- คำนำ
- ประวัติท้าวนารีวรคณารักษ์
- นิทานเรื่องนำ
- ๑ นิทานเรื่องนางตรีบิดา
- ๒ นิทานเรื่องนายกอาย
- ๓ นิทานเรื่องบุตรีขุนเมือง
- ๔ นิทานเรื่องวิปกฤษพราหมณ์
- ๕ นิทานเรื่องอุบลเศรษฐี
- ๖ นิทานเรื่องพระมหาเถรรักศิษย์ไม่เสมอกัน
- ๗ นิทานเรื่องท้าวเอฬาราช
- ๘ นิทานเรื่องมาณพเลี้ยงพังพอน
- ๙ นิทานเรื่องโอรสพระเจ้าอุพัทธราชาธิราช
- ๑๐ นิทานเรื่องเศรษฐีสอนบุตร
- ๑๑ นิทานเรื่องโอรสพระเจ้ากรุงมัทราส
- ๑๒ นิทานเรื่องเศรษฐีบุตร ๔ คน
- ๑๓ นิทานเรื่อง ๔ มาณพ
- ๑๔ นิทานเรื่องจตุรพราหมณ์
- ๑๕ นิทานเรื่องจตุรนารี
- ๑๖ นิทานเรื่องพราหมณ์เลือกเมีย
- ๑๗ นิทานเรื่องสุบินกุมาร
- ๑๘ นิทานเรื่องนายสำเภาชื่อสุริยวาณิช
- ๑๙ นิทานเรื่องพระเจ้าไตรวัต
- ๒๐ นิทานเรื่องพระยารีผัวเมีย
- ๒๑ นิทานเรื่องกษัตริย์สรโนธมาธิราช
- ๒๒ นิทานเรื่องชายชาวชนบท
- ๒๓ นิทานเรื่องตากับยายชาวชนบท
- ๒๔ นิทานเรื่องพระเจ้ากรุงศรีภิรมย์มหาราช
- ๒๕ นิทานเรื่องนางกะเชอรั่ว
- ๒๖ นิทานเรื่องพเอิญเข้าดลใจ
- ๒๗ นิทานเรื่องนายแวง ๒ คนเฝ้าท้องพระโรง
- ๒๘ นิทานเรื่องรัตนทัตบุตรเศรษฐี
- ๒๙-๓๐ นิทานเรื่องวิษณุคุบ
- ๓๑ นิทานเรื่องตำรวจ ๒ สหาย
- ๓๒ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกพบกลอง
- ๓๓ นิทานเรื่องเลือดมาอาศรัยเล็น
- ๓๔ นิทานเรื่องเศวตโคธา
- ๓๕ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกแทะสายหน้าไม้
- ๓๖ นิทานเรื่องคชทุมพรราชกุมาร
- ๓๗ นิทานเรื่องหงส์หามเฒ่า
- ๓๘ นิทานเรื่องลากับราชสีห์
- ๓๙ นิทานเรื่องพราหมณ์ช่วยกบ
- ๔๐ นิทานเรื่องน้ำผึ้งหก
- ๔๑ นิทานเรื่องฤษีชุบสุนัขเปนราชสีห์
- ๔๒ นิทานเรื่องนกกางเขนตกฟองที่หาดทราย
- ๔๓ นิทานเรื่องนายเนสาท
- ๔๔ นิทานเรื่องช่วยคนแลสัตว์ตกเหว
- ๔๕ นิทานเรื่องช่วยเสือตาย
- ๔๖ นิทานเรื่องให้ลิงเปนองครักษ์
- ๔๗ นิทานเรื่องนกกระจาบกับลิง
- ๔๘ นิทานเรื่องเศรษฐีบุตรหนีตาย
- ๔๙ นิทานเรื่องปลาพยายามหนีภัย
- ๕๐ นิทานเรื่องท้าวทศกระวีราชหนีพระกาล
- ๕๑ นิทานเรื่องนกยางลวงปลา
- ๕๒ นิทานเรื่องถึงที่ต้องตาย
- ๕๓ นิทานเรื่องวานรกับจรเข้
๔๔ นิทานเรื่องช่วยคนแลสัตว์ตกเหว
