- คำนำ
- ประวัติท้าวนารีวรคณารักษ์
- นิทานเรื่องนำ
- ๑ นิทานเรื่องนางตรีบิดา
- ๒ นิทานเรื่องนายกอาย
- ๓ นิทานเรื่องบุตรีขุนเมือง
- ๔ นิทานเรื่องวิปกฤษพราหมณ์
- ๕ นิทานเรื่องอุบลเศรษฐี
- ๖ นิทานเรื่องพระมหาเถรรักศิษย์ไม่เสมอกัน
- ๗ นิทานเรื่องท้าวเอฬาราช
- ๘ นิทานเรื่องมาณพเลี้ยงพังพอน
- ๙ นิทานเรื่องโอรสพระเจ้าอุพัทธราชาธิราช
- ๑๐ นิทานเรื่องเศรษฐีสอนบุตร
- ๑๑ นิทานเรื่องโอรสพระเจ้ากรุงมัทราส
- ๑๒ นิทานเรื่องเศรษฐีบุตร ๔ คน
- ๑๓ นิทานเรื่อง ๔ มาณพ
- ๑๔ นิทานเรื่องจตุรพราหมณ์
- ๑๕ นิทานเรื่องจตุรนารี
- ๑๖ นิทานเรื่องพราหมณ์เลือกเมีย
- ๑๗ นิทานเรื่องสุบินกุมาร
- ๑๘ นิทานเรื่องนายสำเภาชื่อสุริยวาณิช
- ๑๙ นิทานเรื่องพระเจ้าไตรวัต
- ๒๐ นิทานเรื่องพระยารีผัวเมีย
- ๒๑ นิทานเรื่องกษัตริย์สรโนธมาธิราช
- ๒๒ นิทานเรื่องชายชาวชนบท
- ๒๓ นิทานเรื่องตากับยายชาวชนบท
- ๒๔ นิทานเรื่องพระเจ้ากรุงศรีภิรมย์มหาราช
- ๒๕ นิทานเรื่องนางกะเชอรั่ว
- ๒๖ นิทานเรื่องพเอิญเข้าดลใจ
- ๒๗ นิทานเรื่องนายแวง ๒ คนเฝ้าท้องพระโรง
- ๒๘ นิทานเรื่องรัตนทัตบุตรเศรษฐี
- ๒๙-๓๐ นิทานเรื่องวิษณุคุบ
- ๓๑ นิทานเรื่องตำรวจ ๒ สหาย
- ๓๒ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกพบกลอง
- ๓๓ นิทานเรื่องเลือดมาอาศรัยเล็น
- ๓๔ นิทานเรื่องเศวตโคธา
- ๓๕ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกแทะสายหน้าไม้
- ๓๖ นิทานเรื่องคชทุมพรราชกุมาร
- ๓๗ นิทานเรื่องหงส์หามเฒ่า
- ๓๘ นิทานเรื่องลากับราชสีห์
- ๓๙ นิทานเรื่องพราหมณ์ช่วยกบ
- ๔๐ นิทานเรื่องน้ำผึ้งหก
- ๔๑ นิทานเรื่องฤษีชุบสุนัขเปนราชสีห์
- ๔๒ นิทานเรื่องนกกางเขนตกฟองที่หาดทราย
- ๔๓ นิทานเรื่องนายเนสาท
- ๔๔ นิทานเรื่องช่วยคนแลสัตว์ตกเหว
- ๔๕ นิทานเรื่องช่วยเสือตาย
- ๔๖ นิทานเรื่องให้ลิงเปนองครักษ์
- ๔๗ นิทานเรื่องนกกระจาบกับลิง
- ๔๘ นิทานเรื่องเศรษฐีบุตรหนีตาย
- ๔๙ นิทานเรื่องปลาพยายามหนีภัย
- ๕๐ นิทานเรื่องท้าวทศกระวีราชหนีพระกาล
- ๕๑ นิทานเรื่องนกยางลวงปลา
- ๕๒ นิทานเรื่องถึงที่ต้องตาย
- ๕๓ นิทานเรื่องวานรกับจรเข้
๕๑ นิทานเรื่องนกยางลวงปลา
ในพุทธกาลก่อนนั้น มีสกุณตัว ๑ ชื่อกาลพโกนกยางไปเที่ยวหาอาหาร เห็นมหาสระ ๑ มีหมู่มัจฉาอาศรัยอยู่เปนอันมาก จึงรำพึงว่าอาตมะจะทำกิริยาเปนมายาลวงกินปลานี้ให้จงได้ คิดแล้วก็ลงไปยืนทำกิริยาง่วงเหงาเซาหลับตาอยู่ริมฝั่งสระนั้น ถึงมาทหมู่มัจฉาทั้งหลายจะเข้าใกล้ตัวก็ดี ก็ทำอุบายอาการดุจรักใคร่มิได้ทำอันตรายเลย แต่เพียรพยายามอยู่ดังนั้นประมาณ ๒ วัน ๓ วัน
