ให้กราบทูลเหตุนั้นแก่สมเด็จพระมหิศราธิบดีเจ้าแห่งเรานี้ พระท้าวเธอมีพระราชโองการสั่งขาดให้บิดาพิจารณาหาโจรนั้นจงได้ ถ้ามิได้จะให้พิฆาฏกรรมเรานี้เสียสิ้นทั้งโคตรแห่งเรา บิดาพิจารณาหาโจรนั้นมิได้จึงเปนทุกข์ยิ่งนัก นางดรุณบุตรีจึงว่าถ้ากระนั้นบิดาจงอาบน้ำแลบริโภคอาหารเถิด ไว้ธุระข้าจะหาโจรผู้ลักทองนั้นให้แก่เจ้าของทองจงได้ ขุนเมืองได้ฟังดรุณบุตรีว่าดังนั้น ก็ค่อยเสื่อมคลายทุกข์ ออกมาอาบน้ำชำระกรัชกายแล้วบริโภคอาหารในกาลนั้น
ฝ่ายนางดรุณกุมารีน้อยนั้นจึงให้หาพราหมณ์เจ้าของทองทั้ง ๔ คนนั้นมา แล้วก็ให้เลี้ยงด้วยโภชนาหารเข้าน้ำ แลให้สิ่งของต่าง ๆ ทุกวันมิได้ขาดทั้ง ๔ คน ครั้นวันที่สุด นางดรุณกุมารีน้อยนั้นเข้าใกล้พราหมณ์ทั้ง ๔ คนนั้นแล้วว่า ข้ามีกิจอัน ๑ ข้าน้อยมิรู้ถึง ข้าถามใคร ๆ ก็มิได้รู้ถึง แลขอเจ้ากูทั้ง ๔ คนได้กรุณาให้ข้านี้เข้าใจ นางก็เล่านิยายให้พราหมณ์ทั้ง ๔ คนนั้นฟังว่า