นิทานเรื่องนำ

จะกล่าวอาทิมูลนีติแห่งนางตันไตรย ในกาลเมื่อสิ้นทวาบรยุคแล้วกุลียุคจะมาถึงเข้านั้น “เอโก ราชา” ยังมีพระมหากษัตริย์พระองค์ ๑ ทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าไอสุริยาพาหราช ท้าวเธอได้ผ่านไอสุริยสมบัติณกรุงปาตลีบุตรมหานครราชธานี อันมีปริมณฑลได้ ๑๒ โยชน์ แลเมืองนั้นมีกำแพง ๓ ชั้น ๆ นอกนั้นกำแพงอิฐสูงได้ ๒๐ ศอก ชั้นกลางนั้นกำแพงศิลาสูงได้ ๑๘ ศอก ชั้นในนั้นกำแพงสุวรรณดามพะสูงได้ ๑๖ ศอก แลประกอบด้วยโขลนทวารนางจรัลโดรณอจลสถลมารคในหว่างกำแพงทั้ง ๓ ชั้นนั้น มีต้นหมาก ต้นมะพร้าว แลต้นตาลทั้งหลายเปนอันมาก แลอาณาเขตรแห่งเมืองปาตลีบุตรมหานครนั้น ๑๑๖ โยชน์ อำพลด้วยนรากรพหลโยธาพยุหทั้งหลายมีอาทิ คือจัตุภัณฑ์สรรพพาณิชทุกประเทศ แลประกอบด้วยช้างม้า แลพลทหารแกล้วกล้านั้นจะคณนานับมิได้ แลสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้า พระองค์นั้นทรงราชธรรม แลประกอบด้วยมหาสมบัติมโหฬาร แลมีนางพระสนมแสนสาว ๖ หมื่น อำพลด้วยท้าวพระยา พฤฒามาตย์ มนตรีคฤหบดีเศรษฐี แลพราหมณาจารย์ทั้งหลาย เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าไอสุริยพาหราชนั้นวันละ ๘ หมื่นมิได้ขาด แลมีมนตรีผู้ ๑ เปนใหญ่กว่ามนตรีทั้งหลายนั้น ชื่อวิจิตรวิจารณามหามนตรี แลมีมนตรีอันดับ ๔ คน แลมนตรีทั้ง ๔ คนนั้น มีมนตรีเปนบริวารคนละ ๑,๑๐๐ คนแล

“เอกสตราชาโน” แลมีพระมหากษัตริย์อันเปนประเทศราชเปนเมืองออกนั้น ๑๐๑ เมือง ถ้าแลมีการพระราชพิธีตรุษสารทก็ดี แลท้าวพระยาสามนต์ แลเสนาบดี มนตรีเศรษฐี ทหารแกล้วกล้าทั้งหลายทั้งปวง มาเฝ้าพระมหากษัตริย์ในท้องพระโรงทอง ๑๒ กำนันสุดชั่วเนตร ๑ แล

ครั้นสมเด็จพระมหากษัตริย์เสด็จออกสู่พระบวรสถานพระโรงชัย ท้าวพระยามหากษัตราธิราชทั้งหลายกรประนมถวายบังคมคัลคับคั่งแต่มหามงกุฎกระทบกระทั่งกัน แลเนาวรัตน์อันประดับเลื่อนหลุดลงท้องพระโรงชัยทุกวัน ครั้นสำเร็จการราชพิธี แลนายบริบาลกวาดที่ท้องพระโรงนั้น เก็บได้เนาวรัตน์วันละ ๑๖ ทนานแล

แลพระเดชานุภาพพระมหากษัตริย์เจ้านั้น เสมอเหมือนด้วยเดชานุภาพพระสุริยอาทิตย์เมื่อเวลาเที่ยง แลท้าวพระยาแสนเสนาบดีทั้งหลายอันอยู่ณที่เฝ้าพระมหากษัตริย์นั้น บมิอาจเหลือบดูซ้ายขวาหน้าหลังได้