ฝ่ายหมู่มิจฉาทั้งหลายเห็นอาการกาลพโกทำกิริยาดังนั้นก็รำพึงว่า อันธรรมดานกยางทั้งหลายนี้ย่อมเปนอริภัยแก่ฝูงเรา เหตุไฉนเล่านกยางเถ้าตัวนี้จึงมิได้เบียดเบียนฝูงปลาทั้งหลายเล่า รำพึงดังนี้แล้วจึงหมู่มัจฉาทั้งปวงก็เข้ามาใกล้แล้วถามว่า ข้าแต่ท่านลุง เหตุไฉนจึงมาทำกิริยาง่วงเหงาเปนทีทุกข์โศกอยู่ดังนี้ กาลพโกจึงตอบว่า ดูกรลูกหลานเหลนทั้งปวงเอ๋ย เราทุกข์โศกอยู่ฉนี้ก็เพราะมีความเมตตาท่านลูกหลานทั้งหลาย หมู่มัจฉาถามว่า ซึ่งลุงเมตตาฝูงข้าทั้งหลายนี้ด้วยเหตุฉันใด กาลพโกจึงว่าหลานเอ๋ย ลุงนี้เห็นชาวชนบทประเทศทั้งปวงนั้น เขาจัดแจงอวนแหสุ่มซ่อมช้อนชนาง แล้วเจรจากันว่าจะมาเอาหมู่มัจฉาในสระนี้ ลุงสงสารลูกหลานทั้งหลายจะถึงแก่ความตายเสียหมดสิ้น ลุงจึงทุกข์โศกด้วยเหตุฉนี้ นี่แน่ลูกหลานทั้งปวงเอ๋ย ลุงไปเห็นมหาสระอัน ๑ ใหญ่โตแสนสนุกรโหฐาน แต่ว่าสถิตอยู่เหนือยอดบรรพตโพ้น ถึงว่าพรานเนื้อแลพรานปลาก็มิได้ไปมาได้เลย ลุงคิดว่าจะพาเอาลูกหลานทั้งหลายไปไว้ในสระนั้นให้เปนสุขให้พ้นฝูงคนเบียดเบียน ลุงนี้กลัวแต่ว่าลูกหลานทั้งปวงจะมิเชื่อเรา ถ้าจะใคร่เห็นความจริงไซร้ จงให้ผู้ใดผู้หนึ่งไปด้วยเรา ๆ จะพาไปให้เห็นประจักษ์แก่ท่านทั้งปวง มัจฉาทั้งปวงได้ฟังกาลพโกว่าฉนั้น ต่างสดุ้งตกใจด้วยสำคัญว่าจริง จึงปฤกษากันว่าชาวเราจะประพฤติฉันใดดีจึงจะพ้นภัยแห่งมนุษย์ได้ ซึ่งถ้อยคำนกยางว่าสระใหญ่มีอยู่บนยอดบรรพตโน้นยังจะจริงฤๅ จำเราทั้งหลายจะไปสืบดูให้แจ้งก่อน คิดแล้วหมู่มัจฉาทั้งปวงก็แต่งให้แพทย์มัจฉาตัว ๑ จึงพามาสู่นกยาง แลแพทย์มัจฉาจึงว่า ข้าแต่ท่านลุง จงพาหลานนี้ไปดูให้เห็นประจักษ์แจ้งก่อนเถิด
ฝ่ายว่ากาลพโกนั้นจึงอ้าปากคาบมัจฉาแต่ค่อย ๆ แล้วก็บินไป ครั้นถึงแล้วก็วางลงในสระยอดบรรพตนั้น แพทย์มัจฉานั้นครั้นเห็นมหาสระอันเปนที่เกษมสุขดังนั้น ก็เพลิดเพลินเจริญใจมิใคร่จะมาเลย กาลพโกจึงปลอบว่า หลานเอ๋ยมาไปเถิด สงสารฝูงญาติอยู่ภายหลังจะหลงคอยฟังข่าวอยู่หลานอย่าร้อนใจว่าจะมิได้มา ลุงจะอุส่าห์พามาให้สิ้นทั้งสระนั้น แพทย์มัจฉาจึงมาหากาลพโกนั้น ๆ ก็ค่อยถนอมพาบินมาถึงที่อยู่แล้วก็วางลง แล้วแพทย์มัจฉานั้นก็บอกเล่าตามซึ่งตนไปเห็นนั้น แลว่าทีนี้เราทั้งหลายจะพ้นพวกมนุษย์เบียดเบียนและอยู่เย็นเปนสุขครั้งนี้แล้ว
ฝ่ายฝูงมัจฉาทั้งหลายฟังแพทย์มัจฉาบอกเหตุดังนั้น ก็ชื่นชมโสมนัสสำคัญว่านกยางจะกรุณาจริง แล้วก็ชิงกันกล่นเกลื่อนเข้ามาห้อมล้อมหน้าหลัง แล้วก็วิงวอนแก่นกยางว่าข้าแต่ท่านลุง จงกรุณาชักพาข้าพเจ้านี้ไปก่อนเถิด กาลพโกจึงว่า ลูกหลานทั้งหลายอย่าร้อนใจเลย ลุงจะอุส่าห์พาไปให้จงสิ้นด้วยกัน แต่นั้นมากาลพโกก็คาบบินไปถึงข้าคบไม้ต้น ๑ อันมีอยู่แทบเชิงเขาแล้วก็กินปลาเปนอาหารสิ้นกาลทุกวันจนหมดสิ้นมัจฉาในสระนั้น
