- คำนำ
- ประวัติท้าวนารีวรคณารักษ์
- นิทานเรื่องนำ
- ๑ นิทานเรื่องนางตรีบิดา
- ๒ นิทานเรื่องนายกอาย
- ๓ นิทานเรื่องบุตรีขุนเมือง
- ๔ นิทานเรื่องวิปกฤษพราหมณ์
- ๕ นิทานเรื่องอุบลเศรษฐี
- ๖ นิทานเรื่องพระมหาเถรรักศิษย์ไม่เสมอกัน
- ๗ นิทานเรื่องท้าวเอฬาราช
- ๘ นิทานเรื่องมาณพเลี้ยงพังพอน
- ๙ นิทานเรื่องโอรสพระเจ้าอุพัทธราชาธิราช
- ๑๐ นิทานเรื่องเศรษฐีสอนบุตร
- ๑๑ นิทานเรื่องโอรสพระเจ้ากรุงมัทราส
- ๑๒ นิทานเรื่องเศรษฐีบุตร ๔ คน
- ๑๓ นิทานเรื่อง ๔ มาณพ
- ๑๔ นิทานเรื่องจตุรพราหมณ์
- ๑๕ นิทานเรื่องจตุรนารี
- ๑๖ นิทานเรื่องพราหมณ์เลือกเมีย
- ๑๗ นิทานเรื่องสุบินกุมาร
- ๑๘ นิทานเรื่องนายสำเภาชื่อสุริยวาณิช
- ๑๙ นิทานเรื่องพระเจ้าไตรวัต
- ๒๐ นิทานเรื่องพระยารีผัวเมีย
- ๒๑ นิทานเรื่องกษัตริย์สรโนธมาธิราช
- ๒๒ นิทานเรื่องชายชาวชนบท
- ๒๓ นิทานเรื่องตากับยายชาวชนบท
- ๒๔ นิทานเรื่องพระเจ้ากรุงศรีภิรมย์มหาราช
- ๒๕ นิทานเรื่องนางกะเชอรั่ว
- ๒๖ นิทานเรื่องพเอิญเข้าดลใจ
- ๒๗ นิทานเรื่องนายแวง ๒ คนเฝ้าท้องพระโรง
- ๒๘ นิทานเรื่องรัตนทัตบุตรเศรษฐี
- ๒๙-๓๐ นิทานเรื่องวิษณุคุบ
- ๓๑ นิทานเรื่องตำรวจ ๒ สหาย
- ๓๒ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกพบกลอง
- ๓๓ นิทานเรื่องเลือดมาอาศรัยเล็น
- ๓๔ นิทานเรื่องเศวตโคธา
- ๓๕ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกแทะสายหน้าไม้
- ๓๖ นิทานเรื่องคชทุมพรราชกุมาร
- ๓๗ นิทานเรื่องหงส์หามเฒ่า
- ๓๘ นิทานเรื่องลากับราชสีห์
- ๓๙ นิทานเรื่องพราหมณ์ช่วยกบ
- ๔๐ นิทานเรื่องน้ำผึ้งหก
- ๔๑ นิทานเรื่องฤษีชุบสุนัขเปนราชสีห์
- ๔๒ นิทานเรื่องนกกางเขนตกฟองที่หาดทราย
- ๔๓ นิทานเรื่องนายเนสาท
- ๔๔ นิทานเรื่องช่วยคนแลสัตว์ตกเหว
- ๔๕ นิทานเรื่องช่วยเสือตาย
- ๔๖ นิทานเรื่องให้ลิงเปนองครักษ์
- ๔๗ นิทานเรื่องนกกระจาบกับลิง
- ๔๘ นิทานเรื่องเศรษฐีบุตรหนีตาย
- ๔๙ นิทานเรื่องปลาพยายามหนีภัย
- ๕๐ นิทานเรื่องท้าวทศกระวีราชหนีพระกาล
- ๕๑ นิทานเรื่องนกยางลวงปลา
- ๕๒ นิทานเรื่องถึงที่ต้องตาย
- ๕๓ นิทานเรื่องวานรกับจรเข้
๑ นิทานเรื่องนางตรีบิดา
ยังมีพราหมณ์ ๔ คน คน ๑ ชื่อวิประสวามิ คน ๑ ชื่อวิประสาทโป คน ๑ ชื่อวิประสาทรา คน ๑ ชื่อวิประสาธนู แลพราหมณ์ทั้ง ๔ คนนั้นมาแต่เมืองกลิงคราฐนคร มาเที่ยวภิกขาจารในเมืองพาราณสีมหานคร จึงสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตราช ท้าวเธอก็จำแนกพระราชทานให้แก่พราหมณ์ทั้งหลายนั้น ๆ ก็เที่ยวไปภิกขาจารในราชธานีนิคมคามประเทศที่อื่นอีก