อยู่มากาลวัน ๑ ได้นักขัตฤกษ์ศุภวาร พราหมณ์ผู้ ๑ กระทำการวิวาหมงคล แลพราหมณ์ทั้งปวงจึงแต่งกัลยาณีผู้ ๑ ประกอบด้วยรูปโฉมงดงาม แลประดับเครื่องครบวิภูษิตาภรณ์แล้วแห่ห้อมล้อมมามากหลาย มายังหน้าพระลานชัยที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกนั้น แลท้าวพระยามนตรีพิริยโยธาทั้งหลาย ได้ยินเสียงพิณพาทย์ฆ้องกลองแตรสังข์มโหรทึกดุริยดนตรีบำเรอรมย์มานั้น ท้าวพระยาสามนตราชทั้งหลายอันอยู่ในที่เฝ้านั้นก็เหลียวดู จึงสมเด็จท้าวไอสุริยพาหราชทรงพระโกรธ พระเนตรแดงดุจดาวฤกษ์โรหิณี มีพระองค์สั่นดุจบุรุษผู้ ๑ เอาพเนินมาทุบขนดหางพระยานาคราช แล้วท้าวไอสุริยพาหราช จึงมีพระราชโองการสั่งแก่วิจิตรวิจารณามหามนตรี ให้เอาพระยาสามนตราชพิริยโยธาทั้งหลายนั้นไปประหารชีวิตเสีย จึงวิจิตรวิจารณามหามนตรีกราบทูลฉลองว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายหากเหลียวแลดูพราหมณ์กล่าวกัลยาณีมาตามฤกษ์อันดีอุดม เวลาประกอบกล่าวภรรยาแล้วมารับไปณวันนี้ อนึ่งโหราพฤฒามาตย์กล่าวแต่อาทิมาว่าทำการวิวาหมงคล เมื่อเวลาเช้านั้น พระพรหมย่อมเสด็จมาอยู่ในตาผู้ชาย พระสุรัสวดีเสด็จมาอยู่ในตาผู้หญิง เมื่อผู้แก่ผู้เถ้ารับบ่าวสาวขึ้นไปอยู่แทบที่นอน ประดิษฐานที่นอน ชายนั้นคือองค์พระอิศวร หญิงนั้นคือองค์นางอุมาภควดี เพราะเทวดาทั้งหลายมากระทำการวิวาหมงคลเพราะเหตุจะให้สุขสวัสดิ์ จึงข้าพระพุทธเจ้าท้าวพระยาสามนตราช แลอำมาตย์มนตรีพิริยโยธาทั้งหลายเหลียวแลดู เพราะเหตุดังข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลนี้แล

ครั้นวิจิตรวิจารณามหามนตรีกราบทูลดังนั้น พระท้าวเธอก็คลายพระโกรธ บ่ายพระพักตรเสด็จเข้าสู่ที่เสวยบวรสุธาโภชน์ ครั้นเสวยแล้วเสด็จบ่ายพระพักตรออกมา แลปโรหิตาจารย์จึงกราบทูลว่า พระมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อน ก็ย่อมทำวิวาหมงคลเหมือนดังนี้ ก็มีแล

พระท้าวเธอจึงตรัสถามปโรหิตาจารย์ว่า พระมหากษัตริย์องค์ใดได้ทำการวิวาหมงคล ดังนี้

ปโรหิตาจารย์กราบทูลว่า ท้าวอนุราชองค์ ๑ ท้าวนนทาราชองค์ ๑ ท้าวเทศราชองค์ ๑ พระมหากษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์นี้ ย่อมได้ทำการวิวาทมงคลดังนี้แล

พระท้าวเธอทรงฟังปโรหิตาจารย์กราบทูลดังนั้น เธอจึงทรงพระดำริห์ว่า เรานี้เปนพระมหากษัตราธิราชดำรงยศอันมหิมา จำเราจะทำการวิวาหมงคลหาอรรคมเหษีจงทุกทิศจึงจะควร ครั้นทรงพระดำริห์ดังนี้ แล้วจึงมีพระราชโองการตรัสสั่งแก่วิจิตรวิจารณามหามนตรี ให้หานางเบ็ญจกัลยาณีเข้ามาถวายแก่เราวันละคน ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไปจนได้ปี ๑ อย่าให้ขาด จงจัดดูแต่ในลูกพระยา แลมนตรี เศรษฐีอันประกอบด้วยชาติตระกูล แต่อายุได้๙ ปี ๑๐ ปี ส่งมาให้ได้ปี ๑ อย่าให้ขาด ถ้าวันใดแลขาดไซร้ จะให้ลงอาญาแก่วิจิตรวิจารณามหามนตรีกับทั้งโคตรแห่งท่านจงสิ้นชีวิต วิจิตรวิจารณามหามนตรีรับพระราชโองการแล้วก็ถวายบังคมลาออกมา จึงไปจัดได้บุตรท้าวพระยาสามนตราช อันประกอบด้วยเบ็ญจกัลยาณีนั้นมาชำระสระสรงสรางเกศสลวย ให้ทรงผ้าขาวควรราคาแสนตำลึงทอง ธำมรงค์อลงกฎรจนาพรรณเนาวรัตน์ แล้วแต่งประดับให้ช้างกระโจมจำลอง แลม้าเหมาะมงคล อำพลด้วยคู่แห่สพรั่งพร้อมแตรสังข์ดุริยดนตรีปี่ซอฆ้องกลอง แลนางเถ้าแก่กำนัล แลชั้นชาวแม่แห่ห้อมเข้ามาไสว ถวายวิวาหมงคลบมิได้ขาดสักวันเลย แต่ได้นางเบ็ญจกัลยาณีเข้ามาถวายแลกระทำการวิวาหมงคลคณนาได้ ๑๕๙ คนแล้ว

