- คำนำ
- ประวัติท้าวนารีวรคณารักษ์
- นิทานเรื่องนำ
- ๑ นิทานเรื่องนางตรีบิดา
- ๒ นิทานเรื่องนายกอาย
- ๓ นิทานเรื่องบุตรีขุนเมือง
- ๔ นิทานเรื่องวิปกฤษพราหมณ์
- ๕ นิทานเรื่องอุบลเศรษฐี
- ๖ นิทานเรื่องพระมหาเถรรักศิษย์ไม่เสมอกัน
- ๗ นิทานเรื่องท้าวเอฬาราช
- ๘ นิทานเรื่องมาณพเลี้ยงพังพอน
- ๙ นิทานเรื่องโอรสพระเจ้าอุพัทธราชาธิราช
- ๑๐ นิทานเรื่องเศรษฐีสอนบุตร
- ๑๑ นิทานเรื่องโอรสพระเจ้ากรุงมัทราส
- ๑๒ นิทานเรื่องเศรษฐีบุตร ๔ คน
- ๑๓ นิทานเรื่อง ๔ มาณพ
- ๑๔ นิทานเรื่องจตุรพราหมณ์
- ๑๕ นิทานเรื่องจตุรนารี
- ๑๖ นิทานเรื่องพราหมณ์เลือกเมีย
- ๑๗ นิทานเรื่องสุบินกุมาร
- ๑๘ นิทานเรื่องนายสำเภาชื่อสุริยวาณิช
- ๑๙ นิทานเรื่องพระเจ้าไตรวัต
- ๒๐ นิทานเรื่องพระยารีผัวเมีย
- ๒๑ นิทานเรื่องกษัตริย์สรโนธมาธิราช
- ๒๒ นิทานเรื่องชายชาวชนบท
- ๒๓ นิทานเรื่องตากับยายชาวชนบท
- ๒๔ นิทานเรื่องพระเจ้ากรุงศรีภิรมย์มหาราช
- ๒๕ นิทานเรื่องนางกะเชอรั่ว
- ๒๖ นิทานเรื่องพเอิญเข้าดลใจ
- ๒๗ นิทานเรื่องนายแวง ๒ คนเฝ้าท้องพระโรง
- ๒๘ นิทานเรื่องรัตนทัตบุตรเศรษฐี
- ๒๙-๓๐ นิทานเรื่องวิษณุคุบ
- ๓๑ นิทานเรื่องตำรวจ ๒ สหาย
- ๓๒ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกพบกลอง
- ๓๓ นิทานเรื่องเลือดมาอาศรัยเล็น
- ๓๔ นิทานเรื่องเศวตโคธา
- ๓๕ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกแทะสายหน้าไม้
- ๓๖ นิทานเรื่องคชทุมพรราชกุมาร
- ๓๗ นิทานเรื่องหงส์หามเฒ่า
- ๓๘ นิทานเรื่องลากับราชสีห์
- ๓๙ นิทานเรื่องพราหมณ์ช่วยกบ
- ๔๐ นิทานเรื่องน้ำผึ้งหก
- ๔๑ นิทานเรื่องฤษีชุบสุนัขเปนราชสีห์
- ๔๒ นิทานเรื่องนกกางเขนตกฟองที่หาดทราย
- ๔๓ นิทานเรื่องนายเนสาท
- ๔๔ นิทานเรื่องช่วยคนแลสัตว์ตกเหว
- ๔๕ นิทานเรื่องช่วยเสือตาย
- ๔๖ นิทานเรื่องให้ลิงเปนองครักษ์
- ๔๗ นิทานเรื่องนกกระจาบกับลิง
- ๔๘ นิทานเรื่องเศรษฐีบุตรหนีตาย
- ๔๙ นิทานเรื่องปลาพยายามหนีภัย
- ๕๐ นิทานเรื่องท้าวทศกระวีราชหนีพระกาล
- ๕๑ นิทานเรื่องนกยางลวงปลา
- ๕๒ นิทานเรื่องถึงที่ต้องตาย
- ๕๓ นิทานเรื่องวานรกับจรเข้
๓๒ นิทานเรื่องสุนัขจิ้งจอกพบกลอง
ในกาลก่อนพระเจ้าเสละราช เสวยสมบัติอยู่ณกรุงวิคหาบุราณนคร อันมีปริมณฑลกว้างยาวได้ ๑๒ โยชน์ พระอัครมเหษีทรงพระนามชื่อเทพกัลยาณี เปนใหญ่ยิ่งกว่าสาวสนม ๑๖,๐๐๐ พร้อมด้วยเสนามหามนตรีพิริยโยธามาตย์ หัดถีอศวาพลพาหนะอเนกนิกรจะคณนานับมิได้
