- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
คำจ่าหน้าข้างบนนี้เป็นกำปั้นทุบดิน อะไร ๆ จะสำเร็จก็ต้องมีประมุขดีทั้งนั้น แต่ประมุขของประชาธิปัตย์ที่ตั้งใหม่ต้องมีคุณสมบัติพิเศษมาก ราษฎรต้องกลัว ต้องรัก แลต้องไว้ใจด้วย จึงจะดี เพียงแต่กลัวก็ไม่พอ เพียงแต่รักก็ไม่พอ เพียงแต่ไว้ใจก็ไม่พอ ต้องประกอบกันทั้ง ๓ อย่าง.
ในที่นี้จะนำประชาธิปัตย์ในยุโรปแห่งหนึ่งมาเป็นอุทาหรณ์ คือประเทศเชกโกสโลวาเกีย (หรือเชกโกสโลวากยา) ซึ่งเป็นประเทศประกอบขึ้นใหม่ภายหลังมหาสงคราม เวลานี้เชกโกสโลวาเกียเป็น “เกาะประชาธิปัตย์ในทเลดิกเตเตอร์ชิป” คือประเทศ ๕ ประเทศที่ล้อมประเทศเชคโกสโลวาเกียอยู่นั้น ปกครองโดยวิธีมีดิกเตเตอร์เป็นผู้บงการสิทธิ์ขาดทั้งนั้น.
ในสมัยก่อนมหาสงคราม ประเทศออซเตรียฮังการีเป็นประเทศรวมชนหลายเผ่า ซึ่งสามัคคีกันไม่ค่อยดีนัก ครั้นมหาสงครามทำให้ออซเตรียฮังการีแตกกระจายไป ชิ้นที่แตกนั้น ก็แยกกันเป็นประเทศถึง ๗ ประเทศ ประเทศหนึ่งใน ๗ นั้น คือ เชกโกสโลวาเกีย (ชนชาติเชกและสโลวัก) เป็นประเทศมีพลเมือง ๑๕ ล้านคน.
คำว่าเชโกสโลวาเกียนี้เป็นคำใหม่ อย่าว่าแต่จะเขียนในหนังสือไทย แม้เขียนในหนังสือฝรั่งก็ยังดูยืดยาด แต่คนที่เคยอ่านพงศาวดารภาษาอังกฤษ ถ้าใช้คำว่าโบฮีเมียนแทนเชกซ์ ก็ดูเป็นกันเองทันที. ตราประจำตำแหน่งปรินซ์ออฟเวลซ์ มีขนนกปัก ๓ ขน ขนนกนั้นเจ้าดำคือยุพราชอังกฤษองค์ลือในสมัยโบราณ ได้รบชนะพระเจ้าแผ่นดินประเทศโบฮีเมีย และปลดเอาขนนกของพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นมา นอกจากนี้ โบฮีเมียยังมีติดต่อกับอังกฤษมาก แต่เมื่อไปเรียกเสียว่าเชกซ์ ก็กลายเป็นคำใหม่ไป.
ประเทศโบฮีเมียโบราณ มีเรื่องราวน่าฟังมากในพงศาวดาร แต่ไม่น่าฟังยิ่งกว่าเรื่องราวของประเทศที่เกิดใหม่จากโบฮีเมียโบราณในครั้งนี้ ในระหว่างมหาสงคราม มีชาย ๓ คนเป็นชาวมหาวิทยาลัย คนหนึ่งชื่อมาสริก เป็นอาจารย์วิชาสังสรรค์ (Sociology) และโปลิติกซ์ คนหนึ่งชื่อเบเนซ์ เป็นศิษย์ของท่านผู้นั้น อีกคนหนึ่งชื่อสเตฟานิค เป็นอาจารย์ดาราศาสตร์ ชายทั้ง ๓ คนหนีจากบ้านเมืองของตน เพื่อจะไปคิดกู้ประเทศให้เกิดอิสระภาพ ต่างคนต่างแยกทางกันไปอาศัยอยู่ในประเทศอื่น เบเนซ์ได้เข้าคอข้าราชการคนหนึ่ง ช่วยให้ได้เข้าเขตแดนไปได้ แต่ภรรยาถูกจับ มาสริกได้เดินทางจากเยเนวาไปปารีส ไปโรม ไปลอนดอน ไปชิกาโก ไปวอชิงตัน เที่ยวชี้แจงต่อรัฐบุรุษในที่นั้น ๆ เพื่อขอความอุดหนุน ทั้งเรี่ยไรเงินและจัดคนพวกเดียวกันให้เป็นก๊กเป็นเหล่าขึ้นด้วย ในรัซเซีย มาสริกได้เกลี้ยกล่อมคนชาติเชกที่ถูกจับเป็นเชลยศึกไปในรัซเซีย ให้รวมกันเป็นกองทหารขึ้นได้ และเมื่อไปในประเทศญี่ปุ่น ก็ได้จ้างเรือไปบรรทุกทหารพวกนั้น หัวหน้าทั้ง ๓ คนนี้ได้ส่งข่าวติดต่อกัน โดยวิธีแปลก ๆ เขียนหนังสือสอดไปในคันร่มบ้าง ในเกือกบ้าง และในด้ามปากกาหมึกซึมก็มี ครั้นสิ้นมหาสงครามแล้ว สเตฟานิคก็ขึ้นเรือเหาะจะกลับบ้านเมือง เรือเหาะตกที่แดนต่อแดน สเตฟานิคตาย จึงเหลือพวกหัวหน้าแต่ ๒ คน.