ในกาลวัน ๑ วิจิตรวิจารณามหามนตรีเข้าไปเฝ้าออกมามิทันที่จะได้จัดหานางกัลยาณี แล้วก็มารำพึงว่า พระมหากษัตริย์จะให้พิฆาฏฆ่าเราเสียสิ้นทั้งโคตรแห่งเรา แล้วก็นอนเปนทุกข์อยู่ นางผู้ภรรยาก็มาเตือนว่า เชิญท่านไปอาบน้ำแล้วจงบริโภคอาหารในกาลบัดนี้ วิจิตรวิจารณามนตรีจึงมีวาจาตอบว่า พี่จะบริโภคอาหารเห็นจะไม่ได้แล้วเพราะทุกแห่งพี่มีมากหนักหนา นางผู้ภรรยาจึงถามว่า ทุกข์เปนไฉนท่านจงบอกให้ข้ารู้บ้าง วิจิตรวิจารณามหามนตรีจึงตอบว่า ถ้าพี่บอกแก่เจ้า ๆ ยังจะช่วยได้แลฤๅ นางผู้ภรรยานั้นก็ปรารภหนักหนา จึงจรกลับมา ๆ เจรจาด้วยนางตันไตรยผู้เปนบุตรี ว่าบิดาของเจ้ามีทุกข์ร้อนมิได้บอกมารดานี้เลย

นางตันไตรยได้ฟังมารดาบอกเหตุแห่งบิดา นางจึงเข้าไปนั่งใกล้ไหว้บิดาแล้วถามว่า ข้าแต่บิดา เหตุการณ์โทษผิดมีมาเปนไฉนฤๅ จึงจะได้รับพระราชอาญา ขอบิดาได้บอกเหตุนั้นแก่ลูกก่อน บิดาจึงแจ้งเหตุว่า ทุกข์ของบิดานี้เหลือล้นพ้นประมาณนัก บิดาจะบอกบัดนี้เจ้ายังจะช่วยบิดาได้แล้วฤๅ นางจึงว่า แม้นข้าจะช่วยได้ก็ดี มิช่วยได้ก็ดี ขอบิดาได้กรุณาบอกเหตุแก่ลูกให้รู้เถิด บิดามีความเสนหาในบุตรีเปนที่ยิ่ง จึงแจ้งคดีว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรานี้ มีบัญชาสั่งขาดให้บิดาจัดหานางกัลยาณีเข้าไปถวายจงทุกวัน วันละคน ๆ จงได้ปี ๑ อย่าให้ขาดวัน ถ้าวันใดขาด จะลงพระราชอาญาพิฆาฏฆ่าเสียสิ้นทั้งโคตร แลวันนี้จะจัดหานางเบ็ญจกัลยาณีนั้นจะไม่ทันในวันพรุ่งนี้แล้ว ลูกเอ๋ยพระราชอาญาจะมิพ้นเราแล้วนะลูกรัก

นางตันไตรยจึงว่า เหตุสิมีมาอย่างนั้นแล้วบิดาจงนำลูกนี้ไปถวายเถิด เห็นจะเคลื่อนคลายหายโทษ บิดาจึงว่า ถ้าแหละบิดาจะแต่งเจ้านำเข้าไปถวายก็จะคุ้มได้แต่โทษในวันนี้ พรุ่งนีจะได้นางเบ็ญจกัลยาณีมาแต่ไหน จึงจะได้นำไปถวายอิกเล่านะลูกเอ๋ย นางจึงว่า บิดาอย่าปรารมภ์ ถ้าบิดานำตัวข้าเข้าไปถวายแล้ว ข้าจะทูลทัดห้ามปรามพระองค์ไว้ไม่ให้หานางอื่นอิกต่อไปเลย บิดาจึงว่าลูกเอ๋ย เจ้ายังมิได้รู้จักพระฤทธิ์พระเดช พระมหากษัตริย์นี้ยากนักนะลูก เจ้าว่าจะทูลห้ามทัดทานนั้นจะได้ดังวาจาแลฤๅ นางจึงว่า เหมือนนางตรีบิดา มีอายุได้ ๘ ขวบ ยังช่วยมารดาให้พ้นทุกข์ได้ อันตัวลูกนี้มีอายุได้ ๙ ขวบแล้ว แลกลใด จึงจะมิช่วยบิดาให้พ้นจากทุกข์ได้เล่า บิดาจึงถามว่าอันนางตรีบิดาอายุได้ ๘ ขวบ แลช่วยมารดาให้พ้นจากทุกข์นั้นฉันใดเล่าลูก นางตันไตรยจึงเล่านิยายให้บิดาฟังดังนี้ว่า

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