ว่ากาลก่อนมีพราหมณ์ชื่อพาหุ อยู่ณกรุงพาราณสีนคร กาลวัน ๑ พราหมณ์จะไปสรงสนานในประเทศเดียรถี ครั้นถึงอรัญวิถีมีมฤคแพรงเดิรมา พราหมณ์ก็แลละเลิงหลงไปตามมฤคแพรงนั้น ก็พบจตุสัตว์ตกลงอยู่ด้วยกันในเหวแห่ง ๑ คืออุรคชาติ ๑ วานร ๑ พยัคฆ์ ๑ มนุษย์ ๑ พราหมณ์ก็มีจิตต์กรุณาปรานีว่าอนิจจาเขาทั้ง ๔ นี้มีกรรมไฉน จึงมาตกตามกันลงไปในเหวดังนี้ พราหมณ์จึงทิ้งเถาวัลิมาควบคุมกันเปนกมันทลาทอดทิ้งลงไป วานรฉวยกมันทลานั้นได้ก่อน พราหมณ์ก็เสาะสาวขึ้นมาได้ วานรกรานกราบแทบเท้าพราหมณ์ ว่าข้าไซร้เปนดิรัจฉานไม่มีทรัพย์สินสิ่งอื่น จะได้แต่ผลผลามาทดแทนคุณท่าน ขอท่านได้กรุณาแต่พยัคฆ์แลอุรคชาตินั้นด้วยเถิด แต่มนุษย์ท่านอย่าทำคุณเลย พราหมณ์ก็หย่อนเถาวัลิลงไป อุรคชาติก็เกี่ยวกระหวัดได้ พราหมณ์ก็เสาะสาววลีขึ้นมา อุรคชาติก็ซบเศียรลงกับบาทาพราหมณ์ว่า ข้าไม่มีพัสดุสิ่งใดจะเสนอสนองคุณแห่งท่าน ถ้าแลท่านมีทุกข์กังวลสิ่งใดจงรฦกถึงข้า ๆ จะมาสนองคุณท่านเมื่อนั้น อนึ่งท่านอย่าได้นำมนุษย์ใจดำขึ้นมาเลย ว่าแล้วก็ลาไป พราหมณ์จึงทอดกมันทลาลงอิกเล่า พยัคฆ์จึงจับได้ พราหมณ์ก็หน่วงเหนี่ยวขึ้นมาได้ พยัคฆ์ก็ก้มกราบกรานลงกับบาทา แล้วว่ามนุษย์ใจดำทมิฬอันธพาลท่านอย่ากระทำคุณเลย อนึ่งท่านจงได้ยั้งท่าข้าหน่อยหนึ่งในสถานที่นี้ พยัคฆ์ก็ไปนำเครื่องอลงกฎรัตนมงกุฎกุณฑล ผ้ารัตวลัยธำมรงค์มาให้ สนองคุณพราหมณ์แล้วก็ลาไป พราหมณ์มีมฤทุจินดาว่า ดิรัจฉานไซร้ยังปรานีนำขึ้นมาได้ แลมนุษย์ดุจกัน ถ้าเรามิเอ็นดูจะมีผู้ติได้ว่าเราไซร้อาธรรม แม้นจะผิดชอบประการใดจะเนาไว้ให้รอดด้วยกันเถิด คิดแล้วก็ทอดสายกมันทลาลงไป มนุษย์ก็ยุดโยงขึ้นมาได้ พราหมณ์จึงกล่าวว่า ท่านจงเร่งไปให้พ้นภัยพยัคฆ์เถิด เพราะพราหมณ์กลัวเกลือกว่า พยัคฆ์จะมาประจวบเข้าจะน้อยใจว่าห้ามแล้วมิฟัง มนุษย์นั้นก็สั่งว่า ข้าไซร้เปนช่างทองอยู่ในนิคมคามตำบลนั้น ท่านจะประสงค์สุวรรณรัตนสิ่งใด ๆ จงไปหาข้าเถิด ว่าแล้วก็ไป พราหมณ์ก็มาสู่เคหา นางภรรยาก็วอนว่า ท่านจงเอาสุวรรณเครื่องราชประดับนี้ไปแปลงเปนเครื่องใช้แลแหวนใส่องคุลีจะมิดีกว่าฤๅ พราหมณ์จึงรำพึงว่า จะให้ผู้อื่นแปลงมิชอบ อย่านะจะไปหาชายช่างทองอันตกเหวนั้นแปลงเถิด คิดแล้วก็เอาอาภรณ์นั้นไปยังบ้านชายช่างทองนั้น ๆ ครั้นเห็นก็เชื้อเชิญมายังเคหฐานถามว่าท่านมาประสงค์สิ่งใด