แลประสมได้ทองคนละชั่ง พราหมณ์ คน ๑ จึงว่าแลเราทั้งปวงนี้จะพกทองนั้นไว้ฉันใด พราหมณ์ทั้ง ๔ คนนั้นจึงว่าแก่นางพราหมณีว่า ตูพี่น้องเห็นนางอยู่ในศีลซื่อสัตย์นัก ตูพี่น้องจึงฝากทองไว้แก่นาง ๆ จงกรุณาข้า รับเอาทองนี้ไว้เถิด ตูทั้งนี้มิได้ลืมคุณของนางเลย นางพราหมณีจึงรับเอาทองนั้นไว้ พราหมณ์ทั้ง ๔ คน นั้นจึงว่าแก่นางว่า เมื่อใดตูข้า ๔ คนนี้มาพร้อมกัน นางจึงส่งทองให้ตูข้าเถิด ถ้าตูข้ายังมิมาพร้อมกัน นางอย่าเพ่อให้ทองนี้เลย พราหมณ์ทั้ง ๔ คน ครั้นฝากทองแก่นางไว้แล้วก็เที่ยวไปภิกขาจารอิกเล่า แลครั้นถึงวันสงกรานต์จะไปสระสนานถึงเกศคงคา พราหมณ์ผู้ใหญ่จึงว่าเราจะได้มะกรูดซ่มป่อยมาแต่ไหน พราหมณ์ผู้หนุ่มจึงว่า เห็นมะกรูดซ่มป่อยมีอยู่บ้านที่เราฝากทองไว้นั้น พราหมณ์ทั้ง ๓ คนนั้นจึงบังคับว่าเจ้าจงไปขอมา เราจะสระเกล้า พราหมณ์ผู้หนุ่มจึงว่าชอบ แต่ถ้าว่านางพราหมณีไม่เห็นเจ้ากูทั้ง ๓ ไปด้วย ตูข้าผู้เดียวนี้เห็นนางนั้นจะไม่ให้มะกรูดซ่มป่อยมาแก่ข้า แลข้าจะบอกแก่นางฉันใดดี จึงพราหมณ์ทั้ง ๓ ก็ว่าเราจะร้องเข้าไปว่า ตูมาทั้ง ๔ แล้ว พราหมณ์ผู้หนุ่มได้ฟังถ้อยคำแล้วก็ไปว่าแก่นางพราหมณีว่า พราหมณ์ทั้ง ๓ คนอยู่ภายนอกบ้าน ใช้ให้ข้ามาเอาทองทั้ง ๔ ชั่งอันฝากไว้แก่ท่านนั้น นางนั้นจึงว่า เมื่อใดแลเจ้ากูมาทั้ง ๔ คน ข้าจึงจะส่งทองนั้นให้ เมื่อเจ้ากูมาคนเดียว ข้าจะส่งทองให้กลใด จึงพราหมณ์หนุ่มนั้นก็ว่า ถ้าท่านมิเชื่อข้าไซร้ ข้าจะร้องออกไป แลพราหมณ์นั้นจึงร้องออกไปว่า นางพราหมณีว่า ไม่เห็นเจ้ากูทั้ง ๓ คน แลเห็นข้าผู้เดียวนี้นางจึงไม่ให้ พราหมณ์ทั้ง ๓ คนคิดว่า แต่มะกรูดซ่มป่อยจริง จึงร้องว่าเข้าไปว่าตูข้ามาทั้ง ๔ คนแล้ว เจ้าจงกรุณาให้แก่ตูข้าเปนบุญเถิด นางพราหมณีได้ยินเสียงพราหมณ์ทั้ง ๓ คนร้องเข้ามา แล้วก็ส่งทองให้พราหมณ์หนุ่มนั้น ๆ ได้ทองแล้วก็ประลาตหนีไป แลพราหมณ์ทั้ง ๓ คอย ๆ อยู่ ครั้นเห็นช้านักก็เข้าไปดู ครั้นไม่เห็นก็ถามแก่นางพราหมณีว่า เจ้าให้มะกรูดซ่มป่อยแก่พราหมณ์หนุ่มนั้นมากฤๅน้อย นางพราหมณีจึงแจ้งว่าพรามณ์หนุ่มมิได้มาขอมะกรูดซ่มป่อย เพื่อนมาบอกว่าท่านทั้ง ๓ คนให้มาเอาทองไป ข้าจึงมิได้ให้แก่เพื่อน ๆ จึงถามท่านทั้ง ๓ ๆ ก็ร้องเข้ามาว่า ให้เถิด ข้าจึงให้ทองไปแก่พราหมณ์หนุ่มนั้น พราหมณ์ทั้ง ๓ คนได้ฟังก็โกรธแก่นางหนักหนา จึงให้เกาะตัวนางพราหมณีนั้นไปถึงขุนเมือง ๆ จึงถามนางพราหมณี ๆ ก็เล่าคดีนั้นให้ขุนเมืองฟัง แลขุนเมืองจึงพิพากษาว่า พราหมณ์ผู้ใหญ่ทั้ง ๓ สิใช้พราหมณ์หนุ่มนั้นให้ไปขอมะกรูดซ่มป่อย