๒๙-๓๐ นิทานเรื่องวิษณุคุบ

สัญชีพจึงชักนิทานธรรมเนียมมาว่า เมื่อพระบรมกษัตริย์ทรงพระนามชื่อเทพาธิราช ได้ราชาภิเษกณกรุงมหาราชธานี มั่งคั่งด้วยเหล่าคฤหบดีชาติกระวีชาวพราหมณาจารย์ ปโรหิตวาณิชสัญจร นารีพื้นทรงรูปศรีโสภาคย์เพียงนางอับสรสาวสวรรค์ อเนกอนันต์นับมิได้ ทั้งหิรัญรัตนสุวรรณธัญญามัจฉมังสาฟุ่มเฟือย มีเศรษฐี ๑ ชื่อศรีวิโรตม์ มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิมีบุตรชื่อวิษณุคุบอายุได้ ๙ ขวบ บิดามารดาถึงกาลมรณาสัญทรัพย์ก็อันตรธานสิ้น วิษณุคุบก็บ่ายเบี่ยงมาอยู่เลี้ยงชีพด้วยมาตุมหา คือตา เก็บผักหักฟืนขายเลี้ยงชีพจนมีอายุได้วีสติวรรษาเข้าแล้ว แลจะมีวัตถาภรณ์ประดับอาตมะแต่สัก ๒ ผืนก็หามิได้ วารวัน ๑ ไปพบสหายเปนชาวประมงค์มัจฉา นายประมงค์จึงทักถามว่าไฉนสหายจึงมาถึงทุกข์ทรพลดังนี้ วิษณุคุบตอบว่า สหายเอ๋ยทั้งนี้ก็บุรพกรรมข้าได้ก่อไว้ อุตสาหขวนขวายตั้งแต่น้อยนานมาจนบัดนี้แล้ว จะมีผ้านุ่งห่มที่หมดหน้าจนสัก ๒ ผืนผลัดก็หาบมิได้เลย นายประมงค์จึงว่าสงสารสหายนัก สหายจงเลือกเอามหันตมัจฉาปลาใหญ่ตัว ๑ เถิด วิษณุคุบจึงกล่าวว่า สหายเอ๋ย ท่านจงเลือกให้เถิดจึงจะชอบ นายประมงค์จับมัจฉาตัว ๑ ใหญ่ แต่ว่ายังเปนอยู่ให้วิษณุคุบ ๆ จึงว่า สหายจงให้มัจฉานิรชีพเถิด แม้ตัวน้อยก็ไม่ว่า นายประมงค์ก็จัดให้ตามปราถนา วิษณุคุบก็ถือเอามัจฉามาให้แก่ยายแล้วว่า จงทำเปนมัจฉดองไว้เถิด มหามาตาก็ทำมัจฉดองให้ตามใจ

ในกาลวัน ๑ วิษณุคุบไปพบสหายผู้ ๑ เปนอำมาตย์ถือพระราชสาสน์พระเจ้าเทพาธิราชจะไปสื่อเมืองประนันตนคร อำมาตย์นั้นจึงถามเหตุว่า ไฉนสหายจึงร่อยไร้ทรัพย์นักหนาดังนี้ วิษณุคุบจึงแจ้งว่า เปนทั้งนี้เพราะผลกรรมก่อนข้าพเจ้าได้ก่อไว้ ข้าพเจ้าอุตสาหขวนขวายทุกทิวาก็ได้เลี้ยงชีพเท่านั้น จะหาวัดถาภรณ์ประดับตัวแต่สักสิ่ง ๑ ก็หาบมิได้เลย อำมาตย์จึงว่า ดูกรสหาย บัดนี้เราถือพระราชสาสน์ไปกรุงประนันตนคร ถ้าสหายมีพัสดุสิ่งใดเปนต้นว่ามัจฉดองก็ดี พระเจ้ากฤษณุราชเธอต้องพระประสงค์ เราจะช่วยรับไปถวายเธอจะได้พระราชทานวัดถาภรณ์มาฝากสหาย วิษณุคุบก็ดีใจว่าเออสหายเอ๋ย มัจฉดองข้าดองไว้กุมภะ ๑ ข้าจะฝากท่านไป สหายจงได้เอาเข้าไปถวายด้วยเถิด ว่าแล้วก็ฝากมัจฉดองนั้นไป ครั้นอำมาตย์ไปถึงจึงถวายราชสาสน์แล้วถวายมัจฉดองนั้น ว่าเปนของวิษณุคุบทลิทกคนยากฝากมาถวาย สมเด็จพระเจ้ากฤษณุราชบรมบพิตรดีพระทัยดังจำนง ทรงพระรำพึงว่าบุทคลผู้ทลิทกประดาษ ก็ย่อมจะปราถนาวัดถาภรณ์แลเงินทอง จึงหอมหยับพรรณพัสดุฝากมาถวาย แม้นว่าน้อยก็ดีแต่เปนของที่เราต้องประสงค์สำเร็จโดยมโนรถเราไซร้ ควรเราจะสนองคุณให้ถึงขนาด สิ่งของเงินทองทั้งนี้ก็ย่อมจะสิ้นไปหมดไป เราจะให้ธนูศรศิลป ๓ เล่มนี้เถิดเห็นจะประเสริฐดี จะเปนประโยชน์ยืดยาวไปภายหน้า ดำริห์แล้วท้าวเธอเลือกธนูได้ ๓ เล่มล้วนมีมหิทธิวิเศษ ฝากราชทูตถือมาให้แก่วิษณุคุบ ๆ ก็รับรักษาไว้ด้วยดี