กาลวัน ๑ พระเจ้าเสละราชเสด็จออกมาประพาสมฤคยานในป่าเมฆวนาลัย โปรดให้เลี้ยงแสนเสนามหาพลทหารด้วยมัจฉมังสาสุราบานเปนต้น พลทหารเสนานอกในก็สนุกสนาน หลงละเลิงเล่นจนลืมสมปฤดีดูดุจวิกลจริต มูลนายบ่าวไพร่ไม่รู้จักกัน ครั้นเสด็จกลับเข้ายังพระนครก็ละลืมกลองชัยเภรีไว้ในป่า
มีสิงคาลตัว ๑ มาเห็นกลองชัยเภรีกลมกลิ้งอยู่ก็รำพึงว่า นี่ชื่อใด แลตลุ่มปุ้มโป่งกลางอย่างนี้ ไม่มีหัดถบาทมุขพรรณเลย แต่กลนี้น่าจะใคร่กล้ำกลืน ยืนตระหง่านขยับจะคลานเข้าใกล้ แล้วหวนถอยหลังแล่นลู่เข้ามา ยกเท้าเข้าตะกาย กลองทับกรวดทรายระแหงให้เสียงครึม ๆ ครืนๆ สิงคาลก็ตกใจตระหลบหลังออกมาเหลียวแลดู ไม่เห็นแล่นไล่มาก็คิดว่าเอะเออสิ่งนี้มีแต่เสียง แลกายหัดถบาทอันจะขวนขวายไล่กระโจมจับไม่มี แขงใจเข้าไปอิกที ๑ แต่ดู ๆ ดม ๆ ก้ม ๆ เงย ๆ ลองเท้าง่าตระหง่านเข้าใกล้นิ่งขึง จึงลิ้ม ๆ เลีย ๆ หนังนั้นอ่อนช้อนปากขึ้นกัดได้ที ๑ กลองก็ส่งเสียงดังเปรี้ยง ๆ สิงคาลสดุ้งดุจล้มแล้วก้ม ๆ ดม ๆ เข้ากัดได้ถนัด หนังก็ขาดเห็นแต่ร่างเปล่า ถอยเก้าออกมาเห่ากระชาก ๆ แล้วก็เพ่งดูหมายว่าจะมีมังสะมาก แลดูนี่ใหญ่อย่างจะมีมังสะมาก ครั้นกระชากหนังขาดออกได้ไม่มีมังสะโลหิตสักนิด ๑ ดังอาตมะรำพึงใหญ่จริงแลแต่ว่ามิเปนการ ดุจคนพาลปากใหญ่หาความวิริยานุภาพมิได้นั้นแล
ดูกรสังวทันต์ ท่านว่ามหาภูตใหญ่นั้นแล้วก็ใหญ่มิเปนการดอกกระมัง
สังวทันต์ก็กราบอภิวาทว่า ขอเชิญเจ้าผู้มีวิริยประเสริฐกว่าพาลมฤคเสด็จไปดูเองเถิด จันทสิงหราชมีสังวทันต์นั้นแห่ขวาวายุภักษ์แห่ซ้าย สิงคาลบริวารทั้งหลายพวกละ ๑,๐๐๐ ห้อมล้อมป้องกันมาดูนนทุกราช ๆ ผาดเห็นพญาพาลสิงหราชมีสิงคาลเปนอำมาตย์แห่ห้อมล้อมมา ก็เผ่นผงาดยืนหยัดดัดกายตั้งท่าดังสุบรรณครุฑทำดุจโผผินพญาไกรสรสิงหราชเปล่งสิงหนาทประภาษถามว่า ท่านนี้เชื้อชาตินามตระกูลใด จึงองอาจล่วงเข้ามาถึงจนเขตรเราแห่งนี้ สิงหราชรุกเร้าเซ้าซี้ซักถามถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง นนทุกราชก็ผาดอ้างออกนามว่า อาตมะนี้ชื่อนนทุกราชฤทธิ์ พงศ์เผ่าโคชำนิองค์พระมหามเหศวรผู้เปนเจ้า โปรดเกล้าให้เราลงมาเลียบแลดูเหล่ามนุษย์แลสรรพสัตว์ในพื้นภูมิโลกทั้งปวงนี้ แลสั่งให้เราจดจำกำหนดนามแห่งผู้ซึ่งกระทำบาปแลบุญราศีลงในแผ่นทองทิพย์ นำไปถวายองค์พระผู้เปนเจ้า จันทสิงหราชได้ฟังก็กำหนดนึกในใจว่า เออเราไซร้ทำบาปอยู่มิได้ว่างเว้นต้องกับคำราชทูตดุจเดียว คิดเฉลียวว่าเราจะแก้ตัวกระไรหนอ ออจะผูกเปนมิตรไมตรีกับนนทุกราชผู้ถือบาญชีนี้เถิด