กาลนั้นมีปูตัว ๑ มีปรีชาฉลาดหลักแหลมแลมาพิจารณาดูก็รู้ว่ากาลพโกนี้ลวงเอาฝูงปลากินเปนมั่นคง ครั้นอยู่มามิช้ามินาน กาลพโกก็มาสู่สระนั้น แล้วจึงมีวาจาว่า ดูกรหลานเอ๋ย ฝูงปลาผู้เปนเพื่อนพวกพ้องของหลาน ลุงก็พาไปให้อยู่เปนสุขสิ้นสระแล้ว แลยังเหลืออยู่แต่หลานนี้จะคิดประการใด ปูจึงมีวาจาตอบว่า ข้าแต่ท่านลุง ข้านี้มิรู้ที่จะคิดฉันใดเลยนะลุงเอ๋ย กาลพโกก็ว่าอย่าร้อนใจ เราจะทำบุญแล้วก็จะทำให้ทั่วกัน เราจะอุส่าห์คาบเอาท่านไปให้รอดเปนสุขแล ปูจึงว่าถ้าลุงกรุณาดังนั้นก็ดีแล้ว แต่ทว่าข้านี้มีกายเปนกระดองแขง คาบจะยากด้วยเหตุว่าจงอยปากท่านสิแขงนัก แม้นว่าพลาดพลัดไพล่ลงมาจะมรณาเสียเปล่า ๆ แม้นลุงเอ็นดูหลานแล้ว หลานจะขอเอาก้ามคาบคอด้วยพอช่วยแรงท่านนั่นและหลานจึงจะเต็มใจ ฝ่ายกาลพโกนั้นโลภหลงเล็งเห็นแต่จะได้ลาภ อนึ่งเพื่อผลบาปที่ตนล่อลวงให้ท่านหลงแลปลงชีพท่านเสียนั้นมาทันเข้า ก็ป้องกันปัญญาไว้มิได้คิดจ่าภัยจะถึงตนเลย ก็ยอมให้ปูเอาก้ามคาบคอแล้วบินไป ครั้นถึงต้นพฤกษาใหญ่ที่เคยอาศรัยกินปลานั้น ก็จับลงเพื่อจะกินปูเปนอาหาร ฝ่ายปูรู้อาการกาลพโกดังนั้นแล้ว แลเห็นกองอัฐิมัจฉาทั้งหลาย อันถึงแก่ความตายแต่กาลก่อนนั้นแน่แก่ใจ จึงมีวาจาว่า ดูกรนกยางผู้โมหะหลงโลภใจทมิฬบาปหยาบช้าปดโป้ว่าศรัทธาทำกุศล ดังฤๅจึงลวงล่อหมู่มัจฉามากินเล่น แล้วมิหนำซ้ำจะลวงกินเราด้วยเล่า อย่าหมายเลยที่ว่าจะกินเราได้ ด้วยก้ามเราคีบคอท่านไว้แน่นถนัดดังนี้ ถ้าท่านมิพาเราไปส่งในสระดังเก่า เราจะหนีบคอออเจ้าให้ขาดตายในกาลบัดนี้ ครั้งนั้นกาลพโกก็สุดคิดด้วยว่าปูคีบคอหนักเข้า จึงอ้อนวอนขอโทษว่า ท่านจงคลายก้ามออกเสียสักหน่อยก่อนเถิด เราจะพาท่านไปส่งในสระดังเก่า ฝ่ายปูคิดว่าจะคีบให้ตายบัดนี้ น่าที่อาตมาก็จะค้างอยู่ป่านี้ จำจะลวงให้มันพาไปส่งเสียก่อน แล้วจะทำให้มันตายเมื่อภายหลัง คิดแล้วก็คลายก้ามออกหน่อยหนึ่ง แล้วก็ค่อยคีบแต่เบาๆ
ฝ่ายนกยางเถ้าก็บินมาพลางทางคิดว่า ถ้ากูพาไปถึงสระแลก้ามมันวางจากคอกูแล้ว กูจะสับจิกด้วยจงอยปากให้กระดองมันแตกตายแล้วกูจะกินให้หนำใจ ครั้นบินมาถึงสระแล้วนกจึงว่า ท่านจงวางคอเถิด ปูจึงตอบว่า ท่านพาเราไปวางให้ถึงที่น้ำลึกก่อน นกยางก็พาไปวางถึงน้ำลึกแล้ว ปูเห็นทีจะไปได้ก็คีบต้นคอนกให้ขาดตายวายชีพณกาลครั้งนั้น
สังวทันต์ว่า ซึ่งข้าพเจ้าว่าผู้มีปัญญาก็เอาตัวรอดได้ ก็ดุจดังปูเอาชีวิตรอดได้นั้น
นนทุกราชจึงว่า อันกาละมาถึงแล้วบห่อนจะหนีพ้นก็มีธรรมเนียมดังนี้