การเป็นดังนี้ ชาย ๒ คนซึ่งหนีจากประเทศของตนไปอาศัยประเทศปรปักษ์จนจัดกองทัพกู้ประเทศขึ้นได้นั้น ครั้นถึงเวลาประชุมทำสัญญาเลิกสงคราม ก็ได้เข้าประชุมกับพวกชนะในฐานะที่เป็นผู้แทนของประเทศใหม่ แล้วก็ได้ตั้งประชาธิปัตย์อันดำเนินเรียบร้อยในประเทศของตน โปลิติกซ์ในประเทศนี้ แยกเป็นหลายชมรม และในการเลือกคราวหนึ่งได้มีผู้แทนของชมรมต่าง ๆ เข้าแย่งตำแหน่งถึง ๑๖ ชมรมด้วยกัน ที่เป็นดังนี้ เพราะมีชนหลายเหล่า ผู้ต้นคิดจัดการปกครองใหม่ ตั้งใจจะให้อิสระภาพในการแสดงความเห็นให้ทั่วกัน จึงให้โหวตแก่คนทุกชั้นทั้งชายและหญิง และให้โหวตกันโดยแบบที่เรียกว่า โปรปอชั่นแนล เรเปรเซนเตชั่น Proportional representation (ซึ่งเรายังไม่เคยอธิบายในหนังสือของเรา และไม่ทราบว่าได้เคยมีใครอธิบายในที่อื่นแล้วหรือไม่ ในที่นี้จะอธิบายก็จะยาวเกินไป)
วิธีปกครองที่มีชมรมมาก จนถึงต้องเลือกตามแบบที่ออกชื่อมานั้น น่าคิดว่าจะเรียบร้อยได้ยาก แต่ในเชกโกสโลวาเกีย ปรากฏว่าเรียบร้อยกันได้ รัฐบาลทุกชุดต้องเป็นชุดผสม คือรวมคนจากหลายชมรม ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีผู้แทนชมรมถึง ๗ ชมรม ส่วนประชาชนในประเทศนั้น ส่วนมากเป็นชนชาติเชก และชาติสโลวัก คน ๒ ชาตินี้ เดิมก็มาจากเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่เคยอยู่ในออซเตรียพวกหนึ่ง อยู่ในฮังการีพวกหนึ่ง ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๔๗๙) มีความเห็นไม่ลงรอยกันบ้าง แต่นับว่าเป็นการภายใน
ปัญหาสำคัญของประเทศก็คือ ปัญหาเรื่องเยอรมันที่เป็นพลเมืองอยู่ด้วย แต่ไม่เป็นปัญหาภายในแท้ ในประเทศนี้มีเยอรมันเป็นพลเมืองประมาณ ๓ ล้านครึ่ง พวกเยอรมันที่เป็นชาวประเทศเชกโกสโลวาเกียน ได้รับเลือกเข้าปาลิเม็นต์ได้ แต่ไม่เคยเข้าอยู่ในรัฐบาลเลย การเป็นดังนี้ เพราะฝ่ายหนึ่งไม่มีความไว้ใจ จึงทำให้อีกฝ่ายหนึ่งแค้น เยอรมันพวกนั้น เป็นพวกที่เหลืออยู่จากชนผู้เป็นนายในประเทศนี้มาแต่ก่อน พวกเขาไม่ค่อยไว้ใจว่า พวกนายเดิมจะภักดีต่อรัฐบาลแบบใหม่ แต่เมื่อมาสริกเป็นเปรซิเด็นต์ขึ้นแล้ว ก็ได้พยายามเชื่อมสามัคคีของคนทั้ง ๒ พวก จนในรัฐบาลชุดหลัง ๆ ลงมา ได้มีผู้แทนชมรมเยอรมันอยู่ด้วยเสมอ ๆ.
