- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
“ชาติ” และ “อารยะ”
ผู้เขียนจะขอขึ้นต้นในที่นี้เป็นคำชักชวนว่า ที่เราพูดกันว่า “เพื่อชาติ” นั้น เรามาตรึกตรองกันให้ดีสักทีว่า ในสมัยนี้เราหมายความว่ากระไร เพียงไหนแน่.
ที่เราว่า “ชาติ” นั้น เราไม่หมายความว่าไทย เพราะไทยในพม่า อินเดีย จีน อินโดจีน ฯลฯ มีรวมด้วยกันหลายล้านคน เราว่าเพื่อชาติ คงไม่หมายความว่า เพื่อไทยต่างประเทศ ซึ่งบางพวกไม่รู้ว่ามีสยามอยู่ในโลก หากเราจะหวังดีต่อชนพวกนั้นเพราะเป็นเชื้อไทยด้วยกัน เราก็ “เพื่อ” เขาไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรติดต่อกันเลย.
อันที่จริงเมื่อเราใช้คำว่า “ชาติ” นั้น เราหมายความว่า ชนชาวสยาม แต่ชนชาวสยามปะปนกันมาก ไม่พึงกล่าวถึงไทยที่มีเชื้อจีนปน (เช่นผู้เขียนนี้เอง) หรือไทยที่มีเชื้อแขก เชื้อฝรั่ง และเชื้ออื่น ๆ ซึ่งไม่รังเกียจ หรือแตกแยกกับไทยแท้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยย่อมถือเหมือนญาติร่วมเชื้อกันหมด ชนชาวสยามมีเป็นอันมาก ที่เป็นมลายู แขกครัว แขกเทศ กะเหรี่ยง คะมู ลว้า เขมร เป็นต้น ล้วนแต่ไม่ใช่ไทย แต่เป็นชาวสยามทั้งนั้น บางพวกอยู่ในสยามก่อนไทยมาอยู่เสียอีก นอกจากนี้ยังมีจีนนอก และพวก “แปลงสัญชาติ” คือฝรั่งแท้และแขกแท้เป็นต้น เราไม่รังเกียจพวกนั้นเลย แต่ถ้าชาติและสัญชาติแปลว่าความเกิดไซร้ ใครเกิดมาอย่างไร ก็ต้องอย่างนั้น จะแปลงความเกิดภายหลังหาได้ไม่ หากกฎหมายจะบัญญัติว่าแปลงได้ ก็แปลงแต่ในหนังสือเท่านั้นเอง กฎหมายจะแปลงความจริงที่เป็นไปแล้วไม่ได้ ที่เรียกว่าแปลงสัญชาตินี้ แต่ก่อนใช้กันว่า “เข้าร่วมธง” ซึ่งอันที่จริงก็ได้ความดี.
ฉนี้แม้ “ชาติ” จะแปลว่าความเกิด ตามความหมายแห่งศัพท์ก็ตามที แต่ “เพื่อชาติ” หาใช่แปลว่า เพื่อความเกิดไม่ ที่เป็นฉนี้ เพราะเราใช้ศัพท์กันจนคุ้นปาก โดยมิได้นึกว่าศัพท์แปลว่ากระไรแน่ ดูก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว แต่ยังมียิ่งขึ้นไปอีก คือว่า เมื่อเราพูดว่าชาตินั้น เราหมายความว่าอะไร เราก็ไม่รู้แน่ ถ้าเราพูดถึงมนุษย เรารู้ในใจของเราว่าเราหมายความว่าคน แต่ถ้าเราพูดถึงชาติ เรารู้แน่ในใจหรือไม่ว่า เราหมายความว่ากระไรเพียงไหน.
ที่เป็นดังนี้ไม่ใช่เพราะเราโง่กว่าแต่ก่อน หากเป็นเพราะความคิดในโลกเปลี่ยนไปเร็วกว่าศัพท์เปลี่ยน เพื่อจะให้ผู้อ่านสิ้นสงสัยว่า ทั้งหมดที่เขียนมาเพียงนี้เป็นปฤษณาคำทาย และเพื่อจะให้เห็นว่าพูดตรง ๆ จริง ๆ ผู้เขียนจึงจะนำคำอังกฤษมาใช้ ๒ คำ คือคำว่า เนชั่น (Nation) คำหนึ่ง คำว่าเรซ (Race) คำหนึ่ง แล้วจะกล่าวถึงคำว่า อารยะ (Aryan) อีกคำหนึ่ง.