อยู่มาวัน ๑ กษัตริย์ทรงพระนามชื่อพระเจ้าฤทธาธิราช ยกจัตุรงค์พลทหารมาล้อมกรุงมหาราชธานีนั้นไว้ ๗ รอบ ส่วนสมเด็จพระเจ้าเทพาธิราช ท้าวเธอมีหมู่จัตุรงค์แสนเสนาแห่โหมห้อมล้อมเสด็จเลียบพระนครดูหมู่อรินราชข้าศึก สั่งให้ตรวจตรา ชาวป้อมล้อมวังนั่งยามตามเพลิง ฝูงชนานิกรก็สรับสรนกล่นเกลื่อนกลาด มือถือศัสตราวุธวิ่งระวังทุกช่องแน่นหนาคับคั่ง วิษณุคุบก็ถูกเกณฑ์ประจำด้าน ๑ จึงคิดการว่าธนูศรของเรายิ่งด้วยฤทธิ์ บรมบพิตรพระเจ้ากฤษณุราชเธอพระราชทานมาให้ เราจะถวายให้ท้าวเธอปราบศัตรูเถิด คิดแล้ววิษณุคุบก็แบกแล่งธนูมานั่งอยู่หน้าด้านตน พอเสด็จประพาสพระนครมาถึงสถานที่นั้นวิษณุคุบก็ถวายธนู ท้าวเธอรับมาทอดพระเนตรดูก็เห็นอักษรจาฤกไว้ที่ธนูทั้ง ๓ เล่ม ๆ ชื่อสังหาร เล่ม ๑ ชื่ออันดับ เล่ม ๑ ชื่อสฤษดี ท้าวเธอจึงทรงศรสังหารแผลงไป ต้องพลจัตุรงค์แห่งพญาอรินราชพินาศสิ้น แล้วจึงทรงศรอันดับแผลงไปก็เปนสังขลิกพันธ์ผูกพญาอรินราชแลแสนเสนาอำมาตย์นำมาถวายบังคม แล้วทรงแผลงศรสฤษดีไปเปนอมฤตธาราเรี่ยรดพลอันมรณะแน่นิ่งนั้น ให้กลับแปรประวัติคงคืนชีพดังเก่าเข้ามาอภิวาทถวายบังคมบรมบาท แล้วพระท้าวเธอแผลงซ้ำเติมไปในสกลจังหวัดชมพูพื้นปริมณฑล ท้าวพญาก็เกลื่อนกล่นกันมาถวายดอกไม้เงินทองแก่พระองค์ทั้งสิ้น ครั้นเสร็จการสงคราม ท้าวเธอพระราชทานพระธิดาองค์ ๑ เปนทาระบริจาแก่เจ้าวิษณุคุบ พระราชทานที่ตั้งให้เปนอัครมหาเสนาบดี มีมหันตยศศักดิ์ศฤงคารเปนอันมากนักแล

สัญชีพจึงเฉลยว่า อันขวนขวายได้ดีนั้นเหมือนวิษณุคุบนี้แล

นนทุกราชกล่าวว่า แม้นจะขวนขวายเท่าใด ๆ ก็ดี ถ้าแลหาบุญญาธิการมิได้ก็บมิเปนการเลย

สัญชีพซักว่า ข้อซึ่งสหายว่านั้นอย่างไรโบราณจารีตมีฤๅสหายจงกล่าวไปเถิด เราจะขอฟัง

นนทุกราชจึงกล่าวโบราณจารีตนิยายมีว่า

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