การเป็นดังนี้ดูเหมือนว่า จะเรียบร้อยกันไปได้ตลอด แต่ครั้นเมื่อตั้งดิกเตเตอรชิปขึ้นในประเทศเยอรมัน คนเยอรมันในประเทศอื่น ๆ ก็เกิดกระตือรือร้นกันขึ้นบ้าง ปัญหาเรื่องเยอรมันในเชกโกสโลวาเกียเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) จึงยังไม่หมดไป.
ที่กล่าวมานี้เป็นส่วนการภายในประเทศ ส่วนการติดต่อกับประเทศอื่น ๆ นั้น ประศาสโนบายของเชกโกสโลวาเกีย ก็คือจะให้ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปภาคกลางอยู่ไปตามหนังสือสัญญาสงบศึก เพราะถ้าจะพูดที่จริง เชกโกสโลวาเกียก็ได้ชีวิตมาจากหนังสือสัญญาฉบับนั้น เหตุดังนี้ ถ้ารูปการอันใดจะทำให้เปลี่ยนแปลงจากหนังสือสัญญานั้น ประเทศเชกโกสโลวาเกียก็ไม่ชอบ.
ปัญหาหนึ่งที่ชวนจะให้เปลี่ยน ก็คือปัญหาของฮังการี ฮังการีเป็นประเทศมานานแล้ว แต่เคยรวมอยู่กับออซเตรีย เพราะพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวกัน พระราชาที่เป็นเอ็มเปอเรอออซเตรียเป็นกิงของฮังการีด้วย เมื่อแพ้มหาสงครามแล้ว ฮังการีก็แยกออกไปจากออซเตรีย แต่ไม่พอใจเลย ที่ดินแดนถูกตัดไปให้ประเทศอื่น ๆ จึงร้องทุกข์อยู่เสมอ ที่จะให้เปลี่ยนหนังสือสัญญากันเสียใหม่ เพื่อจะได้ดินแดนคืน ฮังการีจะผิดหรือจะถูกไม่อยู่ในข้อที่จะกล่าวในที่นี้ จะกล่าวแต่ว่าฮังการีเป็นประเทศหนึ่งที่ไม่พอใจให้เป็นไปอย่างเดี๋ยวนี้ (มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙) จึงเป็นประเทศเพื่อนบ้านประเทศหนึ่ง ที่เห็นขัดกับเชกโกสโลวาเกีย.
ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งที่วิตกกันมากในเชกโกสโลวาเกีย ก็คือเรื่องมีกรุ่น ๆ อยู่เสมอว่า เจ้าชายในราชวงษ์แฮปสบวกจะคืนครองราชสมบัติออซเตรีย พระราชวงษ์นั้นเคยเป็นเจ้าแผ่นดินปกครองไม่ใช่แต่ออซเตรีย เคยเป็นเจ้าแห่งเชกโกสโลวาเกียทั้งหมด ฮังการีทั้งหมด และบางส่วนแห่งยูโกสลาเวีย แห่งรูมาเนีย แห่งอิตาลี แห่งโปแลนด์ รวมเป็นจักรพรรดิราชย์ใหญ่มาก เปรซิเด็นต์ของเชกโกสโลวาเกียคนเดี๋ยวนี้ (ดอกเตอรเบเนซ์) กล่าวว่า “เป็นความเห็นแน่นอนของเราว่า ถ้าเจ้าชายในราชวงษ์แฮปสบวกคืนได้ราชสมบัติ ก็จะเริ่มการร้าวฉาน เพื่อจะได้ดินแดนคืนไปตามเดิม ยุโรปภาคกลางจะไม่มีเวลาอยู่เย็นเป็นสุขได้”.
ที่กล่าวมานี้ คงจะทำให้เห็นได้ว่า เชกโกสโลวาเกีย ไม่ไว้ใจเพื่อนบ้านด้วยเหตุใด ประเทศนี้อยู่ในท่ามกลางการแก่งแย่ง ทางประชาธิปัตย์เรียบร้อยอยู่ได้ ก็เพราะโชคดีที่มีประมุขเหมาะ เปรซิเด็นต์คนเก่า (มาสริก) ได้เคยเป็นอาจารย์วิชาใด ในมหาวิทยาลัย และได้ขึ้นสู่ตำแหน่งประมุขได้โดยประการใด ก็ได้กล่าวย่อ ๆ มาในเบื้องต้นแล้ว เปรซิเด็นต์เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ถ้าไม่ได้สืบสันตติวงษ์ ก็สืบวิชาเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กันมา และได้เป็นเสนาบดีต่างประเทศมาแต่แรก ท่านผู้นี้เคยเที่ยวทั่วไปหมด ดูเหมือนว่าจะหาเสนาบดีคนใดในประเทศไหนรู้จักประเทศต่างๆ คุ้นเท่าท่านผู้นี้หาไม่ได้ มีผู้กล่าวว่า ในระหว่าง ๑๘ ปี ห้องนอนที่ดอกเตอร์เบเนซ์นอนมากที่สุด ก็คือห้องนอนในรถไฟ ซึ่งเดินระหว่างประเทศ แต่บัดนี้เป็นเปรซิเด็นต์แล้ว ก็เห็นจะนอนในรถไฟน้อยเข้า.