แลพราหมณ์หนุ่มนั้นร้องออกมาว่า แต่ข้าคนเดียวนี้ นางพราหมณีไม่ให้ แต่เท่านี้ก็เห็นเปนคนเท็จอยู่แล้ว ก็ไฉนพราหมณ์ทั้ง ๓ นี้ร้องเข้าไปอิกเล่าว่า ให้ ๆ เถิด คดีดังนี้ดูก็ผิดแล้ว ควรเข้ามาทั้ง ๓ ให้พร้อมก่อนจึงจะชอบ พราหมณ์ทั้ง ๓ เห็นเปนอุเบกษา ส่วนนางพราหมณีสิเปนหม้าย ทำไมตนจึงมารับทองฝากของท่านไว้ เมื่อพราหมณ์หนุ่มนั้นจะมารับเอาทองนั้น ควรที่นางพราหมณีจะเรียกเข้ามาให้พร้อมกัน แล้วจึงส่งทองนั้นมาให้จึงจะชอบ อ้นร้องไปแต่ไกลนั้นนางก็มิได้พิจารณาให้ถ้วนถี่ แลชอบให้นางพรหมณีไปอยู่เปนทาสปรนิบัติบำเรอแก่พราหมณ์ทั้ง ๓ คนจึงจะชอบ เพราะว่าไม่มีสินทรัพย์จะเสียให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๓ คนนั้น อนึ่งเล่าพราหมณ์ก็เปนไสยมา ถือลัทธิเดียวด้วยกัน พราหมณ์เจ้าของทองทั้ง ๓ คนก็กระทำตามขุนเมืองบังคับ จึงพานางพราหมณีนั้นไปไว้เปนภรรยาคนละเดือน ๆ นางก็เปนทุกข์ลำบากยิ่งหนักหนา มารำจวนป่วนจิตรอยู่ทุกทิวาราตรี สรรพเทพยดาในสวรรค์พิมานก็มาประชุมพิพากษาพร้อมกันแล้วก็ชวนกันไปทูลแก่พระอิศวรผู้เปนเจ้าๆ จึงนิมนต์เทพยดาองค์หนึ่งศักดิ์สิทธิ์ เธอก็มาถือปฏิสนธิในครรภ์นางพราหมณีนั้น นางพราหมณีมีครรภ์ครบถ้วนทศมาศ แล้วคลอดบุตรเปนสัตรี ส่วนพราหมณ์ทั้ง ๓ คนก็มีน้ำใจเกลียดชังนางพราหมณีน้อยผู้บุตรีนั้น ว่ามิใช่บุตรของตน ต่างคนต่างตีด่านางพราหมณีน้อยผู้บุตรีนั้น ครันเจียรกาลนานมา นางผู้บุตรีนั้นก็ได้ชื่อปรากฎว่า นางตรีบิดา ครั้นวัฒนาการใหญ่มามีอายุได้ ๘ ขวบ นางจึงถามมารดาว่า พราหมณ์ทั้ง ๓ นี้ผู้ใดเปนบิดาของข้า มารดาจึงแจ้งคดีแต่หลังทั้งปวงนั้นให้บุตรีฟัง นางผู้บุตรีนั้นจึงว่า แม้นมารดาว่าฉนั้น จงเร่งนำข้านี้เข้าไปถึงขุนเมืองเถิด ข้าจะให้มารดาพ้นจากพราหมณ์ทั้ง ๓ คนนี้ นางผู้มารดาจึงว่า ถ้าแม้นเจ้าจะทำให้มารดาไปพ้นจากพราหมณ์ทั้ง ๓ คนนี้ได้ แล้วก็จะได้ความสุขหนักหนา แต่ว่า ๓ พราหมณ์สิมีปรีชารู้หลักแหลมเทียมถึงท้าวพระยา เจ้าสิยังดรุณน้อยเล็กเด็กนักยังจะรู้เทียมท่านฤๅ ถ้าพ้นก็ดีทีมิพ้นเราแม่ลูกก็จะเร่งยากหนักไปนะลูกเอ๋ย นางผู้ลูกว่า ข้าจะให้มารดาพ้นให้จงได้ ข้าเปนเชื้อชาติพราหมณ์แลจะทำให้มารดาพ้นจากทุกข์เท่านี้มิได้ฤๅ นางมารดาดีใจจะใคร่พ้นภัยจากทุกข์ยาก จึงถามว่าเจ้าจะให้พ้นจากพราหมณ์ด้วยอย่างไร เจ้าไซร้ยังเปนเด็กเยาว์นักจะรู้แบบฉบับธรรมเนียมอันใด ส่วนพราหมณ์ไซร้ประกอบด้วยคุณวุฒิรู้ยิ่งกว่าเจ้า เพราะท่านเปนพฤฒาจารย์ นางตรีบิดาว่า ธรรมเนียมมีอยู่ นางก็เล่านิยายนายกอายนั้นมาเปนธรรมเนียมให้แม่ฟัง