พราหมณ์จึงแจ้งว่า อาตมาประสงค์จะให้ท่านช่วยแปลงอาภรณ์นี้เปนเครื่องใช้ ชายช่างทองเห็นว่าเปนเครื่องราชบริโภค จึงคิดว่าทีนี้จะได้ทดแทนแก่พราหมณ์แล้ว พราหมณ์เห็นแก่ดิรัจฉานดีกว่าเราผู้เปนมนุษย์ คิดแล้วก็กล่าวว่าขอท่านยั้งอยู่บัดเดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าจะไปขอถ่านมาจะแปลงทองให้แก่ท่าน ช่างทองก็ไปแจ้งแก่ขุนเมืองว่า ข้าพเจ้าได้โจรอันพิฆาฏพระราชกุมารเสีย แลเก็บเอาเครื่องราชบริโภคมาจะให้ข้าพเจ้าล้างยุบแปลงเปนเครื่องใช้ ข้าพเจ้ากุมตัวไว้แล้ว ขุนเมืองจึงใช้เพ็ชฌฆาฏแลนายพธำมรงค์ไปจับพราหมณ์มาถาม พราหมณ์รำพึงว่า ถ้าจะแก้ว่าพยัคฆ์ให้ผู้ใดเขาจะเชื่อ คิดแล้วจึงแจ้งว่าเปนผลกรรมแห่งอาตมะเอง ช่างทองจึงทัดว่าอย่าถามเลย ข้าพเจ้าได้ไต่ถามพราหมณ์สารภาพแล้ว อนึ่งได้ทรัพย์ในมือพราหมณ์แล้ว แลท่านจะว่าใช่โจรฤๅ ไฉนจึงจะถามเซ้าซี้ดังนี้เล่า ขอท่านได้เอาทรัพย์ทั้งนี้ไปถวายพระเจ้าอยู่หัวเถิด ขุนเมืองจึงเอาเครื่องราชบริโภคนั้นมาถวายบรมกษัตริย์ ๆ ตรัสถามว่า ท่านได้ซักไซ้ไล่เลียงเปนสัตย์แล้วฤๅขุนเมืองทูลว่า ได้ถามพราหมณ์มิได้แก้ประการใด ว่าแต่นี้เปนผลกรรมของข้าพเจ้าเอง อนึ่งเห็นว่าได้ทรัพย์ในมือพราหมณ์ พระโองการจึงซักว่า เอออันได้ทรัพย์ในมือพราหมณ์ก็จริงแล แต่ถ้าว่าคำพราหมณ์มิได้รับจะเอาเปนสัตย์ยังมิได้ก่อน ถ้าดังนั้นท่านให้เกาะไว้ก่อนเถิด ขุนเมืองก็ให้เกาะพราหมณ์ไว้ ครั้นสมัยราตรีพราหมณ์รำพึงถึงสัตว์ทั้ง ๓ ที่ถึงทุกขเวทนาแลเรารื้อขึ้นพ้นมรณะภัย พยัคฆ์แลวานรไซร้สนองคุณแห่งเราแล้ว แลมนุษย์ใจพาลเอาโทษมาตอบคุณ ยังแต่อุรคชาติไซร้สัญญาไว้ว่ามีทุกข์สิ่งใดให้รฦกหา จึงจะมาแทนคุณเรา อย่านะจะรฦกลองดูเล่าเถิด พราหมณ์จึงรฦกว่า อุรคชาติเอ๋ย ท่านจงมาช่วยเรา อุรคชาติก็มาในทันที ซบเศียรลงเหนือบาทาแห่งพราหมณ์ถามว่าเปนเหตุประการใดดังนี้ พราหมณ์จึงแจ้งเหตุว่าเรามิฟังคำท่านทั้ง ๓ ผู้มีกตัญญจึงได้ทุกข์ดังนี้ แลเราจะเปลื้องตนให้พ้นทุกข์นี้ด้วยประการใด จงกรุณาด้วยประการนั้นเถิด อุรคชาติจึงกล่าวว่าอย่าร้อนใจ ไว้ข้าจะไปตอดพระราชบุตรีแลจะลดหย่อนพิษไว้ ผู้ใดจะปัดพิษมิหายเลย เมื่อใดท่านไปปัดรฦกถึงข้า ๆ จะสูบเอาพิษนั้นออกแล ว่าแล้วซบเศียรลงกราบกรานแล้วก็ไป