งานที่ดอกเตอร์เบเนซ์ได้ทำมานั้น เป็นงานทางพาณิชย์ของประเทศไม่น้อยกว่าทางโปลิติคซ์ งานบ้านเมืองสมัยนี้ พาณิชย์เข้าคลุมโปลิติคซ์อยู่มาก เพราะฉนั้นงานพาณิชย์ที่ดอกเตอร์เบเนซ์ได้ทำมา จึงเป็นงานสำคัญนัก.
ในเวลานี้ (มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙) เห็นจะไม่มีใครเถียงข้อที่ว่า ประชาธิปัตย์ของเชกโกสโลวาเกียสำเร็จได้ด้วยคน ๓ คน เป็นผู้เริ่มคิดและพากเพียรขึ้นก่อน พอจะได้ดังหมายก็ตายไปเสียคนหนึ่ง ต่อนั้นมาความสำเร็จก็อยู่กับคน ๒ คน เป็นโชคดีของประเทศที่ได้มีประมุขผู้สามารถเช่นนี้ขึ้นต้น และรับช่วงกันต่อมา.
วันก่อนเราได้กล่าวว่า ทางการในส่วนพาณิชยของประเทศเชกโกสโลวาเกียนั้น เป็นงานสำคัญส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้เป็นหัวหน้าประเทศในเวลานี้ (มิ.ย. ๒๔๗๙) ได้จัดอุดหนุนเป็นอย่างดี แต่ก่อนในสมัยเมื่อออสเตรียฮังการียังเป็นจักรพรรดิราชย์ใหญ่โตอยู่ ถ้าหากว่าจะมีสิ่งไม่ดีหลายอย่าง ก็แน่ว่ามีของดีอยู่อย่างหนึ่ง คือว่าประชาชนในจักรพรรดิราชย์ทั้งหมดรวมกัน ๕๐ ล้านคนนั้น ได้ซื้อขายสินค้าแก่กันปราศจากกีดกั้น กำแพงภาษีได้มีจริง แต่มีสำหรับกันผู้อยู่นอกจักรพรรดิราชย์ ส่วนราษฎรซึ่งอยู่ใต้ความปกครองของเจ้าแผ่นดินเดียวกันก็ค้าขายกันเองได้สดวกทั่วไป.
แต่มาบัดนี้ เมื่อจักรพรรดิราชย์เก่าได้แยกออกไปเป็นหลายประเทศ ต่างก็มีแดนต่อแดน และมีโรงภาษีศุลกากร จึงเกิดมีการตั้งกำแพงภาษีกันขึ้น และกำหนดโควตาสินค้าและขีดขั้นอย่างอื่น ๆ ซึ่งเมื่ออยู่ในจักรพรรดิราชย์เดียวกันนั้นหามีไม่ การเป็นฉนี้ จึงต้องมีการทำหนังสือสัญญาค้าขายกันเป็นอันมากในระหว่าง ๑๐ ปี จนการค้าขายในประเทศที่อยู่ติดต่อกันนั้น กลับมีชีวิตขึ้นอีก.