เห็นจะประเสริฐไม่เสียการ คิดแล้วก็กราบเกล้าปราไสว่า ท่านไซร้เปนบรมทูตมาถึงสถานที่นี้ ขอเชิญท่านจงยับยั้งยังสถานแห่งเรา จำเริญสุขให้แช่มชื่นสักคืนก่อนจึงค่อยผ่อนไป นนทุกราชก็ผินผาดมากล่าวไกล่เกลี่ยเกลี้ยกล่อมว่า ท่านผู้นายใหญ่พาไพร่พลทหารแห่หน้าจะยาตราไปสู่ประเทศด้าวแดนใด นามกรไซร้ปรากฎพยศอย่างไร สิงหราชก็รับคำขานว่า ข้าแต่ท่าน ข้าพเจ้านี้มีนามปลาดว่าจันทสิงราช เปนมหันตาธิบดีแก่หมู่มฤคคณาในอรัญวาศสถานที่นี้ นนทุกราชก็ลิลาศจากมหาวัมมิกสถาน ทั้ง ๒ ก็ตั้งสัตย์ปฏิญาณเปนมหามิตรสนิทเสนหาแก่กัน ก็ชวนเชิญกันไปสู่ต้นคูหานั้น จำเดิมแต่นั้นไปต่าง ๆ ไปหาอาหาร ถ้าสิงหราชไปฝ่ายบุรพทิศ นนทุกราชก็ไปข้างปัจจิมทิศต่อสายัณห์ย่ำค่ำจึงเข้าสถิตต้นคูหา ทั้ง ๒ ก็เสวยสุขภิรมย์ระเริงรื่นสนิทเสนหาปราศจากรังเกียจแก่กันแลกัน นนทุกราชให้อนุศาสน์สิ่งที่เปนคติโดยยุติธรรมแก่พญาพาลมฤคราช ๆ ก็มีมโนสารภิรมย์ อ่อนน้อมแน่นอนในสุจริตธรรมทางอกุศล ก็เสียสละบมิสู่สมาคมด้วยสิงคาลทั้ง ๒ คือสังวทันต์แลวายุภักษ์ อันประพฤติมลทินทางทุจริตนั้น
ครั้นจิรกาลเนิ่นนานมา สังวทันต์ก็ตริการกับวายุภักษ์ว่าข้าแต่ท่านก่อนกาลพญาพาลราชสีห์เมื่อจะออกหาอาหารไซร้ ก็ย่อมผาดแผลงสิงหนาทไป ศัพท์สเทือนถึงไหน สรรพสัตว์น้อยใหญ่ก็ล้มพินาศแน่ไปถึงนั่น ท่านก็ยกเอาแต่ดวงหฤทัย แลนัยเนตรยุคลเปนอาหารตามประเวณี มังสะเศษกว่านั้นเราทั้งปวงได้รับประทาน จำเดิมแต่มหานนทุกราชท่านมาอยู่เปนมิตร เรานี้อดอาหาร เกลือกนานไปข้างหน้าโพ้น มหานนทุกราชท่านจะชวนชักพาไปหาตฤณชาติเปนอาหาร ก็จะรี่เรื่อยไปตามกัน เออ เมื่อเปนกระนั้นเรามิอดอาหารตายฤๅ สหายวายุภักษ์เราจะนิ่งอยู่อย่างนี้มิได้ จำเราจะยุแยงย้อนให้พญาไกรสรสู้กันกับมหานนทุกราช ผู้ใดวินาศไซร้ ก็จะได้เปนอาหารแก่เราในกาลนั้น
ครั้นกาลวัน ๑ นนทุกราชไปหาอาหาร ยังแต่พญาพาลสิงหราชสังวทันต์แลวายุภักษ์เข้าเฝ้าฟุบเฟี้ยมจึงเลียมเลียบประเทียบถามว่า “มหาวิริย” ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงวิริยภาพอันยิ่งใหญ่ ท่านผู้สหายเปนไฉนบ้าง สีหราชกล่าวว่ามิได้ปรากฎประการใด
สังวทันต์จึงทูลเสนอว่า อันท่านสหายมาอยู่ด้วยพระองค์นี่ดูหลากอัศจรรย์ใจนัก ด้วยมิได้รู้จักนามแลโคตร จะมาสมาคมอยู่อย่างนี้ย่อมจะมีภัยพินาศ
สิงหราชซักถามว่า มิรู้จักนามแลโคตรแลมาสมาคมอยู่มักเกิดภัยพินาศนั้นเยี่ยงอย่างธรรมเนียมมีฤๅ จงกล่าวกลฉบับโบราณเราจะขอฟัง
สังวทันต์ก็สำแดงบทโบราณดังนี้