เมื่อเร็ว ๆ นี้มิศเตอรลอยด์ยอช รัฐบุรุษรุ่นแก่ของอังกฤษ ได้พูดทางวิทยุกระจายเสียงถึงเนชั่นของประเทศเวลส์ คือประเทศกำเนิดของท่านผู้นั้น ในตอนหนึ่งมิศเตอรลอยด์ยอชถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่ประกอบกันเป็นเนชั่น แล้วตอบเองว่า ปัญหานี้ได้กล่าวอภิปรายกันมาหนักกว่าหนัก ก็ไม่ตอบแน่ลงไปได้ ข้อต้นเนชั่น ต้องมีความอยู่ใน “เรซ” เดียวกัน แล้วมีพงศาวดารและประเพณีเดียวกัน อยู่ในท้องที่ด้วยกัน รัฐบาลเดียวกัน และที่สำคัญที่สุด ก็คือใช้ภาษาเหมือนกัน บรรดาประเทศทั้งหลาย ไม่มีประเทศไหนที่จะกล่าวได้ว่าเป็นเนชั่นที่พร้อมด้วยลักษณะที่ว่านั้น ๑๐๐ เปอร์เซนต์ แต่ใครจะวัดความเป็นเนชั่นด้วยบัญญัติ ๔-๕ ข้อก็ไม่ได้ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศซึ่งภักดีต่อเนชั่นของตนเป็นที่สุด แต่ชนชาวประเทศนั้น มิได้ร่วมอยู่ในเรซเดียวกัน เป็นอิตาเลียนก็มี เป็นเยอรมันก็มี เป็นฝรั่งเศสก็มี และภาษาที่พูดก็หลายภาษา เพราะฉนั้นเนชั่นของสวิตเซอรแลนด์นั้นอะไรเล่า มิศเตอรลอยด์ยอชเห็นว่า ลัทธินาซีของเยอรมันฉลาด ซึ่งได้ถือเอาว่า “อารยะ” เป็นต้นวงษ์ของชนเยอรมัน.
ข้อที่มิศเตอรลอยด์ยอชว่า เยอรมันฉลาดจึงถือเอาอารยะเป็นต้นวงษ์นั้น ศาสตราจารย์ ยูเลียนฮักซเล นักปราชญ์วิทยาศาสตร์ ชี้แจงคัดค้านอย่างแข็งแรง และถามว่าถึงเวลาหรือยังที่รัฐบุรุษจะอาศัยหลักวิทยาศาสตร์เป็นสถานที่ตั้งแห่งความคิดทางราชการบ้านเมืองเสียสักที การที่จะเอาคำในวิทยาศาสตร์มาใช้ให้ผิด ๆ ไปในการเมืองนั้น จะทำให้ผิดกลายเป็นถูกไปกระไรได้ ศัพท์ว่า “อารยะ” เป็นคำในวิชาภาษา หมายความว่า ภาษาชนิดหนึ่งแต่ใช้เลยไปถึงคนที่ใช้ภาษาชนิดนั้นด้วย ศัพท์ “อารยะ” นี้ไม่ใช้เกี่ยวกับเนชั่นหรือใช้เกี่ยวกับเรซเลย ในวิทยาศาสตร์ใช้ศัพท์นี้เป็นชื่อภาษาชนิดหนึ่งเท่านั้น ศาสตราจารย์แมกซะมูเลอร์ ซึ่งเป็นเจ้าตำราในเรื่องอารยะ ได้เขียนไว้เกือบ ๕๐ ปีแล้วว่า ไม่มีอะไรที่เป็นเรซ อารยะ นักวิทยาศาสตร์แผนกเรซแห่งมนุษยผู้ไหนพูดถึงเรซอารยะ หรือเลือดอารยะ หรือตาและผมอารยะ ผู้นั้นเป็นคนทำบาป - - -
คำที่ศาสตราจารย์แมกซะมูเลอร์เขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษนั้น เราไม่สามารถจะแปลเป็นไทยได้ แต่ขอคัดมาไว้ในที่นี้ สำหรับผู้อ่านที่รู้ภาษาอังกฤษ
‘There is no such thing as an Aryan race. To me an ethnologist who speaks of Aryan race, Aryan blood, Aryan eyes and hair is as great a sinner as a linguist who speaks of a dolichocephalie dictionary or a brachycephalic grammar’ (‘dolichocephalic’ and ‘brachy cephalic’ being the technical terms used in physical anthropology for longheaded and round headed people).
ในสมัยนี้ความภักดีต่อเนชั่นของตน เป็นของเรี่ยวแรงอยู่ในโลก ผิดกว่าแต่ก่อนมาก เพราะฉนั้น ถ้ารัฐบุรุษชุดที่เป็นหัวหน้าราชการของประเทศรู้กันเสียสักที จะดีกระมังว่า เนชั่นนั้นจะเข้าใจว่า อันหนึ่งอันเดียวกับเรซไม่ได้ ที่แท้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันน้อยที่สุด จะเอาคำ ๒ คำไปใช้แทน กันไม่ได้เลย ที่กล่าวนี้เป็นใจความที่ศาสตราจารย์ยูเลียนฮักซเลกล่าว.