ส่วนทางโปลิติคส์นั้น เมื่อประเทศที่อยู่เป็นกลุ่มใกล้ๆ กัน ต้องการจะรวมกำลังกัน สิ่งแรกที่ต้องทำ ก็ต้องเสาะหาว่า ใครมีความต้องการร่วมทางกันบ้าง ความต้องการของเชกโกสโลวาเกีย ก็คือว่าให้อะไร ๆ เป็นไปตามหนังสือสัญญาเดี๋ยวนี้ ประเทศที่ต้องการอย่างเดียวกัน มียูโกสลาเวียกับรูมาเนีย ๓ ประเทศนี้จึงเข้าชื่อกันว่า “อองตองต์น้อย” ตกลงกันว่า จะร่วมทางเดินกันในประศาสโนบายการต่างประเทศ และจะตั้งบุรุษผู้หนึ่ง เป็นผู้เจรจาแทนทั้ง ๓ ประเทศ ในเมื่อมีเหตุจะต้องเจรจากับประเทศอื่น บุรุษผู้นั้น จะไม่ใช่เป็นผู้แทนของ ๓ ประเทศเป็นหน่วยย่อย ๆ ๓ หน่วย จะเป็นผู้แทนของ ๓ ประเทศ ซึ่งรวมกันเป็นหน่วยใหญ่หน่วยเดียว รวมเป็นประชุมชนถึง ๔๗ ล้านคน เพราะฉนั้น ถ้าจะพูดทางหนึ่ง ก็อาจกล่าวได้ว่า มีอำนาจใหญ่เกิดขึ้น ในภาคกลางแห่งยุโรปอีกอำนาจหนึ่ง.
ความวิตกของอองตองต์น้อย (และของเชกโกสโลวาเกียโดยเฉพาะ) ก็คือว่า ออซเตรียจะเป็นไปอย่างไรแน่ จะตั้งอยู่ต่อไปอย่างเดี๋ยวนี้ (มิ.ย. ๒๔๗๙) หรือจะต้องรวมกับประเทศเยอรมัน ถ้าหากว่าออซเตรียต้องเข้ารวมกับเยอรมัน เชคโกสโลวาเกีย ก็จะมีเยอรมันล้อมเกือบครึ่งประเทศ ยังคนเยอรมันซึ่งอยู่ในเชกโกสโลวาเกียเองอีกเล่า.
เมื่อเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ เมื่ออัครเสนาบดีออซเตรียนคือดอกเตอรโดลฟุสถูกฆ่านั้น ดูในเวลานั้นเหมือนดังว่า เยอรมันจะเข้ายึดเอาออซเตรียทั้งประเทศ แต่การมิได้เป็นไปเช่นนั้น ด้วยเหตุหลายอย่าง อย่างหนึ่งเพราะมุซโซลินีสั่งเคลื่อนทหารเข้าไปใกล้แดนต่อแดน เป็นการขู่เยอรมัน ออซเตรียจึงรอดไปครั้งหนึ่ง และดูเหมือนว่ายุโรปภาคกลาง ค่อยเรียบร้อยเข้า แต่เชกโกสโลวาเกียยังไม่เห็นเช่นนั้นแท้ เพราะมุซโซลินีเป็นเพื่อนรักของฮังการี ได้เคยเห็นอกเสมอ ในการที่ฮังการีร้องขอเปลี่ยนแปลงสัญญา อีกประการหนึ่ง มุซโซลินีก็เป็นดิกเตเตอรเหมือนฮิตเล่อร แต่เชกโกสโลวาเกียเป็นประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นระบบคนละอย่าง ถ้าหากว่ามุซโซลินี ได้ทำให้ฮิตเล่อรตกใจจนไม่เข้ายึดเอาออซเตรีย ก็หมายความว่า ออซเตรียจะเปลี่ยนจากกำมือดิกเตเตอรคนหนึ่ง ไปอยู่ในกำมือดิกเตเตอรอีกคนหนึ่งหรือ.
มาตอนนี้ เมื่อฮิตเล่อรสลัดทิ้งสัญญาโลคาร์โนและยกทหารเข้าไรน์แลนด์ ก็ทำให้เชกโกสโลวาเกียวิตกไปอีกว่า ฮิตเล่อรจะเดินหมากรุกตัวหน้าอย่างไร จะเดินทัพจู่เข้าออซเตรียหรือ ๆ จะเข้าเชกโกสโลวาเกียเองทีเดียว ในเวลานี้ (มิ.ย. ๒๔๗๙) เชกโกสโลวาเกีย ได้ทำหนังสือสัญญากับโซเวี๊ยตรัซเซีย ทำนองเดียวกับที่ฝรั่งเศสได้ทำแล้ว เพื่อจะได้มีที่อาศัยไว้บ้าง แต่สิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งเชกโกสโลวาเกียต้องการ ก็คือว่า ให้อังกฤษกับฝรั่งเศสร่วมมือกันจริง ๆ ในการอุดหนุนสันนิบาตชาติ ให้แข็งแรงเป็นที่พึ่งของประเทศเล็ก ๆ ได้ ประเทศเล็ก ๆ ซึ่งมิใช่พวกราชสีห์ ย่อมจะอยากให้สันนิบาตชาติมีอำนาจคุ้มครองสมาชิกได้ ความประสงค์ของเชกโกสโลวาเกีย ก็ย่อมจะเป็นเช่นนั้น.