อยู่มาสายัณหกาลวัน ๑ พระราชธิดาพาพวกบริพารไปประพาสอุทยาน อุรคชาติรู้อาการก็นิรมิตอาตมาเปนจุลอุรคชาติตัวน้อยประมาณเท่าเส้นผมเกี่ยวอยู่ณก้านดอกมลิ พระราชธิดาประพาสไปเล่นเห็นดอกมลิบานตระการงามเหยียดพระหัดถ์ไปเด็ดดอกมลินั้น อุรคชาติก็กัดองคุลีพระหัดถ์พระราชธิดาก็สลบล้มลงกับที่หาสมฤดีบมิได้ แสนสาวพี่เลี้ยงนางนมแน่น ก็ตกตลึงแล่นมามนิมนา โอบอุ้มองค์พระราชธิดาสิกระด้างดุจท่อนไม้ กำนัลกสัตรีก็แล่นไปทูลพระบิตุเรศมารดา ๆ ก็ตระหนกพระทัยสั่งขุนเมืองให้หาแพทย์มาปัดพ่นผจญพิษได้ ๓๐๐ คน พระราชธิดาก็มิได้เคลื่อนคลายหายพิษ พระโองการจึงสั่งขุนเมืองให้ป่าวไปนอกพระนครว่า แพทย์ผู้ใดพ่นผจญพิษอุรคชาติได้ จะเษกให้นางนี้เปนบาทบริจาผู้นั้น ขุนเมืองรับสั่งออกมาก็ไปป่าวร้อง พราหมณ์ให้แจ้งแก่ขุนเมืองว่า ข้าพเจ้ารู้ปัดพิษ ขุนเมืองจึงนำคดีนั้นไปทูลบรมกษัตริย์ ๆ สั่งให้เร่งเบิกเอาตัวเข้ามา ขุนเมืองให้เบิกเอาพราหมณ์ออกมา ให้สนานน้ำชำระกายบริสุทธิ์ แล้วนำมาถวาย พระโองการโปรดว่าพราหมณ์จะเอาอันใดบ้าง ขุนเมืองเร่งจัดหาให้ พราหมณ์จึงให้ขุนเมืองนั้นวงองค์พระราชธิดาด้วยม่านมิดแล้ว ให้โปรยปรายเข้าตอกตามประทีปทองบูชา จึงอ่านคาถาภาษาพราหมณ์เรียกอุรคชาติมาสูบพิษไปบัดเดี๋ยวนั้นทันที พระราชธิดาก็ตื่นฟื้นสมฤดี สมเด็จพระชนกบิตุราชแลพระชนนีก็ทรงโสมนัสยินดี จึงมีพระโองการตรัสว่าราชบุตรีเจ้าได้มีชีพเพราะพราหมณ์ผู้นี้ ท้าวเธอก็เษกพระราชบุตรีนั้นให้เปนบาทบริจาแก่พราหมณ์แล
ครั้นอยู่มาบรมกษัตริย์ตรัสถามพราหมณ์ว่า ท่านได้เครื่องราชบริโภคมาแต่ที่ใด พราหมณ์ทูลคดีโดยเหตุอันมีมาแต่กาลภายหลัง บรมกษัตริย์ก็สั่งขุนเมืองหาช่องทองมาถามสอบกระสันกับพราหมณ์ก็รับสมจริงดังคำพราหมณ์ จึงพระโองการสั่งให้ลงพระอาชญาช่างทองจนสิ้นชีพ พราหมณ์ก็ทูลขอชีวิตช่างทองไว้ จึงโปรดยกให้แต่ชีวิตแต่ว่าให้ลงโทษถึงสาหัสแล
ดูกรพญาวานร ธรรมเนียมมีอยู่อย่างนี้ เราจึงห้ามว่าอย่ากระทำคุณแก่มนุษย่ใจดำ
ธรรมบาลวานรว่าเออธรรมเนียมก็มีจริงแล สัตว์ทั้งปวงนี้มีคำกล่าวว่ามนุษย์ทรชน พยัคฆ์ทรชนก็มี
พยัคฆ์จึงถามว่า ธรรมเนียมพยัคฆ์ทรชนนั้นมีแบบอย่างไฉน
ธรรมบาวานรก็กล่าวกลข้อนิยายว่า