เราคิดว่า ถ้ามิศเตอรลอยด์ยอชทราบว่า ศัพท์ว่า “อารยะ” เป็นชื่อชนิดแห่งภาษา ไม่ใช่ชื่อชนิดแห่งมนุษย ก็คงจะไม่สรรเสริญดังที่ว่า.
เยอรมันนั้นได้ยินว่า เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) เลิกใช้คำอารยะแล้ว ใช้ว่าเยอรมันตรง ๆ ทีเดียว ผู้เขียนได้อ่านเช่นนี้ในหนังสือไหนก็ลืมเสียแล้ว จำมาอ้างไม่ได้.
บัดนี้จะกล่าวถึงคำที่เราใช้กันในภาษาไทย คำว่า “ชาติ” ซึ่งแปลว่าเกิดหรือกำเนิดนั้น เป็นคำที่ใช้กันเจนในภาษาไทย โดยความหมายเช่นที่ว่า จะให้คำแปลเสียใหม่อย่างที่อังกฤษใช้คำว่าเนชั่นนั้น เห็นจะไปไม่ไหว อันที่จริง คำอังกฤษว่าเนชั่นก็มาจากคำลตินที่แปลว่าเกิดเหมือนกัน แต่ในสมัยนี้เขาใช้มีความหมายพิเศษ ซึ่งเราก็เข้าใจ แต่จะชี้แจงว่ากระไรให้แจ่มแจ้งก็ยาก ดังที่มิศเตอรลอยด์ยอชกล่าวว่าได้มีอภิปรายกันมาหนักกว่าหนักฉนั้น ในคำพูดของไทยเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) มีศัพท์ที่บัญญัติขึ้นใหม่ว่า “ประเทศชาติ” ทราบว่าตั้งใจจะให้มีความหมายอย่างศัพท์เนชั่นของอังกฤษ ศัพท์ว่า “ประเทศชาติ” นี้มีผู้ใช้ตามกันมาก ใช้โดยที่รู้ความหมายแต่เพียงราง ๆ บ้าง รู้ความหมายชัดเจนบ้าง.
ในพวกที่รู้ความหมายชัดเจนว่า ประเทศชาติแปลว่าเนชั่นนั้น จำต้องแบ่งออกเป็น ๒ พวก คือพวกที่เห็นชอบและใช้ตามพวกหนึ่ง พวกที่ไม่เห็นชอบพวกหนึ่ง.
พวกที่เห็นชอบกล่าวว่า คำพูดของเราควรมีคำแปลศัพท์เนชั่น เพราะสมัยนี้ต้องการใช้ ถ้าจะไม่ใช้ว่าประเทศชาติ จะมีคำไหนดีกว่าก็ไม่ว่า ขอให้มีมาเถิด ที่ว่าดังนี้ก็ถูก เราต้องการและยังไม่มีจริง ๆ
ส่วนพวกที่ไม่เห็นชอบก็รับรองว่าควรมีคำ แต่ไม่ชอบคำนั้น มีอธิบายยืดยาว ซึ่งถูกทั้งนั้น แต่ก็ไม่ทำให้มีศัพท์มาได้.
เรานึกว่าจะหาคำไทยที่ใช้ให้ได้ความอย่างเนชั่นตามความหมายในสมัยนี้ เห็นจะหาไม่ได้ หาในภาษาสํสกฤต ก็จะไม่มีที่ตรงแท้ แต่อาจดีกว่าคิดหาในภาษาไทย เพราะคำสํสกฤตบางคำ ที่เราไม่เคยนำมาใช้ ถ้านำมาใช้ครั้งแรก โดยความหมายพิเศษจะได้กระมัง เราคิดดังนี้จึงเปิดดูดิกชันนารีอังกฤษแปลเป็นสํสกฤตเล่มใหม่ที่สุดที่เรามี (พิมพ์ ค.ศ. ๑๙๒๐) ได้คำหลายคำดังนี้
Nation (people) โลก ชนา ประชา ชนตาชน เทศชน เทศโลก เทศวาสิน (ในดิกชันนารีเก่าให้คำว่าชาติด้วย แต่ดิกชันนารีใหม่ตัดคำนั้นออกเสียแล้ว)
National เทศีย ไทศิก เทศฺย ราษฺฎรีย
National custom เทศาจาร
National law เทศธรรม
ตามข้างบนนี้ ดูมีคำว่า เทศ เข้าปนอยู่มากคำ กระทัดรัดที่สุด ที่จะใช้แปลว่าเนชั่นได้ ก็เห็นจะ “เทศชน” ดอกกระมัง ถ้าใช้ว่า “เทศชนสยาม” หรือ “เทศชนฝรั่งเศส” “เทศชนเยอรมัน” ก็น่าจะพอไปได้.
ผู้อ่านของเราที่ใส่ใจในเรื่องนี้ ถ้าเขียนมาบอกความเห็นแก่เรา ก็อาจเกิดประโยชน์ได้ เราขอเชิญให้ท่านเขียนมา.